xs
xsm
sm
md
lg

แชร์แครอท “พระ-วัด” ไม่กล้าแจ้งความ-กลัวผิดซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขบวนการหลอกลงทุนลามไปถึงวัดจนเกิดแชร์แครอทดูดเงินพระ-วัด ชักชวนร่วมเทรดเงินตราต่างประเทศอ้างเพิ่มพูนเงินพัฒนาวัดไม่ต้องรบกวนญาติโยม กล่อมพระเป็นเงินตั้งตัวหลังสึก คนชวนลงทุนเป็นป.ธ.5 ศิษย์เก่า มจร. นักวิชาการพุทธศาสนาชี้ขายตรงในวัดมีมานานแต่ชวนพระลงทุนนั้นผิดวินัย เชื่องานนี้ไม่มีพระหรือวัดใดกล้าแจ้งความไม่งั้นผิดเพิ่ม ปล่อยให้เรื่องเงียบ ชี้สำนักพุทธฯ-มส. ควรเข้ามาดู

คดี The iCon Group ที่บรรดา Boss ของบริษัทถูกจับกุมไปยังไม่จาง ก็เกิดเรื่องของ “แชร์แครอท” ล่ม โผล่เข้ามาอีก ว่ากันว่างานนี้มีพระเณรเสียหายนับร้อยราย โดยนายแทนคุณ จิตอิสระ หรืออี้ แทนคุณ ประธานชมรมสันติประชาธรรม ได้พาผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ที่กองปราบปรามเมื่อ 21 ตุลาคม 2567

วิธีการชักชวนคนมาร่วมลงทุนนั้น จะทำการจัดโครงการอบรมต่างๆ นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังลามไปถึงวงการพระสงฆ์ ภายใต้ชื่อโครงการเติมบุญเพิ่มทุนชีวิต โดยจะนำมาสงฆ์มานั่งฟังการอบรม พร้อมชักชวนให้ร่วมลงทุน อ้างว่ากำไรที่ได้จะสามารถทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พัฒนาวัด จำนวนเงินที่ใช้ลงทุนนั้นจะเริ่มต้นที่ 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 แสนบาท

DSI รับเรื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว

คดีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)ได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 84/2566 ตั้งแต่กลางปี 2566 หรือเรียกกันว่าคดีแชร์ลูกโซ่ WCF ซึ่ง DSI ได้แจ้งความคืบหน้าของคดีดังกล่าวเมื่อ 1 กรกฎาคม 2567

คดีคดีดังกล่าวเป็นกรณีมีบุคคลกล่าวหาว่า เว็บไซต์ www.ibwcf.com หรือ World Class Financial (WCF Thailand) ซึ่งเปิดให้บริการเทรด Forex มีพฤติการณ์กระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่มีการ ฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 การสอบสวนพยานผู้เสียหายดังกล่าว เป็นการสอบสวนพยานเพิ่มเติมจากพยานผู้เสียหายที่ได้มาลงทะเบียน และมีการสอบสวนที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาไปแล้วรวมกว่า 300 คน ซึ่งคดีนี้มีการกระทำความผิดกระจายตัวทั่วประเทศ เบื้องต้นคาดว่ามีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

พนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังได้ทำการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของผู้ต้องสงสัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในขณะนี้ตรวจสอบพบว่า มีธุรกรรมทางการเงินที่ผู้ต้องสงสัยในคดีได้มีการโอนเงินที่ได้จากผู้เสียหายไปยังบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้อายัดบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ครั้ง จำนวน 22 บัญชี และออกหมายหมายเรียกพยานผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว


เจ้าคุณประสารตั้งกรรมการสอบ

จากนั้นพระราชวัชรสารบัณฑิต หรือเจ้าคุณประสาร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวเมื่อ 22 ตุลาคม 2567 กรณีแชร์แครอทยืนยันว่า

1.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น

2.มหาวิทยาลัยไม่เคยมีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง

3.มหาวิทยาลัยมีขบวนการคัดกรอง คัดสรรผู้คนที่จะเข้ามาเป็นวิทยากรบรรยายต่างๆ ในมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลาง วิทยาเขต และวิทยาลัยสงฆ์

4.ถ้าหากว่ามีบุคลากรไม่ว่าพระสงฆ์หรือคฤหัสถ์ของมหาวิทยาลัยมีส่วนเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้นั้นถือเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนีั โดยเฉพาะเรื่องศีลธรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่มหาวิทยาลัยตระหนักในทุกภาคส่วน

5.มหาวิทยาลัยจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความจริงปรากฏ

เจ้าคุณประสาร กล่าวถึง ดร.ภ. ที่เป็นผู้บรรยายว่า เป็นอดีตลูกศิษย์ มจร.จริง จบปริญญาตรีและได้เปรียญธรรม 5 ประโยค แต่การไปเป็นวิทยากรอบรมหลักสูตรต่างๆ ของแต่ละวิทยาเขตเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่ง มจร.มีวิทยาเขตอยู่ 11 แห่ง มีเงื่อนไขคัดกรองวิทยากรอย่างรอบคอบ แต่อาจจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับสงฆ์ในวิทยาเขตเพื่อไปเป็นวิทยากร พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

สำหรับหลักสูตรพุทธนวัตกรรมการสื่อสารกับการบริหารธุรกิจและการลงทุน ที่มี ดร.ภ.เป็นวิทยากรนั้น เจ้าคุณประสาร ชี้แจงว่า เป็นหลักสูตรที่ให้สงฆ์เข้าใจนวัตกรรมทางโลก การประกอบธรุกิจและการดำเนินชีวิตของฆราวาส เพื่อไปปรับใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อบรม สั่งสอน ไม่ใช่ให้ไปลงทุนเสียเอง ซึ่งเป็นความผิดตามบัญญัติพระวินัยต้องอาบัติปาจิตตีย์


ร้องประธานสภาฯ

จากนั้น 24 ตุลาคม 2567 อี้ แทนคุณ พร้อมด้วยคณะผู้เสียหาย เข้ายื่นหนังสือถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความกรุณาตรวจสอบความคืบหน้าคดีที่มีผู้เสียหายใน คดีที่อยู่ภายใต้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนำทรัพย์ที่ยึดคืนมาได้คืนแก่ผู้เสียหาย

คดีแชร์แครอทมีผู้เสียหายมากกว่าพันราย กรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนไปได้แค่ 300 กว่าราย คดีดังกล่าวเป็นการหลอกให้เทรดเงินในแพลตฟอร์มปลอม โดยใช้ค่าเงินต่างประเทศ และมีการจัดกิจกรรมใช้ธรรมะบังหน้าเพื่อหลอก คนแก่ เด็ก และพระภิกษุสงฆ์ด้วย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท โดยคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566

MLM ในวัดมีมานาน

ผู้ใช้ Facebook ชื่อ Naga King โพสต์เรื่องดังกล่าวเมื่อ 23 ตุลาคม 2567 ว่า เรื่องการสอนเทรดหุ้น หรือการนำระบบขายตรงมาใช้ในการนำมาสอนพระ จริงๆ มันมีมากว่า 20 ปีแล้วสมัยผมเรียน ป.ตรีที่ ม.มจร. ระบบการขายตรงแบบ MLM ถูกรับรู้ในหมู่ของพระสงฆ์มาแล้ว เพื่อนผมคนหนึ่งถึงกับลาสิกขาไปเอาดีทางด้าน MLM จนสามารถพัฒนาตัวไปไประดับ Dimond เลยทีเดียว เรื่องขายตรงจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในการรับรู้ของวงการสงฆ์

ดังนั้น การเกิดกรณีเรื่องการเทรดหรือการขายตรงแบบนี้ กรณีการทำแบบที่มีมหาป.ธ.5 จบมหาจุฬาฯ ไปทำนั้น ก็เป็นเรื่องที่ "มีความเป็นไปได้"

ผมเห็นว่าก่อนที่จะมีเรื่องมีราวในวงการมหาวิทยาลัย มจร.ดูเหมือน ม.มจร.บางวิทยาเขตดูเหมือนว่าจะยอมรับว่ามัน คือ "การเรียนรู้อย่างหนึ่งที่พระเณรควรรู้" จึงมีการเปิดพื้นที่ให้อดีตมหาไปเป็นวิทยากรสอนพระหรือมีการสร้างเครือข่ายเรื่องนี้ขึ้นจนกลายมาเป็นปัญหา

เรื่องของ "ความอยากรวยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา" เป็นเรื่องที่เป็นปกติของพระภิกษุในยุคนี้ ที่ผมเห็นว่าภายในคณะสงฆ์เราในยุคนี้มันมีความ "อ่อนด้อย" ในเรื่องของการ "ควบคุม" กันเองภายในวัด เพราะปัจจุบันมันมีเรื่องของการ "ล้ำเส้น" กันเกิดขึ้นในวัดเกิดขึ้นค่อนข้างมาก

การควบคุมพระในวัดระหว่างเจ้าอาวาสกับพระลูกวัดจึงอาจมีข้อจำกัด


เชื่อพระไม่กล้าแจ้งความ

สอดคล้องกับนักวิชาการด้านพุทธศาสนาอีกรายที่กล่าวว่า เรื่องขายตรงกับทางวัดนั้นมีมานานแล้ว ทุกวันนี้พระเณรจำนวนไม่น้อยใช้สินค้าของบริษัทขายตรงเหล่านั้น แต่ต้องแยกกับเรื่องชวนพระลงทุน ตรงนี้พระหรือเณรที่ลงทุนนั้น ทำไม่ได้ถือว่าผิดพระวินัยแน่นอน เพราะสวนทางกับหลักธรรมคำสอน

ส่วนที่จะอ้างว่าเป็นการให้ความรู้นั้น ในทางศาสนาเรื่องการลงทุนไม่ใช่วิชาที่ควรรู้ เพราะศาสนาจะพังทลายเพราะเงิน ทุกวันนี้พระไม่กระดากเรื่องเงิน รับเงินหรือให้ผู้อื่นรับแทน ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกัน พระบางรูปบอกไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องเงิน แต่กลับมีไวยาวัจกรประจำตัว

เงินที่นำไปลงทุนอาจมีทั้งส่วนที่เป็นเงินของตัวเอง ตรงนี้เมื่อคนที่มาชวนหนีหายไปไม่จ่ายผลตอบแทนตามสัญญา ถือว่าพระหรือเณรเหล่านั้นย่อมเจ็บตัวกันเอง แต่หากเป็นเงินของวัดที่นำไปใช้ลงทุน ตรงนี้คนที่มีส่วนรู้เห็นต้องรับผิดชอบ คล้ายๆ กับการยีมเงินออกไปใช้ก่อน แล้วค่อยหามาชดใช้ในภายหลัง

เชื่อว่าไม่น่าจะมีพระหรือเณรรูปใดออกมาแจ้งความ เพราะพระเองอาจเข้าข่ายกระทำความผิดได้ วัดใดเจ็บก็อยู่เงียบๆ ที่จริงเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลงมาหาทางป้องปราม เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับวัดเพราะเงินวัดส่วนใหญ่มาจากจิตศรัทธาของญาติโยมที่มาทำบุญ

สำหรับคนที่เข้ามาบรรยายหรือชักชวนให้พระหรือวัดเข้าร่วมลงทุน ด้วยการอ้างถึงจะได้เอาดอกผลที่งอกเงยมาใช้บูรณะวัด หรือกล่อมพระที่มีโอกาสสึกว่าเป็นการเตรียมตัวไว้หากต้องสึกจะได้นำผลตอบแทนที่ได้ไปเป็นต้นทุนตั้งตัว ตรงนี้ถือว่าเป็นการขายฝัน ถือเป็นการใช้จิตวิทยาในการโน้มน้าวใจที่ฉลาดมาก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจบเปรียญ 5 ที่ มจร. มาก่อน จึงทราบถึงความต้องการของพระและวัดได้เป็นอย่างดี และมองออกว่าพระบางรูปมีเงินติดตัวไม่น้อย เงินของวัดที่ฝากธนาคารถูกชวนให้มาลงทุน อ้างผลตอบแทน 6% ต่อเดือน ดอกเบี้ยที่ได้ต่อเดือนนำมาคำนวณเป็นเงินต้นใหม่ โดยอ้างว่าลงทุน 3 แสนบาทครบ 6 เดือนจะได้กำไร 125,555 บาท ขณะนี้ผู้ที่มาชักชวนได้หายไปและไม่มีการจ่ายเงินคืนให้ผู้ลงทุน

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น