คลัง+แบงก์ชาติผุด “คุณสู้ เราช่วย” หลังลูกหนี้ไม่ฟื้นนับตั้งแต่พ้น Covid-19 ความสามารถชำระหนี้ได้ลดลง ยอมแบกดอกเบี้ยแทน 3 ปี เพื่อรักษาลูกหนี้ดีแต่อาจยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด นักเศรษฐศาสตร์ชี้นี่คือจุดเปลี่ยนของสถาบันการเงินกำไรสูงสุดไม่ใช่คำตอบ เฉือนรายได้ประคองลูกหนี้ให้รอดไม่งั้นเจ้าหนี้ก็อยู่ไม่ได้
โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นับเป็นมาตรการหนึ่งในการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยเคยออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ครั้งนั้นผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน มีรายได้ลดลง อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้บางอาชีพขาดรายได้ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งการลดดอกเบี้ย หรือการนัดหารือระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้
แม้สถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลายมาตั้งแต่ปี 2565 แต่สภาพเศรษฐกิจในไทยก็ยังไม่ฟื้น สถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าหลายประเทศ
11 ธันวาคม 2567 มีการเปิดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ออกมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ภายใต้ชื่อ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งในช่วงเริ่มต้นการช่วยเหลือจะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ประกอบด้วย 2 มาตรการ
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์”
เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้น
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
(1) ลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น
(2) พักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ
ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น
คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
o สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
o สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
o สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท
o สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
o กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด
(2) เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
(3) มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(3.1) เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
(3.2) เคยปรับโครงสร้างหนี้ (ปรับหนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จากการค้างชำระเกิน 30 วัน)
แต่ปัจจุบัน ต้องไม่ค้างชำระหรือค้างไม่เกิน 30 วัน
เงื่อนไขของการเข้าร่วมมาตรการ
(1) ลูกหนี้ไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
(2) ลูกหนี้รับทราบว่า จะมีการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้าร่วมมาตรการ
(3) หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่มาตรการกำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ได้ เช่น ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน ลูกหนี้จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการ
(4) หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมในการเข้าร่วมมาตรการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่
จ่าย-ปิด-จบ
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน เพื่อเปลี่ยนสถานะจากหนี้เสียเป็นปิดจบหนี้ และให้ลูกหนี้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้
1.1 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้จะชาระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่ายและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
1.2 คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชาระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
(2) มีภาระหนี้ต่อบัญชีไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จากัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)
ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่นๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 8.30 น. ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 23.59 น. ทั้งนี้ ลูกหนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร.1213 หรือ call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการและกดเบอร์ต่อ 99
ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่า หลังจาก Covid-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากผลกระทบจากการแพร่ระบาด รวมถึงกำหนดแนวทางการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ตั้งแต่ปลายปี 2566 และมีผลบับคับใช้ 1 มกราคม 2567 เพื่อแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
การให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ กำหนดแนวทางไว้ว่า เจ้าหนี้ดูแลการให้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพตลอดกระบวนการ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัวจนติดกับดักหนี้ และต้องให้ข้อมูลสำคัญครบถ้วนกับลูกหนี้ เช่น ค่าธรรมเนียม ระยะเวลาผ่อนชำระ ให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยทางการเงิน
ก่อนเป็นหนี้ ไม่โฆษณากระตุ้นให้เป็นหนี้เกินตัว เสนอสินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้เงิน และระหว่างเป็นหนี้ กำหนดเงื่อนไขสินเชื่อที่เป็นธรรมและชัดเจน แจ้งเตือนให้จ่ายหนี้ตรงเวลา ส่งเสริมการจ่ายค่างวดมากกว่าขั้นต่ำ เมื่อมีปัญหาหนี้ มีแนวทางช่วยเหลือกับเวลา เช่น ปรับหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย ถูกฟ้อง ขายหนี้ อย่างน้อย 1 ครั้ง
ถึงจุดเปลี่ยนอุ้มลูกหนี้
นักวิชาการด้านการเงินกล่าวว่า ในอดีตเราอาจไม่เคยเห็นแบงก์ยอมลดรายได้ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมให้ลูกหนี้ รวมถึงเบี้ยปรับต่างๆ กรณีผิดนัดชำระหนี้ เพราะนั่นคือรายได้หลักของสถาบันการเงิน และนิยามหรือชุดความคิดของอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรสูงสุดต้องมาก่อน มีผลต่อราคาหุ้นและความมั่งคั่งของผู้ถือห้น
ในแต่ละยุคทุกอุตสาหกรรมจะมีชุดความคิดหรือค่านิยมในการทำธุรกิจที่แตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม ก่อนหน้านี้ลูกหนี้ที่มีปัญหาด้านการผ่อนชำระไม่พร้อมกัน ตรงนี้แบงก์สามารถบริหารจัดการได้ การผ่อนปรนต่างๆ จึงมีน้อย หรือไปจบที่การฟ้องร้อง
แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเพราะลูกหนี้ประสบปัญหาพร้อมๆ กัน เช่น Covid-19 เศรษฐกิจทั่วโลกไม่ฟื้น เกิดภาวะน้ำท่วมตามพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อความสามารถในการชำระหนี้ลดลงจากฝั่งลูกหนี้พร้อมๆ กัน หากเพิกเฉยต่อลูกหนี้อาจเป็นผลร้ายต่อผู้ปล่อยสินเชื่อในอนาคต ทั้งภาระการตั้งสำรองหนี้แต่ละชั้นซึ่งเป็นต้นทุนของแบงก์อีกด้านหนึ่ง
ตอนนี้มาถึงจุดที่แบงก์ต้องยอมลดรายได้ลง แล้วหันมาช่วยเหลือลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้รอดแล้วแบงก์จะรอดไปด้วย
ต้องยอมรับว่านาทีนี้แบงก์พาณิชย์แนวทางที่มีต่อลูกหนี้เปลี่ยนวิธีคิดไปแล้ว กำไรอาจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดอีกต่อไป แต่ความยั่งยืนกลายเป็นเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจในยุคนี้
ไม่งั้นพังทั้งคู่
นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า เดิมสถาบันการเงินเน้นบริหารธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น มุ่งไปที่เงินปันผล แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป หลังจากที่ทั่วโลกเจอปัญหาเรื่อง Covid-19 ลูกหนี้มีปัญหาเยอะขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการผ่อนชำระ รวมไปถึงภาคธุรกิจด้วย
สำหรับการช่วยลูกหนี้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ช่วงเศรษฐกิจไม่มีปัญหา เพราะสามารถจ่ายหนี้ได้ แบงก์จึงหันไปเน้นบริการเสริมเพื่อให้กิจการของลูกหนี้เติบโตเร็ว ตอนนี้ทุกอย่างกลับด้าน เศรษฐกิจไม่ดี แข่งขันไม่ได้ แนวโน้มของโลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อม ต้นทุน ดังนั้นวิธีการคือเอาตัวให้รอด แบงก์เริ่มเห็นแล้วว่า ตัวเลขหนี้ 1 วันเริ่มสัญญาณว่าลูกหนี้เริ่มจ่ายไม่ได้ จึงต้องลงไปช่วยลูกหนี้ให้รอด ทำอย่างอื่นไม่ได้เพราะลูกหนี้ไปต่อไม่ได้
“วันนี้เราเดินมาถึงจุดที่แบงก์ต้องยอมลดรายได้ต่างๆ ลง เพื่อประคองให้ลูกหนี้สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ ไม่งั้นก็พังทั้งคู่”
ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยเกาะไปกับเศรษฐกิจจีน วันนี้จีนไม่ได้เติบโตเหมือนเดิมแล้ว แถมยังต้องรอดูทิศทางสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อีกด้วย แถมการค้าทาง Online ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนที่ปรับตัวได้ก็รอด ใครที่ปรับตัวไม่ได้ก็ลำบาก
ทำดีกว่าไม่ทำ
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า มาตรการดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดบ้าง เช่น กำหนดเวลาไว้ 3 ปี ที่ต้องผ่อนชำระขั้นต่ำตามเงื่อนไข เหมาะกับลูกหนี้ดีที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้สูงกว่าเกณฑ์ แต่ช่วยให้ลูกหนี้ที่มีความสามารถชำระหนี้ลดลง สามารถลดภาระดอกเบี้ยได้ (หากทำได้) และต้องไม่ลีมเงื่อนไขว่าห้ามก่อหนี้ใหม่ใน 12 เดือนแรก ตรงนี้ทำได้หรือไม่
พูดแบบไม่อ้อมค้อมคือดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และรายละเอียดบางประการก็ยังไม่ชัดเจน เช่น ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินยังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมโครงการ หรือเรื่องการรับภาระดอกเบี้ยแทนลูกหนี้เบื้องต้นอาจเป็น 50:50 คือรัฐครึ่ง สถาบันการเงินครึ่งหนึ่ง
เราเห็นแค่ฝั่งเดียวคือแบ่งเบาภาระลูกหนี้ อีกด้านที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ รัฐบาลต้องหาวิธีการสร้างรายได้ให้ประชาชน เพื่อให้เศรษฐกิจโต เพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่ต้องแก้กันทั้งระบบ ส่วนเรื่องการแจกเงินนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j