xs
xsm
sm
md
lg

เผยงบแก้น้ำท่วมปี 68 สูงถึง 1.1 แสนล้าน ชี้โครงการใหญ่ใช่จะแก้ปัญหาได้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยรายชื่อ 10 จังหวัดที่ได้รับงบในการบริหารจัดการน้ำมากที่สุด โดยอุบลฯ มาเป็นอันดับหนึ่ง พบปีงบประมาณ 2568 มีโครงการน้ำ 3 พันกว่าโครงการ รวมวงเงิน 1.1 แสนล้าน “หาญณรงค์ เยาวเลิศ” ชี้ โครงการใหญ่ ใช้งบสูงไม่ได้แปลว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้ แต่ขึ้นกับการบริหารจัดการ แนะบริหารแบบองค์รวม ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ระบุต้องประกาศ “เส้นทางน้ำหลาก” ในผังเมือง ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างทับเส้นทางน้ำ ต้องทำอุโมงค์ให้น้ำลอด



ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นั้นนอกจากจะทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติแล้ว อีกมุมหนึ่งก็เกิดความเคลือบแคลงใจต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ หลายคนจึงอยากรู้ว่าในแต่ละปีมีงบประมาณในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเท่าไหร่ ใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมทั้งวิธีการในการบริหารจัดการน้ำนั้นเหมาะสมหรือยัง


จากข้อมูลพบว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้ตั้งงบประมาณสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ ไว้จำนวน 3,367 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 111,392 ล้านบาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นงบลงทุน ซึ่งงบลงทุนของโครงการบริหารจัดการน้ำนั้นถือเป็นหนึ่งในงบก้อนใหญ่ที่สุดของงบลงทุนในแต่ละปี โดยในปีงบประมาณ 2568 นั้นงบโครงสร้างจัดการน้ำคิดเป็นสัดส่วนถึง 20.5% ของงบลงทุนทั้งหมด

โดยงบประมาณส่วนใหญ่ลงไปกับโครงการที่เกี่ยวกับระบบและสิ่งก่อสร้างเพื่อส่งน้ำหรือระบายน้ำ เช่น ประตูระบายน้ำ ฝาย คลองส่งน้ำ (73.1%) รองลงมาคือสิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันตลิ่ง (19.3%) สิ่งก่อสร้างสำหรับกักเก็บน้ำ/หาแหล่งน้ำใหม่ (7.2%) และจัดการคุณภาพน้ำ (0.3%) นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะโครงการที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจนว่าเพื่อการจัดการน้ำท่วม วงเงินงบประมาณจะอยู่ที่ 6,076 ล้านบาท หรือราว 5.5% ของงบจัดการน้ำทั้งหมดในปีงบประมาณ 2568

ทั้งนี้ พื้นที่ซึ่งได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นภาคที่ยังมีสัดส่วนพื้นที่ชลประทานน้อย ขณะที่จังหวัดซึ่งได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.กาญจนบุรี และกรุงเทพมหานคร โดย จ.อุบลราชธานีได้รับงบประมาณมากที่สุด 2 ปีติดต่อกัน เนื่องจากอุบลราชธานีเป็นพื้นที่รับน้ำจากสองแม่น้ำสายหลักคือชี และมูล จึงเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 43 ปี

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ชี้ว่า จากประสบการณ์ในการดูแลเรื่องบริหารจัดการน้ำมาตลอด 20-30 ปี พบว่า การแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศนั้นไม่ได้ขึ้นกับขนาดของโครงการ แต่ขึ้นกับวิธีการ โครงการขนาดใหญ่ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมากไม่ได้แปลว่าจะแก้ไขปัญหาได้ การแก้ปัญหาต้องดูองค์รวมทั้งหมดไปพร้อมกัน ทั้งปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้ง และปัญหาน้ำเสีย เพราะการออกแบบโครงการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมก็เป็นแบบหนึ่ง การออกแบบโครงการเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นไม่ใช่ตั้งโครงการมา 1 โครงการแล้วจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ที่สำคัญเราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ พายุมาติดๆ กันน้ำก็ท่วม ฝนไม่ตกนานๆ น้ำก็แล้ง ซึ่งในลุ่มน้ำ 1 ลุ่มน้ำ พอถึงหน้าน้ำ น้ำก็ท่วม พอถึงหน้าแล้ง น้ำไม่มี มันก็แล้ง

“ถ้าเอางบประมาณเป็นตัวตั้งไม่มีทางแก้ปัญหาน้ำได้ คือมันไม่ใช่แค่ตั้งงบแก้น้ำท่วมหรือตั้งงบแก้ภัยแล้ง การแก้ปัญหาน้ำมันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ยกตัวอย่างเขื่อนที่ป้องกันน้ำท่วม ต้องออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่าปริมาณน้ำที่จะไหลลงมามันถึงจะรองรับน้ำในลุ่มน้ำนั้นได้ทั้งหมด แต่ปัญหาคือมันหาพื้นที่ที่ใหญ่ขนาดนั้นไม่ได้ แต่บางครั้งการมีงบมากก็อาจจะสร้างปัญหาได้เพราะไปสร้างสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำมากเกินไป อย่างกรณีนักการเมืองที่บอกจะอัดงบ 2 แสนล้านฟื้นโครงการแก่งเสือเต้น แต่ลุ่มน้ำยมด้านล่างมันเป็นแอ่งกระทะ ซึ่งแก่งเสือเต้นมันกั้นลุ่มน้ำยมจริง แต่ว่ากั้นลุ่มน้ำยมตอนบน และกั้นแค่ 10% ของสายน้ำเท่านั้น ถ้าฝนตกท้ายน้ำก็แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ วันนี้ถ้าแค่คิดว่าน้ำท่วมต้องมีเขื่อน มันไม่ใช่” นายหาญณรงค์ กล่าว

นายหาญณรงค์ ระบุว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งใจแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งลง ต้องกระจายงบลงไปและทำงานร่วมกับชุนชน ให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ เพราะประชาชนจะรู้จักภูมิทัศน์และปัญหาในพื้นที่ดีที่สุด เวลาที่น้ำจะมาให้ข้อมูลกับประชาชนล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนตั้งรับ ด้านเจ้าหน้าที่ต้องร่วมกับผู้นำชุมชนในการพิจารณาว่าจะกระจายน้ำไปทางไหนได้บ้าง บายพาสน้ำได้ไหม จะพร่องน้ำไปทางไหน ปล่อยน้ำเข้าทุ่งไปเก็บไว้ก่อนได้หรือเปล่า พอปริมาณน้ำเริ่มลดลงก็ค่อยปล่อยน้ำจากทุ่งลงสู่ลำน้ำเหมือนเดิม ซึ่งจุดสำคัญคือการสร้างเส้นทางย่อยๆ ในการกระจายน้ำ ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีพื้นที่เก็บน้ำในไร่นาของตัวเอง เช่น มีสระ มีบ่อ พอถึงหน้าแล้งก็นำน้ำมาใช้ได้

ยกตัวอย่าง การแก้น้ำท่วมที่ จ.แพร่ ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำยม สามารถนำแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเคยใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมที่ จ.ชุมพร โดยการบายพาสน้ำอ้อมตัวเมือง จ.แพร่ ก่อนน้ำเข้าเมือง เช่น น้ำมา 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในเมืองรับได้ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็บายพาสน้ำส่วนที่เกินอยู่ 500 ลูกบาศก์เมตรอ้อมตัวเมืองไป คือให้น้ำผ่านตัวเมืองในระดับที่พอรับได้ ไม่กระทบชุมชน หรือกรณีน้ำท่วม จ.สุโขทัย มีเส้นทางบายพาสน้ำอยู่แล้วแต่เล็กเกินไปก็ดูว่าสามารถขยายเส้นทางบายพาสน้ำให้กว้างขึ้นได้ไหม ถ้าขยายไม่ได้มันกระทบชุมชน ก็บายพาสน้ำอ้อมตัวเมืองไป

“ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่สร้างเขื่อนแล้วจะแก้น้ำท่วมได้เสมอไป การสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอาจเพิ่มปัญหามากขึ้นก็ได้ เพราะเมื่อป่าถูกทำลายก็ไม่มีต้นไม้ดูดซับน้ำ กรณีน้ำท่วม จ.สุโขทัยปี 2566 ฝนตกใต้จุดที่เขาคิดจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนั้นต่อให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็แก้ปัญหาน้ำท่วมสุโขทัยไม่ได้ เราไม่สามารถควบคุมได้ว่าฝนจะตกตรงไหน แต่เราดูว่าจะระบายน้ำอย่างไรให้ดีที่สุด เช่น ปกติปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยที่ตกใน จ.สุโขทัย อยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ขยายทางน้ำที่มีอยู่แล้วให้ใหญ่ขึ้น ถ้าขยายไม่ได้อาจจะทำคลองเพิ่มขึ้น 2 คลองเพื่อรองรับน้ำคลองละ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร” นายหาญณรงค์ ระบุ

งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2568
นายหาญณรงค์ ชี้ว่า ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในปัจจุบันนั้นเกิดจากการสร้างสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ โดยเฉพาะเมืองที่เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ หนองคาย ภูเก็ต สมุย พัทยา หัวหิน มีการสร้างสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ที่เคยเป็นทุ่งนาซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ มีการสร้างถนนทับลำรางสาธารณะ สร้างอาคารบ้านเรือนทับทางน้ำ สร้างรีสอร์ตหรืออาคารบ้านเรือนรุกไปในแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำแคบลง ที่เห็นได้ชัดคือกรณีน้ำท่วมฉับพลันที่ จ.พะเยา ในช่วงเช้าวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ และมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ ทั้งมหาวิทยาลัยพะเยา หอพักนักศึกษา มีการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ขนานบริเวณบ้านหม้อแกงทอง ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา โดยมีการเปิดหน้าดินและเปลี่ยนทางเดินน้ำที่มีอยู่เดิม รวมถึงมีการนำเอาดินไปปิดกั้นทางน้ำหม้อแกงทองที่จะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ ทำให้น้ำไม่สามารถลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำได้จนเกิดการไหลล้นเข้าท่วมชุมชนบ้านห้วยเคียนจนได้รับความเสียหาย ดังนั้น ถ้าจะป้องกันปัญหาน้ำท่วมพะเยา เมื่อสร้างทางรถไฟเสร็จจะต้องหาทางน้ำใหม่เพื่อทดแทนทางน้ำเดิม

ที่สำคัญการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในชุมชนเมืองต่างๆ นั้น ต้องมี “เส้นทางน้ำหลาก” โดยใน พ.ร.บ.น้ำ 2561 ระบุว่าให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเส้นทางน้ำหลาก ซึ่งถ้าใครจะสร้างสิ่งปลูกสร้างจะต้องเปิดเส้นทางน้ำหลาก และหากสิ่งปลูกสร้างนั้นขวางเส้นทางน้ำ ก็มี 2 วิธีคือ รื้อทิ้ง หรือหาทางน้ำหลากใหม่มาทดแทน ซึ่งข้อกำหนดนี้มีขึ้นหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งพบปัญหาว่าสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางน้ำเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม โดยขณะนี้ได้มีการศึกษาบางลุ่มน้ำแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศทั้งหมด

“คือมีการทำงานร่วมกันระหว่าง สทนช. กับกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยเมื่อ สทนช.กำหนดเส้นทางน้ำหลากแล้ว ทางกรมโยธาฯ จะต้องนำมาประกาศในผังเมืองรวม ใครจะสร้างสิ่งปลูกสร้างต้องดูผังเมืองว่าจุดนั้นขวางเส้นทางน้ำหลากหรือไม่ ถ้าขวางเจ้าของสิ่งปลูกสร้างอาจจะต้องทำอุโมงค์ให้น้ำลอด หรือยกสิ่งปลูกสร้างให้สูงเพื่อไม่ให้ขวางทางน้ำ” นายหาญณรงค์ ระบุ

นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า อีกจุดหนึ่งที่ต้องบริหารสถานการณ์น้ำท่วมคือพื้นที่จังหวัดชายแดนที่ใช้แม่น้ำร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จังหวัดที่ติดแม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านประเทศจีน สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จังหวัดที่ติดแม่น้ำเมย-แม่น้ำแม่สาย-แม่น้ำรวก ที่ไหลผ่านพม่า และแม่น้ำโก-ลก ที่กั้นไทยกับมาเลเซีย ซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมทั้งจากโครงการของภาครัฐ เช่น เขื่อน และจากการดำเนินการของประชาชนซึ่งต่างสร้างสิ่งปลูกสร้างล้ำลงไปในแม่น้ำ ทำให้ทางน้ำแคบ และน้ำเปลี่ยนทิศ ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องมีการหารือร่วมกับประเทศดังกล่าวเพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำ ในลักษณะทวิภาคี หรือพหุพาคี

“อย่างกรณีแม่น้ำแม่สายซึ่งมีตะกอนทรายอยู่กลางแม่น้ำทำให้กีดขวางทางน้ำ ทางฝั่งไทยเคยเอาแบ็กโฮไปขุดทรายออก แต่ทางฝั่งพม่าไม่ยอม เราก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นระดับรัฐต่อรัฐจึงต้องทำงานร่วมกันจึงจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตามแนวแม่น้ำระหว่างประเทศได้” นายหาญณรงค์

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น