xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “เพื่อไทย” แตะมือ "พรรคประชาชน" ดันแก้ รธน.หั่นมาตรฐาน “จริยธรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.เจษฎ์” แนะจับตาเกมแก้ รธน. พุ่งเป้าตัดเรื่อง “จริยธรรม” ออกจากตัวบทกฎหมาย เชื่อ “พรรคประชาชน” รับไม้ต่อ “เพื่อไทย” ชี้ 9 ใน 10 ข้อที่เสนอแก้ ประเด็นจริยธรรมล้วนๆ ขณะที่ “ภูมิใจไทย” ร้ายสุด เพราะขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งอาจรวมถึงเรื่องจริยธรรมด้วย มั่นใจ รธน.60 ไม่เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง เนื่องจากศาลมีองค์คณะในการพิจารณาคดี ยกคำคม “ไม่มีแผล อย่ากลัวน้ำเกลือ”

เป็นประเด็นร้อนทีเดียวสำหรับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่หลายพรรคเร่งผลักดันทันทีที่รัฐบาลภายใต้การนำของ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ขึ้นมาบริหารประเทศ แม้ว่าหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเกิดวิกฤตอุทกภัย ดินถล่ม ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส แต่แทบไม่เห็นรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือชาวบ้านแต่อย่างใด กลับขมักเขม้นเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และที่ร้ายกว่านั้นประเด็นที่แก้คือเรื่อง “จริยธรรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองพึงมี

ล่าสุด หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก “พรรคเพื่อไทย” ต้องประกาศถอย ยุติการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ด้าน “พรรคภูมิใจไทย” ใช้วิธีเดินเกมสองหน้า ขณะที่หัวหน้าพรรคประกาศชัดว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ลูกพรรคกลับเดินหน้าแก้กฎหมายบางมาตราเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ส่วน “พรรคประชาชน” ก็เพิ่งประกาศแก้รัฐธรรมนูญ 10 ข้อ โดยอ้างว่าจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องนามธรรม การใช้มาตรวัดทางจริยธรรมอาจทำให้เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมือง

ส่วนว่าความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ อย่างไร คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ชี้ว่า การดำเนินการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในครั้งนี้นั้นมีสิ่งที่น่าสังเกตคือการขับเคลื่อนของพรรคการเมืองหลายพรรคมีความเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ขณะที่พรรคเพื่อไทยประกาศถอย ไม่เดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก ทางพรรคประชาชนเสนอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่จะเห็นได้ว่าประเด็นในการแก้ไขของทั้งสองพรรคนั้นคือเรื่องเดียวกันคือ “จริยธรรม” ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าทั้งสองพรรคมีการพูดคุยกันหรือเปล่า

หรือกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นข้อเสนอจากพรรคการเมืองใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้หลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่พรรคภูมิใจไทย เนื่องจากทางพรรคภูมิใจไทยได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเป็นเรื่องสถาบันพระมหากษตริย์ ดังนั้น แม้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจะออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ สังคมก็อาจจะไม่เชื่อ

“การที่คุณณัฐพงษ์ หัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายในวันแถลงนโยบายของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งว่าเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วนั้น ผมว่าวันนี้กำลังมีการทอดสะพานให้ผสมเทียมข้ามฝั่ง ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน พอจังหวะเพื่อไทยสะดุด ไม่สามารถดันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญต่อไปได้ พรรคประชาชนก็เข็นเรื่องนี้ออกมา และแก้ในประเด็นเดียวกันเป๊ะ ไม่รู้ว่าเขาแตะมือกันหรือเปล่า ร่างของพรรคเพื่อไทยไปกลับหัวกลับหาง จากต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เป็นต้องเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต คือแปลว่าต้องทุจริตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพิสูจน์ยากขึ้นไปอีก ขณะที่คุณอนุทินประกาศว่าภูมิใจไทยไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ลูกพรรคไปแถลงแก้มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ก็แปลว่าจะแก้รัฐธรรมทั้งฉบับ ซึ่งร้ายกว่าการแก้รายมาตราอีกนะ เพราะมันครอบคลุมหมดทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องจริยธรรมด้วย” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว


สำหรับเนื้อหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนนั้น "รศ.ดร.เจษฎ์" มองว่า หากพิจารณาจาก 10 ข้อที่พรรคประชาชนเสนอแก้ไข จะพบว่า 9 ใน 10 เป็นการเสนอแก้ไขเรื่อง “มาตรฐานจริยธรรม” โดยตัดคำว่า “จริยธรรม และซื่อสัตย์สุจริต” ออก ทั้งในส่วนของฝายนิติบัญญัติ อันได้แก่ ส.ส. ส.ว. ฝ่ายบริหาร ได้แก่ ครม. และฝ่ายตุลาการ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เช่น การเสนอแก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยพรรคประชาชนให้ตัด (4) ที่ระบุว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และตัด (5) ที่ระบุว่าไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออกไป หรือการแก้ไขมาตรา 201 ว่าด้วยคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาชนให้ตัด (4) ที่ระบุว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ออกไป

ขณะที่การเสนอแก้ไข มาตรา 219 พรรคประชาชนได้ให้ตัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการร่วมกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของ ส.ส. ส.ว. และ ครม.ออก นอกจากนั้น ยังมีการเสนอแก้ไขมาตรา 208 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาชนแก้เป็นให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบกันเอง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณากันเอง จากเดิมที่มีวิธีการชัดเจนว่าต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยยึดโยงกับประเด็นเรื่องการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม

“พรรคประชาชนพุ่งตรงไปที่เรื่องเดียวเลย คือตัดคำว่าจริยธรรมและซื่อสัตย์สุจริตออก คือยกออกทั้งยวงเลย ซึ่งจุดนี้ทำให้สังคมไม่สบายใจ หรือกรณีที่ให้แต่ละองค์กรตรวจสอบกันเอง หากมองในแง่ดีพรรคประชาชนอาจมองว่าทั้ง ส.ส. ส.ว. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ น่าจะไปร่างกระบวนการและดำเนินการตรวจสอบกันเอง วางมาตรฐานของตัวเองได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเอาเข้าจริงแล้วเขาจะตรวจสอบกันจริงหรือเปล่า เพราะเสือย่อมไม่กินเนื้อเสือ แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน หรืออาจจะพวกมากลากไป หรือมีการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ เพราะไม่ใครเข้ามาตรวจสอบ อย่าลืมว่าแม้เสือจะไม่กินเนื้อเสือ แต่มันกินเนื้อสัตว์อื่นหมดเลยนะ แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน แต่มันก็ตอมอาจม” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน
รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุว่า ประเด็นเดียวที่ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนคือการแก้ไขมาตรา 236 ว่าด้วยการตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมให้สิทธิ ส.ส. ส.ว. หรือประชาชนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนเข้าชื่อ และยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา และประธานรัฐสภาใช้ดุลพินิจพิจารณาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ก่อนจะส่งไปยังประธานศาลฎีกา ซึ่งพรรคประชาชนเสนอแก้ไขเป็น กำหนดเป็นบทบังคับให้ “ประธานรัฐสภาเมื่อรับเรื่องแล้ว ต้องเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระโดยอัตโนมัติ” เพราะต้องถือว่า ส.ส.และ ส.ว. เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและถูกคัดกรองมาแล้ว และจำนวนประชาชนที่เข้าชื่อกันก็มากพอสมควรที่จะมีน้ำหนักในการยื่นตรวจสอบ

ส่วนกรณีที่พรรคประชาชนมองว่า คำว่า “มาตรฐานจริยธรรม” ในรัฐธรรมนูญนั้นมีลักษณะเป็นนามธรรม เปิดช่องให้ตีความได้หลากหลายและกว้างขวาง ซึ่งนำไปสู่การใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรม หรือเสี่ยงที่จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น รศ.ดร.เจษฎ์ ให้ความเห็นว่า คำว่า “จริยธรรม” เป็นสิ่งที่วิญญูชนคือคนที่รู้จักผิดชอบชั่วดี สามารถบอกได้ว่าพฤติกรรมนั้นๆ ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร ซื่อสัตย์คืออะไร สุจริตคืออะไร การกระทำใดบ้างที่ชี้ว่าไม่สุจริต และหากพิจารณาจากกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกถอดถอนอันเนื่องจากความผิดเรื่องจริยธรรมในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าเป็นความผิดที่ชัดเจนและสามารถพิสูจน์ได้ เช่น กรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายถุงขนม เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วิญญูชนทั่วไปสามารถบอกได้ควรหรือไม่ควร เพราะความผิดที่นายพิชิตเคยทำเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสินบนใต้โต๊ะ และเป็นการกระทำโดยเจตนา

ในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นผู้ร่างคิดไตร่ตรองแล้วว่าหากคนที่มาเป็นรัฐมนตรีมีประวัติไม่ขาวสะอาด เคยทำธุรกิจผิดกฎหมาย เป็นมาเฟีย ค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน ค้ามนุษย์ เคยทุจริตคอร์รัปชัน ก็อาจจะใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางไม่ชอบได้ ขณะที่ประชาชนที่ลงคะแนนเลือก ส.ส. อาจจะไม่ได้มีข้อมูลรอบด้าน ถ้า ส.ส.ที่ประวัติมีปัญหาขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีจะสร้างปัญหาให้บ้านเมืองได้ ขณะที่บางคนเป็นรัฐมนตรีคนนอกที่อยู่ๆ พรรคแต่งตั้งเข้ามา ประชาชนไม่ได้รู้เรื่องด้วย เช่น กรณีนายพิชิต เมื่อตั้งบุคคลเหล่านี้ไปเป็นรัฐมนตรีแล้วประชาชนทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องมีข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ขณะที่การจะให้ ส.ส. ส.ว.ตรวจสอบกันเองอาจะเป็นไปได้ยาก คณะกรรมการยกร่างกฎหมายจึงฝากความหวังไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกา ซึ่งในกระบวนการพิจารณาศาลจะมีองค์คณะที่ร่วมกันพิจารณา มีการไต่สวน เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานมาชี้แจง ก่อนที่จะลงมติ นอกจากนั้น ในการอ่านคำวินิจฉัยศาลต้องเปิดเป็นสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟัง อีกทั้งยังต้องเปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการแต่ละท่านอีกด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการกลั่นแกล้งกัน

“การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง นักการเมืองมีความระมัดระวังมากขึ้น อย่างกรณี คุณชาดา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย กับคุณธรรมนัส พรหมเผ่า พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งประวัติคลุมเครือ พรรคที่สังกัดไม่กล้าตั้งเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เป็นระดับแกนนำพรรค ซึ่งมาตรวัดด้านจริยธรรมนั้นพอใช้ไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม นักการเมืองอาจจะบอกว่าผมมาจากเสียงของประชาชน ผมได้รับเลือกตั้งมานะ ทำไมต้องมาตรวจสอบ แต่อย่าลืมว่าการลงคะแนนแค่ไม่กี่นาทีมันไม่ได้การันตีว่าเมื่อเข้ามาทำงานแล้วนักการเมืองคนนั้นจะไม่ทำผิด ก่อนลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคเพื่อไทย ประชาชนก็ไม่รู้ว่าคุณเศรษฐาจะตั้งคุณพิชิตเป็นรัฐมนตรี และถ้าบอกว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ถามว่า ใครเอาถุงขนมไปใส่มือคุณพิชิต ใครเอาชื่อคุณพิชิตไปใส่มือคุณเศรษฐา?” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวตบท้ายว่า สิ่งที่สังคมเห็นตรงกันคือข้อกำหนดเรื่องจริยธรรมที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่ปัญหาของนักการเมืองที่สุจริต แต่เป็นการสร้างกรอบกติกาเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่ไม่สุจริตใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ในหลายประเทศมีประมวลจริยธรรม วัฒนธรรมการเมืองเขามีจริยธรรมสูง ทำผิดพลาดแค่เล็กน้อยก็ลาออก ยกตัวอย่าง นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งมีการประกาศลาออกและเปลี่ยนตัวนายกฯ บ่อยมาก เพราะเขามีจริยธรรมและมารยาททางการเมืองสูง หรือ 4 รัฐมนตรีของญี่ปุ่น ที่ลาออกเพราะมีข่าวอื้อฉาวเรื่องการระดมทุนและพัวพันการทุจริต แม้แต่เรื่องประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ นักการเมืองบ้านเขาจะประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่เราไม่เคยเห็นภาพแบบนี้ในระบบการเมืองไทย ทั้งเรื่องจริยธรรม มารยาททางการเมือง และความรับผิดชอบต่อประชาชน ล้วนเป็นสิ่งที่หาได้ยากจากนักการเมืองไทย

“คุณอนุทินบอกเองว่า ไม่ผิดจะกลัวอะไร ส.ว.อีกท่านก็พูดเหมือนกันว่า ไม่ชั่วจะกลัวอะไร เปรียบเหมือนคนเอาน้ำเกลือมาสาด ถ้าเราไม่มีแผล อย่างมากก็แค่เปียก ไม่ได้เจ็บปวดอะไร แต่ถ้าเรามีแผลอยู่ทั่วตัว เอาน้ำเกลือมาสาดเราก็แสบชักดิ้นชักงอ เหมือนที่โบราณเรียกว่าสันหลังหวะ วัวสันหลังไม่หวะจะกลัวน้ำเกลือทำไม” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว



ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น