xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบ บ/ช” ชี้ “ดิไอคอน” เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ จี้เร่งหา “บัญชีเล่มจริง-บัญชีภายใน” สาวถึงเส้นเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผศ.ดร.อานนท์” ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีใน “คดีดิไอคอน” เผยพบความผิดปกติหลายอย่าง มีลักษณะการ “ขายทิพย์” เข้าข่าย “แชร์ลูกโซ่” เชื่อมีบัญชี 2 เล่ม เล่มที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจผ่านการตกแต่งตัวเลข ชี้ต้องเร่งหาบัญชีการเงินตัวจริงและบัญชีภายใน จึงจะเจอเส้นเงินและรู้ว่าไซฟ่อนเงินออกไปแบบไหน เชื่อ “บอสพอล” มี “กุนซือสายโจร” เป็นที่ปรึกษา ขณะที่ “ผู้การแต้ม” มั่นใจคดีนี้ไม่มีมวยล้ม ด้าน “ดร.กฤษณพงค์” ระบุกลยุทธ์การโต้กลับของบอสพอล มีเป้าหมายเพื่อข่มขู่และยื้อคดี



ทันทีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ประกาศรับ “คดีดิไอคอน” ไว้เป็นคดีพิเศษในความผิดฐานฟอกเงิน หลายคนต่างอยากรู้ว่าที่ผ่านมาการตรวจสอบเส้นทางการเงินของของดิไอคอนเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว และมีโอกาสที่จะนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายได้มากน้อย?

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจจับทุจริตและความผิดปกติทางบัญชี
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจจับทุจริตและความผิดปกติทางบัญชี ซึ่งได้รับเชิญจากกองบังคับการปราบปราบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ร่วมตรวจสอบบัญชีการเงินของดิไอคอน ระบุว่า จากที่ตนได้เข้าไปช่วยตรวจสอบความผิดปกติทางบัญชีของดิไอคอน และได้ดูงบการเงินพบว่ามีความผิดปกติหลายอย่าง มีลักษณะของการ “ขายทิพย์” ซึ่งก็คือ “แชร์ลูกโซ่” แต่ที่ผ่านมาบอสพอล อ้างว่าดิไอคอนเป็นธุรกิจที่เรียกว่า “ตลาดแบบตรง” โดยมีการจัดการแบบ “Dropship Fullfillment” (โมเดลธุรกิจที่สมาชิกไม่ต้องมีการสต๊อกสินค้าเอง โดยบริษัทจะบริหารจัดการสินค้าให้) ซึ่งสมาชิกที่สั่งซื้อสินค้าไว้แล้วจะมาเอาสินค้าจากบริษัท ทางดิไอคอนจึงไม่มีสินค้าในสต๊อกเพราะจะผลิตสินค้าก็ต่อเมื่อสมาชิกสั่งเพื่อป้องกันปัญหาสินค้าหมดอายุ ซึ่ง “บอสพอล” วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เจ้าของดิไอคอนกรุ๊ป จะเอาตรงนี้มาเป็นข้ออ้างในการต่อสู้ว่าทำไมเมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจแล้วจึงไม่มีสินค้าในสต๊อก

แต่ทั้งนี้ หากพิจารณารูปแบบของดิไอคอนในการจัดการสินค้าให้ “ลูกข่าย” หรือสมาชิก ซึ่งถือเป็นเจ้าของธุรกิจถือว่าไม่ใช่ “Dropship Fullfillment” เพราะความหมายของ Dropship Fullfillment คือโมเดลการจัดการสินค้าที่มีบริการครบวงจร ตั้งแต่สต๊อกสินค้า เก็บรักษาสินค้าในคลัง จัดการคำสั่งซื้อ บรรจุหีบห่อ และส่งสินค้าถึงมือลูกค้า โดยที่เจ้าของธุรกิจไม่ต้องจัดการขั้นตอนเหล่านี้เอง แต่กรณีของดิไอคอนไม่มีบริการ “บรรจุหีบห่อและจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า” แต่ลูกข่ายที่เป็นเจ้าของธุรกิจจะต้องเป็นผู้จัดเตรียมสินค้าและนำส่งสินค้าต่างๆ ให้แก่ลูกค้าเอง อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันเว็บไซต์ theiconpartner.com ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการให้บริการด้วยระบบ Dropship Fullfillment ของดิไอคอนก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยระบุว่าเว็บไซต์นี้อยู่ระหว่างการพัฒนา


และก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.อานนท์ ก็ได้แนะนำไว้ใน facebook “ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์” ถึงวิธีดูงบการเงินง่ายๆ ว่าธุรกิจนั้นเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ โดยให้คำนวณหาอัตราการเติบโตของยอดขาย โดยเอายอดขายปีนี้คูณร้อย แล้วหารด้วยยอดขายปีก่อน ซึ่งหากผลออกมาว่าอัตราการเติบโตสูงถึง 200-300% หรือมากกว่านั้นแสดงว่าเป็นแชร์ลูกโซ่

ซึ่งจากข้อมูลพบว่าอัตราการเติบโตของยอดขายของดิไอคอน ในปี 2564 มีความผิดปกติอย่างมาก เนื่องจากยอดขายในปี 2564 อยู่ที่ 2,950 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายปี 2563 อยู่ที่ 378 ล้านบาท จากผลการคำนวณปรากฏว่าอัตราการเติบของยอดขายในปี 64 สูงถึง 1,309%

ผศ.ดร.อานนท์ ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า จากที่ตนได้ดูบัญชีการเงินของดิไอคอนซึ่งนำไปยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และดูองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเห็นชัดว่ามีความผิดปกติ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีบัญชี 2 เล่ม โดยเล่มหนึ่งเป็นบัญชีที่มีการตกแต่งตัวเลขเพื่อนำไปยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่วนอีกเล่มเป็นบัญชีที่บันทึกตัวเลขเงินเข้าออกที่แท้จริง นอกจากนั้น ยังมีบัญชีภายในระหว่างบอสด้วยกัน ซึ่งเรียกว่าบัญชีแยกประเภท หรือสมุดรายวัน ซึ่งจะมีการบันทึกเรื่องการจ่ายโอนเงินภายใน แล้วจึงค่อยมาปรากฏเป็นงบการเงินที่ส่งไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยงบการเงินดังกล่าวนั้นจะไม่ได้ส่งรายละเอียดบัญชีภายในไปด้วย ซึ่งบัญชีแยกประเภทกอาจจะมี 2 เล่มอีกเช่นกัน คือมีทั้งตัวจริงและตัวปลอม ทั้งนี้หน่วยงานที่ดูแลคดีต้องหามาให้ได้จึงจะหาเส้นเงินเจอ โดย ปอท.(กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ปอศ.(กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ) และกองบังคับการปราบปรามต้องจับมือกัน จะไปรื้อฮาร์ดดิสก์หรือบุกไปค้นหาเล่มบัญชีก็แล้วแต่

“มันมีรอยแผลในงบการเงินอะไรหลายอย่าง ซึ่งไม่สามารถลงลึกได้เพราะมันจะมีผลต่อรูปคดี เอาคร่าวๆ คือผมเชื่อว่าเขาน่าจะมีบัญชี 2 เล่ม เพราะโดยทั่วไปคนที่ประกอบการทุจริตเขาไม่มีปัญชีเล่มเดียวหรอก บัญชีที่ยื่นไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเนี่ยมันแค่พอเห็นแผลและความผิดปกติ แต่บัญชีที่ 2 ซึ่งเป็นบัญชีตัวจริงอันนี้สำคัญมาก เป็นหลักฐานสำคัญที่จะมัดผู้กระทำผิดได้ หน่วยงานที่ดูแลคดีต้องหามาให้ได้ นอกจากนั้น ต้องไปดูบัญชีแยกประเภทซึ่งมันจะอยู่ในคอมพิวเตอร์หรือในเอกสารก็ไม่รู้ คือผมได้เห็นแต่งบการเงินที่ดิไอคอนยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจฯ มันก็เห็นแผล เห็นความผิดปกติ แต่มันยังไม่จะแจ้ง เพราะเราไม่ได้บัญชีแยกประเภทข้างใน หรือบัญชีที่ 2 ที่เขาทำกันเองมา ต้องไปหาบัญชีพวกนี้มาให้ได้ บัญชีภายในที่โอนระหว่างกันในดิไอคอนมันจะเห็นเส้นเงิน เห็นว่าใครมีอำนาจควบคุมการเงิน ใครได้เงินไป ไซฟ่อนเงินออกยังไง” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว


พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยักย้ายถ่ายเทบัญชีจะเป็นใครบ้างนั้น “ผศ.ดร.อานนท์” มองว่า เป็นไปได้หมด ทั้งบริษัทบัญชีของดิไอคอนเอง (บริษัท ดิไอคอนการบัญชี จำกัด) บริษัทข้างนอกที่รับทำบัญชีให้ดิไอคอน หรืออาจจะจ้างคนทำบัญชีและตรวจสอบบัญชีหลายคน คนหนึ่งอาจทำบัญชีแบบถูกต้อง และอีกคนทำหน้าที่ตกแต่งบัญชี ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องไปตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง และขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถตรวจยึดเอกสารต่างๆ ยึดบัญชีแยกประเภท ยึดระบบบัญชีในคอมพิวเตอร์ที่เขาใช้ ยึดฮาร์ดดิสก์ ยึดเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ได้หรือไม่

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายวิตกว่าการที่ “บิ๊กเต่า” พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุจะดำเนินคดีกับพยานในคดีดิไอคอนที่ให้ข้อมูลเท็จเรื่องการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปเป็นเงินดิจิทัล หรือคริปโตเกือบหมื่นล้าน จะทำให้คดีนี้กลายเป็นมวยล้มนั้น “ผู้การแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เชื่อว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นการเอาผิดกับพยานในประเด็นเดียวเท่านั้นคือเรื่องการถ่ายเททรัพย์สินเป็นเงินดิจิทัลเพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งข้อมูลที่เป็นเท็จนั้นเมื่อคดีไปถึงชั้นศาลอาจทำให้บอสพอลหลุดคดีได้ ส่วนข้อมูลอื่นๆที่ได้จากพยานยังถือว่ามีน้ำหนักอยู่

“ผมเชื่อมั่นในตัวบิ๊กเต่า ท่านเป็นตำรวจที่ซื่อตรงมาก คดีนี้ไม่มีมวยล้มแน่นอน แต่จะสาวได้ถึงไหน ยึดทรัพย์มาคืนผู้เสียหายได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน” พล.ต.ต.วิชัย ระบุ

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
นอกจากเรื่องเส้นทางการเงินแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้คือปฏิบัติการโต้กลับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินคดีและบรรดาผู้ที่ออกมาแฉดิไอคอนของ “ทีมบอสพอล” ในหลากหลายรูปแบบซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า บอสพอลเป็นคนที่แยลยล วางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เนื่องจากเขารู้อยู่แล้วว่าเขาทำธุรกิจที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ เขาจึงเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า เมื่อมีคนมาเรียกรับผลประโยชน์ทางบอสพอล ก็ยอมจ่ายแต่แอบถ่ายคลิปไว้ เพื่อว่าหากถูกหักหลังจะได้นำมาใช้ประโยชน์ เมื่อรู้ว่าจะถูกดำเนินคดีจึงเริ่มนำคลิปออกมาปล่อย พร้อมทั้งบอกว่าเขายังมีคลิปอีกกว่า 200 คลิป เพื่อส่งสัญญาณให้คนที่เคยรับเงินจากเขารีบหาทางช่วย ไม่เช่นนั้นจะลากลงมาตายด้วยกัน จากนั้นก็แจ้งความดำเนินคดีกับคนที่เคยเรียกรับเงินแต่ออกมาแฉเขา เพื่อส่งสัญญาณให้หลายฝ่ายรู้ว่าเขาไม่ได้แค่ขู่นะ เขาทำจริง

นอกจากนั้น บอสพอลได้ให้ทนายแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สอบปากคำและยึดมือถือพนักงานดิไอคอนเพื่อชะลอการดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ เพราะเมื่อถูกแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังในการทำคดีมากขึ้น และล่าสุดได้ให้คนนำแบรนด์เนมปลอมไปไว้ในห้องเช่ากลางเมือง เพื่อล่อให้เจ้าหน้าที่ไปจับ เพราะจะเห็นได้ว่าถ้าต้องการเอาไปซ่อนจริงคนที่นำแบรนด์เนมไปไว้จะไม่ทำตัวโดดเด่นด้วยการขับรถหรูเข้าไปให้เป็นที่สะดุดตา ซึ่งการล่อให้เจ้าหน้าที่ไปจับก็เป็นไปได้หลายอย่าง อาจจะทำเพื่อถ่วงเวลาในการดำเนินคดี ทำให้เจ้าหน้าที่สับสน หรืออาจจะหลอกให้เจ้าหน้าที่คิดว่ายึดทรัพย์ไปแล้วจะได้ไม่ตามหาทรัพย์ตัวจริงอีก

“ผู้ต้องหาในแต่ละคดีจะมีวิธีการต่อสู้ไม่เหมือนกัน บางรายใช้ข้อกฎหมายในการต่อสู้ โดยหยิบขึ้นมาใช้หลังจากถูกจับกุม แต่กรณีบอสพอลมีการวางแผนล่วงหน้าหากถูกดำเนินคดีจะหยิบอะไรออกมาใช้บ้าง ใช้แบบไหน อย่างคลิปที่แอบถ่ายก็ใช้เพื่อเป็นข้อต่อรอง แจ้งความดำเนินกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อชะลอการดำเนินคดีดิไอคอนให้ช้าลง ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้เขายังมีอีกหลายกลยุทธ์ที่จะเอาออกมาใช้” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.อานนท์ ชี้ว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าบอสพอลไซฟ่อนเงินที่ได้จากดิไอคอนออกไปแล้ว คดีดิไอคอนไม่ต่างจากสมัยแชร์แม่ชม้อย สมัยนั้นมีการนำเงินไปซุกซ่อน ฝังดิน และซื้อทรัพย์สินต่างๆ แต่ในปัจจุบันวิธียักย้ายถ่ายเททรัพย์สินนั้นง่ายขึ้น มีสารพัดวิธี มีคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัส หรืออาจโอนไปเก็บไว้ในประเทศที่มี Bank Secrecy ส่วนแหล่งในการฟอกเงินมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หมู่เกาะเคแมน หรือประเทศที่ไม่เปิดเผยธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์

โดยหน่วยงานที่จะตรวจสอบทรัพย์สินที่ยักย้ายถ่ายเทออกไปซึ่งเข้าข่ายการฟอกเงินคือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แต่ปัญหาคือ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เริ่มเปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2561 และเชื่อว่าน่าจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินมาเรื่อยๆ อย่างปีที่ยอดขายพีกสุดคือปี 2564 เติบโตถึง 1,200 กว่าเท่า ซึ่งไม่รู้ว่าเงินถูกโยกไปไหนบ้างแล้ว

“เขามีเวลาเตรียมตัวที่จะไซฟ่อนเงินออก ดังนั้น โอกาสที่จะได้ทรัพย์สินกลับมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหายอาจจะน้อย ผู้ที่ทำธุรกิจลักษณะนี้มีความแยบยลในการไซฟ่อนเงินได้สารพัดวิธี ยิ่งสมัยนี้สามารถทำได้ในชั่วพริบตาเดียว ในสายตาผมดิไอคอน เป็น Paper Company (บริษัทที่มีอยู่จริงแค่บนกระดาษที่จดทะเบียน) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อโกงโดยเฉพาะ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจจริงๆ เขาวางทางหนีทีไล่ไว้หมดแล้ว คิดไว้อยู่แล้วว่าจะสู้ยังไง เขารู้เรื่องระบบบัญชี รู้เรื่องข้อกฎหมาย รู้เรื่องไอที การที่จะรู้สารพัดเรื่องได้ขนาดนี้แสดงว่าเขาน่าจะมีกุนซือที่เก่งมาก แต่เป็นกุนซือสายโจร ช่วยวางแผนธุรกิจให้ แต่ไม่รู้ว่าเขามีแบ็กหรือเปล่า อาจจะมีเงินที่จะซื้อคนที่มีอำนาจรัฐให้หลับหูหลับตาบ้าง” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น