จับตานายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะผลักดันให้มีการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันได้ในปีนี้หรือไม่? ด้าน ‘พนัส ไทยล้วน’ ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ระบุตัวเลขค่าแรงตามสูตร ใน ม.87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะขึ้นได้เพียง 10 บาท จาก 363 เป็น 373 เท่านั้น หากรัฐบาลยังดึงดันให้จ่าย 400 บาท องค์กรนายจ้างเตรียมฟ้องกราวรูด ชี้นายกฯ อิ๊ง จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 88 คณะกรรมการค่าจ้าง 15 คนเป็นจำเลยที่ 2 ส่วน รมว.แรงงาน จำเลยที่ 3 แจงรัฐต้องรอบคอบเกณฑ์คนงานเกิน 200 ขึ้นไปต้องจ่าย จะกลายเป็นประเด็นให้บริษัทปลดคนงานส่วนเกินเพื่อให้เหลือ 199 คนจะได้ไม่เข้าเงื่อนไข เผยเหตุประชุมวันที่ 20 ก.ย.ล่ม เพราะฝ่ายรัฐมาสะกิดฝ่ายลูกจ้างไม่ให้เข้าร่วมจะได้ไม่เสียหน้าว่ารัฐขาดฝ่ายเดียว แนะนายกฯ ยอมถอยถ้าจะดัน 400 บาท ต้องตอบสังคมได้มีฐานคิดจากอะไร ไม่งั้นพังกันทุกฝ่าย!
การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายรัฐบาลเป็น 400 บาท ในบางกิจการทั่วประเทศ ให้มีผลในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ล่ม เหตุจากกรรมการฝ่ายนายจ้าง 5 คน ‘บอยคอต’ ไม่เข้าร่วมประชุมให้เหตุผลว่าติดภารกิจ ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างและภาครัฐเข้าร่วมครบทั้ง 10 คน
นัดครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ก.ย. การประชุมก็ล่มอีกครั้ง โดยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง แจ้งว่า มีตัวแทนราชการไม่เข้าประชุม 4 คน และลูกจ้างไม่เข้า 2 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม 2 ใน 3 ที่จะต้องมีผู้เข้าประชุม 10 คนขึ้นไป เป็นอันว่าการประชุมยุติลง และกำหนดการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา
อีกทั้งในวันที่ 23 ก.ย. นายไพโรจน์ ได้มีการแจ้งว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้าง 24 ก.ย.นี้ ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากกรรมการไตรภาคี 15 คน ไม่สามารถครบองค์ประชุม เพราะคุณสมบัติของนายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเกษียณอายุงานตั้งแต่ปี 2566 ไม่สามารถเป็นตัวแทนกรรมการฝ่ายรัฐบาลได้ เนื่องจากทาง ธปท.ระบุไม่ได้รับผิดชอบการกระทำใดๆ ของนายเมธี และการตัดสินใจของนายเมธี ไม่เกี่ยวกับ ธปท.แล้ว จึงไม่น่าจะมีคุณสมบัติในการเป็นบอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 2
ตรงนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่าบอร์ดค่าจ้างเล่นตลก เตะถ่วงอะไรกับเรื่องการปรับค่าแรง 400 บาท โดยเฉพาะเมื่อแบงก์ชาติออกมายืนยันว่าประเด็นนายเมธี เป็นเรื่องการตั้งเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหรือองค์กรจึงไม่ใช่เรื่องขาดคุณสมบัติแต่ประการใด
ขณะที่แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรมมองว่า การปรับค่าจ้าง 400 บาท ในสภาวะปัจจุบันจะทำให้ธุรกิจปิดตัวเพิ่มขึ้น และแรงงานจะตกงานมากขึ้นเนื่องเพราะวิกฤตทางเศรษฐกิจ จึงเสนอให้รัฐบาล และกระทรวงแรงงานไปหาวิธีที่จะอยู่ได้และการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ควรปรับตามกฎหมายกำหนดใน ม.87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
รวมทั้งภาครัฐจะต้องมีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน แทนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะภาคเอกชนมองว่า รัฐบาลไม่ควรใช้เรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานเป็นเครื่องมือในการหาเสียงอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องการปรับค่าแรงเป็น 400 บาท ว่าตั้งใจให้ทันปีนี้ เชื่อไม่มีการเตะถ่วงอะไร แต่การปรับต้องอาศัยไตรภาคีว่าจะให้ความคิดเห็นอย่างไร และให้เป็นไปตามกฎหมาย
เห็นได้ว่าทั้งคำตอบจากนายกฯ แพทองธาร และกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างที่เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ก็เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า 1 ต.ค.นี้ไม่สามารถขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทได้แน่นอน
แต่มีเสียงแว่วๆ ที่พอจะการันตีได้จากภาคอุตสาหกรรมว่าถ้าจะปรับค่าจ้างเป็น 400 บาท ที่เป็นไปได้และทำได้ในธุรกิจบางประเภทและบางจังหวัดจะเป็น 1 ม.ค.2568 จะเหมาะที่สุด
ด้านนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเองในฐานะร่วมเป็นอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันของทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งภารกิจของอนุกรรมการฯ ได้จบไปแล้ว และเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่เป็นไตรภาคี รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน
“ตัวเลขที่เราทำการศึกษาและเป็นไปตามกฎหมาย ม.87 ของ พ.ร.บ.แรงงาน การจะปรับอัตราค่าแรงมันมีสูตรในการคำนวณ ซึ่งขึ้นได้ไม่ถึง 400 บาท ตามที่ฝ่ายรัฐบาลหาเสียงไว้ รัฐบาลจะใช้ที่มาอะไรไปยืนยันว่าต้อง 400 บาท ผมยังกังวล ต้องไม่ลืมนะ รัฐบาลจะแทรกแซงไม่ได้ ถ้าประชุมกรรมการค่างจ้างได้ เสียง 2 ใน 3 เมื่อไหร่ก็เป็นอันยุติตัวเลขตามนั้น”
ดังนั้น การที่รัฐบาลระบุว่าค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท จึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าเราไปศึกษามาตรา 87 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลมาเปลี่ยนสูตร หรือเพิ่มตัวนั้นตัวนี้ขึ้นมาได้ หน้าที่ของรัฐบาลหรือนายกฯ อิ๊ง ตามมาตรา 88 นั่นหมายถึง เมื่อได้ศึกษาข้อมูลและพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 87 แล้วให้คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือโดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาจต่อไป
นั่นหมายความว่าหน้าที่นายกฯ อิ๊งคือประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น
“ฝ่ายองค์กรนายจ้างบอกผมว่าถ้ารัฐบาลบังคับให้จ่ายค่าแรง 400 บาท บรรดานายจ้างเตรียมยื่นฟ้องศาลกันแล้ว รัฐบาลคิด 400 บาท มีที่มาจากอะไร มันไม่ใช่เรื่องว่าจะได้หรือไม่ได้ค่าแรง 400 บาทต่อวัน เพราะสูตรที่ใช้คิดค่าแรงไม่ว่าสูตรไหนไม่มีช่องทางได้ 400 บาทจริงๆ”
โดยสูตรในการคำนวณตามมาตรา 87 ให้คำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นหลัก
“นายจ้างเขาต้องย้อนถามรัฐบาลว่า จะให้จ่ายค่าแรง 400 บาทต่อวัน เอาอะไรมาคำนวณ ใช้อะไรตั้ง ใช้อะไรหาร ถึงมาที่ 400 รัฐบาลจะตอบอย่างไร”
ในความเป็นจริงนโยบาย 400 บาทมีการดำเนินการไว้ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และกำหนดจะปรับค่าแรงในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่จะเป็นเกณฑ์การปรับขึ้นบางธุรกิจ บางอาชีพ หรือบางพื้นที่เท่านั้น ที่มีพนักงาน 200 คนขึ้นไป แต่ต้องรอผลจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง จึงจะเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมาสรุปที่ 400 บาทนั้น เป็นเพราะรัฐบาลเพื่อไทยหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 600 บาทต่อวัน โดยจะทำทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล แต่ระหว่างทางมีเสียงคัดค้านออกมาจากภาคเอกชน และสภาองค์กรนายจ้างต่างๆ จากตัวเลข 600 บาท ก็เปลี่ยนเป็น 600 บาทในปี 2570 และเกิดตัวเลข 400 บาทที่มาจากนายกฯ เศรษฐา จากพรรคเพื่อไทยที่พร้อมดำเนินการให้ได้ 1 ต.ค.2567
นายพนัส ย้ำว่า รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ปัญหาตามมามากมาย เมื่อมีคนถามว่า 400 เอาอะไรตั้งเอาอะไรหาร รัฐบาลจะตอบอย่างไร ดังนั้นทเมื่อนายกฯ อิ๊ง บอกว่า 400 บาทในปีนี้ต้องดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา
รัฐบาลประกาศจะเอา 400 ให้ได้ คำถามแรก คือ ถ้านโยบายรัฐบาลประกาศปุ๊บ มันขัดพระราชบัญญัติทันที คุณไม่กลัวโดนฟ้องเหรอ ฟ้องขึ้นมา รัฐบาลตายเลยนะ ผมจะบอกให้นายจ้างฟ้องแน่นอน เขายืนยันกับผม ตั้งใจว่าจะฟ้องศาลปกครอง หรือศาลอื่นๆ ที่จะดำเนินการตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ฝ่ายนายจ้างพูดกันถ้าเข้ามาตรา 157 มันจะยุ่งกันไปใหญ่นะ จะดึงดัน 400 บาท ไม่มีตัวคำนวณได้ เศรษฐกิจก็ไม่ดี ปิดกิจการก็มาก คนที่จะโดนฟ้อง
คือ รัฐมนตรีแรงงาน นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะหากบอกว่า 400 บาท เป็นตัวเลขมาจากนโยบายรัฐบาล พรรคการเมือง ก็คือการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานแน่นอน”
ที่สำคัญหากยืนยันว่า 400 บาท มีที่มาจากนโยบาย บรรดาคณะกรรมการค่าจ้างทั้ง 15 คนตายทั้งหมด
“จะฟ้องนายกฯ ที่ประกาศในราชกิจจาฯ เป็นจำเลยที่ 1 คณะกรรมการค่าจ้าง เป็นจำเลยที่ 2 รมว.แรงงาน เป็นจำเลยที่ 3”
ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่มีเกณฑ์เบื้องต้นว่า ธุรกิจที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ขอให้ไปคิดกันให้ดี บริษัทใดที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ค่าแรงเกิน 400 กันไปแล้ว และถ้ารัฐบาลจะย้ำว่า 200 คนขึ้นไป บริษัทนั้นๆ ถ้ามี 202 คน เขาจะใช้วิธีการปลดคนงานออก 3 คนเพื่อให้เหลือ 199 ก็ไม่ต้องจ่ายใช่มั้ย รัฐบาลอยากเห็นแบบนี้หรือ จะเกิดความวุ่นวายกันไปใหญ่
“รัฐต้องคิดให้รอบคอบ คนทำงานมา 15 ปี เวลานี้ได้ค่าแรงไปที่ 450 บาท แต่แรงงานมาใหม่ ได้ขึ้นไปจากค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน 363 เป็น 400 บาท ไปกินก๋วยเตี๋ยวต้องจ่ายเท่ากัน แต่คนที่อยู่ 15 ปี เงินเดือนเป็น 450 บาท เจอเงินเฟ้อ เหลือเท่าไร แถมไม่ได้ขึ้นค่าแรง เขาเสียเปรียบมั้ย เหลื่อมล้ำมั้ย แต่คนที่ขึ้นจาก 363 เป็น 400 เขาสามารถใช้ส่วนต่างไปจ่ายค่าก๋วยเตี๋ยวได้ นี่แหละคือปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องคิด คนหนึ่งเงินลด อีกคนได้เพิ่มในกระเป๋าจากค่าแรง 400”
สำหรับสูตรการปรับค่าแรงที่มีความเป็นไปได้ คือขั้นต่ำปัจจุบัน 363 บาท ปรับขึ้นมาได้ 10 บาท ก็เป็น 373 บาท ยังเป็นตัวเลขที่อธิบายได้ และถ้าต้องการขึ้นเป็น 400 บาทไปปรับกลางปี 2568 อีกครั้ง คือจะเป็น 400 บาทต้อง 2 ช่วง อยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งต้องรอปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่มาทำหน้าที่และเรียกประชุมในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างต่อไป
“ทางออกเวลานี้คือรัฐบาลต้องยอมเสียเครดิต เลื่อนค่าแรง 400 บาท ปีนี้ออกไปก่อน ก็แค่นั้น เพราะการจะขึ้นในช่วงเศรษฐกิจมีปัญหา ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร พูดถูกถ้าเศรษฐกิจดี จะขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เวลานี้มันมีปัญหาก็ยอมถอยเป็นประตูออกที่ดีที่สุด”
อนึ่ง นายพนัส เล่าถึงการประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ข้อเท็จจริง ฝั่งรัฐบาลมา 4 คน ขาดเพียง 1 คน แต่นายจ้างมาครบทั้ง 5 หากจะประชุมกันไปจะเจอปัญหาไม่ได้ 2 ใน 3 จากกรรมการไตรภาคีทั้งหมด 15 คน คือฝ่ายรัฐมี 4 คน ลูกจ้างมาครบ 5 คน ไหนๆ ก็ขาดไป 1 เสียง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไปสะกิดฝ่ายลูกจ้าง ให้ไม่ต้องเซ็นชื่อเข้าประชุม 2 คน เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัฐเสียหน้าว่าทำให้ไม่ครบองค์ประชุม เพราะเข้าไปรวมกันได้แค่ 9 เสียง อย่างไรก็ไม่ได้ 2 ใน 3 ฝ่ายลูกจ้างก็แสนดี ไหนๆ ก็ไม่ผ่านแล้ว ก็อยู่ข้างรัฐบาลดีที่สุด รัฐบาลให้ไปนั่งจิบกาแฟก็ทำตามไม่มีปัญหาอะไร
“ได้แนะฝ่ายลูกจ้างต้องเกาะติดฝ่ายรัฐบาลไว้แน่น คือให้ได้ 10 เสียงถึงจะมีโอกาสปรับค่าจ้างและถูกต้องตามกฎหมาย เพราะถึงอย่างไรนายจ้างเขาก็เกาะกัน 5 เสียง ไม่มีแตกแถวอยู่แล้ว”
นายพนัส พูดทิ้งท้ายว่า นายกฯ อิ๊ง และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยต้องคิดให้รอบคอบ ถ้าไม่สามารถตอบกับสังคมได้ตามระเบียบกฎหมาย ว่า 400 บาท มีฐานคิดมาอย่างไร แต่จะผลักดันให้ขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวันตามนโยบาย บอกได้เลยเกมนี้เจ๊งแน่ เพราะฝ่ายนายจ้างเขาเตรียมการฟ้องศาลโดยนายกฯ เป็นจำเลยที่ 1 กรรมการค่าจ้างทั้ง 15 คนเป็นจำเลยที่ 2 และรัฐมนตรีแรงงานเป็นจำเลยที่ 3 เรื่องนี้ไม่ได้ขู่ แต่นายจ้างทำจริง
จากนี้ไปสังคมต้องรอดูกันว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันจะพ่นพิษใส่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ได้หรือไม่!?
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j