นับเป็นประเด็นร้อนทีเดียวสำหรับกรณีที่กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของ“บริษัทอัลไพน์” ให้กลับไปเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองขึ้นทันที เนื่องด้วย “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เคยถือครองหุ้นอัลไพน์อยู่กว่า 20 ล้านหุ้น ก่อนที่จะโอนให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นมารดา ในช่วงปลายปี 2567 ขณะที่บริษัทอัลไพน์ตกเป็นข่าวอื้อฉาวจากกรณีเอาที่ธรณีสงฆ์มาทำสนามกอล์ฟและโครงการบ้านจัดสรรนานกว่า 30 ปี ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงใจว่าการถือครองหุ้นดังกล่าวของนายกฯ แพทองธารจะเข้าข่ายผิดจริยธรรมทางการเมืองหรือไม่? และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือเปล่า?
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ชี้ว่า กรณีการถือหุ้นอัลไพน์ของนายกฯ แพทองธารนั้น หากพิจารณาตามข้อกฎหมาย จุดตัดมันอยู่ตรงวันที่เริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับวันที่โอนหุ้น ต้องไปดูว่านายกฯ แพทองธารโอนหุ้นอัลไพน์ออกไปก่อนหรือหลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ มีการผ่องถ่ายหรือโอนหุ้นออกไปก่อนถือว่าไม่ขัดจริยธรรม เพราะข้อกำหนดเรื่อง “จริยธรรม” พุ่งตรงไปที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ใช่ตัว น.ส.แพทองธาร โดยในมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรีด้วย ว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ถ้า ณ วันที่ น.ส.แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วยังถือหุ้นอัลไพน์อยู่ ก็ต้องไปพิจารณาว่านายกฯ รู้หรือไม่ว่าธุรกิจนี้มีปัญหา รู้หรือไม่ว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ หรือมีเหตุอันควรรู้หรือไม่ว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ ถ้ารู้อยู่แล้วยังถือครองอยู่ในช่วงที่ดำรงแหน่งนายกฯ ก็ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมแล้ว ส่วนว่าจะมีผู้ไปร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคือศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องนี้หรือไม่ ก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
“เรื่องนี้มีเกณฑ์อยู่ 3 ข้อ คือ 1.ณ วันที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ คุณอุ๊งอิ๊งยังถือหุ้นอยู่หรือเปล่า 2.ถ้ายังถือหุ้นอยู่ คุณอุ๊งอิ๊งรู้ หรือควรรู้หรือไม่ว่าบริษัทอัลไพน์ที่คุณถือหุ้นอยู่เป็นที่ธรณีสงฆ์ 3.ถ้ารู้แล้วยังถือครองอยู่ขณะที่เป็นนายกฯ หรือไปโอนให้ผู้อื่นหลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว เพราะกลัวว่าจะมีปัญหา ก็ต้องพิจารณาว่าในฐานะที่เป็นนายกฯ ยังมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือเปล่า และหลังจากนั้นหากมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบว่าคุณอุ๊งอิ๊งขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ หรือไม่ ก็อาจส่งผลให้คุณอุ๊งอิ๊งหลุดจากตำแหน่ง ซ้ำรอยอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.แพทองธารขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 16 ส.ค.2567 แต่โอนหุ้นอัลไพน์ จำนวน 22,410,000 หุ้น ให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ในวันที่ 4 ก.ย.2567 หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว 19 วัน ดังนั้นกรณีนี้ นายกฯ แพทองธารจึงเข้าเกณฑ์ข้อที่ 1 แล้ว ส่วนข้อที่ 2 รู้หรือไม่ว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ หากพิจารณาโดยวิสัยของวิญญูชน นายกฯ แพทองธารย่อมน่าจะรู้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่โจษกันทั้งบ้านทั้งเมือง และไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งพูดแต่พูดกันมานานแล้ว ฉะนั้นมันเลยจุดที่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ไปแล้ว กรณีนี้จึงถือว่ารู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อที่ 3 คือรู้แล้วว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์แต่ยังถือครองอยู่ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ว่าจะถือกี่วัน ถือนานแค่ไหน ถือว่าถือครองแล้ว ดังนั้นจึงต้องไปพิจารณาว่าเมื่อนายกฯ รู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์แต่ยังถือครองหุ้นอยู่ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะถือว่ายังมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
“คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อให้ไม่ใช่นักกฎหมาย ต่อให้ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายเลย ก็ต้องเสมอด้วยประชาชนทั่วไปคือจะปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เมื่อรู้ว่าบริษัทที่ถือหุ้นอยู่เป็นที่ธรณีสงฆ์ก็สามารถปรึกษากับผู้คนรอบข้างได้ว่าหากจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ จะต้องทำอย่างไร ต้องจัดการแบบไหน ก็รู้อยู่แล้ว กรณีคุณอุ๊งอิ๊ง เหมือนกับกรณีคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นสื่อ คุณธนาธรรู้อยู่แล้วว่ามีหุ้นและพยายามจะโอนหุ้นออก แต่โอนออกไม่ทันวันที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แม้จะโอนออกก่อนวันที่ได้เป็น ส.ส. แต่พอถึงวันลงมติให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คุณธนาธรยังขาดคุณสมบัติเลย ขณะเดียวกัน ก็เหมือนกับกรณีคุณเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ทนายถุงขนม เป็นรัฐมนตรี คือรู้อยู่แล้วว่าผิดก็ยังทำ ส่วนจะมีผู้นำเรื่องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลจะตัดสินอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นักกฎหมาย และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า เนื่องจากบริษัทอัลไพน์มีการฟ้องร้องกรณีที่ธรณีสงฆ์มาอย่างยาวนานและกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งหากเป็นบุคคลทั่วไปคงไม่กล้าซื้อหรือลงทุนในที่ดินที่มีปัญหา อีกทั้งยังมีคดีที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีต รมว.มหาดไทย ในช่วงที่เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย มีส่วนพัวพันกับการทุจริตในคดีที่ดินสร้างสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งในปี 2562 ศาลได้ตัดสินว่านายยงยุทธมีความผิดและให้จำคุก 2 ปี จึงชัดเจนอยู่แล้วว่าที่มาของที่ดินแห่งนี้ไม่ถูกต้อง
“เมื่อมันไม่ถูกต้องการที่นายกฯ แพทองธารถือครองหุ้นอยู่มันจึงมีความสุ่มเสี่ยง เหมือนกับว่ามีทรัพย์อยู่ตัวหนึ่งซึ่งเราไม่แน่ใจว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกขโมยมา ถูกปล้นมาหรือเปล่าแล้วเราไปซื้อทรัพย์นี้ไว้ ถ้าเรารู้ว่าถูกปล้นมามันก็อาจเข้าข่ายรับของโจรได้ มันมีความเสี่ยง คนที่ถือหุ้นนี้ไว้ต้องใจกล้ามากนะ พอเรื่องนี้มีประเด็นขึ้นมามันก็สุ่มเสี่ยงเรื่องจริยธรรม” นายนิพิฏฐ์ กล่าว
ส่วนว่าหากมีผู้ที่นำเรื่องขาดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธารไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลอย่างไรนั้น รศ.ดร.เจษฎ์ อธิบายว่า ขั้นตอนทุกอย่างจะเหมือนกับกรณีการยื่นถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดจริยธรรมอย่างร้ายแรงจากกรณีที่มีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่กรณีของนายกฯ แพทองธารยังถกเถียงกันได้ ไม่ชัดเจนเหมือนกรณีของนายเศรษฐา ซึ่งรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตมีความผิดเรื่องกรณีติดสินบน ยังแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี และก่อนแต่งตั้งได้ไปถามความเห็นจากกฤษฎีกา ซึ่งกฤษฎีตอบมาเรื่องหนึ่ง แต่อดีตนายกฯ เศรษฐากลับนำไปเผยแพร่อีกแบบหนึ่ง จึงชัดเจนว่านายเศรษฐามีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเพราะนำความเห็นของกฤษฎีกาไปบิดเบือน
“กรณีของนายกฯ แพทองธารยังถือว่า 50:50 ยังไม่สามารถฟันธงได้ ผมว่ามันออกได้หลายหน้า ก็ต้องแล้วแต่คำวินิจฉัยของศาลว่าการถือครองหุ้นที่อาจจะได้มาโดยมิชอบในขณะที่ดำรงแหน่งนายกฯ ถือเป็นการขาดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ ถ้าศาลวินิจฉัยว่าเข้าข่ายขาดจริยธรรม ซึ่งขัดต่อคุณสมบัตินายกฯ จะส่งผลให้นายกฯ อุ๊งอิ๊งหลุดจากตำแหน่ง” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
แน่นอนว่าหาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ย่อมส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย “รศ.ดร.เจษฎ์” ชี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า น.ส.แพทองธารขาดคุณสมบัติและต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ก็จะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของรัฐบาลเพื่อไทยต้องหลุดจากตำแหน่งทั้งคณะ และต้องมีการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยอาจจะส่ง นายชัยเกษม นิติสิริ (ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแพทองธาร) แคนดิเดตนายกฯ คนสุดท้ายของพรรคเพื่อไทยให้สภาโหวตเลือก
แต่ขณะเดียวกัน อย่าลืมว่าตัวนายชัยเกษมก็มีข้อครหากรณีที่สั่งไม่ฟ้องนายพิชิต ชื่นบาน ปมถุงขนม เมื่อครั้งที่นายชัยเกษมดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ซึ่งแม้ต่อมาโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดจะออกมาชี้แจงว่านายชัยเกษมไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ แต่ความเห็นสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้รับสำนวนพร้อมความเห็นเสนอสั่งไม่ฟ้องจากพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม แต่คำชี้แจงดังกล่าวไม่ได้ทำให้ความเคลือบแคลงใจของประชาชนหมดไป อีกทั้งในช่วงปลายปี 2564 นายชัยเกษมในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นยังได้ออกจดหมายเปิดผนึกผ่านเพจพรรคเพื่อไทย ยืนยันเจตนารมณ์ว่าพร้อมนำข้อเสนอแก้กฎหมาย มาตรา 112 และมาตรา 116 เข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่กระทบต่อความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อยอีกด้วย
นอกจากนั้น ยังต้องฟังความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากหากนายกฯ จากเพื่อไทยหลุดจากตำแหน่งเพราะปัญหาด้านคุณสมบัติถึง 2 คน แล้วพรรคเพื่อไทยจะยังส่งคนที่ 3 ลงมาจะเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งในทางการเมืองคงมีการต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้น ที่สำคัญหากนายเกษมสุ่มเสี่ยงที่จะโดนสอยจากกรณี ม.112 พรรคร่วมรัฐบาลจะยินดีสนับสนุนนายชัยเกษมหรือเปล่า ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับสอง และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่กำลังมีผลงานโดดเด่นเรื่องการแก้ปัญหาพลังงาน ต่างมีแคนดิเดตนายกฯ ที่มีความพร้อมเช่นกัน ทั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
“การที่คุณชัยเกษมเคยผลักดันให้มีการแก้มาตรา 112 นั้น ถือเป็นกรณีที่จะติดตัวคุณชัยเกษมไปตลอด ต่างจากคุณแพทองธารที่หากโอนหุ้นอัลไพน์ออกไปก่อนรับตำแหน่งนายกฯ ก็ไม่มีความผิด ซึ่งกรณีเรื่อง ม.112 อาจเข้าข่ายกรณีเดียวกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล) และพรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ ม.112 ซึ่งถูกตัดสินยุบพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้ง 11 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งหากคุณชัยเกษมได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครไปร้องกรณี ม.112 หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือถ้าคุณอุ๊งอิ๊งหลุดจากเก้าอี้นายกฯ จะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองขึ้นแน่นอน” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j