xs
xsm
sm
md
lg

จิตอาสาบ่น “น้ำท่วมเชียงราย” เหมือนภาคประชาชนช่วยกันเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เชียงราย ทั้งหนักหน่วงและรุนแรง
ทุกคนเห็นตรงกันงานนี้ประชาชนช่วยกันเองเป็นหลัก จนทีมอาสาฯ ต้องออกมาบ่นดังๆ ขณะรัฐบาลแจงต้องแถลงนโยบายก่อนโต้ล่าช้า “ใครเข้าไปก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเคลม” แถมเกิดดรามารถบรรทุกของช่วยผู้ประสบภัยถูกจับ คนอาสาฯ ชี้ถึงเวลาทบทวน


เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่อำเภอแม่สายถือว่าเป็นอุทกภัยที่รุนแรง สร้างความเสียหายกับบ้านเรือนด้วยดินโคลนมหาศาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง มวลน้ำอีกส่วนหนึ่งไหลเข้าตัวเมืองเชียงราย แม้น้ำจะลดลงแต่การฟื้นฟูไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน

น้ำส่วนหนึ่งไหลลงแม่น้ำโขง จนทำให้ระดับแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น บางจังหวัดริมแม่น้ำโขงของไทยถูกน้ำท่วม เช่น จังหวัดหนองคาย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อมวลน้ำไหลผ่านไปเริ่มลดระดับลง แต่มวลน้ำไหลไปจังหวัดนครพนม

ด้วยความรุนแรงของน้ำที่แม่สาย ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ห่วงใยในสถานการณ์ การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในบ้านด้วยความยากลำบากจากความเชี่ยวของกระแสน้ำ ทีมอาสาต่างๆ ทหาร ตำรวจและหน่วยงานราชการต่างระดมเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในพื้นที่

เสียงบ่นรัฐบาล

น้ำท่วมเชียงรายครั้งนี้ทำให้เห็นปัญหาหลายๆ ด้าน จนทีมงานที่ลงไปช่วยผู้ประสบภัยเริ่มใช้ช่องทางต่างๆ สะท้อนความรู้สึกออกมา เช่น “เวลาน้ำท่วม ชาวบ้านเขาอยากเห็นนักการเมืองมาหาเขา เหมือนตอนที่ไปยกมือไหว้ขอคะแนนเสียง” กัน จอมพลัง 12 กันยายน 2567

ตามมาด้วย 16 กันยายน 2567 นายฝันเด่น จรรยาธนากร อาสาสมัครกลุ่มใจถึงใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ไลฟ์หน้างานหลังจากที่พบและให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัย

ความอัดอั้นจากการทำงานที่ลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย สะท้อนผ่านคำพูดในบางช่วงดังนี้ ถ้าเกิดไม่มีอาสาสมัครแบบพวกเราๆ ไม่ใช่แค่ผมนะ หมายถึงอาสาทั่วไปในกลุ่มจิตอาสา ผมว่าเจ๊ง บอกเลยว่าเจ๊ง เจ๊งนี่หมายถึงคนที่มีหน้าที่โดยตรงที่กินภาษีประชาชน แต่นี่ดีที่มีอาสาเข้ามาบรรเทาไง เขาเลยลืมไปไง ถูกไหม

บางครั้งหน้าที่มันจบที่ 4 โมงเย็นรึเปล่า แล้วหน้าที่มันกำเนิดตอน 8 โมงเช้าหรือเปล่า วันเสาร์-อาทิตย์ติดขัด วันหยุดราชการ อะไรก็ไม่รู้

พวกเรามากันด้วยทุนตัวเอง ทุนชาวบ้านเพื่อมาช่วยกัน อาสาบางคนยอมลา ยอมออกจากงานเพื่อมาช่วยคน แล้วไปหางานใหม่ คิดดูว่าเขาเสียสละแค่ไหน


ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเคลม

กลายเป็นเรื่องที่พูดถึงกันไม่น้อยกับการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เชียงราย

จนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาชี้แจงเมื่อ 17 กันยายน 2567 หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐช่วยเหลือล่าช้า ทั้งหน่วยกู้ภัยและภาคประชาสังคมกลับเข้าไปถึงพื้นที่ก่อนว่า การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่ต้องดูให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ตอนที่เกิดน้ำท่วมรัฐบาลยังสั่งการไม่ได้ แต่เราจะเห็นว่าทหารเข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่สองทุ่มของวันที่เกิดเหตุ และพยายามลำเลียงผู้คนออกมา เราจึงเห็นผู้คนจำนวนไม่น้อยอยู่ที่ศูนย์อพยพ

“ผมว่าใครก่อนใครหลังเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ประเด็นคือต้องช่วยกันทำ ใครเข้าไปก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเคลม เข้าไปเถอะ ไปช่วยกันทำประชาชนเขาเดือดร้อน เขาไม่ได้สนใจหรอกว่าใครมาก่อนมาหลัง”


ช่วยกันแบบบ้านๆ

18 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ด่านชั่งน้ำหนักพยุหะคีรี ตำบลม่วงหัก อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินคดีนายประสิทธิ ปาพรหม อายุ 61 ปี เจ้าของรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ ทะเบียน 81-1342 สมุทรสาคร ข้อหาใช้ยานพาหนะน้ำหนักเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดเดินบนทางหลวง โดยรถบรรทุกคันดังกล่าวขนของช่วยเหยื่อน้ำท่วมเชียงรายบรรทุกหนักเกิน

เจ้าหน้าที่ประจำสถานีตรวจสอบน้ำหนักพยุหะคีรี (ขาออก) ชี้แจงว่า หากไม่ดำเนินการตามกฎก็จะกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่มีความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งในการตรวจสอบนั้นพบว่ารถบรรทุกหกล้อคันดังกล่าวขับมาคันเดียว และไม่มีรถนำขบวน รวมถึงไม่มีหนังสือขออนุญาต หรืออนุเคราะห์ใดๆ มีเพียงแค่ป้ายติดที่ด้านหลังเพียงเท่านั้น จึงทำให้ต้องดำเนินการจับส่งตำรวจไปตามหน้าที่

พร้อมทั้งให้คำแนะนำว่า อยากให้รถบรรทุกที่ขนสิ่งของไปช่วยน้ำท่วมทำเอกสารหนังสืออนุญาตให้ถูกต้อง และให้มีรถนำขบวนติดตามมาด้วยทุกครั้งจะดีกว่า

พูดไปก็เท่านั้น


ทีมอาสาสมัครที่ขึ้นไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพื้นที่เชียงรายกล่าวว่า ไม่อยากพูดอะไรมาก ก็อย่างที่เห็น เชื่อว่าคนทั้งประเทศก็เห็นว่าหน่วยงานไหนทำอะไรกันบ้าง พูดไปก็เท่านั้น บางคนที่พูดไปก็เป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกอัดอั้นตรงพื้นที่หน้างาน เพราะทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ปลอดภัย

เราไปช่วยมาเกือบทุกเหตุที่เราสามารถช่วยเหลือได้ ส่วนตัววันนี้เราตกผลึกแล้ว อะไรที่นอกเหนือหน้าที่เรา ก็ปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของแต่ละภาคส่วนไป เราเป็นอาสาก็ช่วยให้เต็มกำลังความสามารถ อย่างที่เชียงรายก็มาช่วยเหลือกัน ทั้งอาสาฯ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานราชการต่างๆ ก็มาให้ความช่วยเหลือ

ส่วนที่มองว่าภาคการเมืองที่ลงมาช่วยเหลือล่าช้านั้น ก็แล้วแต่เหตุผลของแต่ละฝ่าย มีการยกเหตุผลเรื่องที่ต้องแถลงนโยบายก่อนในวันที่ 12 กันยายน 2567 วันรุ่งขึ้น (13 ก.ย.) นายกรัฐมนตรีจึงลงพื้นที่ตรงนี้แล้วแต่มุมมอง ถามว่าในทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุใหญ่ขึ้นมาแล้ว บังเอิญภาวะการเมืองเกิดสุญญากาศ แล้วผู้ประสบภัยจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไร


ช่วยกันเอง?

เชื่อว่าหลายคนมองว่าน้ำท่วมที่เชียงรายเหมือนเป็นการช่วยกันเองระหว่างภาคประชาชนกับประชาชนด้วยกัน มีทหาร ตำรวจ ส่วนราชการบางส่วนเข้ามาร่วมด้วย ไม่เห็นนักการเมืองที่มีตำแหน่ง มีอำนาจสั่งการลงมาร่วมแก้หรือพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้

“ง่ายๆ กรณีจับรถบรรทุก 6 ล้อที่ขนของไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย น้ำหนักเกิน ผิดจริง ก็ต้องถูกดำเนินคดี คนที่เข้าไปแก้ปัญหาคือตำรวจต้องช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้น ถามว่ารัฐมนตรีและทีมงานที่เกี่ยวข้องทราบหรือไม่ ทราบแล้วเข้าให้ความช่วยเหลือหรือไม่”

เจ้าหน้าที่ที่จับกุมกล่าวว่า “รถบรรทุกหกล้อคันดังกล่าวขับมาคันเดียว และไม่มีรถนำขบวน รวมถึงไม่มีหนังสือขออนุญาต หรืออนุเคราะห์ใดๆ มีเพียงแค่ป้ายติดที่ด้านหลังเพียงเท่านั้น” สะท้อนให้เห็นว่าภาคประชาชนทำกันเอง ไม่มีคำแนะนำใดๆ จึงเกิดปัญหาขึ้น แม้เจตนาดีก็ยังไม่มีคนที่มีอำนาจเหนือข้าราชการเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

ถึงเวลาทบทวน

ทีมอาสาฯ กู้ภัย หรือการเข้าให้ความช่วยเหลือถือเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาที่ปลายทาง ส่วนงานระดับป้องกันต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่มีงบประมาณ มีความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

ภาครัฐควรต้องมาทบทวนอุปสรรคต่างๆ ที่มี รัฐมีเครื่องมือ มีงบประมาณ แต่ไม่มีคนที่ทำงานด้วยใจเหมือนอาสาฯ ซึ่งไม่มีข้อแม้เลิกงาน 4 โมงเย็น หรือเสาร์-อาทิตย์หยุด คนที่มาเป็นทุนทรัพย์ส่วนตัวหรือได้รับการบริจาค ที่น่าคิดมากว่านั้นคือเมื่อเกิดการสูญเสีย ครอบครัวของอาสาฯ เหล่านั้นจะทำอย่างไร เขาเข้าไปช่วยโดยไม่ได้รับเงิน รัฐมีประกันชีวิต-อุบัติเหตุให้พวกเขาหรือไม่

คนที่ตามข่าวน้ำท่วมก็เห็นคนบริจาคไปที่คุณบุ๋ม ปนัดดา จัดคอนเสิร์ตระดมความช่วยเหลือ บางส่วนก็บริจาคผ่านบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ผ่านกัน จอมพลัง และตามหน่วยงานอาสาอื่นๆ มีสถานีโทรทัศน์ที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการรับบริจาค ส่วนภาครัฐให้การเยียวยาตามกรอบความช่วยเหลือที่มีอยู่

แม้สถานการณ์ที่เชียงรายจะเข้าสู่ภาวะฟื้นฟู แต่มวลน้ำได้ไหลไปยังพื้นที่ภาคอีสาน แม้ระดับความรุนแรงน้อยกว่า แต่ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ต้องมีลงไป ปัญหาที่ติดขัดจากกรณีเชียงรายทุกฝ่ายน่าจะนำมาทบทวน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น