“ผศ.ดร.วันวิชิต” ชี้ “ทักษิณ” ต้องลงมานำทัพเอง เหตุคนไม่เชื่อมั่น “อุ๊งอิ๊ง” สั่งรัฐบาลเพื่อไทย เร่งปูพรมสร้างผลงาน เรียกคะแนนนิยมก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า โดยขับเคลื่อนนโยบายแบบหว่านแห ทำทุกโครงการไปพร้อมกัน ทั้งเกาะกูด-ตั้งกาสิโน-ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี เพื่อลดกระแสต้าน ไม่ให้โฟกัสไปยังโครงการใดโครงการหนึ่ง ขณะที่เสียงคัดค้านสนั่นโซเชียล พบหลายโครงการกระทบความมั่นคง! ด้าน “ธีระชัย” เตือน เงินดิจิทัลเฟส 2 ผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพราะกลุ่มอายุ 60 ที่รับเงินมีอันจะกิน ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง แฉสร้างหนี้สาธารณะ แลกความนิยมทางการเมือง
กล่าวได้ว่าขณะนี้ “รัฐบาลเพื่อไทย” กำลังเดินหน้าทุกองคาพยพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง นั่นคือทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม ตามที่ “นายทักษิณ ชินวัตร” ประกาศบนเวทีปราศรัยหาเสียงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะต้องได้ ส.ส.200 คน ซึ่งแม้ทักษิณจะไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในพรรคแต่ในทางพฤตินัยนั้นใครๆ ต่างก็รู้ดีว่าเขาคือ “เจ้าของพรรคตัวจริง”
โดยด้านหนึ่งรัฐบาลเพื่อไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนนโยบายเพื่อซื้อใจประชาชน ผ่านมาตรการที่ใช้ชื่อว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” อันได้แก่ “โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท” โดยแจกเป็นเงินสดแทน เพราะไม่สามารถแจกในรูปแบบของเงินดิจิทัลได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจนถึงปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 2 เฟส โดยเฟสแรก แจกให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ส่วนเฟสที่ 2 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ แจกให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยต้องไม่ใช่ผู้ที่รับเงินจากเฟสแรกไปแล้ว มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท/ปี และเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท
“มาตรการปรับโครงสร้างหนี้” ซึ่งเพิ่งประกาศออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงการคลังสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะครอบคลุมลูกหนี้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีหนี้บ้าน ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท กลุ่มหนี้รถยนต์ ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 800,000 บาท และกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ขณะที่สถาบันการเงินซึ่งให้ลูกหนี้พักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ จะได้รับการชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) เหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินส่วนนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทน
“โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ โดยขณะนี้ระหว่างการหารือในรายละเอียด
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งรัฐบาลเพื่อไทยก็เดินหน้าฝ่ากระแสต้าน พยายามผลักดันนโยบายที่ทักษิณเคยประกาศไว้ โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในทะเลบริเวณเกาะกูด โครงการกาสิโนถูกกฎหมาย ภายใต้ชื่อ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” การเปิดเสรีอสังหาริมทรัพย์ โดยให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา หรือแม้แต่ความพยายามในการแต่งตั้ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ลูกหม้อพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ทั้งที่นายกิตติรัตน์อาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เนื่องจากเขาเพิ่งพ้นจากการเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบปี ซึ่งการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ถูกมองว่าเพื่อเข้าไปแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายนโยบายของรัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าได้เพราะแบงก์ชาติไม่เห็นด้วย เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การแจกเงินดิจิทัล
ทั้งนี้ มีกระแสวิจารณ์สนั่นไปทั้งโซเชียลว่า การเร่งผลักดันนโยบายเหล่านี้อาจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ที่สำคัญหลายโครงการเป็นเรื่องที่กระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจะจึงเร่งรีบดำเนินการ
แน่นอนว่าคนที่ถือธงนำในการผลักดันนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลเพื่อไทยนั้นหาใช่ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” แต่เป็น “นายทักษิณ ชินวัตร” เจ้าของนโยบายตัวจริง!
ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองปรากฏการณ์ครั้งนี้ ว่า การที่นายทักษิณเป็นหัวหอกทะลวงฟัน โดยมีรัฐบาลเพื่อไทยเร่งดำเนินนโยบายทุกอย่างตามที่ทักษิณได้ปูพรมไว้ เนื่องจากปัญหาการสืบต่อตำแหน่งนายกฯ ของ น.ส.แพทองธารนั้นไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้เท่าทักษิณ ซึ่งพรรคเพื่อไทยประเมินแล้วว่ากลยุทธ์ในลักษณะนี้จะได้มากกว่าเสีย เพราะการที่ทักษิณลงมาขับเคลื่อนเอง ไม่ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบแต่มีคนติดตามข่าว อีกทั้งยังเป็นการแย่งซีนจากฝ่ายค้าน และลดพลังคุณค่าในการเติบโตของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ดังนั้นการที่ทักษิณลงมาเล่นเองไม่ว่าจะได้จะเสียทางพรรคเพื่อไทยก็มองว่าคุ้ม
“การเดินหน้านโยบายเชิงรุกต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อไทยตามที่คุณทักษิณได้เคยประกาศไว้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งปูพรมทำผลงานเพราะในอนาคตไม่รู้ว่าขบวนการนิติสงครามจะมาถึงเมื่อไหร่ จะส่งผลอย่างไรต่อพรรคเพื่อไทยบ้าง และคุณแพทองธารชะตากรรมจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยต้องมีผลงานที่ใช้ขับเคลื่อนในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า” ผศ.ดร.วันวิชิต ระบุ
อย่างไรก็ดี มีคนตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการคะแนนนิยมจากคนไทย เหตุใดจึงดึงดันที่จะขับเคลื่อนในหลายๆ เรื่องที่ประชาชนไม่เห็นด้วยทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ซึ่งประเด็นนี้ “ผศ.ดร.วันวิชิต” วิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะทำนโยบายแบบหว่านแห คือดำเนินการไปพร้อมๆ กันหลายเรื่อง อันไหนที่เข้าท่า เสียงตอบรับดี ก็เดินหน้าต่อ ส่วนอันไหนที่มีกระแสต่อต้านก็ถอย แต่จะไม่โฟกัสไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้คนพุ่งเป้าจับผิดไปที่เรื่องนั้นๆ มากเกินไป ซึ่งต่างจากช่วงก่อนที่นายทักษิณจะกลับมามีบทบาทในพรรค คือช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันโครงการเงินดิจิทัลแค่เรื่องเดียว พอทำไม่ได้ก็หยุดอยู่แค่นั้น
“นี่เป็นทฤษฎีหว่านแหทางการเมือง เมื่อทำทุกเรื่องไปพร้อมๆ กัน คนที่คิดต่าง คนที่อคติจะเหนื่อยพอสมควรที่จะไล่ตาม เป็นการกระจายความสนใจออกไป ไม่ให้น้ำหนักโฟกัสไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง พอเรื่องไหนถูกโจมตีหนักๆ เขาจะปล่อยประเด็นอื่นออกมาแทรก ทำให้กระแสของประเด็นที่กำลังถูกวิจารณ์เบาลง ดังนั้น การทำหลายเรื่องๆ หลายๆ โครงการไปพร้อมกัน ไม่ว่าเรื่องนั้นประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบ คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า ถ้าเรื่องไหนกระแสตอบรับดีก็ผลักดดันต่อ ถือเป็นผลงาน แต่ถ้าเรื่องไหนคนคัดค้านกันมากก็ถอย ดีกว่าจะไปวางไทม์ไลน์ว่าวันนี้ทำเรื่องนี้ เดือนหน้าทำเรื่องนั้น มันคือวิธีคิดแบบนักธุรกิจ อะไรได้ประโยชน์ก็ทำทันที ไม่ใช่คอยให้กลไกรัฐมาขับเคลื่อนอย่างเดียว มันไม่ใช่แล้ว ซึ่งต่างจากช่วงที่คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ตอนนี้ผู้มีอำนาจตัวจริงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ทำอะไรมันก็ง่าย” ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าว
ส่วนกรณีเกาะกูด ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยพยายามจะเปิดการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเรื่องการนำพลังงานในทะเลบริเวณเกาะกูดขึ้นมาใช้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของหลายฝ่ายนั้น “ผศ.ดร.วันวิชิต” มองว่า กรณีเกาะกูดอาจจะเป็นปัญหาในการสื่อสาร ซึ่งกลไกของรัฐบาลต้องออกมาช่วย คือเมื่อฝ่ายการเมืองออกมาชี้แจงแล้วคนไม่เชื่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ต้องออกช่วยชี้แจง ทั้งเรื่องเส้นแบ่งดินแดน การจัดสรรทรัพยากรพลังงานว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เช่น ทรัพยากรพลังงานในทะเลในพื้นที่ดังกล่าวมีเท่าไหร่ ลงทุนแล้วคุ้มหรือไม่ รัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้แก่สังคมได้ คนที่คิดต่างก็เกิดความคับข้องใจ เกิดความคิดว่ามีการสร้างบิ๊กดาต้าที่เป็นข้อมูลเท็จหรือเปล่า หน่วยราชการต้องออกมาช่วยชี้แจงว่ารวมมือกับกัมพูชาแล้วประเทศไทยจะได้อะไร คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างไร แต่ไม่มีตรงนี้
“เมื่อไม่มี Action Plan ให้ประชาชนได้รับทราบ ทุกคนจึงรู้สึกกำกวมและตีความไปได้หลายมิติ กลัวว่าไทยจะเสียเปรียบ โดยเฉพาะบทบาทของคุณทักษิณซึ่งมีสายสัมพันธ์กับอดีตนายกฯ ฮุน เซน จนมาถึงรุ่นลูกคือ สมเด็จ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบัน จึงเกรงว่าจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน” ผศ.ดร.วันวิชิต ระบุ
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ที่รัฐบาลเพื่อไทยผลักดันออกมาในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ โดยพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ หรือโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทนั้นไม่ได้ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แต่เป็น “นโยบายประชานิยม” เพื่อหวังผลต่อคะแนนนิยมทางการเมืองมากกว่า
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า เมื่อพิจารณาทั้ง 3 โครงการแล้วพบว่ามีเพียงโครงการเดียวที่เข้าข่ายประชานิยม คือโครงการแจกเงินดิจิทัล ส่วนโครงการปรับโครงสร้างหนี้โดยพักชำระดอกเบี้ย และโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท นั้นถือว่าเป็นโครงการที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ประชาชนที่มีปัญหา จึงมีความสมเหตุสมผล อย่างไรก็ดี การเลือกกลุ่มลูกหนี้ที่มีสิทธิพักชำระดอกเบี้ยนั้นถือว่าไม่ตรงจุด ควรให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียเป็นเวลานานหลายปีมากกว่าให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เพราะลูกหนี้กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีปัญหาหนักจริงๆ
แต่นโยบายที่ผิดพลาดอย่างชัดเจนคือ โครงการแจกเงินดิจิทัล เฟส 2 ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท” เฟส 2 ซึ่งแจกให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องเอาเงินงบประมาณไปแจก เกณฑ์รายได้ของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินจากโครงการซึ่งกำหนดว่าไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 7,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท ถือว่ามีเงินพอกินพอใช้อยู่แล้ว อีกทั้งไม่ได้กำหนดด้วยว่ายกเว้นกลุ่มข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน/บำบาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ และข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. แปลว่ากลุ่มดังกล่าวมีสิทธิได้รับเงิน 10,000 บาทด้วย ทั้งที่กลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาในการดำรงชีพ
“ที่สำคัญโครงการเงินดิจิทัล เฟส 2 ซึ่งแจกเงินแก่กลุ่มผู้มีอันจะกิน ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ โดยมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ระบุว่า การกู้เงิน หรือการดําเนินการใดๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย ซึ่งการนำงบเงินประมาณมาแจกโดยไม่มีความจำเป็นก็เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะ เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศเป็นงบขาดดุล คืองบประมาณที่ประมาณการรายรับน้อยกว่ารายจ่าย และส่วนเกินของรายจ่าย รัฐบาลจะต้องกู้ยืมมาเพื่อให้ชดเชยรายรับที่ขาดไป โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟส 2 เป็นแค่การแจกเงินเพื่อเรียกคะแนนนิยมทางการเมือง แต่ผลกระทบที่ตามมาคือภาระหนี้สาธารณะและความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว” นายธีระชัย ระบุ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j
youtube : “ทักษิณ” วางหมาก ฝ่ากระแสต้าน! ดันสารพัดโครงการ “เกาะกูด-เช่าที่ดิน 99 ปี” ต้องเกิด