“รองประธานสภาอุตฯ” รับเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ หนี้ครัวเรือนสูง NPL ภาคเอกชนพุ่ง กำลังการผลิตเหลือไม่ถึง 50% ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนถดถอย แนะ 4 แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ “ดร.ธนวรรธน์” ชี้ ศก.เติบโตช้า เพราะภาครัฐไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามปกติ นโยบายกีดกันการค้าของ “โดนัลด์ ทรัมป์” กระทบส่งออกไทย ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เผยแนวโน้มเศรษฐกิจปี 68 ไทยเติบโตที่ 2.4% ลดลงจากปี 67 ซึ่งขยายตัว 2.6% การส่งออกชะลอตัวเนื่องจากสงครามการค้า ส่วนภาคการผลิตจะเผชิญการแข่งขันรุนแรง เหตุสินค้าจีนตีตลาด
ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นตัว ด้วยกำลังซื้อที่ลดลง ตลาดห้างร้านไม่มีลูกค้า และการปิดตัวของสถานประกอบการซึ่งนำมาซึ่งปัญหาการว่างงาน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าประชาชนคนไทยกำลังอยู่ในภาวะ "ต้มกบ" แม้จะเห็นปัญหาแต่ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน อีกทั้งยังอยากรู้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าจะเป็นเช่นไร?
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่ดีจริงๆ ซึ่งสัญญาณที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่ มีหลายปัจจัย อันได้แก่
1.GDP Growth (การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ซึ่งไทยต่ำสุดในอาเซียน คือไม่ถึง 3%
2.ภาระหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบสูงมาก
3.กำลังซื้อหรือความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง
4.ตัวเลขหนี้ของภาคธุรกิจ มีหนี้เสียหรือ NPL สูงขึ้น
5.อัตราการผลิตของธุรกิจหลายประเภทลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยบางโรงงานทำงานแค่สัปดาห์ละ 3 วัน และไม่มีโอที
นายอิศเรศกล่าวต่อว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ดีเนื่องจากโครงสร้างทางธุรกิจของไทยซัปพอร์ตเฉพาะทุนรายใหญ่ ทำให้รายใหญ่ได้เปรียบมากเกินไปและเงินไหลไปอยู่กับทุนผูกขาด ขณะที่ธุรกิจรายย่อยตายหมด ปัจจุบันโรงงานต่างๆ กำลังการผลิตลดลง เหลือไม่ถึง 50% และโดนสินค้าจีนราคาถูกเข้ามาถล่มตลาดสินค้าไทย จะเห็นได้ว่าตลาดต่างๆ ซบเซา บูทขายของหรือร้านค้าในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ปิดตัวลงเยอะมาก ร้านอาหารก็ปิดไปเยอะ คนไม่มีกำลังซื้อ ตอนนี้ส่วนใหญ่ที่อยู่ได้คือเมืองท่องเที่ยว ส่วนนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาทของรัฐบาลไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะไม่ทำให้เกิดการสร้างรายได้เพิ่ม เงินที่ได้ไปซื้อของกินของใช้ และอีกส่วนนำไปใช้หนี้นอกระบบ
“ผมไม่มีความหวังเลยว่าอะไรจะดีขึ้น ผมว่ารัฐบาลแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เหมือนคุณทักษิณพยายามจะขายความหวัง แต่ผมว่ามันต้องทำอะไรให้คนจนมีความหวังมากกว่าการแจกเงิน 1 หมื่น นโนยายขึ้นค่าแรง 400 บาท ก็เป็นการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนโดยผลักภาระให้นายจ้าง และผลที่ตามมาคือภาคธุรกิจแบกต้นทุนไม่ไหวต้องปิดตัว หรือย้ายฐานการผลิต” รองประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าว
ส่วนว่ามีแนวทางใดบ้างที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มมากขึ้นนั้น “รองประธานสภาอุตสาหกรรม”แนะนำว่า มีสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการ 4 ประการ คือ
1.รัฐควรสนับสนุนสินค้าเมดอินไทยแลนด์ (MiT) โดยเพิ่มแต้มต่อให้สินค้าเมดอินไทยแลนด์ จากเดิมที่สามารถขายให้ภาครัฐได้ในราคาที่สูงกว่าสินค้าที่ไม่ใช่ MiT 5% เพิ่มเป็น 10% และให้บริษัทเอกชนที่ซื้อสินค้า MiT สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
2.รัฐบาลต้องส่งเสริมสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อให้สินค้าเกษตรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น และมี Value Chain (ห่วงโซ่คุณค่า) ที่ยาวขึ้น เนื่องจากการเกษตรเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เช่น อ้อย นอกจากจะนำไปผลิตเป็นน้ำตาลแล้ว ยังสามารถนำไปผลิตเอทานอล และนำชานอ้อยไปผลิตถ้วยจานชามซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ซึ่งรัฐบาลสามารถนำพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง มาแปรรูปเพื่อให้มี Value Chain ที่ยาวขึ้นและเป็น Zero Waste ได้อย่างจริงจัง
3.รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มีการ transform เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งเหลืออยู่ในอุตสาหกรรม เนื่องจากผลพวงจากการลดการผลิตรถยนต์สันดาป โดยส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี เช่น โดรน เครื่องมือแพทย์ ระบบการขนส่งทางราง อาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งสามารถทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยีจากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มาใช้ในการผลิตได้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ และคนงานในอุตสาหกรรมยานยนต์จะได้ไม่ตกงาน
4.ส่วนภาคการท่องเที่ยวควรเปลี่ยนเป้าหมายจากการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น เป็นส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายในไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบโจทย์การสร้างรายได้ให้ประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวบางกลุ่มมีจำนวนมากก็จริงแต่ไม่มีการใช้จ่ายในไทย เช่น ทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์ ธุรกิจรถบัส ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก เป็นของคนจีนทั้งหมด
ขณะที่ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 เศรษฐกิจไทยโต 1.6% ไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจโต 2.2% ไตรมาสที่ 3 โต 3% ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าเนื่องจากภาครัฐไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามปกติ โดยหากย้อนไปในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 2% เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ได้ถูกใช้ตามปกติ ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาในปลายเดือน มี.ค.2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ปกติ ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีความล่าช้า เพราะกว่า พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็เดือน เม.ย.2567 และเริ่มใช้ในเดือน พ.ค.2567 ดังนั้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐจึงขยายตัวติดลบ อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 3% การใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวเป็นบวก ขณะที่การส่งออกของไทยขยายตัวเป็นบวกเช่นกัน อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวยังเป็นตัวหนุนในระบบเศรษฐกิจ
“ปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 3 ค่อนข้างดี ได้แก่ 1.รัฐบาลยังคงเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามปกติ 2.การส่งออกยังขยายตัวได้ และ 3.การท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้เชื่อว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในไทยไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน และตั้งเป้าหมายว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 คนในปีหน้า” รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้น ข้อมูลจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้สรุปแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ไว้ดังนี้
1) เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตที่ 2.4% ต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% เล็กน้อย
2) การส่งออกคาดว่าจะเติบโตชะลอลง เนื่องจากสงครามการค้า ขณะที่ภาคการผลิตจะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน
3) การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้น เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีเสถียรภาพ
4) ลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการออกบัตรส่งเสริมของ BOI
5) การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 แม้ว่า
โมเมนตัมจะชะลอตัวลง
ข้อมูลจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ยังระบุด้วยว่า การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มจะยังคงเผชิญแรงกดดันจากการลงทุนอย่างระมัดระวังของภาคธุรกิจและความท้าทายของภาคการก่อสร้างในประเทศ ซึ่งแม้ว่าในอุตสาหกรรมสำคัญของไทยจะมีมุมมองเชิงบวก เช่น การท่องเที่ยวและการส่งออก แต่ในบางอุตสาหกรรมยังต้องมีความระมัดระวังจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้มีธุรกิจจำนวนมากลังเลที่จะเพิ่มการลงทุน นอกจากนี้ ภาคการก่อสร้างยังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ โดยมีสาเหตุหลักมาจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาและความต้องการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ที่ลดลงทำให้เกิดความล่าช้าในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างที่ลดลง ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมในประเทศลดลงด้วย
ขณะที่ รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะเป็นเช่นไร เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะปัญหาการเมือง ไม่รู้ว่าปีหน้าจะมีการลงถนนเกิดขึ้นหรือไม่ ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลภายใต้การนำของเพื่อไทยหรือไม่ อย่างไร จะมีการยุบสภาในเดือน พ.ค.2568 อย่างที่หลายคนคาดการณ์หรือเปล่า จะมีการเลือกตั้งใหม่หรือเปล่า
ถ้าการเมืองมีความวุ่นวายอาจจะส่งผลให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์พลิกผันก่อนที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะแล้วเสร็จ จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐล่าช้าเหมือนที่ผ่านมา แต่ถ้าการเมืองนิ่ง ทุกอย่างผ่อนคลายก็ไม่มีปัญหาที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุด นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำสงครามการค้า ซึ่งหลายคนเกรงว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ไทยส่งออกไม่ได้
“อย่างไรก็ดี นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย ดังนั้น จึงยังไม่มีมูลเหตุที่ชี้ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะแย่กว่าปีนี้ ยกเว้นว่าการเมืองของไทยจะเละเทะและมีปัญหา ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ตีกันแล้วทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้ามา ส่วนนโยบายการที่รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้า หากค่าแรงอยู่ที่ระดับ 400 บาท จะกลายเป็นประเด็นทำให้ธุรกิจระมัดระวังในเรื่องการจ้างงานมากขึ้น” รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเป็นเช่นไร จะอยู่ในภาวะ "เผาจริง" อย่างที่หลายฝ่ายวิตกกันหรือไม่? ต้องติดตามกันต่อไป!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j