xs
xsm
sm
md
lg

นักอาชญาวิทยาแฉ 8 ข้อพิรุธคดี ‘แตงโม’ มีอะไรซ่อนอยู่!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาด้านจิตวิทยาพฤติกรรม ม.มหิดล จับพิรุธคดีแตงโม หนุนข้อสรุป ‘ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และทีม’ พบบาดแผลไม่ตรงตามคำให้การเผย 8 ข้อพิรุธ ตั้งแต่เรื่องบาดแผล ขณะเรือวิ่งโดนใบพัดเรือปั่น ศพจะเป็นชิ้นๆเหมือนฆ่าหั่นศพ และต้องอ้าขากว้างสุดถึงจะเกิดบาดแผลด้านในได้ การประวิงเวลา ท่าปัสสาวะ และเกาะเรือไว้ 10 วินาที  แต่ไม่ปรากฏ DNA แปลได้ว่า ‘แตงโม’ ไม่น่าจะเกาะเรือ ขณะที่เรื่อง GPS บ่งบอกถึงการกระชากของเรือมันเกิดอะไรตอนนั้น ที่น่าตลกสุดๆ ทุกคนปฏิเสธไม่เห็น ‘แตงโม’ ตกเรือ ให้ ‘แซน’ เป็นคนเดียวที่เห็นเพื่อประโยชน์ของรูปคดี ปัจจุบันข้อมูลเริ่มไหล เสมือนสมองกำลังสร้างเรื่องโกหก ใช่หรือไม่? ส่วนไฮโซปอและโรเบิร์ต รีบโกนหัวบวช ต้องการทำลายหลักฐานหรือไม่แจงลักษณะสายตา จังหวะการพูด อารมณ์ ของ ‘แซน’ สามารถพบที่คล้ายกันในผู้ป่วยที่ใช้ยาเสพติดมานานจับตาคดีนี้ซ่อนอะไรอยู่!

ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาด้านจิตวิทยาพฤติกรรม ม.มหิดล บอกว่า เป็นอีก 1 เสียงที่เห็นตรงกันกรณีคดีแตงโม เรื่องบาดแผลบริเวณขา และยังพบพิรุธที่ชวนให้ติดตาม หลังจากที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และทีมจำลองเหตุการณ์การตกน้ำของ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม ตกเรือสปีดโบ๊ตเสียชีวิต ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565

“การจำลองภาพเหตุการณ์ทำให้เรารู้ว่า มันไม่สอดคล้องกับคำให้การของคนบนเรือตอนที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ตอนนั้นเขาอาจจะคิดไม่ทัน เวลานี้จึงต้องพยายามพูดเรื่องที่มันสอดคล้องกับเรื่องที่พูดไปให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งที่เขาพูดมันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีท่าไหนที่จะทำให้เกิดแผลด้านในได้ ลองนึกภาพตาม โคนขาขวาด้านในจะโดนอะไรบาดได้อย่างไร จะต้องลงไปท่าไหน มันต้องอ้าขากว้างแล้วจึงหล่น มันเป็นไปไม่ได้สุดๆ”



ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาด้านจิตวิทยาพฤติกรรม ม.มหิดล
อย่างไรก็ดี อาจารย์ตฤณห์ ในฐานะนักอาชญาวิทยาฯ ที่ติดตามคดีนี้มาอย่างต่อเนื่องจึงเชื่อว่าน่าจะมีพิรุธให้ชวนคิดตาม และก็ไม่ทราบว่าในทางกระบวนการตามกฎหมายจะรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาได้หรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงคดีนี้มันผิดตั้งแต่แรก ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ตรวจร่างกายผู้ที่อยู่บนเรือตั้งแต่แรก แต่จะกลับไปตรวจในเวลานี้ไม่ได้แล้ว จะมีหลักฐานเพิ่มเติมได้อย่างไร เนื่องเพราะหลักฐานแรกได้สลายไปแล้ว

ดังนั้น ในความเห็นของอาจารย์ตฤณห์ เห็นว่าข้อพิรุธในคดีนี้ที่ชวนพิเคราะห์ตาม ประกอบด้วย

ประการแรก ลักษณะของบาดแผล

สำหรับลักษณะบาดแผลที่มาจากการวิเคราะห์คำนวณ จากความเร็วของเรือ เข้ากับบาดแผลที่เกิดขึ้น หากเกิดเหตุคนขับเรือใช้ความเร็ว 8 นอต ซึ่งเป็นความเร็ว 14.816 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะไม่ใช่ความเร็วที่เร็วมาก แต่ลักษณะการหมุนของใบพัดมอเตอร์ ขณะเรือกำลังแล่นอยู่มันเร็วมากพอที่จะทำให้เกิดบาดแผลเป็นริ้ว ไม่ใช่บาดแผลยาวแผลเดียว ซึ่งแผลยาวแผลเดียว เราเรียกแผลฉีกขาดแผลเรียบซึ่งเกิดจากการปาด หรือบาดจากของมีคมขนาดใหญ่ ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นสิ่งมีคมแบบไหน

ทำไมถึงบอกว่าบาดแผลมีข้อพิรุธมากเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่า การเกิดอุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นตอนเรือกำลังแล่นอยู่ เพราะถ้าเกิดขณะเรือแล่นอยู่ และใบพัดบาดร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแผลจะไม่เป็นรอยยาวรอยเดียว จะเป็นริ้วๆ รุ่ยๆ ชิ้นส่วนอาจบาดถึงกระดูก จะเป็นชิ้นเละๆ เยอะๆ

“ตอนเหตุเกิดใหม่ๆ คุณแซน (วิศาพัช มโนมัยรัตน์) บอกว่าจำไม่ได้ว่าคุณแตงโม ใส่ชุดอะไร และเธอไม่เห็นอะไรเลย เพราะไม่ได้ใส่คอนแทกต์เลนส์ แต่มาวันนี้ มีรายละเอียดเพิ่มเติมตรงที่เมื่อมีอาสาสมัครไปจำลองเหตุการณ์ คุณแซน บอกว่า แตงโมไม่ได้ใส่ชุดแบบนั้น ถ้าจะทำต้องทำให้เหมือน แสดงว่าคุณแซนจำได้ใช่มั้ยว่า วันที่เกิดเหตุ คุณแตงโมใส่ชุดอะไร”

ประเด็นนี้จึงมีคำถามต่อเนื่องว่าสรุป ‘แซน’ เห็นหรือไม่เห็น จำได้หรือจำไม่ได้กันแน่ แต่ที่น่าแปลกไปกว่านั้นคือ คนบนเรือช่วงเกิดเหตุบอกไม่เห็นอะไรเลย แต่วันนี้มายืนยันคำพูดมีคนที่เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียวคือแซน ที่เห็นภาพตอนที่ ‘แตงโม’ หล่นหลุดมือจากการจับขาแซนตอนไปปัสสาวะท้ายเรือ

“ความเร็วเรือ 8 นอต มันเร็วมาก มือที่หลุดจากขาแซนแล้วไปเกาะท้ายเรือไว้ทัน มันเป็นไปได้ยาก แล้วแช่อยู่อย่างนั้น 10 วินาที จนใบพัดดูดเข้าไปและปั่นขาจนเกิดบาดแผล”

ตรงนี้คงต้องมาวิเคราะห์ เพราะโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ถ้าร่างกายเกิดความเจ็บปวด สมองจะสั่งการให้ดีดออก สะบัดร่างกายออกจากจุดที่ทำให้เจ็บ เช่น ถ้าเราโดนน้ำร้อนกระเด็นใส่ หรือเตารีดร้อนๆ จะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติคือดีดออกจากสิ่งที่ทำให้เจ็บปวด

“การที่คนหนึ่งเกาะท้ายเรือ 10 วินาที ขณะขาโดนดูดและปั่นขนาดนั้น จะไม่มีใครทนได้ถึง 10 วินาที เป็นระยะเวลาที่นานมากสำหรับการที่เพื่อนเรามือหลุดจากขา และเกาะท้ายเรืออยู่ มันนานมากพอที่จะบอกคนขับเรือจอดเรือ ทำไมไม่จอดและส่งสัญญาณบอกว่ามีคนตกลงไปในน้ำ”

อาจารย์ตฤณห์ ย้ำว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง มันเป็นเรื่องยากที่บาดแผลจะเป็นเช่นนั้น เพราะบาดแผลที่โดนใบพัดเรือปั่น ศพจะเป็นชิ้นๆ เหมือนฆ่าหั่นศพ ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวจึงเชื่อว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากตอนเรือหยุดนิ่ง ถ้ามันเกิดจากใบพัดจริง การบาดเจ็บตามร่างกายตามธรรมชาติ เมื่อเจ็บ เราจะดีด หรือสะบัดมือออกจากจุดที่ทำให้เจ็บ

“ผมไม่สามารถเอามือเข้าไปในเครื่องปั่น ที่ปั่นนิ้วผมไปแล้ว และเอามือแช่อยู่แบบนั้นอีก 9 วินาทีได้ ผมทำไม่ได้ มันไม่ใช่คนแล้ว”

 “ปอ-แซน” ลั่นจำลองเหตุ “แตงโม” ไม่ตรงเหตุการณ์จริง อ้างแตงโมเกาะเรือ 10 วิฯ ก่อนตกลงไปข้างเครื่องยนต์
ประเด็นที่ 2 การประวิงเวลา

ผู้ที่อยู่บนเรือ เหตุใดต้องประวิงเวลา ไม่มามอบตัว เพราะการแสดงความบริสุทธิ์ใจต้องรีบพบตำรวจและบอกรายละเอียดให้ได้มากที่สุด หลังเหตุการณ์ผ่านไป 3 ปี รายละเอียดที่เคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ละเอียดเท่าวันนี้

“ตามธรรมชาติมนุษย์จะจดจำรายละเอียดที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ละเอียด และเห็นภาพชัดที่สุด ความทรงจำของมนุษย์ เราเรียกว่า Working Memory หากเราไม่สนใจที่จะจำจะอยู่ได้ 30 วินาทีเท่านั้น แต่ถ้าเหตุการณ์สะเทือนใจมากๆ เพื่อนเราหายไป ตายไป เหตุการณ์นี้จะจำแม่นยำจริงๆ ควรบอกรายละเอียดหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น ไม่ใช่ยิ่งนานวัน รายละเอียดยิ่งเพิ่มขึ้น นี่ก็เป็นข้อพิรุธ”

ทำไมคนบนเรือต้องตอบประวิงเวลา และถ้าตำรวจได้ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตั้งแต่แรก จะทำให้ทราบว่าคุณดื่มไวน์ แอลกอฮอล์ หรือคุณมีสารเสพติดในขณะเกิดเหตุหรือไม่ การประวิงเวลาจึงทำให้เป็นข้อพิรุธหนึ่ง

ประเด็นที่ 3 การปัสสาวะ

วิญญูชนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นดารา มันเป็นเรื่องยากที่จะไปปัสสาวะท้ายเรือด้วยท่าแบบ ชุดครบแบบนั้น ทั้งที่ควรถอดอะไรบางอย่างออกไม่ใช่หรือ เพราะ ‘แตงโม’ใส่บอดี้สูท และเมื่อพบศพ ‘แตงโม’ ยังพบว่าชุดไม่ได้ถอดเลย ก็น่าจะบ่งบอกได้ว่า ‘แตงโม’ ไม่ได้กำลังจะถอดชุดตอนที่อยู่ในน้ำ

“ตามคำกล่าวอ้าง เสื้อคลุมยังอยู่ที่เอว หรือกำลังใส่อยู่ แต่ถ้าเป็นผมจะไปปัสสาวะด้วยท่ายากแบบนั้น ในที่ที่ขยับด้วยความเร็วแบบนั้นจะเตรียมตัวให้พร้อมกว่านี้”

ที่สำคัญจุดสุดท้ายที่กล่าวอ้างคือ ‘แตงโม’ เกาะเรืออยู่ตรงนั้น 10 วินาที แต่ไม่พบดีเอ็นเอ ไม่พบลายนิ้วมือก็มากพอที่จะการันตีได้ว่า ‘แตงโม’ ไม่ได้เกาะเรืออยู่ 10 วินาที เพราะดีเอ็นเอเป็นหลักฐานสากลโลกที่ทั่วโลกยอมรับ และเป็นหลักฐานตาม
นิติวิทยาศาสตร์ที่มีความหนักแน่น แม่นยำมากที่สุด ส่วนพยานที่น่าเชื่อถือน้อยที่สุด คือพยานบุคคล

ประเด็นที่ 4 คือ GPS

ส่วนเรื่อง GPS เป็นประเด็นหนึ่งที่เชื่อว่ามีพิรุธ หลังจากที่มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเรื่อง GPS ในเรือตามที่ถูกถอดออกมานั้น มีความเร็วตั้งแต่ 6 นอต หรือต่ำกว่า 14.618 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปจนถึง 25 นอต หรือ 46.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แสดงให้เห็นถึงการกระชาก มีการเร่งเครื่องของเรือ หยุด คล้ายกระชากความเร็วของเรือ ซึ่งการกระชากเกิดขึ้นอยู่ 6 จุด ซึ่งผู้อยู่ในเหตุการณ์ต้องตอบให้ได้ว่ามีการกระชากเรือตอนไหนบ้าง กระชากทำไม

ดีเอสไอเรียก โปรแกรมเมอร์ ให้ข้อมูล GPS ตำแหน่งเรือ แตงโม วิเคราะห์หาข้อพิรุธเมื่อ 22 ม.ค.68
ประเด็นที่ 5 มือถือแตงโม

เป็นข้อคำถามและต้องหาคำตอบว่า ทำไมเวลาตี 1 มือถือ ‘แตงโม’ ถึงไปอยู่ที่ร้านซ่อมโทรศัพท์ ซึ่งอาจารย์ตฤณห์ บอกว่าไม่แน่ใจว่าในนั้นมีหลักฐานอะไรหรือเปล่า เนื่องจากเห็นเพียงแค่ปรากฏเป็นข่าวเท่านั้น

ประเด็นที่ 6 ผ่านไป 3 ปีจำเหตุการณ์ได้ดี

อาจารย์ตฤณห์ มองว่า เรื่องของเวลาที่ผ่านไป 3 ปีนับจากที่เกิดเหตุการณ์นั้น มันแปลกที่ทำให้คนบนเรือยิ่งจำรายละเอียดในส่วนของเหตุการณ์ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 เป็นปีที่คนเหล่านี้จำรายละเอียดได้มากที่สุด ทั้งที่ในความทรงจำของมนุษย์ต้องชัดเจนที่สุดหลังเกิดเหตุ ไม่ใช่รายละเอียดถูกเพิ่มมาเรื่อยๆ และดูสมจริงสมจังมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่การเพิ่มรายละเอียดโน้มน้าวให้คนเชื่อ เราจะพบในคนที่กำลังสร้างเรื่อง คนที่กำลังโกหก เป็นหลัก

ประเด็นที่ 7 บุคลิกภาพและการแสดงออก

อาจารย์ตฤณห์ ระบุว่า ความทรงจำของมนุษย์ ที่เรียกว่า working memory คือ สมอง ต้องจำเหตุการณ์ได้แม่น และเล่าในช่วงแรกได้ละเอียดมากกว่าวันนี้ ดังนั้นถ้าคนพูดความจริง จะไม่เติมแต่งอะไร แต่วันนี้รายละเอียดเพิ่มมาเรื่อย เป็นการแต่งเรื่องเพิ่มเติม เพื่อโกหกให้คนเชื่อ ซึ่งพูดแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ที่บอกว่าแตงโมยืนขึ้นก่อนหล่นลงไป ฟังแต่ละทีไม่เหมือนกันเลย ทำให้คิดว่าสิ่งที่พูดมานั้นมันไม่จริง!

ขณะเดียวกัน ดูเสมือนมีการตกลงกันหรือไม่ ให้ทุกคนที่อยู่บนเรือไม่มีใครเห็นเหตุการณ์แตงโมตกเรือ และให้แซน เพียงคนเดียวที่เห็นเหตุการณ์ เพราะการเห็นเพียงคนเดียว เป็นคนพูดให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะง่ายดี เพราะถ้าหลายคนเห็นจะพูดไม่ตรงกัน หรือขัดกันก็จะเกิดพิรุธมากขึ้น

วันนี้แซน คือคนที่ออกมาสื่อสารมากที่สุด และลักษณะการพูดเหมือนผู้ป่วยติดยาเสพติดมานานใช่หรือไม่ ในทางวิชาการ สายตาล่อกแล่กแบบนี้ คือความผิดปกติของสมอง สมองแบบนี้จะเจอในผู้ป่วยที่ใช้ยาเสพติดมากๆ จะควบคุมอารมณ์ไม่ได้




ประเด็นที่ 8 เกิดจากความประมาทได้หรือไม่?

อาจารย์ตฤณห์ ย้ำว่า บาดแผลที่เกิดขึ้นมันอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ว่าจะเกิดจากเรือแล่นไม่ได้ เพราะถ้าเรือแล่นใบพัดต้องหมุน พอใบพัดหมุน แผลจะเป็นริ้วแบบสับๆ แต่ถ้าเขาจอดเรือแล้วยืนทะเลาะกัน และพลัดตก ย้ำนะต้องตกแรงๆ จนบาดแผลลึกถึงกระดูกได้ เพราะในความเป็นจริงใบพัดไม่สามารถดูด และฟันเป็นแผลยาวได้ทุกกรณี

“จริงๆ คดีนี้ อาจเป็นความประมาทที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายก็ได้ แต่มันแปลกที่รวมหัวกันโกหก ประวิงเวลาไม่ยอมมอบตัว ไม่ให้ความร่วมมือ ทุกคนกลับบ้านไปนอน มันผิดวิสัยทุกอย่าง เลยทำให้คิดได้ว่า มันมีอะไรมากกว่าแค่ประมาทที่ทำให้ตกเรือ หรืออาจกลัวจับได้ ว่ามีการเสพยาบนเรือ หรือมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้นหรือเปล่า”

นอกจากนี้ การที่นายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือไฮโซปอ และนายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือโรเบิร์ต ได้ไปโกนหัวบวชเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ก็มีข้อพิรุธได้เช่นกัน โดยข้อเท็จจริงสามารถตรวจสารเสพติดจากเส้นผมย้อนไปได้หลายเดือน ดังนั้นถ้าเขาจะเก็บตัวอยู่ 1 เดือนก็สามารถตรวจได้อยู่ดี แต่เขาเลือกโกนทิ้ง เพราะไปบวช ก็เป็นวิธีการทำลายหลักฐานการเสพได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งไฮโซปอ ก็ไม่ควรออกมาพูด เพราะบอกว่าตัวเองไม่เห็นเหตุการณ์ การที่เริ่มออกมาพูด ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิเคราะห์กันต่อไปว่าข้อมูลที่พูดจริงหรือเท็จ แต่ในความเห็นส่วนตัวไม่น่าจะจริง!


ทั้งนี้การที่ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ชี้แนะพยายามทำให้คดีนี้เป็นอุบัติเหตุหรือเกิดจากความประมาท การพูดต่างๆ ก็จะโน้มเอียงไปด้านนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้นในทางนิติวิทยาศาสตร์ย่อมพิสูจน์ได้เช่นกันว่าการตายของ ‘แตงโม’ เกิดจากอะไรกันแน่ ขอเพียงคดีนี้ถูกรื้อฟื้นได้ ก็จะทำให้ความจริงปรากฏได้เช่นกัน!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น