“ผศ.ดร.สุริยะใส” เตือน “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง” อย่าย่ามใจ ม็อบครั้งนี้ไม่ได้มีแต่คนหน้าเดิม เปิดด้วย “ม็อบสหภาพรัฐวิสาหกิจฯ” ทวงคืนที่ดินเขากระโดงให้การรถไฟฯ ขณะที่กลุ่มต่อต้าน MOU44 กำลังรอสถานการณ์สุกงอม เสี่ยงซ้ำรอยยุคขับ “ทักษิณ” กรณีซุกหุ้นชินคอร์ป ส่วน “รศ.ดร.พิชาย” ชี้ว่าทั้ง 2 กรณี คือชนวนดึงคนลงถนน แต่กระแสอาจไม่แรงเท่าครั้งไล่ “แม้ว-ปู” ด้าน “ปานเทพ” ยันยังไม่มีชุมนุม รอดูการตัดสินของรัฐบาล
การเมืองไทยร้อนฉ่าขึ้นมาทันที เมื่อ “นายสนธิ ลิ้มทองกุล” ออกมาประกาศว่าตน และ "นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต" จะไปยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นายกฯ ชี้แจงกรณี MOU44 ระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งกำลังถูกจับตาว่าจะส่งผลให้ไทยสูญเสียอธิปไตยทางทะเลบริเวณเกาะกูด โดยมีกำหนดที่จะไปยื่นหนังสือดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค.2567 อีกทั้งนายสนธิ ยังประกาศด้วยว่า “พร้อมลงถนนเมื่อสถานการณ์สุกงอม”
หลายฝ่ายจึงประเมินว่านี่คือสัญญาณซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การชุมนุมขับไล่รัฐบาล!!
“Special Scoop Manager Online” จึงได้สัมภาษณ์ “นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ซึ่งขณะนี้ถูกมองว่าเขาคือมือขวาของนายสนธิ เกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนทางการเมืองของ “แม่ทัพแห่งบ้านพระอาทิตย์”
นายปานเทพ เปิดเผยว่า เรื่องการลงถนนนั้น ณ ขณะนี้ยังไม่มีความคิดในการลงถนนของภาคประชาชน เพียงแต่มีปัจจัยข้อแรกคือการกระทำของรัฐบาลแพทองธาร ที่จะสานต่อเรื่อง MOU44 ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างอดีต รมว.ต่างประเทศของไทย และอดีต รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ที่ขัดต่อพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 9 และไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เราจึงต้องไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้ถูกต้อง ถ้านายกฯ ไม่ทำก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
“ครั้งนี้จะเป็นเพียงการยื่นหนังสือและกล่าวหาว่านายกฯ ยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่พึงกระทำ ซึ่งกระทบต่ออธิปไตยของชาติ กระทบต่อทะเลอาณาเขตรอบเกาะกูด ขัดต่อพระบรมราชโองการ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องรับผิดชอบ ส่วนจะลงถนนหรือไม่เป็นเรื่องที่เรายังไม่ได้วางแผน ณ เวลานี้ ทุกอย่างเป็นเรื่องของสถานการณ์ที่จะเป็นไปและดูว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร” นายปานเทพ กล่าว
ส่วนว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการชุมนุมบนท้องถนนนั้น ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ในการชุมนุมมาหลายยุคหลายสมัย หลายรัฐบาลอย่าง “ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา” คณบดีวิทยาลัยผู้นำนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมาปัจจัยที่ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมก็ล้วนมาจากรัฐบาลทั้งนั้น ไม่ได้เกิดจากมวลชนหรือตัวแกนนำ ถ้าเอาเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มที่อยู่ตรงข้าม “ทักษิณ ชินวัตร” จะแบ่งเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ
สมัยรัฐบาลทักษิณ การชุมนุมในช่วงปี 2548-2549 นั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มพันธมิตรฯ ในขณะนั้นคือเรื่องการซุกหุ้นชินคอร์ปเพื่อเลี่ยงภาษีของนายทักษิณ โดยตอนนั้นทักษิณ ชิงยุบสภาแต่ยังเป็นรัฐบาลรักษาการ ขณะที่ ส.ส.กับ ส.ว.กำลังจะเข้าชื่อกันเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้งมีปัญหาการทุจริตในหลายโครงการ จึงเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จัดอภิปรายนอกสภา มีการชุมนุมทุกวัน มีผู้คนจากหลายกลุ่มมาขึ้นเวที ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน ส.ส. ส.ว. ผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้นจากหลักหมื่นเป็นหลักแสน และมีการชุมนุมตามหัวเมืองต่างๆตามมา ซึ่งนับเป็นความผิดพลาดครั้งที่ 1 ของระบอบทักษิณ
ความผิดพลาดครั้งที่ 2 เป็นการสืบทอดอำนาจผ่านนอมินี ซึ่งคือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนนั้นประชาชนลงถนนเนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย เพื่อพาทักษิณกลับไทยโดยไม่ต้องรับผิด โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงทั้งจากในสภาและนอกสภา ซึ่งแม้แต่คนเสื้อแดงก็ไม่เห็นด้วย และเตือนว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวเรียกแขก แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ย่ามใจว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเลยดึงดันจะผลักดันกฎหมายนี้ผ่านสภา จึงเกิดการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ในปี 2556 เพื่อต่อต้านกฎหมายดังกล่าว การชุมนุมยืดเยื้อ กระทั่งมีการลักหลับประชุมสภาข้ามวันข้ามคืนและผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมตอนตีสาม จึงเกิดการชุมนุมใหญ่จากหลักหมื่นหลักแสนเป็นหลักล้าน แม้นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะชิงยุบสภาก็ไม่ทันแล้ว
ส่วนในยุคนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่นั้นอยู่ที่ “กรณี MOU44” ซึ่งถือเป็นประเด็นเรียกแขก เพราะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมของ MOU44 เนื่องจากไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และไปเข้าทางกัมพูชา อีกทั้งยังลุกลี้ลุกลนและดูเหมือนจะมีผลประโยชน์ส่วนตน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าตระกูลชินวัตรมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสมเด็จฮุน เซน เรื่องนี้รัฐบาลควรฟังเสียงประชาชนแทนที่จะดันทุรัง รัฐบาลยังกลับตัวทันด้วยการชะลอการเจราและตั้งกลไกขึ้นมาหาข้อเท็จจริง ให้ทุกฝ่ายมาดีเบตกัน ทั้งนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักกฎหมาย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน
“การที่รัฐบาลประเมินว่าคนที่เคลื่อนไหวคัดค้านเรื่อง MOU44 เป็นพวกขาประจำนั้นถือเป็นการประเมินที่ผิดพลาด เพราะถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่าคนที่คัดค้านเรื่องนี้มีหลากหลายกลุ่มและมีไม่น้อยที่เป็นคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยต่อต้านระบอบทักษิณ มีทั้งนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักกฎหมาย บางคนไม่เคยชุมนุมด้วยซ้ำ คนเหล่านี้ชี้ถึงปัญหาความชอบธรรมของ MOU44 ทักท้วงว่าทำไมรัฐบาลต้องเร่งเจรจา ซึ่งดูจะเป็นความย่ามใจเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา เพราะวิธีที่รัฐบาลใช้เป็นวิธีที่ไม่พร้อมปรองดอง ฉันจะเอาอย่างนี้ คุณไม่ต้องมายุ่ง การไม่ฟังอะไรเลย อาศัยเสียงข้างมากดันทุรังไปเป็นวิธีที่อันตรายสำหรับการเมืองไทย เสียงข้างมากไม่ได้ถูกต้องเสมอไป กรณี MOU 44 ถือเป็นเรื่องเปราะบางที่สุดเพราะเป็นความรู้สึกร่วมของประชาชนและเกี่ยวโยงกับอธิปไตยและเขตแดน จึงอาจจะซ้ำรอยกรณีหุ้นชินคอร์ปและกรณีนิรโทษกรรมสุดซอย” ผศ.ดร.สุริยะใส ระบุ
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยพยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีจำนำข้าว กลับเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษนั้น “ผศ.ดร.สุริยะใส” มองว่า เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลมีข้อตกลงที่ชัดเจนว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่ครอบคลุมความผิดในคดี 112 และคดีทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นถ้าพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการเรื่องนี้อาจจะมีปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลได้ จะเป็นการเติมเชื้อไฟโดยไม่จำเป็น
แม้แต่กรณีชั้น 14 ซึ่งทักษิณอ้างว่าถูกส่งไปนอนพักรักษาตัว หลังจากกลับมารับโทษในไทยและได้รับพระราชทานลดโทษเหลือติดคุก 1 ปี แต่ทักษิณกลับไม่นอนคุกแม้แต่เพียงวันเดียวนั้น กรณีนี้ยังไม่จบ เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องที่กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ร้องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเอื้อให้นายทักษิณ เข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งหากพบว่ามีความผิด อาจส่งผลให้นายทักษิณต้องกลับไปนอนคุก ยังไม่นับรวมการชุมนุมของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพื่อทวงคืนที่ดินเขากระโดงให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว
“ปัจจุบันรัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนปี 2544 พรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหาทิ่มแทงกันอยู่ ฝั่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์ ฝั่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องที่ดินเขากระโดง มีฝ่ายค้านในพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ได้มีเอกภาพมากนัก ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนปี 2544 คุณทักษิณอย่าย่ามใจเลย อาจจะประมาทเกินไป กรณีเขากระโดงนอกจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ออกมาคัดค้านแล้ว ล่าสุดสมาชิกสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ประมาณ 400 คนได้ไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอคืนที่ดินเขากระโดงให้การรถไฟฯ ด้วย ดังนั้นอย่าเข้าใจว่าม็อบที่ออกมาประท้วงรัฐบาลเป็นคนหน้าเดิม เพราะมีกลุ่มใหม่ๆ หลายกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเนื่องจากไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์ที่สุกงอมหรือไม่ก็อยู่ที่รัฐบาลว่าจะฟังเสียงประชาชนหรือเปล่า” ผศ.ดร.สุริยะใส กล่าว
สอดคล้องกับ “รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่เห็นว่า ปัจจัยที่จะทำให้ม็อบลงถนนในระยะเวลาอันใกล้นี้มีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ คือ กรณี MOU44 ซึ่งกัมพูชาอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน ถ้ารัฐบาลยังคงยืนกรานที่จะดำเนินการเรื่องนี้ต่อก็เป็นไปได้ที่ประชาชนจะออกมาชุมนุม ส่วนประเด็นรองลงมาคือเรื่องที่ดินเขากระโดง ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจฯ ที่เข้ามาร่วมคัดค้านกับสหภาพการรถไฟฯ ด้วย
ซึ่งการชุมนุมเคลื่อนไหวในทั้งสองเรื่องนี้มีพลังระดับหนึ่งแต่ยังไม่มากเท่ากับช่วงที่มีการชุมนุมขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ และอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากในอดีตมีกรณีการทุจริตที่ชัดเจน ทำให้ชนชั้นกลางที่ไม่พอใจการทุจริตของรัฐบาลออกมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีกรณีการใช้อำนาจโดยมิชอบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดทางนโยบาย กรณีตากใบ การฆ่าตัดตอนจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้คนหลายกลุ่มออกมาร่วมด้วย และในช่วงหลังยังมีกรณีเรื่องการหมิ่นสถาบัน ทำให้ได้คนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาร่วมชุมนุมเช่นกัน
“แต่คราวนี้รัฐบาลอุ๊งอิ๊งมีประเด็นหลักที่คนไม่เห็นด้วยอยู่ในวงจำกัด โดยจากผลโพลพบว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่อง MOU44 มากนัก และบางส่วนไม่สนใจจะรับข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้ด้วย การชุมนุมจึงอาจจะจำกัดอยู่แค่คนกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของคุณสนธิอาจจะกระตุ้นคนบางกลุ่มได้จำนวนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งทำให้คนที่รู้สึกไม่พอใจต่อกรณีที่คุณทักษิณ กลับมามีอำนาจครอบงำรัฐบาล รวมทั้งกลับมารับโทษที่เมืองไทยโดยไม่ต้องนอนคุกแม้แต่เพียงววันเดียว เขาอาจจะเข้าร่วม แต่ประเด็นเหล่านี้อาจจะไม่ชัดเจนเหมือนตอนที่ทักษิณเป็นายกรัฐมนตรีซึ่งมีกรณีการทุจริตเยอะมาก กระแสความไม่พอใจในปัจจุบันจึงอาจจะไม่รุนแรงเท่าเมื่อก่อน” รศ.ดร.พิชาย ระบุ
รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวร่วมมวลชนที่จะออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวในปัจจุบันมีความแตกต่างจากเมื่อก่อน ยุครัฐบาลทักษิณจะมีผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่ม การชุมนุมของพันธมิตรฯ มีทั้งนักศึกษา ประชาชน กลุ่มแรงงาน เอ็นจีโอ นักวิชาการ และกลุ่มที่ชื่นชมบทบาทของนายสนธิ แต่ปัจจุบันจะมีกลุ่มที่ชื่นชมการทำหน้าที่ของนายสนธิ หรือที่เรียกว่าแฟนคลับคุณสนธิเป็นหลัก พลังของมวลชนจึงยังไม่มากเท่าเมื่อก่อน
“การชุมนุมถือเป็นสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว หากเห็นว่ากระทำของรัฐบาลไม่ถูกต้อง ส่วนพลังจะมากจะน้อยก็แล้วแต่ ไปเทียบกับการชุมนุมในอดีตไม่ได้เพราะมันคนละสเกลกัน ตอนนี้กลุ่มที่ไม่ชอบรัฐบาลมีหลายกลุ่ม แต่บางคนอาจจะไม่ลงถนน อาจจะแสดงความเห็นผ่านโซเชียล หรือรอเลือกตั้งครั้งใหม่” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j