xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉาก The iCon Group ไม่ได้ไปต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟันธง TheiCon Group จบแล้ว หลังตำรวจจับแกนนำ 18 คน ธุรกิจไปต่อไม่ได้งานนี้กระทบถึงลูกทีมที่ยังขายสินค้าได้อีกด้วย คนวงในชี้ทำธุรกิจไม่ตรงใบอนุญาตขัดมาตรา 19 เผยเหตุทำไมขายสินค้ายาก จนต้องเน้นไปที่สมาชิกใหม่แถมออกแบบมาให้ใช้เงินซื้อขั้นความสำเร็จ Dealer 250,000 บาท ต่างจากขายตรงปกติที่ต้องไต่ระดับ แนะทำใจโอกาสได้เงินคืนมีน้อยเตือนจบรายนี้ยังมีรายใหม่ๆ อีก

กรณีของดิไอคอน กรุ๊ป (The iCon Group) กลายเป็นเรื่องใหญ่กระทบไปในหลายวงการ ผู้เสียหายมากกว่า 1 พันรายเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากเริ่มมีผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกของดิไอคอนขายสินค้าไม่ได้ บางรายมีการหยิบยืมเงินมาจากบุคคลอื่นจนเกิดปัญหาทางสังคมตามมา หรือบางรายหาทางออกไม่ได้จนต้องคิดสั้น

ดิไอคอน กรุ๊ป สร้างปรากฏการณ์ให้คนรู้จักผ่านทางบิลบอร์ดโฆษณาตามจุดสำคัญต่างๆ รวมถึงดาราที่เข้ามาร่วมงานจนถูกเรียกว่า Boss เช่น บอสแซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี บอสกันต์-กันต์ กันตถาวร และบอสมิน-พิชญา วัฒนามนตรี และพรีเซ็นเตอร์สินค้า บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ โดม-ปกรณ์ ลัม และอีกหลายท่าน


จับบอสดารา “แซม-กันต์-มิน”

16 ตุลาคม 2567 นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล ผู้บริหารดิไอคอนกรุ๊ป นำตัวแทนผู้ขายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีมีผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษว่า บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป ทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้การขายสินค้าดังกล่าวส่งผลดีต่ออาชีพ และการดำรงชีวิตของบุคคลในครอบครัวเรื่อยมา การที่บริษัท และพวกถูกใส่ความ และถูกดำเนินคดี กระทั่งมีการอายัดทรัพย์ รวมทั้งการเสนอข่าวทำให้ผู้ขายได้รับผลกระทบ จึงมาขอความเป็นธรรมนายกรัฐมนตรี

คนในสังคมจึงจับตากันว่างานนี้ดาราเบอร์ใหญ่ๆ ของเมืองไทย จะถูกจับกุมไปด้วยหรือไม่ ความเข้มข้นของคดีดังกล่าวดำเนินอย่างรวดเร็วโดยช่วงบ่ายของวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาของดิไอคอนกรุ๊ป 18 ราย ประกอบด้วย

1.นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล 2.น.ส.ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร หรือบอสปัน 3.นายฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ หรือบอสหมอเอก 4.น.ส.นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์ บอสสวย 5.น.ส.ญาสิกัญจณ์ เอกชิสนุพงศ์ บอสโซดา 6.นายนันท์ธรัฐ เชาวนปรีชา บอสโอม 7.นายธวิณทร์ภัส ภูพัฒนรินทร์ บอสวิน 8.นายหัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์ บอสป๊อบ 9.นายยุรนันท์ ภมรมนตรี บอสแซม 10.นายกันต์ กันตถาวร หรือบอสกัน 11.น.ส.พิชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมิน 12.นางวิไลลักษณ์ เจ็งสุวรรณ บอสออย 13.นายจิรวัฒน์ แสงภักดี 14.นายธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์ หรือบอสอ๊อพ 15.นายเชษฐ์ณภัฎ อภิพัฒนากานต์ หรือบอสทอมมี่ 16.น.ส.เสาวภา วงษ์สาขา หรือบอสอูมมี่ 17.น.ส.กนกธร ปูรณะสุคนธ์ หรือบอสแม่หญิง 18.นายกลด เศรษฐนันท์ หรือบอสปีเตอร์

ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 5006/2567 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน"


จบแล้ว The iCon Group

น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่าย-ออนไลน์ กรณีของดิไอคอนกรุ๊ปนั้น ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงเท่านั้น การดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาอาจขัดต่อพ.ร.บ.ขายตรงมาตรา 19 ที่กำหนดไว้ว่าห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ คงต้องดูมาตรา 21 ด้วยที่กำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องดำเนินกิจการให้เป็นไปตามแผนการจ่ายผลตอบแทนของตนที่ได้ยื่นต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๓๘ แผนการจ่ายผลตอบแทนต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) ต้องไม่กำหนดให้ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างได้รับผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักจากการรับสมัครบุคคล หรือแนะนำผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างอื่นเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง

(๒) ผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักของผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างขึ้นอยู่กับการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค รวมไปถึงการซื้อเพื่อการใช้หรือบริโภคเอง

(๓) ต้องไม่บังคับให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้า

(๔) ต้องไม่ชักจูงให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างไม่สมเหตุผล

(๕) ต้องแสดงวิธีการคิดคำนวณการจ่ายผลตอบแทนที่ตรงต่อความเป็นจริงหรือเป็นไปได้จริงและอย่างเปิดเผยชัดเจน

(๖) ลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด แผนการจ่ายผลตอบแทนใดที่มีลักษณะแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในวรรคสอง ให้มีผลบังคับใช้เท่าที่เป็นธรรมแก่ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้าง

“ถ้าพูดกันตรงๆ ถึงตอนนี้ดิไอคอนกรุ๊ปจบแล้ว การเดินหน้าทางธุรกิจต่อเป็นไปได้ยาก” น.ส.กฤษอนงค์ กล่าวทิ้งท้าย


ทำไมสินค้าขายยาก

เรื่องการขายสินค้าไม่ได้ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สมาชิกของดิไอคอนกรุ๊ปประสบอยู่ ทั้งนี้สินค้าของ The iCon ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น วิตามินซี กาแฟ คอลลาเจน กลูตา 

หนึ่งในผู้มีประสบการณ์ขายตรงให้ข้อมูลว่า สินค้าของดิไอคอนกรุ๊ป เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ด้านหนึ่งอาจจะขายได้ง่ายเพราะคนต้องกินต้องใช้ แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่า ดิไอคอนใช้ชื่อสินค้า Boom และ Room (กาแฟ) ซึ่งคนทั่วไปย่อมไม่รู้จัก ทางบริษัทจึงต้องใช้ดาราเข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อช่วยให้ลูกทีมขายสินค้าได้ง่ายขึ้น

แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า สินค้าของดิไอคอนกรุ๊ปต้องมาแข่งกับสินค้าที่มีอยู่ในตลาด Brand ของดิไอคอนถึงอย่างไรก็
เป็นรองแม้คุณภาพอาจพอๆ กัน

ประการต่อมา สินค้าที่ขายผ่านระบบที่มีตัวแทนขาย ราคาจะค่อนข้างสูง คร่าวๆ คือราคาขายจะสูงกว่าทุนราว 5 เท่า ส่วนต่างนั้นคือส่วนที่ต้องนำไปจ่ายให้ตัวแทน แม่ทีมและระบบของทางบริษัท ดังนั้น ต้องดูราคาขายของสินค้าดิไอคอนว่าสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันในท้องตลาดหรือไม่ นี่จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สินค้าที่มียี่ห้อที่ไม่เป็นที่รู้จักจะขายยาก

อีกประการหนึ่ง ต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ด้วยว่าเป็นอย่างไร เราเพิ่งพ้นจาก Covid-19 หลายคนตกงาน รายได้ลดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า เราเจอปัญหาทั้งค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลต่อภาคส่งออก คนวัยทำงานจึงต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย รวมไปถึงสถาบันการเงินเองก็ระมัดระวังเรื่องหนี้เสีย การปล่อยสินเชื่อทั้งบ้านและรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมาลดเป้าหมายลง นอกจากกำลังซื้อจะตกลงไปแล้ว ความพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยก็ลดลงไปด้วย จึงทำให้กระทบต่อภาคการค้าแทบทุกแห่ง

อีกหนึ่งช่องทางรายได้

เมื่อสินค้าขายไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นผลมาจาก Brand ของสินค้าหรือเป็นเรื่องของราคาที่สูงกว่า อาจทำให้รายได้หรือส่วนแบ่งจากการขายสินค้ามีน้อย แม่ทีมอาจปรับมาเน้นที่การหาคนใหม่เพิ่มเข้ามา โดยได้ส่วนแบ่งจากสมาชิกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระดับ 2,500 บาท 25,000 บาท หรือ 250,000 บาท ส่วนนี้จะมีข้อกำหนดเรื่องของการจ่ายผลตอบแทนให้จากการหาสมาชิกใหม่ แบบนี้จึงอาจเข้าข่ายแชร์แชร์ลูกโซ่

ธุรกิจที่มีรายได้จากการขายสินค้าเป็นหลัก แม้จะถูกร้องเรียนบ้าง ส่วนใหญ่มักจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะสินค้านั้นมีความพิเศษในตัว หรือเป็นสินค้าที่ไม่มีตามท้องตลาด หรือคุณภาพดีกว่า แตกต่างจากธุรกิจที่มีรายได้หลักการจากหาสมาชิก ถ้าไม่มีลูกข่ายหรือสมาชิกรายใหม่เพิ่มเข้ามาสุดท้ายกิจการจะไปต่อไม่ได้

“คนที่อยู่ในธุรกิจขายตรงมานานย่อมมองออกว่ารายไหนขายตรงจริงๆ หรือรายไหนเป็นแชร์ลูกโซ่”

ขณะนี้ยังไม่มีใครกล้าออกมายืนยันว่ากรณีนี้เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ แต่เมื่อมีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดี ภาพลักษณ์ของบริษัทย่อมต้องถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงไป ยิ่งบรรดาบอสใหญ่ บอสรอง บอสดาราถูกจับด้วยแล้ว ถ้าไม่โลกสวยจนเกินไปย่อมทราบดีว่าดิไอคอนกรุ๊ป ไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาและการขายสินค้าจะยากขึ้น นั่นหมายถึงลูกทีมที่ยังขายสินค้าได้จะถูกกระทบไปด้วย


ไกลกว่าขายตรง

ผู้ที่อยู่แวดวงขายตรงกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าธุรกิจขายตรงที่เป็นข่าวในเวลานี้มีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย บริษัทได้ใบอนุญาตแบบหนึ่ง แต่ทำธุรกิจไม่ตรงกับใบอนุญาต แถมไปในเส้นทางที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย เขาปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้คอร์สขายสินค้าออนไลน์เป็นตัวเปิดหาลูกค้า ใช้การซื้อโฆษณาผ่านรายการทีวีเพื่อเป้าหมายให้ได้ลูกค้าจำนวนมาก ใช้วิธีการยิง Ad ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ

อาศัยจังหวะที่คนกำลังต้องการหารายได้เสริมจากพิษ Covid-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นแรงผลักดัน ใช้ระบบประชาสัมพันธ์ผ่านโฆษณษาตามบิลบอร์ดต่างๆ สร้างภาพลักษณ์ให้ทีมงาน สร้างโปรไฟล์ของบอสแต่ละคนมาใช้กระตุ้นให้ลูกค้าเห็นและอยากประสบความสำเร็จ เลือกที่จะพูดในมุมบวกและไม่พูดในเชิงลบและเร่งปิดการขาย ใช้ดาราเข้ามามีส่วนพูดเชิญชวนสร้างความมั่นใจ

ที่จริงเรื่องระดับของการทำธุรกิจที่ 2,500 บาท 25,000 บาท และ 250,000 บาท มันคือการใช้เงินซื้อความสำเร็จโดยไม่ต้องผ่านจากระดับล่างขึ้นมา แตกต่างจากธุรกิจขายตรงที่ต้องสร้างตัวเองจากลูกทีมขึ้นมาแล้วค่อยๆ ขยับขึ้น แต่นี่คือการใช้เงินซื้อขั้นความสำเร็จ

เราเชื่อว่าคนในวงการขายตรงจริงๆ ก็เห็นว่าเคสนี้ไปไกลกว่าธุรกิจขายตรงแล้ว สื่อบางรายก็เห็น ตำรวจก็เห็น แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องรอให้มีผู้เสียหายแจ้งความก่อนเท่านั้น ถ้ามีใครไปเตือนจะถูกตอบโต้ว่าเป็นพวกที่ขัดขวางความร่ำรวย ดีไม่ดีอาจถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้ ดังนั้นจึงมีผู้เสียหายจำนวนมาก

วันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่าธุรกิจที่มีเส้นทางไปในแนวทางแชร์ลูกโซ่จะยังมีต่อไปอีก ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นในรูปแบบหรือวิธีการอย่างไร ใครที่รู้ไม่เท่าทันก็อาจหลวมตัวตกเป็นเหยื่อร่วมขบวนการนี้ได้ ที่สำคัญคือถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมาแล้ว โอกาสที่จะได้รับเงินคืนมีน้อยมาก และต้องใช้เวลารออีกนานเป็นปีหรือหลายปี


ข้อสังเกตแชร์ลูกโซ่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังในการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจลักษณะขายตรง ที่อาจเข้าข่ายเป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่ หรือหลอกลวงประชาชน โดยมีข้อสังเกตดังนี้

1.โมเดลแชร์ลูกโซ่ - หากโครงสร้างธุรกิจเน้นการรับสมัครคนใหม่เข้าร่วมมากกว่าการขายสินค้าหรือบริการจริงโมเดลนี้ทำให้รายได้หลักมาจากการชักชวนสมาชิกใหม่และเก็บเงินค่าสมัครแทนที่จะเกิดจากการขายสินค้า

2.การขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงความจริง - หากสินค้าหรือบริการที่เสนอขายไม่มีคุณภาพ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่โฆษณาไว้
หรือไม่มีสินค้าจริงในการจำหน่าย แต่มีการหลอกลวงเพื่อเก็บเงินจากผู้ร่วมธุรกิจ

3.การบังคับซื้อสินค้าหรือการลงทุนจำนวนมาก - หากบริษัทบังคับให้ผู้สมัครเข้าร่วมต้องลงทุนจำนวนมากในการซื้อสินค้าเกินความจำเป็นหรือกักตุนสินค้าโดยไม่สามารถขายออกได้จริง

4.การใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง - หากบริษัทนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจหรือรายได้ที่เกินจริงโฆษณาผลตอบแทนที่สูงเกินจริงโดยไม่สามารถทำได้ตามสัญญา

5.การไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง - ธุรกิจขายตรงในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)

6.ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค - หากธุรกิจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภคไม่สามารถคืนเงินหรือเปลี่ยนสินค้าตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่มีการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

หากพี่น้องประชาชนพบเห็นธุรกิจในลักษณะดังกล่าว หรือสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 เพื่อที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น