xs
xsm
sm
md
lg

ถึงยุค “ทนาย” เดินพาเหรดเข้าคุก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทนายความก็ติดคุกได้ อานนท์ นำภา-ปากแดง-ตั้ม จากคดี 112-แอมไซยาไนด์-พี่อ้อย ทนายด้วยกันชี้ที่ต้องติดคุกเพราะทำงานไม่ตรงไปตรงมา-แหกคอก ถ้าทำตามหลักวิชาชีพ-จรรยาบรรณไม่คุกง่ายๆ ชี้คนที่รู้กฎหมายด้วยกันย่อมอ่านกันออกส่วนคนในเรือนจำจ้างทนายฟ้องคนข้างนอกถือเป็นการใช้สิทธิทางกฎหมาย แบบนี้พยานแหยงอาจส่งผลต่อคำขอประกันตัว

เรื่องราวของทนายความยังอยู่ในความสนใจของผู้คน จากการที่ทนายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีใหญ่ๆ และทนายความเหล่านี้ล้วนเห็นทนายที่อยู่บนหน้าสื่อมาตลอด จนถึงวันนี้เราได้เห็นคนที่มีความรู้ทางกฎหมายที่ประกอบวิชาชีพทนายความต้องกลายเป็นผู้ต้องหาหรือตกเป็นจำเลย มีทั้งถูกจับกุมอยู่ในเรือนจำ บางรายถูกพิพากษาให้จำคุก แต่ได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์

ตามที่เป็นข่าวออกมาแล้ว ทนายความดังที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ได้แก่ ทนายอานนท์ นำภา ถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 จากการออกมาเคลื่อนไหวในทางการเมืองในช่วงปี 2563 ร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่ใช้สัญลักษณ์ 3 นิ้ว

ทนายความอีกท่านที่ถูกศาลอาญาพิพากษาแล้วคือ น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัตร์ หรือ ทนายพัช อายุ 36 ปี จำเลยที่ 3 ในคดีแอมไซยาไนด์ ในความผิดฐานช่วยเหลือจำเลยที่ 1 (นางสรารัตน์ รังสิตวุฒาภรณ์-แอม) มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน ล่าสุด ทนายพัช ได้รับการประกันตัว ศาลตีราคาประกัน 1 แสนบาท

อีกรายคือทนายคนดังอย่างทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายที่อยู่บนหน้าสื่อเบอร์ต้นๆ บนภาพลักษณ์ทนายประชาชน กับคดีฉ้อโกงเงิน 71 ล้าน จากพี่อ้อยจตุพร อุบลเลิศ และบานปลายไปยังเงินก้อนต่างๆ อีกหลายส่วน ทนายตั้มถูกจับกุมตัวเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567 และฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ


ทนายยังติดคุก

ทนายติดคุกไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะก่อนหน้านี้มีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ยุคนี้เป็นยุค Social Media ทนายหลายท่านเป็นทนายที่อยู่บนหน้าสื่อจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจของคนในสังคม แม้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทนายความย่อมต้องมีความรู้ทางกฎหมาย ทำไมจึงติดคุกเสียเอง

ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้โพสต์ถึงเรื่องนี้ว่า บทเรียนทนายความ ทำงานไม่ตรงไปตรงมา แนะช่องทางให้ลูกความพ้นผิด ผิดกฎหมาย ศาลจึงพิพากษาลงโทษ

อีกโพสต์หนึ่งระบุว่า ทนายความหากทำหน้าที่ในหลักวิชาชีพ และจรรยาบรรณ ไม่ติดคุกง่ายๆ หรอกครับ (เพราะเขารู้กฎหมาย) เว้นแต่ทนายจะแหกคอก ออกจากกฎจึงติดคุก

คนทั่วไปไม่รู้กฎหมาย

ทนายอรรณพ บุญสว่าง ได้ตอบข้อสงสัยดังกล่าว ผ่านโพสต์ข้อเขียนดังนี้ แปลกไหม?? ทนายติดคุก

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 64 บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิด อาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

ในความเป็นจริงไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย ประชาชนคนธรรมดาทั่วโลกล้วนไม่รู้กฎหมายทั้งหมด และน้อยคนจะรู้ว่าในเรื่องเล็กน้อยรอบตัวเราล้วนมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะการคั้นน้ำผลไม้บรรจุขวดขาย ถ้าไม่เสียภาษีสรรพสามิต และผ่าน อย. ยังเสี่ยงคุก ดังนั้น โดยหลักนิติธรรม ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงให้สิทธิบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญา พบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัวได้ ไปจนตลอดการดำเนินกระบวนการยุติธรรม


ทนายฟังข้อมูลจากลูกความ

โดยหลักการแล้ว ทนายความมีหน้าที่สอบถามข้อเท็จจริงจากตัวความ ทั้งเหตุการณ์ วันเวลา สถานที่ รวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งบุคคล เอกสาร วัตถุ การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หากเป็นทนายความที่มีความชำนาญขั้นสูง มักสอบถามไปถึงความรู้สึกนึกคิด สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อม พฤติกรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในอันทำให้เข้าใจถึงสาเหตุ แรงจูงใจ อันเป็นที่มาของผลต่อการตัดสินใจกระทำการใดๆ ของผู้ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นด้วย เพื่อจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดวิเคราะห์ปรับเข้ากับข้อกฎหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุดแนะนำลูกความในการต่อสู้คดี

ทนายความมักมีจิตวิทยาสูงในการตั้งข้อสังเกต สงสัย ตั้งคำถาม ตรวจสอบพยานหลักฐาน เพื่อเตรียมการสืบพยานนำเสนอโน้มน้าวผู้พิพากษาในข้อดีที่เป็นประโยชน์แก่ลูกความของตน หากลูกความของตนทำผิดก็ควรนำเสนอสาเหตุเพื่อให้ถูกลงโทษสถานเบา ด้วยสำนึก ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย หรือให้ลูกความของตนถูกลงโทษเพียงเท่าที่ได้กระทำลง หากมิได้กระทำผิดก็ควรเตรียมคดีให้พร้อมต่อสู้ด้วยความซื่อสัตย์ไปตามความยากง่าย ไม่หลอกลวงข่มขู่เพื่อให้ได้ทรัพย์สินของลูกความ

จึงแทบจะเรียกได้ว่า ทนายความเข้าไปนั่งอยู่ในความคิด จิตใจของลูกความ พยานบุคคล นึกเห็นภาพจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ราวกับอยู่ ณ ที่เกิดเหตุด้วยตนเอง เป็นคนที่ต้องไว้ใจกันมาก ฝากได้ทั้งชีวิต

สาเหตุทนายติดคุก


แต่ทว่า การใช้วิชาชีพตามที่ควรกลับหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ กลับพบเห็นการแต่งเสริม บิดเบือนข้อเท็จจริง เสี้ยมสอนให้แก่ลูกความ พยานบุคคล หรือพยานเอกสาร อันเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ให้การเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม หรือทำลายพยานหลักฐาน ไปจนถึงพบเห็นว่าบางรายอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจของลูกความซึ่งยอมบอกความจริง ความลับ ทั้งหมดวางแผนกระทำเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของลูกความของตนเอง

พยานหลักฐานที่เสริมเติมแต่ง บิดเบือน เสี้ยมสอนนั้น จะวางแผนทำอย่างไรก็ผิดธรรมชาติ ไม่แปลกที่พนักงานสอบสวน ทนายความฝ่ายตรงข้าม อัยการ ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นผู้รู้กฎหมายเช่นกันจะจับได้

เมื่อ “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” ดังนั้น หากทนายความถูกจับได้ว่ากระทำความผิด จึงไม่แปลก หากในคำพิพากษาปรากฏข้อความทำนองว่า จำเลยเป็นทนายความ ซึ่งมีความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดี มีเกียรติ ศักดิ์ศรี ควรประพฤติอยู่ภายใต้จริยธรรม มรรยาทในทางวิชาชีพ อันเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชนโดยทั่วไป กลับกระทำความผิดเสียเอง จะถูกพิพากษาให้ลงโทษจำคุก

ทนายอรรณพ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่กล้างัดข้อกับทนายความ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เพราะต้นทุนทำคดีแตกต่างกัน หมายถึงถ้าเป็นคดีแล้วต้องขึ้นศาล ชาวบ้านย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม เสียค่าจ้างทนาย ต้องเสียเวลาทำมาหากิน อาจขาดรายได้ แต่ในส่วนของทนายนั้น ถ้ามีคดีเพิ่มขึ้นมาอีก 1-2 คดี ก็ไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการขึ้นศาลเพิ่มขึ้นมากนัก


คนในเรือนจำฟ้องคนข้างนอก

นอกจากคนระดับทนายความจะตกเป็นผู้ต้องหาจนถึงขั้นเป็นจำเลยในเรือนจำแล้ว สิ่งที่เราเห็นในระยะนี้คือ ผู้ต้องหาในเรือนจำสามารถว่าจ้างทนายความให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลภายนอกได้ อย่างเช่นกรณีดิไอคอน ที่ดำเนินคดีกับนักร้องเรียนและอดีตดารา

เช่นเดียวกัน เรื่องคนที่อยู่ในเรือนจำใช้ให้ทนายความฟ้องบุคคลภายนอกก็มีมาเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่ากรณีดิไอคอนเป็นคดีใหญ่ คนให้ความสนใจเยอะ เลยอาจมองว่ามันแปลกที่คนในเรือนจำสามารถฟ้องบุคคลคนภายนอก ก็ไม่ต่างไปจากคนที่อยู่ในต่างประเทศส่งทนายดำเนินคดีกับจำเลยบางคนในประเทศไทย ที่อาจพูดหรือดูหมิ่นจนสร้างความเสียหายให้คนในต่างประเทศ

อย่างกรณีนี้คือคนในเรือนจำดำเนินคดีบุคคลภายนอก เพราะมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหายกับทางบริษัท ด้านหนึ่งถือเป็นการใช้สิทธิทางกฎหมาย แต่อีกด้านมีสิทธิที่จะถูกมองได้ว่าเข้าข่ายการข่มขู่พยาน ตรงนี้จะมีผลต่อการพิจารณาขอประกันตัวของผู้ต้องหาได้ ดังนั้นบรรดาบอสต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาด้วย

ในอีกมุมหนึ่งอาจมีการตั้งคำถามว่า บางคดีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ถูกอายัดบัญชีทรัพยสินต่างๆ ทำไมจึงว่าจ้างทนายด้านนอกฟ้องร้องคนนั้นคนนี้ได้ อันดับแรกคือผู้ต้องหาต้องมีเงินว่าจ้างทนาย อาจจะมาจากญาติพี่น้อง หรือเงินจากส่วนอื่นมีเข้ามาจ่ายค่าจ้างให้ทนายความได้ ส่วนจะมาจากเงินที่ผ่องถ่ายไว้ก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตรวจสอบ

ยังมีช่องโหว่

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือการกระทำที่เกินกว่าหน้าที่ของทนายความที่ดี ต้องการหวังผลชนะในคดีมากเกินไป บางท่านใช้ความเป็นทนายไปในทางที่ไม่สุจริต สำหรับทนายบางท่านถูกตัดสินจำคุก ยังเป็นคำถามที่ตามมาอีกว่าใบอนุญาตทนายความนั้นสิ้นสภาพไปด้วยหรือไม่ และต้องรอให้คดีสิ้นสุดถึงชั้นฎีกาเท่านั้นหรือไม่

อีกทั้งทนายความที่ถูกลงโทษส่วนใหญ่ไม่มีการเปิดเผยชื่อ กลายเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะใช้บริการต้องสอบถามไปที่สภาทนายฯ และบทลงโทษต่างๆ ใช้กับทนายเป็นตัวบุคคล เราก็เห็นทนายที่ถูกพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตยังทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนผู้เสียหายตามปกติ เพราะเขาไม่ได้ว่าความเอง แค่ทำหน้าที่ทำตัวให้เป็นข่าว ช่วยคนเดือดร้อน ให้ความรู้ทางกฎหมาย ไม่ต่างไปจากการหาลูกความเข้าสำนักงาน นี่จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรนำไปหาทางปรับปรุง

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น