ธรรมยาตรา 2568 ปั้นอนุสรณ์ฯ วัดบางปลากลายเป็นจุดขายสายมู ออกโรงเชิญชวน ชู “สัตว์หิมพานต์” ติดตั้งแล้วนาคราชสีห์พญานาควิรูปักษ์ (สีทอง) พญานาคเอราปถ (สีเขียว) อาจารย์ด้านพุทธศาสตร์ตั้งข้อสงสัยวางแผนสร้างมาตั้งแต่ปี 59 เหตุใดปล่อยเกือบ 9 ปี เป้าเดิม 8 สัตว์หิมพานต์ ตอนนี้เห็นแค่ 3 มองเป็นเรื่องการตลาดด้วยการเพิ่มสายมู รักษาฐานกลุ่มเดิม เติมผู้ศรัทธาใหม่ แถมพ่วงบอกบุญสุวรรณรังสรรค์ พ่นสีทองพระ 3 แสนองค์นอกมหาธรรมกายเจดีย์
โครงการธรรมยาตราเปรียบเสมือนงานประจำปีของวัดพระธรรมกายไปแล้ว ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน โครงการธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 13 ระหว่าง 2-31 เดือนมกราคม พ.ศ.2568 ครั้งนี้มีพระร่วมกิจกรรม 1,141 รูป
กิจกรรมธรรมยาตราไม่แตกต่างไปจากปีก่อน คือ เส้นทางซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวประวัติของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย บนสถานที่ 7 แห่งที่สำคัญในเส้นทางพระผู้ปราบมาร
1.มหาวิหารบ้านเกิดพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) สถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ : ตั้งอยู่บนแผ่นดินรูปดอกบัว อนุสรณ์สถานมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (โลตัสแลนด์) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
2.อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น สถานที่ตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต : ตั้งอยู่ริมคลองบางนางแท่น อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
3.พระอุโบสถวัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) สถานที่เกิดใหม่ในเพศสมณะ : ตั้งอยู่วัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
4.อนุสรณ์สถานวัดโบสถ์บน สถานที่เกิดใหม่ด้วยกายธรรม : ตั้งอยู่วัดโบสถ์บน วัดโบสถ์บน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
5.อนุสรณ์สถานบางปลา สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก : ตั้งอยู่บนแผ่นดินตรงข้ามวัดบางปลา อนุสรณ์สถานบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
6.วัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย : ตั้งอยู่วัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
7.มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) สถานที่ขยายวิชชาธรรมกาย : ตั้งอยู่วัดพระธรรมกาย ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
วัตถุประสงค์ของกิจกรรมธรรมยาตรา เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ และสืบสานพุทธประเพณี เพื่อบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในเส้นทางพระผู้ปราบมาร เพื่อให้พระภิกษุบวชใหม่ ได้ฝึกตนตามพุทธวิธีเป็นศาสนทายาทที่ดีแก่พระพุทธศาสนา
เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งด้านศีลธรรม “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5” ตามหลัก “บวร” เพื่อส่งเสริมศีลธรรมให้เยาวชนและประชาชน ให้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้ประเทศชาติ
จุดขายปี 68 “สัตว์หิมพานต์”
แหล่งข่าวที่ติดตามข่าวสารของวัดพระธรรมกายกล่าวว่า ธรรมยาตราครั้งนี้ กิจกรรมทุกอย่างไม่ต่างไปจากเดิม ก่อนเริ่มงานมีการปลูกดอกไม้เพื่อใช้โปรยบนทางเดินให้พระที่ร่วมกิจกรรม มีการนัดปลิดดอกไม้ มีพิธีสวดมนต์ข้ามปี พิธีตักบาตรเช้าวันปีใหม่ และเริ่มงานธรรมยาตราในวันที่ 2 มกราคม 2568 จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2568
แต่ไฮไลต์ของงานครั้งนี้น่าจะเป็นช่วงวันที่ 8-11 มกราคม 2568 อนุสรณ์สถาน คลองบางนางแท่น จังหวัดนครปฐม เห็นได้จากพระสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ที่โพสต์ทั้งเพจส่วนตัวและเพจของทีมประชาสัมพันธ์ ก่อนเริ่มกิจกรรมธรรมยาตรา เชิญชวนให้มาร่วมงานที่อนุสรณ์สถานบางปลา
ปีนี้พร้อมต้อนรับทุกท่านที่เดินทางไปร่วมงานธรรมยาตราเส้นทางพระผู้ปราบมาร 2568 ณ อนุสรณ์สถานบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
ไฮไลต์ธรรมยาตราปีที่ 13 ปีนี้ต้องมาอนุสรณ์สถานบางปลา จังหวัดนครปฐม พญานาคราช ประดิษฐานแล้ว นาคราชสีห์ กำลังประดิษฐาน
ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2558 ทางวัดพระธรรมกายเตรียมก่อสร้างอนุสรณ์สถานมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) สถานที่เผยแผ่ธรรมครั้งแรก ที่วัดบางปลา บนที่ดินตรงข้ามวัดปากน้ำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และมีพิธีตอกเสาเข็มเมื่อ 22 มีนาคม 2559 ครั้งนั้นมีการระบุชัดเจนว่า ทั้ง 8 ทิศของวิหารมีประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ต่างชนิดอยู่หน้าทางเข้าเพื่อเป็นทวารบาล
ประติมากรรมสัตว์ป่าหิมพานต์ ประจำทางขึ้นทั้ง 8 ทิศ ของ "เจดีย์บรรจุเกศาธาตุพระผู้ปราบมาร"
1.นาคราชสีห์ (อยู่ประตูหน้าทางเข้า)
2.พญานาควิรูปักษ์ (สีทอง)
3.พญานาคฉัพพยาปุตตะ (สีรุ้ง)
4.ติณณราชสีห์
5.บัณฑุราชสีห์
6.ไกรสรราชสีห์ (เป็นราชาของราชสีห์ทั้งในโลกมนุษย์และป่าหิมพานต์)
7.พญานาคเอราปถะ(สีเขียว)
8.คชสีห์
พบ 3 จาก 8 สัตว์หิมพานต์
แหล่งข่าวกล่าวว่า เท่าที่สังเกตจากภาพและข้อมูลจากสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย พบว่า มีรูปปั้นนาคราชสีห์ตรงประตูทางเข้าอนุสรณ์ฯ นาคราชสีห์ มีหัวเป็นพญานาค แต่ตัวเป็นราชสีห์ มีหางเป็นนาค มีเกล็ดเป็นนาค สวยสง่างาม องอาจเกิดจากพญานาคกับราชสีห์ผสมกัน อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
และมีพญานาคราช เท่าที่พบมี 2 สีคือ สีทองและสีเขียว ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็น พญานาคตระกูลวิรูปักข์ (ตระกูลสีทอง) พญานาคชั้นสูง ชนชั้นปกครองถือกำเนิดแบบโอปปาติกะเช่นเดียวกับนางฟ้าเทวดา คือเกิดแล้วโตเลยในทันที เชื่อว่าเป็นพญานาคที่มีพลังอำนาจมากที่สุด มีเกล็ดสีทองคำบุศรินทร์ หรือสีทองมหิธาสุวรรณชาด มีอาหารเป็นทิพย์ อาศัยอยู่ที่ทิพย์วิมาน พญานาคจากตระกูลนี้ถือเป็นพญานาคที่มากบุญบารมี
พญานาคในตระกูลเอราปถ (ตระกูลสีเขียว) พญานาคซึ่งเชื่อว่าพบได้มากที่สุด ส่วนมากถือกำเนิดแบบอัณฑชะ หรือเกิดจากไข่ มีร่างกายเป็นสีเขียวมรกตงดงามไม่แพ้ตระกูลวิรูปักข์ อาศัยอยู่ในเมืองบาดาลลึกลงไปจากใต้ดิน 16 กิโลเมตร บางพวกอาศัยในถ้ำลึกถึง 800 กิโลเมตร แต่มักแปลงกายขึ้นมาบนโลกมนุษย์บ่อยครั้ง จึงมักได้ยินตำนานรักมากมายของนาคตระกูลนี้กับมนุษย์
ส่วนสัตว์หิมพานต์อื่นตามที่ระบุไว้ขณะนี้ยังไม่พบ
การตลาดเพิ่มฐานสายมู
ที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายจะไม่เน้นไปที่รูปเคารพบูชาใดๆ อย่างมากก็เป็นหลวงพ่อสด และบรรดาครูบาอาจารย์ของพระธัมมชโยเป็นหลัก รวมทั้งมหาธรรมกายเจดีย์ หากจะมีก็เป็นแค่พระของขวัญที่แจกตามงานสำคัญของทางวัดเท่านั้น
แต่ธรรมยาตราปีที่ 13 ครั้งนี้ ทางวัดเริ่มโปรโมตสัตว์หิมพานต์ที่ติดตั้งที่อนุสรณ์สถานวัดบางปลา นครปฐม
ถ้าให้ความเป็นธรรม แนวคิดสร้างสัตว์หิมพานต์มีมาตั้งแต่ช่วงก่อสร้างในปี 2559 แต่ก็น่าแปลกใจว่า ตั้งแต่ 2559 เป็นต้นมา ไม่มีทีท่าที่จะเห็นความคืบหน้าในการก่อสร้างสัตว์หิมพานต์ นี่เพิ่งจะมาเริ่มเปิดเผยภาพกันในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2567 และโพสต์ต่อๆ กันในโลกโซเชียล
“เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องของการตลาดของทางวัดพระธรรมกาย ที่นำเรื่องของความเชื่อในสัตว์หิมพานต์เพิ่มเติมเข้ามา ถือเป็นการตอบโจทย์ช่วยเพิ่มคนที่เชื่อในสายมูให้เข้ามาที่วัดพระธรรมกายได้ด้วยเช่นกัน”
ถ้าจะแย้งว่าเป็นโครงการเดิมในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานฯ ที่วัดบางปลา นครปฐม ก็ไม่ผิด แต่น่าคิดที่เริ่มโครงการปี 2559 เหตุใดสัตว์หิมพานต์ 3 ชนิดจึงมาเสร็จช่วงนี้ แล้วที่เหลือยังไม่เสร็จ จะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่
เรามองในฐานะบุคคลภายนอก หากพิจารณาจากผู้ที่ศรัทธาวัดพระธรรมกายที่ร่วมงานกิจกรรมต่างๆ กับทางวัดถือว่ายังมากอยู่ ทางวัดเชื่อมต่อกับผู้ศรัทธาด้วยการสวดธรรมจักรฯ ล่าสุดคือ 7 พันล้านจบ ซึ่งในช่วงที่มีการ Live สดต่างๆ กิจกรรมของทางวัดถือว่ามีคนดูน้อยมาก ต่างจากคนที่เข้าไปร่วมงานที่วัด
ต้องยอมรับว่า การที่พระธัมมชโยหลบหนีคดี ไม่ออกมาปรากฏตัวเลย มีผลต่อความศรัทธาในวัดพระธรรมกายไม่น้อย แม้หลวงพ่อทัตตชีโวจะขึ้นมาเป็นผู้นำแต่ก็ไม่เหมือนกับพระธัมมชโย
การเพิ่มรูปเคารพบูชาเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างจุดสนใจให้ผู้ศรัทธาเดิมและผู้ศรัทธาใหม่ที่จะตามเข้ามา แต่มีผลบวกต่อทางวัดแน่ๆ ประการต่อมาในพื้นที่ภาคกลางที่จังหวัดราชบุรีมีวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก แม้จะยึดหลวงพ่อสดจากวัดปากน้ำเหมือนกันแต่วิธีการต่างกัน ซึ่งวัดหลวงพ่อสดที่ดำเนินฯ มีคนศรัทธาไม่น้อยเช่นกัน สัตว์หิมพานต์อาจเป็นทั้งจุดดึงดูดและจุดสกัดในทางการตลาดได้ไปพร้อมๆ กัน แต่ปัญหาคือจะโปรโมตอย่างไรเพราะที่ผ่านมาธรรมกายไม่เน้นในเรื่องนี้
เลือกอยู่เงียบๆ
หลังจากที่เกิดวิกฤตครั้งใหญ่กับวัดพระธรรมกายเมื่อกุมภาพันธ์ 2560 วัดพระธรรมกายเลือกที่จะทำกิจกรรมแบบเงียบๆ ไม่หวือหวามาโดยตลอด ใช้วิธีสวดธัมมจักรฯ เข้ามาเป็นเครื่องมือเชื่อมระหว่างผู้ศรัทธากับทางวัด ปรับเปลี่ยนธรรมยาตรามาเป็นแบบเดินเฉพาะในสถานที่ที่กำหนด เรียกว่าอยู่ในภาวะประคองตัว
นอกจากนี้ ยังมีลูกศิษย์เข้าไปเป็นนักการเมืองทั้งสายตรงและสายอ้อม ส่วนใหญ่เข้าไปนั่งในกรรมาธิการศาสนา หรืออยู่ในสายที่ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพราะหากมีอะไรเกิดขึ้นสายของลูกศิษย์ย่อมจะทราบก่อน
แต่ธรรมกายยังคงเอกลักษณ์แนวทางของทางวัดไว้อย่างสม่ำเสมอ เช่น บุญเก่าหมด ต้องเติมบุญใหม่ หรือใครสวดมนต์คนนั้นจะรวย การใช้คำพูดต่างๆ บนสื่อออนไลน์ หรือผ่านคำพูดของพระวัดพระธรรมกาย การที่ได้ทำบุญกับวัดพระธรรมกายอาจทำให้รู้สึกว่าเหมือนจะได้บุญมากกว่าที่อื่น
พ่วงบุญพ่นสีทองพระ 3 แสนองค์
ในระหว่างนี้ทางวัดพระธรรมกายได้ออกมาบอกบุญใหม่ไปพร้อมๆ กันคือ บุญสุวรรณรังสรรค์ มหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อรังสรรค์มหาธรรมกายเจดีย์ อันประกอบด้วย องค์พระภายนอก 3 แสนองค์ ให้เป็นสีทองเหลืองอร่าม ด้วยวิธีการขัดสีองค์พระทั้ง 3 แสนองค์และพ่นเคลือบด้วยสีทอง
ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน 13 มกราคม-13 เมษายน เพื่อให้ทันงานบุญวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน 2568 สามแสน ปลื้ม สามแสน องค์ สามแสน สตางค์ ร่วมบุญได้ตั้งแต่ 1 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ 2568
พูดง่ายๆ คือทาสีทองพระ 3 แสนองค์ที่อยู่ภายนอกมหาธรรมกายเจดีย์ใหม่ เพื่อให้ทันฉลองวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน 2568 ซึ่งตรงกับวันเกิดของพระธัมมชโย อายุครบ 81 ปี ก่อนหน้านี้ต้นปี 2562 ก็เคยบอกบุญประดับไฟบนมหาธรรมกายเจดีย์
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j