xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ค่าไฟ 3.70 บาท ‘ทักษิณ’ ทำได้! สภาอุตฯ ชง 6 แนวทางสู่เป้าหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิศวกร กฟผ.มั่นใจ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ประกาศทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ทำได้แน่ถ้าทักษิณจะทำจริง! เพราะรู้ลึก รู้จริง เชื้อเพลิงมาจากไหน ขายกันอย่างไร กำไรกันมโหฬาร พร้อมบารมี ความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันมา เชื่อใช้ทริปตีกอล์ฟเจรจา ‘ปตท.-ขาใหญ่’ รับเงื่อนไข เผยเชื้อเพลิงที่ใช้สูงสุดคือก๊าซธรรมชาติสูงถึง 61% แค่ยอมลดราคา LNG และยอมติดลบค่า FT คาดอยู่ที่ -0.0760 บาทต่อหน่วย ส่วน กฟผ.เคยกำไรปีละเป็นแสนล้านบาท ต้องยอมลดกำไรไปบ้าง ประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าถูก ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตฯ เสนอ 6 แนวทางเพื่อลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาท/หน่วย ในปี 2568!

เมื่อทักษิณ ชินวัตร ประกาศทุบค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยในปี 2568 เพราะได้เห็นตัวเลขแล้วจึงมั่นใจว่า ทำได้ ทุบได้ พร้อมบอกว่าให้เขาช่วยทุบอยู่ ปัจจุบันตัวเลขค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2568 อยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับลูกเรื่องการทุบค่าไฟทันทีเช่นกัน โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เพื่อให้ทุกฝ่ายยินยอมที่จะปฏิบัติตามนโยบายนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ทั้งนี้ กลุ่มวิศวกรในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการพูดคุยกันภายในกลุ่ม เชื่อว่าการประกาศทุบค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ที่นายทักษิณ ลั่นวาจาไว้นั้นทำได้แน่ๆ ถ้าคนชื่อ ‘ทักษิณ’ จะทำจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นการหาเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น

“ที่ทักษิณ พูดว่ากำลังให้เขาช่วยทุบอยู่นั้น เพราะเขารู้ว่าจะต้องเคลียร์เรื่องต้นทุนพลังงานกับใคร น่าจะมีการหารือกันในการออกรอบตีกอล์ฟ ที่เต็มไปด้วยความชื่นมื่น ระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร นายอนุทิน พร้อมด้วยนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)”



นายทักษิณ ชินวัตร นายอนุทิน พร้อมด้วยนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกรอบตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟ Stone Hill club จ.ปทุมธานี เมื่อ 22 ธันวาคม 2567
โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย.2567 กฟผ. มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. สะสมที่ 204,711.42 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ 61.67% ถ่านหิน 19.15% พลังงานหมุนเวียน 17.58% น้ำมันดีเซล 0.02% น้ำมันเตา 0.15% อื่นๆ 1.07%

ดังนั้น การที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าลงมาที่ 3.70 นั้น ต้องไปจัดการเรื่องของราคาแก๊สธรรมชาติ ที่เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้ามากที่สุด และมีชั่วโมงการใช้มากที่สุดเกือบ 24 ชั่วโมง ส่วนพลังงานทดแทนจ่ายวันละ 4-5 ชั่วโมง เพราะเดินเครื่องได้เฉพาะกลางวัน

“ทักษิณรู้ว่า กฟผ.ซื้อแก๊ส LNG จากใครมากที่สุด มีแค่ ปตท.และขาใหญ่พลังงาน ทักษิณ รู้อีกว่าพวกนี้นำเข้าก๊าซจากที่ไหน ราคาเป็นอย่างไร ซึ่งทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้บริษัทนี้เติบโตมาได้ 5 พันเมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าสระบุรีและอยุธยา ในยามนี้ทั้ง ปตท.และขาใหญ่น่าจะยอมลดราคาลงมา เพียงแต่ตัวเลขที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่” สำหรับบิลค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟนั้น จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ที่สำคัญต้องไปดูว่าอะไรคือสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่ง กฟผ.เคยนำเสนอตัวเลขให้เห็นว่า ราคาค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 2.5683 บาทต่อหน่วย ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน และค่าไฟฟ้าฐานที่ปรับใหม่นั้นมีค่าอยู่ที่ 3.7556 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าฐานคำนวณจากต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ระบบส่ง ระบบจำหน่าย และค่าผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงขึ้น เหมือนกับราคาเชื้อเพลิงที่ถูกผลักไปในรูปของค่า Ft ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนทุก 4 เดือน (ม.ค.- เม.ย. พ.ค.-ส.ค. ก.ย.-ธ.ค.ของทุกปี) เพื่อให้สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งมีค่าเป็นได้ทั้งบวก หรือลบก็ได้

“ค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ในการผลิต (IPPs) หรือซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) ต่างมีราคาแพงกว่าไฟฟ้าฐานทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีการซื้อสำรองไว้อีก ทั้งที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่อง แต่ กฟผ.ยังต้องไปซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งมีราคาสูง แถมบางรายยังเป็นเครือข่ายเดียวกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ นี่แหละคือปัญหาที่ทำให้ต้นทุนสูงและผลักไปอยู่ในค่า Ft รวมไปถึงมาตรการให้เงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) และเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ยังคงส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าเช่นกัน”


กลุ่มวิศวกร กฟผ.บอกอีกว่า นอกจาก กฟผ.จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากราคาก๊าซ LNG ที่สูงขึ้น ยังมีค่าซื้อไฟฟ้าที่จะชำระค่าก๊าซให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปแบบค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment: EP) ทั้งหมดนี้เมื่อนำมารวมกันเป็นค่าใช้จ่ายที่สะท้อนถึงค่า Ft

อย่างไรก็ดี เมื่อต้องซื้อเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ LNG ที่มีการใช้สูงถึง 60% ของเชื้อเพลิง ยิ่งมีราคาสูงเท่าใด ก็จะทำให้ค่า Ft ผันผวนและสูงตามไปด้วย แต่ในที่สุดภาระเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น กฟผ. ขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไปขายให้ประชาชน ทุกอย่างจะถูกบวกกำไรกันเป็นทอดๆ ผู้ที่แบกภาระสุดท้ายคือประชาชนผู้ใช้ไฟแพง

“ทักษิณ ทำได้แน่ๆ คือต้องให้ ปตท. และขาใหญ่ลดราคาต้นทุน LNG ลงมา ซึ่งราคาที่ขายให้ กฟผ.ก็รู้กันอยู่ว่ามันแพงมาก จะลดค่าไฟกี่สตางค์ต่อหน่วยก็คำนวณออกมา ค่าตรงนี้คือค่า AF (Accumulate Factor) หมายถึงส่วนต่างระหว่าง ค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริงกับค่า Ft ที่เรียกเก็บสะสมของงวดที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีค่าเป็นบวก คือเก็บเงินค่า Ft จริง เกินกว่าค่า Ft เรียกเก็บ หรือมีค่าเป็นลบ คือ เก็บเงินค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่าค่า Ft เรียกเก็บนั่นเอง”


กลุ่มวิศวกร กฟผ. บอกต่อว่า การลดต้นทุนที่จะทำให้ราคาอยู่ที่ 3.70 ต่อหน่วย ต้องมุ่งไปที่ลดราคา LNG ซึ่งจะมีนายทักษิณเท่านั้นที่ทำได้ ส่วนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน คนปัจจุบัน พวกเราเชื่อว่าใช้วิธีนี้ไม่ได้แน่นอน เพราะต้องเข้าใจภูมิหลัง ความสัมพันธ์ของนายทักษิณ กับ ปตท.และขาใหญ่พลังงาน เขาสามารถคุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง ทำให้สำเร็จปี 2568 พรรคเพื่อไทยจะครองใจประชาชน เลือกตั้งครั้งต่อไปเพื่อไทยมาแน่

“ทักษิณ เขาดีดลูกคิด ทั้งการเมือง และผลประโยชน์ไปด้วยกันได้ วันนี้ขาใหญ่ หรือ ปตท.อาจมีผลกำไรลดไปบ้าง ค่อยมาชดเชยอย่างอื่นภายหลัง ส่วน กฟผ. กฟน. กฟภ. อยู่ใต้การเมืองทำได้ง่ายอยู่แล้ว โดยผ่านทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกฯ อิ๊ง เป็นประธาน รวมทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีคนของขาใหญ่นั่งอยู่ ไม่น่าจะติดปัญหาอะไร

ขณะที่ กฟผ. ต้องยอมรับผลกำไรลดลงไปบ้าง ซึ่งจะมีผลทำให้รายได้เข้ารัฐน้อยลง หรือโบนัสบอร์ด พนักงานอาจต้องลดตามไปด้วย จากข้อมูลของ กฟผ.พบว่า กฟผ.มีรายได้จากการขายไฟปีละประมาณ 7 แสนล้านบาท เป็นค่าเชื้อเพลิง 6 แสนกว่าล้าน หากนายทักษิณ สามารถทำให้ต้นทุนพลังงานถูกลงมาได้ ยังทำให้ กฟผ.มีกำไรแน่นอน

กลุ่มวิศวกร กฟผ.ย้ำว่า จากตัวเลขที่พวกเราประเมินกันเบื้องต้น ถ้าจะให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าได้ 3.70 บาทต่อหน่วย ค่า Ft จะติดลบอยู่ที่ -0.0760 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ กพช.และกกพ. ต้องเป็นผู้พิจารณาออกเป็นนโยบายสั่งการให้ กฟผ.ดำเนินการ ในส่วนของ กฟน.และกฟภ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ดูแลอยู่ น่าจะดำเนินการต่อได้ ขึ้นอยู่กับนายทักษิณ ชินวัตร จะทุบจริงหรือแค่พูดเอามันส์เท่านั้นเอง




ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางระยะสั้นในการลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาท/หน่วย ในปี 2568 ดังนี้

1) ลดไขมัน โดยการลด Margin ที่มากเกินไป ในทุกขั้นตอนของการจัดหา การผลิต และจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งลดต้นทุนเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า คือ NG ทั้งจากอ่าวไทย และ LNG นำเข้า เช่น ลดค่าผ่านท่อ และการจัดหาที่มีราคาต่ำสุด แทนการกำหนดราคาเป้าหมาย เพราะด้วยระบบ Cost plus สุดท้ายจะตกมาเป็นภาระของผู้บริโภคในที่สุด

2) เจรจาปรับลดค่าพร้อมจ่ายให้เหมาะสม โดยอาจลดค่าพร้อมจ่าย (AP) ให้ต่ำลง และ โยกบางส่านมาเป็นค่าเชื้อเพลิง (EP) สูงขึ้น ไม่ใช่ให้โรงไฟฟ้าคืนทุนแบบไม่ต้องเดินโรงงาน จากภาวะ Over Supply ของโรงไฟฟ้า

3) สนับสนุนให้ผลิตไฟฟ้าจาก Renewable Energy ที่ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ให้เต็มศักยภาพ ทั้งของภาคธุรกิจ และประชาชน เพื่อลดการนำเข้าพลังงานราคาสูง เช่น LNG จากต่างประเทศ และมีระบบ Net Billing เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์คืนทุนได้เร็วขึ้น

4) เปิดเสรี TPA (Third Party Access) ของท่อ NG ทั้ง on shore และ Off shore และ สายส่งไฟฟ้า เปิดเสรี แข่งขันอย่างเป็นธรรม ลดการผูกขาด

5) Overhaul โรงงานไฟฟ้าเก่า(ที่หมดอายุสัญญา) ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าการสร้างลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าใหม่ และช่วยลดปัญหา Over Supply โรงไฟฟ้าไปในตัว

6) Refinancing หนี้ของ EGAT ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะกลาง เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และยืดระยะเวลาการคืนหนี้ตามอายุพันธบัตร

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย


จากนี้ไปคงต้องจับตาดูค่าไฟฟ้า 3.70 บาทต่อหน่วย นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะนำสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่? หรือปล่อยให้สิ่งที่นายทักษิณ ชินวัตร พูดออกมานั้นเป็นแค่ลมปาก..!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น