xs
xsm
sm
md
lg

แนะแรงงานเลิกฝันค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ‘ทักษิณ-นายกฯ อิ๊ง’ ยังปิดปากเงียบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง 20 ก.ย.นี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศยากที่จะเป็นจริง คนในวงการอุตสาหกรรมแฉขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ‘นายจ้างเจ๊ง-เจ้าสัวรวย-แรงงานต่างชาติ’ ได้ประโยชน์ ส่งเงินกลับบ้านสบายๆ เสนอรัฐทำ ‘Pay by Skills-ลดค่าครองชีพ’ นายจ้างอยู่ได้ แรงงานได้ประโยชน์ เผยรายใหญ่ก็สาหัส ส่วนองค์กรใหญ่ๆ อย่าง ปตท.SCG ยกระดับค่าจ้างสูงเกิน 400 กันแล้ว แนะสังคมย้อนฟังคลิป ‘ทักษิณ-นายกฯ อิ๊ง’ ไม่พูดถึงค่าแรง ทั้งที่เพื่อไทยหาเสียงไว้ที่ 600 บาท ด้าน รศ.ณรงค์ เพชรประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิบอร์ดประกันสังคม แจงรัฐต้องเร่งช่วย SMEs เจรจาประเทศจีน อะไรที่ห้ามคนไทยผลิตหรือขายในจีนก็ห้ามจีนมาดำเนินการในไทย พร้อมกฎหมายไทยต้องเด็ดขาด ย้ำรายใหญ่กำไรเยอะต้องเสียสละจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 400 เพราะค่าจ้างคือกำลังซื้อกระตุ้นจีดีพีประเทศได้จริงที่สุด!

ต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ในเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ หลังจากเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกรรมการฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 คนไม่เข้าร่วมประชุม โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างและภาครัฐเข้าร่วมครบทั้ง 10 คน

การไม่ร่วมประชุมของฝ่ายนายจ้าง ว่าไปแล้วก็คือการ ‘บอยคอต’ ซึ่งเป็นการปฏิเสธให้ความร่วมมือเพราะไม่เห็นด้วยในการขึ้นค่าแรง 400 บาท ในภาวะเศรษฐกิจวิกฤต บริษัทและโรงงานต่างๆ ทยอยปิดกิจการ คนงานต้องตกงานมากมาย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ยิ่งถ้ามีการเพิ่มค่าแรงไปถึง 400 บาทคงได้เห็นธุรกิจเจ๊ง ปิดกิจการมากขึ้น

ถามว่าเรื่องนี้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มองเห็นปัญหาหรือไม่? เพราะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีการประกาศเพื่อเรียกคะแนนเสียงว่าค่าแรงจะพุ่ง โดยกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ 600 บาท ทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่พอมีเสียงคัดค้านก็ขยับหาเสียงเป็น 600 บาทภายในปี 2570

เสียงคัดค้านของบรรดาผู้ประกอบการ และเสียงเรียกร้องเรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานของสหภาพแรงงานต่างๆ เนื่องเพราะต้องเผชิญวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จึงได้มีมาตรการและแนวทางปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ

“ปี 2567 มีการปรับค่าจ้างถึง 2 ครั้ง ช่วง ม.ค.รอบแรก เดิมจ่าย 300 บาทเป็น 330-370 บาทต่อวัน และช่วง 13 เม.ย.มีประกาศเป็น 400 บาท มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.นี้ แต่การปรับค่าจ้าง 400 บาท ต้องผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด คณะอนุกรรมการวิชาการและคณะกรรมการค่าจ้างต่อไป”

แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรม บอกว่า เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท นั้นเป็นเรื่องที่ภาคเอกชน ทั้งสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าและหอการค้าได้มีการหารือและไม่เห็นด้วยกับวิธีการปรับเช่นนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

แต่การจะปรับหรือการจะขึ้นค่าแรงควรมีหลักการที่ถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งภาคเอกชนได้นำเสนอไปยังรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้างแล้วว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำควรปรับตามกฎหมายกำหนดใน ม.87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน


นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน แทนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

นั่นคือการจ่ายค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงาน ขณะเดียวกัน รัฐควรจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้น เพราะวันนี้ยังไม่ทันประกาศขึ้นค่าแรง สินค้าอุปโภค บริโภคก็ขึ้นราคาไปรอก่อนแล้ว

“ดูนะ ขึ้นค่าแรงคนที่ได้จริงๆ ใช่เจ้าสัวต่างๆ ไหม เพราะของขึ้นไปรอแล้ว รัฐต้องคุมค่าครองชีพให้ได้ ธงฟ้าราคาประหยัดต้องเข้าถึงแรงงาน ต้องคุมค่าครองชีพไม่ให้เกิดการผูกขาด สุดท้ายขึ้นค่าแรง ลูกจ้างก็ไม่รอด เพราะของขึ้นราคาไปรอแล้ว คนเกษียณที่ไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ ต้องไปซื้อของตลาดเดียวกัน ของขึ้นราคาก็ตายเหมือนกัน”

ดังนั้น ถ้ารัฐทำตามกฎหมาย บวกกับ Pay by Skills มีมาตรการลดค่าครองชีพได้จริงจัง นโยบายค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่จำเป็นต้องมี ปล่อยให้เป็นการใช้กลไกไตรภาคี โดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณาตามสูตรที่มี ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ สถานการณ์การเงินของนายจ้าง จะดีกว่าที่ทำให้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องการหาเสียงของพรรคและนักการเมืองดั่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ พูดชัดๆ คือรัฐบาลไม่ควรบิดเบือนหรือแทรกแซงทั้งสิ้น

สำหรับนโยบายการปรับค่าแรง 400 บาทนั้น จากตัวเลขที่นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ระบุว่า ถ้ามีการปรับขึ้นในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป จะมีแรงงานไทยได้รับประโยชน์ประมาณ 3 ล้านคน และแรงงานข้ามชาติ ประมาณ 1 ล้านคน


“ถ้าจ่าย 400 บาททุกกิจการ จะมีแรงงานต่างด้าวเท่าไหร่ คิดๆ คนจ่ายคือนายจ้าง คนได้คือใคร ได้แล้วเอาเงินไปไหน กลับบ้านเขาใช่หรือไม่ ซึ่งค่าแรงงานบ้านเขา 100-200 บาทต่อวันเท่านั้น นี่มันคือเตะหมูเข้าปากหมาหรือเปล่า ถึงได้บอกว่ารัฐหรือการเมืองอย่าบิดเบือน เราควรดูแลแรงงานผ่านกลไก Pay by Skills สร้างแรงงานคุณภาพได้ด้วย”

ขณะเดียวกัน หากจะบอกให้จ่าย 400 บาทเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ในเวลานี้ก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน เพราะบริษัทใหญ่ก็ประสบปัญหาเหมือนกัน อีกทั้งถ้าเศรษฐกิจประเทศดี จีดีพีโต 4-5% จะให้รายใหญ่รับผิดชอบก็อาจจะมีโอกาสเป็นไปได้บ้าง แต่เวลานี้มันไม่ใช่

“ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ เจอปัญหาทั้งนั้น รัฐอยากให้พังกันหรือ อย่าซ้ำเติมจะยิ่งทำให้คนไม่มีงานทำมากขึ้น ผู้ประกอบการแต่ละจังหวัดร้องโอดโอยกันทั้งนั้น ส่วนองค์กรใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น SCG ปตท.มีโครงการ Pay by Skills เพิ่มทักษะแรงงานค่าจ้างเขาไปถึงไหน ซึ่งเกิน 400 ตั้งนานแล้ว”

อีกทั้งค่าแรงขั้นต่ำบางจังหวัดก็ทะลุ 400 ไปแล้ว โดยเฉพาะโรงแรม 5 ดาวที่มีพนักงานประมาณ 40-50 คนที่รับไหวก็จ่ายอยู่แล้ว และรอบนี้สมุทรปราการเป็นจังหวัดเดียวที่เสนอไตรภาคี จ่ายเกิน 400 บาทต่อวันเช่นกัน


อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร ที่ไปแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ Vision for Thailand เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่มีการพูดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ รวมไปถึงการแถลงนโยบายรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ‘10 นโยบายเร่งด่วน’ ทำทันที ก็ไม่มีเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำแต่ประการใด ทั้งๆ ที่ช่วงหาเสียงประกาศจะดันค่าแรงขั้นต่ำไปที่ 600 บาทก็ตาม

“ทั้งทักษิณ และนายกฯ อิ๊ง เข้าใจแล้วว่าการจะผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้จึงไม่มีการพูดถึงใช่หรือไม่ ทุกคนไปย้อนดูได้ไม่มีเรื่องค่าแรง เขาเองก็เป็นนักธุรกิจย่อมรู้ดีเช่นกัน” แหล่งข่าว ระบุ

ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่จะมีขึ้นครั้งต่อไปและเป็นครั้งสุดท้ายที่ ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน จะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เนื่องจากจะเกษียณอายุ 30 ก.ย.นี้ น่าจะเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับค่าแรงเป็น 400 บาท บางจังหวัดและธุรกิจบางประเภท ซึ่งคาดว่าจะให้มีผล 1 มกราคม 2568

ด้าน รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการประกันสังคม บอกว่า ในการประชุมบอร์ดประกันสังคม ก็ได้พูดคุยกับฝ่ายนายจ้าง ซึ่งฝ่ายนายจ้างบอกว่า ธุรกิจ SMEs ไปกันไม่รอด จากปัญหา 3 ส่วน 1.ขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย 2.ถูกทุนจีนเข้ามายึดตลาด 3.ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่สูง แบกรับภาระไม่ไหว

โดยส่วนตัวได้เสนอไปว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทนั้น ให้แยกถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีต่างชาติร่วมทุนต้องให้ปรับ เพราะต่างชาติไม่ว่ายุโรป อเมริกาหรือญี่ปุ่น ค่าจ้างแรงงานสูงกว่าบ้านเรา 8-10 เท่าอยู่แล้ว ดังนั้นการจะปรับค่าแรงบริษัทเหล่านี้จึงไม่กระเทือนและแรงงานควรได้รับเช่นกัน

ส่วนบริษัทรายกลาง รายย่อย ที่มีลูกจ้าง 30-40 คน จะให้ผู้ประกอบการปรับค่าแรงขึ้นเป็น 400 บาท เหมือนรายใหญ่เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ซึ่งรัฐต้องอธิบาย ดีดลูกคิดให้แรงงานได้เข้าใจและเห็นใจบริษัทเหล่านี้ด้วย และต้องคิดหาทางช่วย ตัวอย่างเช่น บริษัทอาจจะชดเชยด้วยสวัสดิการ ที่เรียกว่าสวัสดิการลดรายจ่าย ที่สำคัญสุดคือ หอพักใกล้โรงงาน ซึ่งจะทำให้แรงงานประหยัดค่าเดินทาง และไม่ต้องเสียค่าเช่าที่อยู่ เดือนละ 2,000-3,000 บาท พร้อมสนับสนุนให้นายจ้างสร้างหอพักบริเวณโรงงาน

“รัฐต้องคิดดอกเบี้ยถูก ร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้บริษัทไปสร้างที่พักเป็นห้องแถว จะกี่คูหา 3-4 ชั้นเป็นสวัสดิการให้แรงงาน เราจะพบว่า ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างจะได้ประโยชน์ แรงงานจะทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ถ้ามีลูกเล็กก็กลับมาให้นมบุตร มากินข้าวก็จะประหยัดไปด้วย”



 รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
การที่รัฐบาลใช้การขึ้นค่าแรงในการหาเสียงจึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เพราะการจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องใช้เงินในกระเป๋าของเอกชน ซึ่งเอกชนจะต้องคิดกำไรขาดทุน แต่การที่รัฐประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรี 25,000 บาท ทำได้ง่ายกว่าเพราะเป็นเงินภาษี ไม่ต้องคิดกำไรขาดทุนเหมือนการขึ้นค่าแรงของเอกชน

“ค่าจ้างแรงงานมี 2 ระดับ คือ ค่าจ้าง เพื่อยังชีพ เพื่อคนคนเดียว เรียกว่า ค่าจ้างกันตาย ไม่ใช่ค่าจ้างเพื่อการครองชีพ ค่าจ้างเพื่อชีวิต คือทุกชีวิต ซึ่งเขามีครอบครัว มีเผ่าพันธุ์ ในเมื่อไม่สามารถเลี้ยงเผ่าพันธุ์ได้ จะมีมนุษย์กันได้อย่างไร สังคมเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ว่า ค่าจ้าง ต้องเพียงพอที่จะเลี้ยงดูแล บุตร ภรรยา หรือ สามี ก็ว่าไป”

รศ.ดร.ณรงค์ ระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลจะต้องช่วยธุรกิจSMEs ขณะนี้คือ

1.ต้องเจรจากับรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอะไรที่รัฐบาลจีนไม่ยอมให้คนไทยทำในจีน ก็ไม่ให้คนจีนมาดำเนินการธุรกิจในไทยเช่นกัน ก็ถือว่าเหมาะสมแล้ว แต่ทุกวันนี้เราทำในจีนไม่ได้ แต่จีนสามารถมาทำในไทยได้

“คือรัฐต้องเจรจาให้จีนมีนโยบายเตือนคนของตัวเอง และทางไทยก็ต้องเข้มงวดเรื่องกฎหมาย เพื่อไม่ให้จีนมาทำให้ธุรกิจ SMEs ไทยตายเช่นกัน”

2.รัฐบาลช่วยลดต้นทุน เช่น พัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะคนงาน พร้อมไปช่วยบรรเทาเรื่องภาวะค่าจ้างให้แรงงาน คือเราเห็นใจคนงาน แต่ก็เห็นใจผู้ประกอบการ SMEs เหมือนกัน

“เดี๋ยวนี้จีนไม่ใช่ค่าแรงถูกแล้ว จีนขายเทคโนโลยี นักธุรกิจจีนหันมาลงทุนในไทย เพราะค่าจ้างแรงงานในจีนแพงกว่าไทยไปแล้ว ค่าจ้างแรงงานคนไทย ถ้าหักเงินเฟ้อมันไม่ได้เพิ่มเลย”

ที่สำคัญในทุกจังหวัดที่เป็นเขตเมืองค่าแรงไม่ต่างกัน เช่น ถ้าทุกคนเข้าไปซื้อของในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 หรือห้างแม็คโคร ก็จะราคาเดียวกันทั่วประเทศ และสินค้าบางชนิด อย่างภูเก็ตแพงกว่ากรุงเทพฯ ด้วย”


กระนั้นหากจะคิดค่าจ้างขั้นต่ำในต่างจังหวัดก็ต้องคำนึงด้วยว่า โรงงานและคนงานล้วนอยู่ในพื้นที่เขตเมือง ไม่ใช่ว่าโรงงานตั้งอยู่กลางทุ่งนา เวลาคิดจึงต้องคิดต่อคนเป็นหลัก ไม่ใช่คิดเฉลี่ยพื้นที่เพราะในต่างจังหวัดจะมีพื้นที่ชนบทจำนวนมาก ถ้าเอาค่าพื้นที่ชนบทมาคิดเป็นค่าเฉลี่ยจะทำให้ค่าแรงถูกลงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“ต้นทุนค่าครองชีพ ในไร่นามันถูกกว่าต้นทุนค่าครองชีพในเมือง แต่คนงานอยู่ในเมือง อยู่ในไร่นาซะเมื่อไหร่”


รศ.ดร.ณรงค์ ย้ำว่าในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทนั้น บริษัทใหญ่มักจะอ้างบริษัทเล็ก ทั้งที่รายใหญ่มีกำลังซื้อ มีกำลังขาย กำไรก็มาก ก็ไม่น่ามีปัญหา ก็ควรจะจ่าย การอ้างถึงบริษัทเล็กๆ ว่าจ่ายไม่ได้ก็เพื่อที่บริษัทตัวเองที่เป็นรายใหญ่จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นด้วย

“เราต้องแยกให้ชัดเจนว่า บริษัทรายใหญ่ไม่ควรเกาะหลังบริษัทรายเล็ก ในเมื่อคุณมีความสามารถทุกอย่าง กำไรเยอะแยะ ทำไมไม่ช่วยเหลือสังคม ซึ่งการที่บริษัทใหญ่ๆ จ่ายค่าจ้างตามที่ขึ้นมาแบบนี้ มันมีความสำคัญกับเศรษฐกิจมหภาค คือ ทำให้มีกำลังซื้อสูงขึ้น เพราะเศรษฐกิจเราลากจูงเพราะกำลังซื้อ เพราะจีดีพีเรามาจากการบริโภค มาจากกำลังซื้อประมาณ 55% นั่นคือจีดีพี 100% มาจากตัว C ตัวบริโภค 55% และตัวบริโภคหลักมาจากค่าจ้าง การขึ้นค่าจ้าง คือ การขึ้นตัวบริโภค คือการขึ้นจีดีพีไปด้วย ตัวใหญ่ๆ ควรจะเห็นตรงนี้ ไม่ควรอ้างตัวเล็กๆ ขณะที่ตัวเล็กๆ ต้องให้รัฐบาลกับลูกจ้างรับผิดชอบร่วมกัน”

ถึงเวลานี้การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศจะเป็นอย่างไรคงต้องรอวันที่ 20 ก.ย. จากผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างต่อไป!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น