จับตาบอร์ดประกันสังคมเล็งจัดพอร์ตกองทุน 2.4 ล้านล้านใหม่ มุ่งเพิ่มรายได้จาก 3% เป็น 5% ในปี 2568 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องต่างประเทศได้ถึง 10% ขยับลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ และอาจลดพันธบัตรรัฐบาล มั่นใจกองทุนโตจะขยายสิทธิประโยชน์ได้ เช่น ขยายเงินสงเคราะห์บุตรจาก 0-6 ขยับไปที่ 7-12 ปี ที่บอร์ดเห็นชอบไว้ รวมทั้งมีการเจรจา สปสช.เพื่อรวมบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลเข้าด้วยกันหากผู้ประกันตนใช้บัตรทอง จะนำเงินดังกล่าวไปเพิ่มเป็นเบี้ยชราภาพที่เคยได้ 5 พันบาท อาจขึ้นไปถึง 1 หมื่นบาท ยอมรับเรื่องรวมใช้สิทธิเดียวกัน ความยากอยู่ที่ฝ่ายสปส.เพราะมีวาระซ่อนเร้นที่บอร์ดเองก็ล้วงไม่ถึง ชี้นโยบาย รมว.แรงงานเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 1,000 บาท เป็น 3,000 บาท เกิดยาก เพราะกองทุนมีงบไม่เพียงพอเชื่อบอร์ดฝ่ายผู้ประกันตนค้านแน่ถ้าให้ ม.33 เฉพาะคนไทย ยืนยันต้องรักษาอนุสัญญา ILO เรื่องสิทธิมนุษยชน!
ดูเหมือนว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน นำเสนอออกมา เช่น การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน หรือไอเดียล่าสุดเสนอมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานไทยมีลูกเพิ่ม หรือที่คนงานเรียกว่านโยบาย ‘ปั๊มลูก’ ด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร จาก 1,000 บาท เป็น 3,000 บาทต่อเดือนนานถึง 7 ปี เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในอนาคตที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ทันทีที่นโยบายนายพิพัฒน์ ปรากฏออกสื่อ ภาคเอกชนกลับมองว่า รัฐมนตรี ‘หาเสียง’ กับคนงานอีกแล้วนะ โดยไม่มองบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเวลานี้มีความพร้อมแค่ไหน เพราะการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน ผู้ประกอบการภาคเอกชนคงต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้น คนงานจะตกงานเพิ่มขึ้น ส่วนการจะเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 1,000 บาท เป็น 3,000 บาท ควรเหลียวหลังแลหน้าไปดูว่ากองทุนประกันสังคมมีเงินเพียงพอที่จะรองรับหรือไม่
ด้าน นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กรรมการฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) บอกว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องที่ รมว.แรงงาน พูดออกมาเอง แต่ข้อเท็จจริงที่จะมีความเป็นไปได้ที่สุด คือต้องผ่านบอร์ด สปส.เป็นผู้พิจารณาก่อน แต่การจะให้เพิ่มเป็น 3,000 บาท หากบอร์ดเห็นด้วยกับตัวเลขนี้ แต่มีประเด็นสำคัญที่กรรมการฝ่ายลูกจ้างคัดค้านแน่นอน เพราะนโยบายของนายพิพัฒน์ ต้องการให้ผู้ประกันตนตาม ม.33 เฉพาะคนไทยเท่านั้น ไม่ให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ใน ม.33 ที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเหมือนกับแรงงานคนไทยทุกประการ
โดยสถิติของสำนักงานประกันสังคม เมื่อเดือน เม.ย 2567 มีผู้ประกันตนตาม ม.33 ทั่วประเทศ จำนวน 11,857,864 คน
“เชื่อว่าเรื่อง 3 พันบาท มันเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ง่ายๆ หรอก เพราะเงินกองทุนที่มีอยู่ยังทำไม่ได้ขนาดนั้น แค่เราเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 800 บาทเป็น 1,000 บาท จะเต็มขีดสุดแล้ว ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 3,225 ล้านบาท”
ส่วนเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 800 บาทต่อเดือน อายุตั้งแต่ 0-6 ขวบ มีค่าใช้จ่ายตรงนี้ปีละ 12,899 ล้านบาท คิดเป็น 0.76 ของค่าจ้าง แต่เมื่อเราเพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน จึงต้องเพิ่มงบประมาณปีละ 3,225 ล้านบาท คือการปรับอัตราเงินสมทบที่เคยใช้ 0.76% เป็น 1% เท่ากับ 16,976 ล้านบาท ซึ่งเงินสงเคราะห์ตรงนี้นั้นแรงงานข้ามชาติได้ด้วย
ในข้อเท็จจริงแล้ว การจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรให้แรงงานข้ามชาติ ไม่ได้จ่ายกันเต็ม 6 ปี โดยค่าเฉลี่ยที่ปกติแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาอยู่ได้แค่ 4 ปี เพราะมีสัญญาจ้าง โดยมีการทำ MOU ไว้ที่ 2 ปีต่อครั้ง และให้สิ้นสุด 4 ปี ก็ต้องกลับไปอยู่บ้านของเขา คือให้เว้นวรรคไป 1 ปี จึงค่อยกลับเข้ามาทำงานในไทยได้อีกครั้ง
“แรงงานพวกนี้อาจจะไม่ได้ใช้สิทธิเงินสงเคราะห์บุตรต่อเนื่อง หรือแรงงานกลุ่มนี้อาจมีลูกที่นี่ แต่กว่าจะมีลูกจริงๆ เฉลี่ย ตอนที่เพิ่มจาก 800 เป็น 1,000 บาท จะพบว่าแรงงานข้ามชาติเฉลี่ยใช้ปีถึงปีครึ่งแค่นั้น ซึ่งมักจะมีลูกไม่เกิน 2 คน”
นายธนพงษ์ บอกต่อว่า ถ้ามีการนำเรื่องนี้เข้าบอร์ด สปส.และให้สิทธิเฉพาะคนไทย เชื่อว่ากรรมการฝ่ายลูกจ้าง 7 คน ค้านแน่ ฝ่ายรัฐบาลสนับสนุนแน่ แต่ฝ่ายนายจ้างซึ่งมี 7 คนเท่ากัน คาดว่าจะเสียงแตกคือมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะนายจ้างจะมองจากบริบทที่ว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาใช้เงินของคนไทย แต่ต้องมองบริบทของประกันสังคมซึ่งต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงาน ที่อยู่บนพื้นฐานของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 102 ว่าด้วยมาตรฐานขั้นต่ำการประกันสังคม ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่ง ประกันสังคมยึดหลักนี้มาจนปัจจุบัน ที่ว่า แรงงานไทย หรือข้ามชาติจะได้สิทธิเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ บอร์ด สปส.ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการกับกรรมการ และผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน โดยมีเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นกรรมการ และเลขานุการ
สำหรับกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี ซึ่งบอร์ด สปส.ชุดนี้เป็นครั้งแรกที่มาจากการเลือกตั้งจะหมดวาระปี 2569
นายธนพงษ์ ระบุว่า การเพิ่มเป็น 3,000 บาท เป็นการเพิ่มที่ก้าวกระโดดเกินไป จริงๆ บอร์ดฝ่ายลูกจ้างชอบแน่นอนที่จะได้เงินเพิ่มขึ้น แต่ต้องมองความเป็นจริง กองทุนประกันสังคมยังมีงบประมาณจำกัด หากเพิ่มเงินตรงนี้ขึ้นมา คนที่มีบุตรเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ แต่ถ้าในอนาคต จะขยายไปถึงตรงนั้น อาจจะเป็นไปได้ แต่ปัจจุบัน ตัวเลขจะก้าวกระโดดเป็นเรื่องยาก
“เราคิดตลอดว่าจะทำให้กองทุนโตได้อย่างไร ปัจจุบันกองทุนมีเงินอยู่ 2.4 ล้านล้านบาท เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย กองทุนล่มหรือเจ๊งแน่ๆ จึงพยายามปรับเพิ่มนำเงินกองทุนไปลงทุนหลายๆ ด้านเพื่อให้กองทุนประกันสังคมมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และในอนาคตอาจเพิ่มเพดานเงินสมทบของลูกจ้างมากขึ้น ก็จะทำให้เงินเข้ากองทุนมากขึ้นด้วย”
ดังนั้น บอร์ดจึงพยายามปรับการลงทุนที่เคยได้กำไรประมาณ 3% จากการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นผลให้กำไรในการลงทุนไม่ค่อยขยับ ให้มีความเสี่ยงมากขึ้น แต่กำไรเพิ่มขึ้น โดยวางเป้าไว้ว่า ประมาณปี 2568 คาดว่าจะได้กำไรจาก 3% เป็น 5% จะทำให้กองทุนโตขึ้นเรื่อยๆ
“บอร์ดมีทีมอนุกรรมการการลงทุนมืออาชีพ มาวิเคราะห์ มาดูพอร์ต บางตัวไปลงทุนอาจขาดทุนบ้าง แต่โดยรวมมีกำไรทุกปีเฉลี่ยที่ 3% เรื่องนี้เป็นจุดด้อยของประกันสังคม เรามองประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วในเรื่องสวัสดิการประกันสังคม พบว่ามีการลงทุนที่มีผลกำไรตอบแทนไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี จึงย้อนกลับมามองการลงทุนที่ตลาดหุ้นไทยได้แค่ 3% จึงมองว่าในอนาคตอาจจะไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น เพื่อผลตอบแทนกลับมาเพิ่มมากขึ้น”
ปัจจุบันได้มีการไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศแล้ว และค่อยๆ ปรับพอร์ตการลงทุนไปทีละขั้นว่าควรทำตรงไหนอย่างไร และในอนาคตอาจจะมีการลดการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาเพราะที่ผ่านมาบอร์ด สปส. ยึดติดกับรัฐบาลค่อนข้างมาก ต้องดูว่าในอนาคตรัฐจะยอมหรือไม่ยอมแค่ไหน อย่างไร เพราะบอร์ด สปส.มาจากการเลือกตั้ง โดยชุดนี้เป็นชุดแรก
อย่างไรก็ดี ในปี 2568 เราจะมีรายได้เพิ่มจากการไปลงทุนเป็น 5% และจากการเก็บเงินสมทบที่มีการขยายเพดานเพิ่มขึ้น ในความเป็นจริงบอร์ดมีความหวังให้กองทุนโตเพิ่มขึ้นจากการลงทุน ไม่ใช่จากการขยายเพดานเก็บเงินจากผู้ประกันตน เพราะไม่ต้องการให้ผู้ประกันตนเดือดร้อน
นายธนพงษ์ บอกว่า จริงๆ บอร์ดฝ่ายผู้ประกันตน มีนโยบายที่ต้องการขยายในเรื่องการให้เงินสงเคราะห์บุตร จาก 0-6 ขวบ ไปช่วงที่ 2 คือขยาย 7-12 ปี มากกว่าเพราะเด็กเพิ่งเข้าโรงเรียน และ 7-12 ปี ยังอยู่ในสถานศึกษาระดับต้น หลายครอบครัวไม่มีเงินที่จะสนับสนุนลูกเรียน ซึ่งเรื่องนี้บอร์ด สปส.เห็นด้วยแต่ยังไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะไปจัดสรรในขณะนี้
“กรณีขยายสิทธิอายุ 7-12 ปี เดือนละ 600 บาทจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 9,308 ล้านบาท ซึ่งลูกแรงงานข้ามชาติก็ได้ด้วย แต่อาจต้องรอไปจนถึงปี 2569”
นอกจากนี้ ในเรื่องของการรักษาพยาบาล ที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการจะรวมสวัสดิการรักษาพยาบาลของ “บัตรทอง-ประกันสังคม” เข้าด้วยกัน แต่ดูแล้วเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของสถานพยาบาลที่บอร์ดชุดใหญ่เข้าไปยุ่งไม่ได้ ทั้งที่พวกเราคิดว่าบอร์ด สปส.ชุดใหญ่มีอำนาจจริงๆ ไม่ใช่เลย
“จริงๆ ถ้าไปรวม สปสช. เท่ากับว่า งบประมาณในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของ สปส.ตัดไปได้เลย เพราะตามกฎหมาย สปสช. เมื่อไปรวมแล้ว สปสช. ต้องเป็นคนจ่ายเพราะบัตรทองใช้งบรัฐบาลจัดสรรให้ ประกันสังคมไม่ต้องจ่าย เท่ากับว่า เราเอาเงินค่ารักษาพยาบาลบางส่วนมาใส่กองอื่นเพื่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น อาจไปอยู่ในเงินบำนาญที่อาจก้าวกระโดด เช่น ปัจจุบันได้ 5,000 อาจได้ 10,000 บาทก็ได้ เพราะเอาเงินตรงนี้ไปจ่ายในบำนาญแทน”
นายธนพงษ์ ย้ำว่า เรื่องรวมสิทธิรักษาพยาบาลนั้นจะต้องโอนเงินประกันสังคมไปให้ สปสช.ในการบริหารจัดการหรือไม่อย่างไร หรือนำไปเพิ่มเป็นเบี้ยชราภาพได้จะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นหลักประกันให้ผู้ประกันตนเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งเวลานี้บอร์ด สปส.มีการพูดคุยกับ สปสช. แต่เชื่อว่าโอกาสเป็นจริงได้ยากยิ่ง เพราะมีผลประโยชน์ฝ่ายประกันสังคมที่เราเองไม่มีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องซ่อนอยู่ จึงทำให้เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันบ่อยๆ จากนั้นเรื่องก็จะเงียบไปเหมือนที่ผ่านๆ มา!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j