xs
xsm
sm
md
lg

อภินิหารการเมืองปี 67! "ทักษิณ" ศูนย์กลางจักรวาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาอหังการ “ทักษิณ” ชิงบทบาทนายกฯตัวจริง เดินสายเจรจาผู้นำชนกลุ่มน้อยในพม่า ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักโทษที่อยู่ระหว่างการพักโทษ สร้างความเคลือบแคลงใจให้ “รัฐบาลทหารพม่า” กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้งสั่งการขับ “พลังประชารัฐ” ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ฐานรวมหัว ส.ว. โค่น “อดีตนายกฯ เศรษฐา” ล่าสุด “แม้ว” เหิม ตะเพิดพรรคร่วม เหตุไม่สนับสนุนนโยบายเพื่อไทย ด้าน “รศ.ดร.วันวิชิต” ชี้เป็นการกระทำที่ไร้มารยาททางการเมือง เชื่อต้องการเบี่ยงเบนความสนใจ ลดกระแสรุมถล่ม “อุ๊งอิ๊ง”

หากพูดถึงปรากฏการณ์การเมืองในปี 2567 คงไม่มีประเด็นไหนร้อนแรงเท่ากับความอหังการของ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนักโทษคดีคอร์รัปชันที่แม้จะได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือจำคุก 1 ปี แต่ไม่เคยนอนคุกแม้แต่เพียงวันเดียว ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าหลังจากพ้นโทษแล้วเขาจะแสดงอิทธิฤทธิ์เบ่งบารมีแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม


โดยในที่นี้จะขอพูดถึงปฏิบัติการของ “นายทักษิณ” แค่ 3 เรื่องหลักๆ คือ

1.ทักษิณวางตัวประหนึ่ง “ผู้นำประเทศ” โดยเคลื่อนไหวพบปะกับบรรดาผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าใครคือผู้มีอำนาจตัวจริง ตั้งแต่เขายังมีสถานะเป็นนักโทษ แต่ได้รับการพิจารณาพักโทษให้กลับไปนั่งๆ นอนๆ อยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า (ทักษิณได้รับการพักโทษตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2567) โดยในวันที่ 21 ก.พ.2567 ซึ่งเป็นยุคของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน นายทักษิณได้เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าให้ “สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน” ประธานองคมนตรีกัมพูชา และบิดาของ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา คนปัจจุบัน เข้าพบปะหารือ ซึ่งถูกมองว่านี่อาจเป็นสารตั้งต้นของการฟื้น MOU44 ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะนำไปสู่การเสียพื้นที่ทางทะเลบริเวณเกาะกูด เพื่อแลกกับการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานระหว่างกลุ่มทุนและผู้มีอำนาจ เพราะหลังจากนั้น อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นยังมีฐานะเป็นเพียงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ไปเยือนประเทศกัมพูชาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ พร้อมกับมีข่าวลือว่าอาจมีการมุบมิบเจรจาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ด้านพลังงานบริเวณเกาะกูด และทันทีที่ น.ส.แพทองธารได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาปัดฝุ่น จนเกิดกระแสต่อต้านขึ้นทั่วบ้านทั่วเมือง

ต่อมา วันที่ 7 พ.ค.2567 นายทักษิณ ได้เดินทางไปพบปะบรรดาผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศพม่า ซึ่งทุกกลุ่มล้วนแต่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า โดยนายทักษิณอ้างว่าเขาต้องการเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพม่า ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวของนายทักษิณนั้นดำเนินการในฐานะอะไร ในเมื่อทักษิณไม่ใช่นายกรัฐมนตรีของไทย แต่เป็นเพียงนักโทษที่อยู่ระหว่างการพักโทษเท่านั้น อีกทั้งเหตุใดนายทักษิณจึงเดินทางไปพบเฉพาะผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่มีการเข้าพบรัฐบาลทหารพม่า เพราะหากต้องการเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพต้องหารือกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้สร้างความเคลือบแคลงใจให้รัฐบาลทหารพม่าอยู่ไม่น้อย และนี่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับพม่าอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

2.ทักษิณใช้อภินิหารขับพรรคพลังประชารัฐออกจากการพรรคร่วมรัฐบาล และดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าเสียบแทน โดยในช่วงต้นเดือน ส.ค.2567 “ทักษิณ” ได้ประกาศต่อบรรดาบิ๊กการเมืองว่าหาก “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผ่านพ้นวันที่ 14 ส.ค.2567 (วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนนายเศรษฐาออกจากตำแหน่งนายกฯ) ไปได้ จะเอา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากก่อนหน้านี้ทักษิณไม่พอใจปฏิบัติการลับของ “คนบ้านป่า” ที่ส่งสัญญาณให้ “อดีตกลุ่ม 40 ส.ว.” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายเศรษฐา กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” ให้ดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
3.นายทักษิณประกาศกร้าวเบ่งใส่พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ยอมพินอบพิเทาเดินตามแนวทางที่พรรคเพื่อไทยปักธงไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อลดอำนาจกองทัพและสกัดการรัฐประหาร ซึ่งนายทักษิณได้แสดงความไม่พอใจ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยชี้ว่า

“ถ้านักการเมืองซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอร์รัปชัน ไม่เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ทหารก็ปฏิวัติไม่ได้”

ซึ่ง “ทักษิณ” ก็ได้ออกมาสวนทันควัน โดยแซะนายอนุทินว่า “พูดเอาหล่อเร็วไป ขอให้หล่อช้าๆ หน่อย”

ทำเอา “เสี่ยหนู” ต้องเคลียร์ใจด้วยการไปออกรอบตีกอล์ฟกับนายทักษิณ ที่ควงคู่มากับนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานกรรมการบริหารของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ท่ามกลางข่าวความขัดแย้งเรื่องพลังงานระหว่างพรรคเพื่อไทยกับรวมไทยสร้างชาติ

นอกจากนั้น ทักษิณยังแสดงความไม่พอใจกรณีที่มีรัฐมนตรีหลายคนเลี่ยงไม่เข้าประชุม ครม.ในวาระที่พรรคเพื่อไทยเสนอพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เกี่ยวกับมาตรการทางภาษีระหว่างประเทศ โดยทักษิณพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่ารัฐมนตรีเหล่านี้เป็นพวก “อีแอบ” พร้อมท้าให้ลาออก

“มีพรรคร่วมบางพรรค หลบ ป่วย อย่างนี้ไม่ใช่เลือดสุพรรณนี่หว่า ถ้าอยู่ด้วยกันก็ต้องไปด้วยกันสิ วันหลังไม่อยากอยู่ต้องบอกให้ชัดเจน เราเป็นคนพูดรู้เรื่อง ห้ามหนี ต่อไปใครหนี ก็บอกว่าหนี ถ้าหนีก็ส่งใบลาออกมาด้วย ง่ายดี ผมเป็นคนเกลียดพวกอีแอบ ตรงไปตรงมา ง่ายๆ อยู่ก็อยู่ ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ถ้าอยู่ก็ต้องสู้ด้วยกัน ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลร่วมกัน แถลงนโยบาย คุณยกมือเห็นด้วย พอได้เก้าอี้รัฐมนตรีค่อยๆ หลบมือออก ไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา” นายทักษิณ กล่าว

ซึ่งกรณีดังกล่าวถูกพุ่งเป้าไปที่ 3 พรรคใหญ่คือ นายอนุทิน รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าพรรคพรรคประชาธิปัตย์ 

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายก็ยังงงงวยกับบทบาทของนายทักษิณว่าเขาออกมาฟาดงวงฟาดงากับพรรคร่วมรัฐบาลในฐานะอะไร? เพราะนายทักษิณไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในรัฐบาล เป็นแค่บิดาของนายกฯ แพทองธารเท่านั้น

ยังไม่นับรวมกรณีที่นายทักษิณเดินสายปาฐกถาแนวคิดด้านเศรษฐกิจที่จะช่วยฟื้นฟูประเทศหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งต่อมาแนวคิดดังกล่าวได้กลายเป็นนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อไทย

ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าการที่นายทักษิณเข้ามามีบทบาทดังกล่าวนั้นอาจเข้าข่ายครอบงำพรรค ซึ่งเป็นความผิดที่อาจนำไปสู่การยุบพรรค

“รศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อย่าง “รศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า ในทางกฎหมายนั้นเอาผิดกับนายทักษิณยาก แต่ในทางการเมืองรู้อยู่แก่ใจว่าทักษิณใช้อำนาจผ่านลูกสาว ในหลายเรื่องหลายคราวนายทักษิณพูดปุ๊บรัฐบาลจะรับลูกทันที แล้วบอกว่าเป็นแนวทางที่นายทักษิณได้ยินจากนายกฯ แพทองธาร แต่มีคำถามตามมาว่าการกระทำของนายทักษิณเป็นเรื่องที่เสียมารยาทหรือไม่ ซึ่งในทางการเมืองนั้นต้องถือว่านายทักษิณสามารถสร้างพื้นที่แต้มต่อได้ สามารถสร้างพื้นที่ข่าวเพื่อกลบกระแสที่กำลังจับผิดนายกฯ แพทองธาร ทำให้นายกฯ แพทองธารหลุดจากเป้าโฟกัส เพราะกระแสสังคมจะพุ่งเป้าไปที่นายทักษิณแทน ซึ่งนายทักษิณซึ่งเป็นบิดาของนายกฯ นั้นสามารถทนแรงเสียดแทงได้มากกว่า

“ยกตัวอย่าง คุณทักษิณรู้เรื่องนโยบายก่อนฝ่ายการเมือง ก่อนเรื่องจะเข้า ครม. ซึ่งเป็นประเด็นเซนซิทีฟ แล้วคุณทักษิณเอามาพูดต่อสาธารณะก่อน ถามว่ามารยาททางการเมืองสามารถทำแบบนี้ได้หรือไม่ เพราะคนทั่วไปเขาไม่ทำกัน ส่วนกรณีที่คุณทักษิณตำหนิพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นคุณอนุทิน ที่ไม่ร่วมสนับสนุนการแก้ระเบียบกระทรวงกลาโหม หรือคุณพีระพันธุ์ไม่เข้าประชุม ครม. ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าคุณทักษิณก้ำเกินคำว่ามารยาททางการเมืองไปมาก” รศ.ดร.วันวิชิต กล่าว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาของ “ทักษิณ” คราวนี้นั้น นอกจากเขาจะกลับเข้าสู่อำนาจด้วยความอหังการแล้ว เขายังทำตัวประหนึ่ง “ศูนย์กลางของจักรวาล” อีกด้วย!!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น