xs
xsm
sm
md
lg

ยุค “สังคมหน้ากาก” ทำดีสร้างภาพ-ซ่อนแผนร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คดีดังปี 2567 เมื่อคน (ภาพ) ดีพากันเดินเข้าคุก แม่ตั๊ก บอสดารา ทนายตั้ม สามารถ กฤษอนงค์ตี่ลี่ฮวงจุ้ย บางรายหลบหนี สะท้อน “สังคมหน้ากาก” ใช้ Social Media สร้างภาพทำดี ต่อยอดกระทำผิดกฎหมาย เตือนตัวเองอย่าโลภ อย่าเชื่อคนง่าย ไม่รู้ให้หาข้อมูล

รอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ก็เกิดขึ้นมาแล้ว คดีความที่เกิดขึ้น เรียกว่าเซอร์ไพรส์คนทั่วสังคมก็ว่าได้ มีหลายเหตุการณ์ที่คนจำนวนไม่น้อยประหลาดใจกับคดีดังๆ ที่ผู้ต้องหากลายเป็นดารา บุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงการเมือง-ธุรกิจ หรือบุคคลที่เคยช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม กลับกลายมาถูกดำเนินคดีเสียเอง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะหลายคนเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว บางคนอยู่ในขั้นตอนสอบสวนและบางคนหลบหนีไปต่างประเทศ

เริ่มกันที่คดีไลฟ์ขายทอง กับแม่ค้าพ่อค้าคนดังบนโลกออนไลน์ ด้วยการที่เจ้าของร้านทองมักมีกิจกรรมช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนผ่านโลก Social Media และมีดารานักร้องเข้ามาร่วมช่วยขาย จึงสามารถโกยลูกค้าไปได้มาก จนสุดท้ายมาพบว่าทองที่ขายไปนั้นน้ำหนักและคุณภาพทองไม่ได้มาตรฐาน ถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชน


The icon ผู้เสียหายมาก

คดี The icon group ถือเป็นคดีใหญ่ที่คนให้ความสนใจ มีผู้เสียหายที่แจ้งความแล้วมากกว่าพันคน ผู้บริหารเรียกกันว่าบอส 18 คนถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ในจำนวนนี้ 3 รายเป็นดารา ได้แก่ บอสแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี บอสมิน พีชญา วัฒนามนตรี และบอสกัน กันต์ กันตถาวร

บริษัทแห่งนี้เป็นประกอบธุรกิจขายตรง มีสินค้าอุปโภคบริโภคจำหน่ายให้ผู้สนใจ และมีดาราเป็นพรีเซนเตอร์ให้สินค้าของ The icon ด้วยการสร้างภาพความหรูหราและความร่ำรวยจากความสำเร็จของเหล่าบอสต่างๆ ทำให้มีคนจำนวนมากสมัครเข้าไปร่วมธุรกิจ ที่มี 3 ระดับคือ 2,500 บาท 25,000 บาท หรือ 250,000 บาท สุดท้ายบริษัทแห่งนี้ถูกร้องเรียนว่าเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่

จากคำบอกกล่าวของผู้เสียหายการทำธุรกิจของ The icon จะเริ่มจากการขายคอร์สออนไลน์ 89 บาท ที่บรรดาบอสต่างๆ จะซื้อเวลาตามรายการทีวีต่างๆ เพื่อหาลูกค้า โดยใช้จังหวะที่เกิด Covid-19 คนไม่สามารถออกไปทำงานได้ บางคนตกงาน บางคนอยากมีรายได้เสริม และยังซื้อโฆษณาผ่าน Social Media ต่างๆ ทำให้ได้ฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก

จากนั้นจะชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน เพราะทาง The icon มีสินค้าให้อยู่แล้ว ลงทุนตามแพกเกจของทางบริษัท และทำหน้าที่ Live ขายสินค้า ในที่สุดเมื่อสินค้าไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค แถมราคาขายสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันในท้องตลาด อีกทั้งยี่ห้อยังไม่เป็นที่รู้จัก จึงขายไม่ได้ บางคนจึงเริ่มหันไปสร้างรายได้ด้วยการหาสมาชิกเพิ่ม

บรรดาบอสของ The icon หน้าตาดีใช้ชีวิตอย่างหรูหรา แถมมีเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าสมาชิกได้คล้อยตามและปลุกพลังลูกทีมให้เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ แถมมีบอสดารามาร่วมทีมอีก ได้ทั้งภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือไปพร้อมๆ กัน จึงดึงดูดคนให้เข้าร่วมธุรกิจกับ The icon ได้เป็นจำนวนมาก

เมื่อสินค้าขายไม่ได้ จึงมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ สุดท้ายบรรดาบอสระดับหัวแถวก็ถูกจับกุมรวมถึงบอสดาราทั้ง 3 ด้วย ใน 4 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน ความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 หรือแชร์ลูกโซ่ ความผิดตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

อิทธิฤทธิ์ The icon

กรณีของ The icon group ยังมีบุคคลอื่นต้องถูกดำเนินคดีตามไปด้วย ได้แก่ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน

น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่าย-ออนไลน์ ถูกแจ้งข้อหากรรโชกทรัพย์คดีดิไอคอน และเป็นตัวกลางเรียกรับสินบน และนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม อดีตนักร้องดัง ถูกแจ้งความดำเนินคดี ร่วมกันพยายามกรรโชกทรัพย์และหมิ่นประมาท

นอกจากนี้ นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล แจ้งความดำเนินคดีกับนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์


คนดังติดคุก

นอกจากนี้ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ถูก น.ส.จตุพร อุบลเลิศ (พี่อ้อย) แจ้งความดำเนินคดีอีก กรณีนี้ถือว่าเป็นคดีใหญ่ โดยพนักงานสอบสวนได้เข้าไปแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องเงิน 39 ล้านบาทของ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือพี่อ้อย กับทนายตั้มในเรือนจำ โดยมีการแจ้งข้อหาทั้งหมดรวมแล้ว 7 ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการร่วมกันฉ้อโกง ร่วมกันนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ร่วมกันแจ้งความเท็จ ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบฟอกเงิน โดยทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับกรณีเงิน 71 ล้านบาท ส่วนต่างค่าออกแบบ 5.5 ล้านบาท ค่ารถเบนซ์ 1.5 ล้านบาท และเงิน 39 ล้านบาท

ตามมาด้วยการจับกุมนายธนวันต์ จิรเจริญเวศน์ หมอดูฮวงจุ้ย เจ้าของรายการตี่ลี่ฮวงจุ้ย ทางทีวี ข้อหาฉ้อโกงกับฟอกเงิน หลอกลวงเงินผู้เสียหายจำนวนมากให้เช่าวัตถุมงคลแก้เคล็ด เสริมโชคลาภ จนสูญเงินรวมกันกว่า 108 ล้านบาท

ล่าสุด เป็นคดีของนายแพทย์บุญ วนาสิน อายุ 86 ปี ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี กับพวกในคดีเกี่ยวกับการหลอกลวง ชักชวนให้ลงทุน ขณะนี้หมอบุญไม่ได้อยู่ในประเทศไทย


สร้างภาพคนดี

สิ่งที่เราได้เห็นในเวลานี้อาจดูเหมือนเป็นความย้อนแย้ง เพราะคนที่กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีเหล่านี้ เกือบทั้งหมดมีภาพลักษณ์ดี น่าจะเป็นคนดี ไม่น่าจะกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาในคดี

นักวิชาการในวงการสื่อสารอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ยุค Social Media มีคนจำนวนหนึ่งใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำธุรกิจ ใช้สร้างภาพให้ตัวเองและต่อยอดไปในกิจการแขนงต่างๆ

ผู้ใช้สื่อออนไลน์สามารถสร้างให้ตัวเองเป็นนักบุญหรือพ่อพระได้ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหลังที่แท้จริงเขาเป็นใคร มีนิสัยเป็นอย่างไร การสร้างตัวเองให้เป็น Influencer มีคนติดตามเป็นจำนวนมาก โอกาสที่จะข้ามไปสู่การออกรายการทีวีย่อมง่ายขึ้น การพูดหรือการโพสต์ใดๆ ย่อมมีผลต่อบุคคลอื่น

คดีที่เราเห็นในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังสร้างภาพอยู่ คนดีที่เราเห็นอาจไม่ใช่คนดีจริงๆ ก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรจะเชื่ออะไรง่ายๆ คนที่เคยทำงานต่อต้านแชร์ลูกโซ่ยังมากระทำผิดเสียเอง

แชร์ลูกโซ่ไม่มีวันตาย

กรณีแชร์ลูกโซ่ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน ถูกจับไปสักพักอีกไม่นานก็เกิดขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นการเล่นกับความโลภของคน บางคนก็รู้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่แต่ต้องการเข้าไปในลำดับต้นๆ เพื่อหวังกอบโกยก่อนแล้วค่อยชิ่งออกมา

พัฒนาการที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีตยังใช้ได้ผลเสมอ ใช้ชีวิตหรูหรา อวดรวย ล่อให้คนเข้าไป มีการใช้คนดังหรือดาราเข้ามากระตุ้น ได้ภาพลักษณ์ไม่โกงเพิ่มเข้าไปอีก ยิ่งยุคนี้สื่อโซเชียลช่วยเพิ่มยอดลูกค้าให้อีก เมื่อฐานลูกค้ามาก ความเสียหายก็เกิดขึ้นเป็นวงกว้างเช่นกัน

จะเรียกว่าแชร์ลูกโซ่ไม่มีวันตายก็คงไม่ผิด เพราะจากธุรกิจขายตรง เมื่อบิดจากการเน้นขายสินค้าไปเน้นที่การหาสมาชิกรายใหม่ก็เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่แล้ว อีกทั้งกฎหมายเมืองไทยต้องรอให้มีผู้เสียหายแจ้งความก่อน จึงจะเข้าไปตรวจสอบได้ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างแล้ว

ส่วนใครที่ออกมาพูดให้บริษัทเสียหายจะถูกฟ้องหมิ่นประมาททันที อีกประการหนึ่งคนที่เข้าไปส่วนหนึ่งโลภ บางส่วนไม่เคยศึกษาหาข้อมูล ที่จริงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง หากเริ่มรู้ข้อมูลก็สามารถที่จะเริ่มเตือนได้ (ไม่ระบุชื่อ) บ้านเราไม่เน้นไปที่การป้องกัน แต่เราเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเสมอ

รู้หน้าไม่รู้ใจ

เชื่อว่าคนในสังคมไทยคงตื่นตะลึงกับเรื่องของทนายตั้มไม่น้อย ภาพเป็นทนายความที่คอยช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่รับความไม่ยุติธรรมในนามของ “ทนายประชาชน” เหตุใดจึงกลายเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง แถมยังเป็นคดีฉ้อโกงอีกด้วย

แหล่งข่าวในแวดวงกฎหมายกล่าวว่า วันนี้คนทำดี แยกยากว่าทำดีด้วยความจริงใจหรือทำดีเพื่อสร้างภาพหรือเพื่อต่อยอด บางกรณีเราก็เห็นว่ามันแกล้งทำแต่ก็ไปพูด บอกหรือเตือนไม่ได้ เพราะมีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครองอยู่ กว่าเรื่องจะแดงออกมาทุกอย่างก็ไปไกลแล้ว

บางกรณีหน่วยงานที่กำกับดูแลทางวิชาชีพก็เป็นพวกเดียวกัน กฎระเบียบที่มีถูกยกเว้นสำหรับบางคน คนอื่นอาจจะโดนลงโทษแต่คนดังบางคน ร้องเรียนเท่าไหร่ก็รอด นี่คือสังคมไทย

วิธีที่ดีที่สุดคือป้องกันตัวเองอย่าโลภ อย่าเชื่อคนง่าย อะไรที่ไม่รู้ให้สอบถามหรือหาความรู้ก่อน คนดีหรือดังแค่ไหนก็อย่าเต็มร้อย เผื่อใจไว้บ้าง

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น