xs
xsm
sm
md
lg

คดี “บอสแซม-บอสมิน” บทเรียนราคาแพงสอนดารารุ่นใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บอสแซม-บอสมิน” รอด หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง ยังต้องวัดดวง DSI ค้านหรือไม่ เสียงสวดตามมาเพียบ “ติดคุกฟรี” นักกฎหมายยอมรับเคสติดคุกฟรีก็มีมาก่อนแล้ว เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องหาทางออก ตอนนี้กรมคุ้มครองสิทธิมีเงินช่วยเหลือวันละ 500 บาทกรณีไม่ผิด ชี้เรื่อง 2 บอสเป็นเครื่องเตือนใจดารารุ่นใหม่

8 มกราคม 2568 โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวคดีดิไอคอน กรุ๊ปว่า ตามที่สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 คดีระหว่าง นายณัฏฐ์ ธนาพิพัฒน์ดลภัค กับพวก ผู้กล่าวหาบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด โดยนายวรัตน์พล วรัทย์รกุล ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 19 คน

ข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต"

สำนักงานคดีพิเศษได้พิจารณาสำนวนดังกล่าวแล้วมีความเห็นและคำสั่ง ดังนี้ สั่งฟ้อง 16 ผู้ต้องหา +1 นิติบุคคล และสั่งไม่ฟ้อง นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแชม ผู้ต้องหาที่ 17 และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมีน ผู้ต้องหาที่ 18 ตามข้อกล่าวหา

ผู้ต้องหาที่ 17 และ 18 ซึ่งพนักงานอัยการสำนักคดีพิเศษ มีคำสั่งไม่ฟ้องนั้น พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษจะได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาลอาญาและจะดำเนินการส่งสำนวนพร้อมความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งในคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ต่อไป

ในช่วงค่ำ (8 ม.ค.68) มีการปล่อยตัว น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี และนายยุรนันท์ ภมรมนตรี พ้นจากเรือนจำ


รอ DSI เห็นแย้งหรือไม่

นักกฎหมายรายหนึ่งกล่าวว่า อย่างที่ทราบกันว่าอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง 2 บอสคือบอสมิน พีชญา วัฒนามนตรี และบอสแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่เหลืออัยการมีคำสั่งฟ้อง

ขั้นตอนต่อไปคือต้องรอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พิจารณาเห็นแย้งกับอัยการหรือไม่ ภายในระยะเวลา 30 วัน

ส่วนตัวคิดว่ามีโอกาสที่ DSI จะเห็นแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้อง 2 บอสของอัยการ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ ถ้าฟ้องก็ต้องดำเนินการสู้คดีกันต่อ ถ้าไม่ฟ้องก็จบ

ชดเชยวันละ 500

กรณีของ 2 บอสที่อัยการไม่ฟ้องนั้นทำให้มีเสียงครหาตามมาว่า ติดคุกฟรีหรือไม่ ตรงนี้ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายไทย คงต้องรอให้กระบวนการสิ้นสุดก่อน คดีก่อนหน้าคนที่ไม่ผิดก็ต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ถือว่าเป็นเรื่องของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องนำไปหาทางแก้ไข

ตอนนี้ในทางปฏิบัติมีกรมคุ้มครองสิทธิที่พร้อมจ่ายเงินให้ผู้บริสุทธิ์ที่ต้องถูกจำคุก เมื่อคดีสิ้นสุดแล้วและพบว่าไม่มีความผิด สามารถร้องสิทธิเรียกเงินชดเชยได้วันละ 500 บาท แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วไม่ใช่เรื่องที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับอิสรภาพที่สูญเสียไป แต่อย่างน้อยก็พอเป็นเครื่องมือเยียวยาหรือบรรเทาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่ง


บทเรียนดารารุ่นหลัง

ในทางคดีแล้วไม่มีใครทราบว่า บอสดาราอย่างบอสมิน และบอสแซมนั้นถูกหรือผิดอย่างไร แต่เป็นอีกหนึ่งบทเรียนให้ดารารุ่นใหม่ๆ ว่าการเข้าไปร่วมกิจกรรมกับบริษัทในลักษณะนี้มีโอกาสที่จะถูกลากเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาได้ในอนาคต ถ้ามองในมุมผู้บริหารการมีดาราเข้ามาร่วมงานด้วยถือเป็นแต้มต่อทางธุรกิจ เพราะสามารถใช้ความเป็นดารามาเป็นแต้มต่อทางธุรกิจ ปัญหาจึงตกไปอยู่ที่ตัวดาราเองว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ถูกใช้เป็นเครื่องมือล่อคนเข้าไปหรือไม่

อย่างบอสกันเชื่อว่าหลายคนเห็นตรงกันว่า ร่วมกิจกรรมกับทางบอสพอลมากกว่าบอสดาราท่านอื่นตรงนี้จึงมีคำสั่งฟ้อง ส่วนบอสมินตรงนี้ร่วมกิจกรรมกับดิไอคอนมากกว่าบอสแซม ดังนั้นจึงอยู่ที่การพิจารณาว่าจะมองบอสดาราเหล่านี้เป็นแค่ผู้รับจ้างโฆษณาสินค้าหรือมีส่วนร่วมในการบริหาร

ถามว่าคุณไม่รู้เลยหรือว่าดิไอคอนเป็นธุรกิจขายตรงหรือก้าวข้ามไปในพื้นที่ของแชร์ลูกโซ่ อย่าลืมว่าแต่ละท่านล้วนมีประสบการณ์มาไม่น้อย บางท่านเคยอยู่แวดวงการเมือง เคยบริหารสปาในต่างประเทศ บางท่านมีกิจการร้านวัสดุก่อสร้าง เรามองไม่ออกเลยหรือ?

ทั้งนี้ คงต้องขึ้นกับการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าจะพิจารณาอย่างไร แต่จะเป็นบทเรียนให้ดารารุ่นใหม่ในการรับงานว่าก่อนรับงานต้องพิจารณาให้ดี ต้องตรวจสอบให้รอบคอบ หรืออาจต้องพิจารณาถอนตัว

เพิกถอนการตลาดแบบตรง

7 มกราคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด

ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ได้รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงให้แก่บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ทะเบียนนิติบุคคลเลขที่ 0105561093893 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารและเครื่องสำอาง ผ่านเว็บไซต์ www.theicon.co.th โดยวิธีการทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่าง โดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 บริษัทได้ยื่นคำขอแก้ไขช่องทางการจำหน่ายสินค้า ผ่านเว็บไซต์เป็น www.theicongroup.co.th แต่ภายหลังจากที่ได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ว่าเว็บไซต์ www.theicongroup.co.th เมื่อเข้าไปดูสินค้าแล้วเลือกรายการสินค้าลงตะกร้าและทำการชำระเงินตามขั้นตอน

ปรากฏว่าไม่สามารถชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าได้ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวขึ้นข้อความว่า "Something is not right! กรุณาเข้าเว็บไซต์ของตัวแทนเพื่อทำการสั่งซื้อสินค้า”

อีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนผู้เสียหายให้ถ้อยคำว่า "ผู้บริโภคไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทได้โดยตรง จะสั่งซื้อสินค้าได้ต่อเมื่อสั่งซื้อสินค้าผ่านลิงก์ของตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น" ประกอบกับมีผู้เสียหายให้การว่า หากสามารถชักชวนให้ร่วมลงทุนเป็นตัวแทนจำหน่ายในตำแหน่งดีลเลอร์เป็นเงินลงทุนจำนวน 250,000 บาท ผู้ชักชวนจะได้รับค่าตอบแทนจากผู้สมัครรายใหม่เป็นเงิน 10,000-15,000 บาทต่อ 1 ดีลเลอร์

พฤติกรรมดังกล่าวของบริษัท รวมทั้งวิธีการในการดำเนินธุรกิจมีลักษณะที่ไม่ได้มุ่งเน้นในการขายสินค้าให้ผู้บริโภค แต่กลับมุ่งเน้นให้สมาชิกรายเก่าหาสมาชิกรายใหม่ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทน ซึ่งรายได้หลักเกิดจากการที่มีผู้สมัครรายใหม่ในตำแหน่งดีลเลอร์ต่อๆ กันไป

รูปแบบการประกอบธุรกิจของบริษัทมีลักษณะเป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจตลาดแบบตรงโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545

เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 44 และมาตรา 53 วรรคสอง (3) (5) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จึงมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด


ค้าออนไลน์จบแล้ว

แหล่งข่าวจากวงการขายตรงอธิบายว่า อย่างตอนที่เกิดเรื่องมีสมาชิก The iCon Group บางส่วนที่ยังออกมาแจ้งว่าพวกเขายังขายสินค้าได้อยู่ แต่คำสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดังกล่าว ส่งผลให้การขายสินค้าของ The iCon Group ผ่านเว็บไซต์ต้องยุติลง

ส่วนลูกค้าหากจะนำสินค้าของ The iCon Group ไปขายตามสถานที่ทั่วไปยังคงสามารถทำได้ ส่วนจะมีใครซื้อหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โอกาสที่จะขายได้นั้นมีความเป็นไปได้ต่ำ เนื่องจากยี่ห้อของสินค้าเองไม่เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป หรือบางส่วนอาจหลีกเลี่ยงยี่ห้อดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทราบกันว่าในระยะหลัง The iCon Group ไม่ได้เน้นที่การขายสินค้า แต่ไปเน้นที่การหาสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามา ตรงนี้ก็ถือว่าจบแล้วเช่นกัน เพราะผู้นำในระดับ Boss ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำและถูกอัยการสั่งฟ้อง พูดง่ายๆ คือดิไอคอนไม่ได้ไปต่อแล้วไม่ว่าจะเป็นมิติใด ดังนั้นคนที่ยังคาดหวังกับดิไอคอนอยู่คงต้องยอมรับสภาพว่าเส้นทางนี้ยุติลงไปแล้ว

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น