xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศรอบบ้านเหิม เหตุ "รัฐบาลอิ๊ง" อ่อนแอ หวั่นซ้ำรอยยุค "ทักษิณ" ผลประโยชน์ทับซ้อน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.ปณิธาน” ชี้ประเทศรอบบ้านได้โอกาสรุกชายแดนไทย วางท่าทีแข็งกร้าว สร้างอำนาจต่อรอง เหตุ “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง” กองทัพขาดเอกภาพ นโยบายและแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงไร้ความชัดเจน ระบุ สถานการณ์คล้ายยุค "ทักษิณ" เชื่อ “ผู้นำระดับสูงพม่า” สั่งทหารยิงเรือประมงไทย เพื่อกดดันให้ปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่ใช้พื้นที่ของไทยซ่องสุมกำลัง แนะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชน

กล่าวได้ว่าขณะนี้ “ประเทศไทย” กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากถูกประเทศรอบบ้านรุมกินโต๊ะ ทั้งกองกำลังว้าแดงที่รุกล้ำดินแดนไทย กรณีเรือรบพม่ายิงเรือประมงของไทย กัมพูชาพยายามอ้างสิทธิเหนืออาณาเขตน่านน้ำไทยบริเวณเกาะกูด รวมถึงข่าวลือที่ว่าทหารลาวตั้งฐานปฏิบัติการประชิดชายแดนไทย ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าทำไมอยู่ๆ ประเทศรอบบ้านจึงพร้อมใจกันลุกขึ้นมาท้าชนกับไทย เรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่?

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการเมือง
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการเมือง วิเคราะห์ว่า เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านจับสัญญาณได้ถึงความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง รวมถึงความไม่ชัดเจนของนโยบายความมั่นคงและแนวทางปฏิบัติ ประเทศต่างๆ จึงแสดงท่าทีแข็งกร้าวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองบางสิ่งบางอย่าง ขณะเดียวกัน สถานการณ์ตามแนวชายแดนของไทยมีปัญหามานานแล้ว ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลหากไม่มีความชัดเจนเรื่องนโยบายความมั่นคงอาจจะเกิดช่องว่างได้ โดยเฉพาะบริเวณแนวชายแดนที่มีการสู้รบกันในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าการปฏิบัติตามปกติจะไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้านโยบายไม่ชัดเจนอาจจะเกิดปัญหาบางอย่างตามมาได้

เช่น นโยบายกำหนดว่าไม่ให้มีกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดจากพม่าเข้ามาใช้ดินแดนของไทยเพื่อซ่องสุมกำลัง ซึ่งถ้านโยบายไม่ชัดเจนจะเกิดปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าลักษณะใดบ้างที่ถือว่าเข้าข่ายซ่องสุมกำลัง หรือกรณีปัญหาเรื่องกลุ่มว้าแดงรุกล้ำดินแดนไทย หากนโยบายและแนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจนจะมีปัญหาว่าฝ่ายการเมืองและฝ่ายความมั่นคงสื่อสารกันไปคนละทิศละทาง โดยหลังการประชุมร่วมระหว่างฝ่ายความมั่นคงของไทยกับตัวแทนฝ่ายว้าแดง และมีข่าวออกมาว่าฝ่ายไทยมีการยื่นกำหนดเวลาให้ว้าแดงถอนกำลังออกไป ขณะที่ทางการไทยกลับไม่ได้ยืนยันว่ามีการยื่นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วว้าแดงไม่ออกจากพื้นที่จะกลายเป็นบันทึกว่าไทยไม่ได้กดดันให้ว้าแดงออกไป อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังถือว่าเป็นกลไกปกติ ยังไม่ถึงขั้นว่าเราต้องเสียดินแดนหรือได้ดินแดน

“ถ้าเราไม่ปรับแนวทางการปฏิบัติให้เป็นเอกภาพจะเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งการปรับแนวทางการปฏิบัติให้เป็นเอกภาพคือต้องมีการส่งสัญญาณจากสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม รมว.มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินนโยบายอย่างไร กระชับการปฏิบัติอย่างไร จะตรึงกำลังยังไง ตรงไหนต้องโต้ตอบ ซึ่งท่าทีเหล่านี้ทางพม่า รวมถึงประเทศรอบบ้านของไทยเขาสามารถจะจับสัญญาณได้ทันที ถ้ารู้สึกว่าไทยไม่มีเอกภาพด้านความมั่นคง เขาจะวิ่งเข้าหาบุคคลที่มีอำนาจ เขาอาจจะจับสัญญาณที่ขัดแย้งกันได้ และใช้จังหวะนี้เดินเกมในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งการที่นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะ รมว.กลาโหม แสดงความเห็นไปคนละทิศละทางกับผู้นำเหล่าทัพ ประเทศรอบบ้านเราจะจับสัญญาณเราได้ และถ้าเขาต้องการกดดันต่อรองอะไรกับเรา เขาจะใช้วิธีที่แข็งกร้าว เช่น ปิดด่านชายแดน จับกุมคนไทย ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ขณะที่แม้จะมีชาวพม่าหลายล้านคนอยู่ในไทย แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลพม่า พม่าจึงได้เปรียบในการต่อรองมากกว่า” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าสมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อยู่ในรัฐบาลเพื่อไทยเหมือนกัน แต่ไม่เคยมีกรณีถูกรุกล้ำจากประเทศเพื่อนเหมือนสมัยนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร นั้น “รศ.ดร. ปณิธาน” มองว่า ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสังเกต โดยเฉพาะหลังจากที่ น.ส.เเพทองธาร นายกรัฐมนตรีของไทย ได้พบกับ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ในการหารือนอกรอบระหว่างการประชุม ACMECS ที่เมืองคุนหมิงประเทศจีน เมื่อเดือน ต.ค.2567 ที่ผ่านมา บรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศไทยและพม่าน่าจะดีกว่านี้ มีอะไรก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หากมีการรุกล้ำน่านน้ำต้องมีการแจ้งเตือน ใช้นโยบายจากเบาไปหาหนัก แต่ทางทหารพม่ากลับใช้ความรุนแรง คล้ายกับที่เคยทำในอดีตสมัยรัฐบาล พล อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อพม่าเห็นว่าไทยไม่เป็นเอกภาพและอ่อนแอก็ใช้กำลังกดดัน ปิดด่าน และในอดีตเคยยิงข้ามมา ทำให้ไทยมีปัญหาระหองระแหงกับพม่า แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านเห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพในยุครัฐบาลแพทองธาร

“นอกจากนั้น ในสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก พม่าก็มีปัญหากับไทย แต่สมัยนั้นทหารไทยมีความชัดเจนในการตรึงกำลังตามแนวชายแดน ทำให้สถานการณ์สงบไปพอสมควร แต่ช่วงนั้นฝ่ายการเมืองไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ เนื่องจากฝ่ายการเมืองมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับทางพม่า มีเรื่องการทำธุรกิจการค้าของฝ่ายการเมือง ซึ่งทหารไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วย ฝ่ายการเมืองให้ธนาคารของไทยปล่อยกู้ให้แก่พม่า (อดีตนายกฯ ทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ฯ) มีการลงทุนด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในพม่า ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ตอนนั้นทหารพม่าใช้นโยบายที่แข็งกร้าวกับไทยเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงที่พม่าต้องการต่อรอง ขณะที่ทางฝ่ายไทยใช้ทั้งวิธีการทูตและการกดดันทางทหาร มาถึงปัจจุบันในยุครัฐบาลอุ๊งอิ๊งก็เจอปัญหาคล้ายกับยุคอดีตนายกฯ ทักษิณ” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ

ทั้งนี้เป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์นั้นดูเหมือนจะไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกรณีข้อพิพาทบริเวณเกาะกูดระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่ถูกมองว่าอาจมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน

จุดที่เรือประมงไทยถูกทหารพม่ายิงถล่ม
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีที่ทหารพม่ายิงเรือประมงไทยกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายต่างข้องใจว่าพม่ามีเป้าประสงค์อะไรในการกระทำครั้งนี้ ซึ่ง “รศ.ดร.ปณิธาน” เชื่อว่า การที่ทหารพม่ายิงเรือประมงไทยนั้นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูงของพม่า เพราะเรื่องแบบนี้ทหารในพื้นที่ไม่สามารถตัดสินใจโดยลำพังได้เนื่องจากจะเป็นประเด็นที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและพม่า ซึ่งเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักระหว่างไทยและพม่าในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล กองทัพกับกองทัพ

ที่สำคัญการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ โดยหลักปฏิบัติของทหารในพื้นที่ซึ่งไม่ชัดเจนว่าอยู่ในน่านน้ำของประเทศใดนั้นจะมีความยืดหยุ่นและอะลุ่มอล่วยกัน แม้แต่พื้นที่พิพาทที่เข้มข้นในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับหลายๆ ประเทศ รวมถึงฟิลิปปินส์ ก็ไม่มีการใช้อาวุธที่ทำลายล้างชีวิตขนาดนี้ ตามหลักการแล้วหากเรือประมงที่ล้ำน่านน้ำไม่ใช่เรือประมงติดอาวุธ ทหารจะไม่มีการยิง และปกติถ้าได้รับการแจ้งเตือนเรือประมงก็จะถอย เพราะถ้าไม่ถอยออกมาจะโดนค่าปรับและมีการดำเนินการทางทะเล ดังนั้น การใช้วิธีรุนแรงขนาดนี้อาจเป็นสัญญาณว่าความสัมพันธ์ในระดับสูงระหว่างไทย-พม่าไม่ค่อยดี ซึ่งหลังจากนี้ทางไทยอาจจะต้องดำเนินการหลายอย่าง เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ารับผิดชอบ เรียกร้องให้ขอโทษ และมีการพูดคุยกันในระดับสูง เหมือนครั้งที่เครื่องบินพม่าบินล้ำน่านฟ้าไทย

“การที่ผู้บริหารระดับสูงของพม่าสั่งการในลักษณะนี้อาจจะเป็นสัญญาณต่อเนื่องมาจาก 2-3 เรื่องที่พัวพันกันระหว่างไทยกับพม่า คือ เรื่องที่ทหารพม่าได้แจ้งเตือนไทยและขอให้เราช่วยกดดันให้ชนกลุ่มน้อยที่เป็นกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มที่เข้ามาใช้พื้นที่ตามแนวรอยต่อของไทยเป็นพื้นที่ซ่องสุมในการโจมตีทหารพม่า ซึ่งทางไทยปฏิเสธไปว่าไม่มีกองกำลังชนกลุ่มน้อยในไทยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ซึ่งทางรัฐบาลพม่าดูเหมือนจะไม่ค่อยพอใจ อันนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นเงื่อนไขหนึ่ง ขณะเดียวกันมีการพูดคุยกันเรื่องว้าแดงซึ่งทางทหารพม่าระบุว่าในเมื่อเราแจ้งว่าไม่มีกองกำลังชนกลุ่มน้อยปฏิบัติการในบ้านเราตามขั้นตอนการพูดคุยของคณะกรรมการชายแดนระดับภูมิภาค หรือ RPP หมายความว่าที่ไทยบอกว่าว้าแดงรุกเข้ามาก็ขัดแย้งกับที่เราแจ้งว่าไม่มีกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดนไทย จึงกลายเป็นว่าตอนนี้ทั้งว้าแดงและทหารพม่ากลายเป็นแนวร่วมมุมกลับ ทั้งที่ความจริงเขาเป็นศัตรูกัน” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ

ส่วนกรณีกองกำลังว้าแดงที่รุกล้ำเขตแดนไทยซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงของไทยนั้น “รศ.ดร.ปณิธาน” อธิบายว่า ว้าแดงได้เข้ามาตั้งฐานอยู่ตรงดอยหัวม้าตั้งแต่ปี 2545 ต่อมาในปี 2553 มีรายงานว่าล้ำเขตแดนเข้ามาเล็กน้อย ซึ่งทางไทยประท้วงและแจ้งเตือนไป โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องไปตกลงกันในคณะกรรมการ TBC (คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-พม่า) JBC (คณะกรรมการเขตแดนร่วม) และ RBC (คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย-พม่า) ซึ่งระหว่างที่ยังไม่มีการจัดทำหลักเขตแดนนั้น การขยับไปขยับมาไม่กี่ร้อยเมตรทางเขาจะไม่ถือว่าเป็นการรุกล้ำดินแดน แต่ทางเราได้แจ้งพิกัดไปชัดเจนว่าตรงไหนที่เราคิดว่าเป็นของเรา และได้ทำการประท้วง โดย ผบ.กองกำลังของไทย ได้ไปคุยกับหลายส่วนของเขา และทำหลักฐานบันทึกการประท้วงไว้เพื่อจะนำไปใช้ในการเจรจาเขตแดน

ทั้งนี้ การรุกล้ำดินแดนในอดีตนั้นถือว่ามีบ้างเล็กน้อย มาขยายตัวก่อนโควิด โดยช่วงหนึ่งที่มีการสู้รบกันมากขึ้น พอช่วงโควิดก็ชะลอลง แต่หลังโควิดกลับมาขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว้าแดงจะขยายพื้นที่ไม่มาก และ 7-9 ฐานที่ขยายขึ้นมามีกำลังพลไม่มากนัก โดยมากที่สุดเป็นแค่ระดับกองพัน มีกำลังพลไม่ถึง 100 คน แต่ว้าแดงมีอาวุธหนักอยู่หลายอย่าง ขณะที่กองกำลังว้าแดงส่วนใหญ่เป็นระดับกองร้อย หมู่หรือหมวด คอยคุมการส่งกำลังบำรุงในช่วงฤดูแล้ง ส่วนช่วงฤดูฝนเส้นทางจะใช้การไม่ได้ ซึ่งโดยภาพรวมการพัฒนาฐานบริเวณนี้ยังเพิ่งเริ่มต้น

“ความเข้มแข็งที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มว้าแดงอาจจะมาจากการสนับสนุนของต่างชาติ หรือขบวนการยาเสพติด ทั้งนี้ปัจจุบันว้าแดงไม่ได้ใช้ไทยเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งยาเสพติดเนื่องจากไทยมีการตรึงกำลังหนาแน่น ขณะที่จีนนั้นถือว่ามีการวางกำลังหนาแน่นที่สุด มีการซ้อมรบติดพรมแดนเพื่อไม่ให้มีกองกำลังเล็ดลอดเข้าไป โดยจากรายงานของสหประชาชาติและอีกหลายประเทศระบุว่าปัจจุบันว้าแดงใช้เส้นทางในประเทศที่มีช่องว่างมากในการลำลียงยาเสพติด อย่างบังกลาเทศ อินเดีย และลาว ซึ่งไม่ได้ตรึงกำลังหนาแน่น อย่างไรก็ดี ช่วงหลังลาวเริ่มจะปิดด่านพรมแดนเพราะมีรายงานจากสหประชาชาติว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเงินช่วยเหลือของลาว ส่วนอินเดียเพิ่งสถาปนากองกำลังเข้ามาประชิดพรมแดนเพื่อปิดช่องว่างตรงนี้” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

จุดที่กองกำลังว้าแดงรุกล้ำเขตแดนไทย
รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่า นับจากนี้สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำเพื่อดูแลความมั่นคงของประเทศก็คือ

1.ต้องกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงและกำชับแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านรอบด้านเห็นว่า รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศและผู้บังคับบัญชาด้านความมั่นคงมีความเป็นเอกภาพ และมีความเด็ดขาดในการปฏิบัติ

อย่างกรณีที่กองกำลังของต่างชาติทำให้คนไทยเสียชีวิตไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ก็ต้องมีความเด็ดขาดในการวางกำลังตามแนวชายแดนให้ชัดเจน ขณะที่การประท้วงการรุกล้ำน่านน้ำ หรือน่านฟ้าของไทยก็ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เช่น กรณีที่ทหารพม่ายิงเรือประมงไทย เขายืนยันว่าเขาอยู่ในน่านน้ำของพม่า ซึ่งทางไทยต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราอยู่ในน่านน้ำของเรา กรณีที่เกิดข้อพิพาทนั้นอยู่ในเขตของไทย ที่จริงเรือประมงทุกลำมีการติดจีพีเอสระบุพิกัดตามข้อตกลงของประมงนานาชาติ (IUU) เรือทุกลำที่น้ำหนักเกิน 30 ตันกรอสจะต้องขึ้นอยู่ในจอเรดาร์ของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.3) และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ดังนั้นไทยสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปยืนยันกับพม่าได้

2.ต้องมีการสื่อสารระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงโดยกลไกระดับสูง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติต้องมีการประชุมเพื่อวางกรอบหรือแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนในกรณีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง

ปัจจุบัน กรณีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น และเกิดขึ้นหลายกรณีพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่พม่ายิงเรือประมงไทย ส่งผลให้มีลูกเรือประมงเสียชีวิต และมีการจับลูกเรือประมงชาวไทยไป กรณีว้าแดงที่ออกมาให้ข่าวว่าทหารไทยขีดเส้นตายยึดคืนพื้นที่มีความผิดปกติ หรือกรณีกลุ่มติดอาวุธและขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกมีการกระชับกำลังประชิดชายแดนไทย ดังนั้นการหารือระดับสูงระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

3.การตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ ไม่ว่าจะเป็น กรณีการใช้กำลัง การกดดันทั้งทางตรงทางอ้อม การพูดคุยระดับสูงของคณะกรรมการต่างๆ รวมถึงการหารือในระดับผู้นำประเทศ จะต้องให้ประชาชนรับทราบเพื่อร่วมตัดสินใจด้วย

“เนื่องจากกรณีเหล่านี้จะมีผลผูกพันในเรื่องอธิปไตยดินแดน ซึ่งหากไม่มีการรับฟังความเห็นอย่างหลากหลายก่อนตัดสินใจอาจจะเกิดปัญหาได้ แต่ปัจจุบันผู้มีอำนาจที่คุมด้านนี้ให้สัมภาษณ์ว่าสถานการณ์เรียบร้อยดี ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ไม่จำเป็นต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกนะ” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น