xs
xsm
sm
md
lg

“มรดกทางการเมือง” สุดพิสดาร กับตำแหน่ง รมต.ใน “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แฉ “ครม.อุ๊งอิ๊ง1” แหล่งสืบทอดอำนาจทางการเมือง เก้าอี้ รมต.กลายเป็นมรดกตกทอดของหลายตระกูล ตั้งแต่ “นายกฯแพทองธาร” ซึ่งเป็นนายกฯ คนที่ 3 ของ “ตระกูลชินวัตร” ดีลพิสดารกับโควตา รมต.ของพรรคฝ่ายค้าน จาก “ตระกูลพรหมเผ่า” รัฐมนตรีคนนอกจาก “ตระกูลไทยเศรษฐ์” ที่เข้ามารักษาเก้าอี้แทนพ่อที่ถูก สลค.ตีตก เพราะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จนถึง รมต. “ตระกูลชิดชอบ” ที่ใช้ประสบการณ์ของอดีตนายตำรวจมาบริหาร ก.ศึกษา เนื่องจากน้องชายขาดคุณสมบัติ ขณะที่หลานยังประสบการณ์ไม่ถึง ด้าน “รศ.ดร. พิชาย” ชี้ รธน.60 มุ่งสกัด รมต.ที่ขาดจริยธรรม แต่ไร้ผล เพราะคนเหล่านี้สามารถส่ง “ทายาท” เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนได้



เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักสำหรับการแต่งตั้งรัฐมนตรีใน “ครม.อุ๊งอิ๊ง 1” ด้วยถูกมองว่าไม่ได้มีการคัดสรรจากความรู้ความสามารถแต่เป็นการสืบทอด “ทายาททางการเมือง” ของบรรดาบ้านใหญ่ และกลุ่มการเมืองต่างๆในแต่ละพรรค

ซึ่งทายาททางการเมืองที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งนี้นั้นมีทั้งที่ทำงานการเมืองมายาวนาน ทำผลงานให้พรรค และชนะเลือก ส.ส. จึงได้โควตา รมต.ไปครอง และที่เป็น “รมต.ส้มหล่น” ไม่เคยเป็น ส.ส. ไม่ได้มีผลงานใดๆ หากแต่เข้ามากินตำแหน่งในฐานะเครือญาตินักการเมือง อีกทั้งเส้นทางในการเข้ารับตำแหน่งยังแปลกประหลาด ข้ามขั้วข้ามฝั่งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

โดยนาทีนี้ขอโฟกัสไปที่ “รมต.ส้มหล่น” ที่เข้ามารับมรดกจากบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ในเวทีการเมือง!!

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
คนแรกที่ถือเป็นทายาททางการเมืองอย่างชัดเจนก็คือ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ที่ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ด้วยวัยเพียง 38 ปี โดยที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารงานใดๆ มาก่อน แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในหลายบริษัทแต่ไม่ปรากฏชัดว่าเธอมีผลงานการบริหาร ซึ่งการขึ้นมาเป็นแคดิตเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยและได้รับการโหวตให้นั่งเก้าอี้นายกฯ แทน นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาด้านจริยธรรมนั้น ทุกคนต่างรู้ดีว่าเธอคว้าตำแหน่งนี้มาแบบไม่มีคู่แข่งก็ด้วยแรงสนับสนุนของ “นายทักษิณ ชินวัตร” ผู้เป็นพ่อ ซึ่งที่ผ่านมาได้ปูทางให้ลูกสาวคนเล็กเข้ามาเติบโตในเส้นทางการเมืองแบบก้าวกระโดด

โดยแพทองธาร เพิ่งเข้าสู่วงการการเมืองในช่วงปลายปี 2564 และได้รับแต่งตั้งจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งสืบสานการทำงานต่อจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนที่ก่อตั้งโดยทักษิณ ให้เป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรค ก่อนขยับขึ้นเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในปี 2565 ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 พรรคเสนอชื่อเธอในบัญชีรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมกับเศรษฐา ทวีสิน และศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ เมื่อนายเศรษฐา ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ช่วงแรกมีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายชัยเกษม ขึ้นชิงตำแหน่งนายกฯ เพราะมีความรู้และประสบการณ์แน่นปึ้กทั้งงานด้านบริหารและงานการเมือง นอกจากจะเป็นอดีตอัยการสูงสุดแล้ว ยังเคยดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม และกรรมการในองค์กรต่างๆ มากมาย เช่น ประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

แต่สุดท้าย “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ” ตำแหน่งนายกฯ จึงตกเป็นของคุณหนูอุ๊งอิ๊ง เธอจึงกลายเป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของตระกูลชินวัตร”

นายอัครา พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พี่ชาย
คนต่อมาคือ “นายอัครา พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ตำแหน่งมาแบบพิสดารพันลึก คือเป็น “โควตารัฐมนตรีของ ส.ส.ฝ่ายค้าน” เนื่องจากเขาคือน้องชายของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” หรือผู้กองธรรมนัส อดีตมือขวา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเพิ่งจะประกาศแตกหักกันไป เนื่องจากผู้กองธรรมนัสอยากร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย อยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่ “นายใหญ่” ไม่ปลื้มบิ๊กป้อม เพราะไม่ไปโหวตหนุน น.ส.แพทองธาร ลูกสาวสุดที่รักให้ขึ้นเป็นนายกฯ แทนนายเศรษฐาที่ถูกถอดถอนไป

ในเมื่อไม่รับกลุ่มบิ๊กป้อมก็อย่าหวังจะดึงกลุ่มธรรมนัสไปร่วมรัฐบาลได้ ถ้าเพื่อไทยแต่งตั้ง ส.ส.พลังประชารัฐที่มาจากกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสเป็นรัฐมนตรี ก็แน่นอนว่านายกฯ แพทองธารจะถูกทีมบิ๊กป้อมเล่นงานฐานผิดจริยธรรมร้ายแรงทันที เพราะก่อนหน้านี้บิ๊กป้อมได้ส่งรายชื่อ รมต.ของพรรคพลังประชารัฐซึ่งระบุว่ามาจากมติพรรคไปให้พรรคเพื่อไทยเพื่อกั๊กเก้าอี้ไว้ก่อนแล้ว ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้กองธรรมนัสก็ไม่สามารถย้ายพรรคไปสังกัดเพื่อไทยอย่างที่ต้องการได้ เพราะการที่ ส.ส.จะย้ายพรรคได้มีแค่ 2 กรณี คือ ถูกยุบพรรค หรือถูกขับออกจากพรรค แต่ลุงป้อมรู้ทัน ไม่ว่าจะโกรธเกลียดกันแค่ไหนก็ไม่มีทางขับออกจากพรรคเพราะไม่อยากให้ธรรมนัสพา 20 ส.ส.ไปเสริมความแข็งแกร่งให้พรรคเพื่อไทย หากจะถูกไล่ไปเป็นฝ่ายค้านก็ต้องไปด้วยกันทั้งหมด

ทายาททางการเมือง
ดังนั้น ร.อ.ธรรมนัสจึงต้องหาทางออกด้วยการส่งคนของตนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.พลังประชารัฐเข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ที่เขาเคยดูแล ชนิดควบหมดทั้ง 3 ที่นั่ง ตามที่ดีลไว้กับคุณหนูอุ๊งอิ๊งแทน แลกกับการที่ 21 ส.ส.ของกลุ่มธรรมนัสจะให้การสนับสนุนรัฐบาลแพทองธารในทุกวิถีทาง ส้มจึงมาหล่นที่นายอัครา น้องชายสุดที่รักของผู้กองธรรมนัส ที่ได้เป็น รมช.เกษตรฯ แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว โดยอ้างว่าคนที่ส่งชื่ออัคราเป็นรัฐมนตรีคือ “มือที่มองไม่เห็น” ส่วนเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ นั้นธรรมนัสยกให้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต ส.ส.พลังประชารัฐ ที่เคยถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีพร้อมกัน และส่งนายอิทธิ ศิริลัทธยากร อดีตสามาชิกพรรคที่ลาออกมาพลังประชารัฐ มานั่ง รมช.เกษตรฯ อีกตำแหน่ง

สำหรับนายอัครา นั้นถือว่าเป็นทายาททางการเมืองโดยสายเลือดของ ร.อ.ธรรมนัส ปัจจุบันอายุ 52 ปี เขาเติบโตมาจากการเมืองท้องถิ่น เป็นอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และอดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา 2 สมัย แต่ยังไม่เคยผ่านสนามการเมืองระดับชาติ ซึ่งผู้กองธรรมนัสก็พยายามผลักดันโดยการแต่งตั้งให้น้องชายนั่งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พรรคพลังประชารัฐ และเป็นคณะทำงานร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส รวมทั้งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของ ร.อ.ธรรมนัส เมื่อครั้งที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย

“นายอัครา พรหมเผ่า” จึงเป็นรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งมาจากโควตาของพรรคฝ่ายค้านอย่างแท้จริง!!


นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ผู้เป็นพ่อ และ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย
รัฐมนตรีอีกคนที่ได้ตำแหน่งมาแบบแปลกประหลาดไม่แพ้กันก็คือ “ดีดา-น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมานั่งเก้าอี้นี้ด้วยโควตาของ “นายชาดา ไทยเศรษฐ์” ผู้เป็นพ่อ เนื่องด้วยสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ตีกลับรายชื่อของนายชาดา ที่รัฐบาลแพทองธารเสนอให้ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเพราะปัญหาด้านคุณสมบัติ เนื่องจากนายชาดาถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพลของจังหวัดอุทัยธานี หากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีอาจจะมีผู้ร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติซึ่งจะทำให้มีปัญหาในภายหลังได้ แต่แทนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะเลือก ส.ส.ในพรรคที่มีความรู้ความสามารถมาเป็น รมช.มหาดไทย ในโควตาของพรรค กลับให้นายชาดาไปสรรหาคนมานั่งเก้าอี้นี้แทน

นายชาดาจึงตัดสินใจส่งซาบีดา ลูกสาวคนที่ 2 ของเขามาสานงานต่อ ด้วยเห็นว่าแม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่เคยทำงานการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น แต่ได้ช่วยเหลืองานพ่ออยู่เนืองๆ ในฐานะคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งนายชาดาดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังทำงานให้มูลนิธิไทยเศรษฐ์ ในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดอีกด้วย ขณะที่นายอนุทิน ออกมายืนยันว่าเพื่อให้การทำงานไหลลื่นจึงได้ตกลงร่วมกัน โดยนายชาดาได้พา น.ส.ซาบีดา มาพบ และตนได้สัมภาษณ์ น.ส.ซาบีดาด้วยตัวเอง พร้อมย้ำว่านี่คือตำแหน่งของนายชาดา

“ต้องขอบคุณท่านชาดาอย่างมาก ที่ระบุว่า อย่าให้ติดอยู่กับท่าน หัวหน้าจะเอาใครก็ได้ ผมก็บอกไม่ได้ อันนี้มันตำแหน่งของหลาน (นายชาดา) เพราะฉะนั้นหลานอกมา” นายอนุทิน ระบุ

เมื่อประตูเปิดขนาดนี้ “น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” จึงเป็นรัฐมนตรีคนนอกที่มาจากโควตาของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ โดยตรง

นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็นพี่ชาย และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ
อีกคนที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รมว.ศึกษาธิการ น้องชายของ “นายเนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่แห่งค่ายพรรคสีน้ำเงิน ที่ว่ากันว่าอยู่เบื้องหลังการเติบโตของพรรคภูมิใจไทย ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็น “ขั้วอำนาจใหม่” ในขณะนี้ ด้วยตระกูลชิดชอบนั้นถือว่าเป็นตระกูลที่คร่ำหวอดในวงการการเมืองไทยมายาวนาน ตั้งแต่รุ่นพ่อ คือนายชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา และมาเติบโตยิ่งใหญ่ในสมัยนายเนวิน ซึ่งนั่งเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง และเคยเป็นหนึ่งในบุคคลที่ใกล้ชิดอดีตนายกฯ ทักษิณ อีกทั้งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย นอกจากลงเล่นการเมืองตามรอยนายชัย ผู้เป็นพ่อแล้ว นายเนวินยังได้ผลักดันให้ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ซึ่งเป็นน้องชาย เข้ามาเติบโตในเส้นทางการเมืองด้วย โดยนายศักดิ์สยามได้เป็นถึง รมว.คมนาคม เลยทีเดียว

ขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน เพิ่งเข้าสู่สนามการเมืองเมื่อปี 2566 แต่ที่น่าสนใจคือเขาไม่ได้มาในฐานะ ส.ส.ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หากแต่เป็น “นายตำรวจ” ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และเป็น 1 ใน 3 อดีตข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าว (อีก 2 คน คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง) ซึ่งว่ากันว่าเขาเข้ามาในโควตาของ “ตระกูลชิดชอบ” เนื่องจากนายศักดิ์สยามถูกยื่นตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติตั้งแต่เดือน ก.พ.2566 (สมัยรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์) และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.2566 ก็มี ส.ส.จากตระกูลชิดชอบอย่าง “นายไชยชนก ชิดชอบ” ลูกชายคนโตของนายเนวิน เข้ามานั่งในสภา ขณะที่พรรคภูมิใจไทยสามารถกวาด ส.ส. ยกจังหวัดบุรีรัมย์ จึงแน่นอนว่าในการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งมีพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาล ยังต้องมีโควตารัฐมนตรีของตระกูลชิดชอบอยู่ แต่เนื่องจากนายไชยชนก ซึ่งเป็น ส.ส.สมัยแรกยังเด็กเกินไป นายเนวินจึงตัดสินใจส่ง “พล.ต.อ.เพิ่มพูน” ซึ่งเกษียณจากราชการตำรวจ เข้าไปเป็น รมว.ศึกษาฯ และแม้จะเปลี่ยนตัวนายกฯ มาเป็น น.ส.แพทองธาร ก็หาได้กระทบกับเก้าอี้รัฐมนตรีของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน แต่อย่างใด

“พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” จึงเป็นรัฐมนตรีคนนอก ที่บ่งบอกถึงบารมีของ “ตระกูลชิดชอบ” อย่างขัดเจน

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ทั้งนี้ในมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อย่าง “รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชี้ว่า การเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมีลักษณะเป็นการเมืองที่สืบทอดอำนาจกันภายในครอบครัว ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นการสืบทอดทางการเมืองของตระกูลชินวัตร ในขณะที่พรรคการเมืองหรือแม้แต่การเมืองภายในจังหวัดก็มีบ้านใหญ่ อีกทั้งแต่ละพรรคต่างมีตระกูลการเมืองหลายๆตระกูลอยู่ภายในพรรค และเห็นได้ชัดเจนมากในการแต่งตั้งรัฐมนตรีของ ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 ซึ่งไม่ใช่แค่การแต่งตั้ง ส.ส.ที่เป็นเครือญาติมาเป็นรัฐมนตรี แต่ถึงขึ้นตั้งญาติที่เป็นคนนอกมาเป็นรัฐมนตรีเลยทีเดียว

ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน โดยปัจจัยภายนอกคือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีข้อกำหนดเรื่องจริยธรรมทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจทำให้นักการเมืองที่ประวัติมีปัญหาไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ส่วนปัจจัยภายในคือการอยากรักษาอำนาจการเมืองแบบรวมศูนย์ให้อยู่ภายในตระกูลของตัวเอง ไม่อยากปล่อยอำนาจไปอยู่ในมือคนกลุ่มอื่น ดังนั้นแทนที่จะเอาคนในพรรคที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นรัฐมนตรี จึงให้เครือญาติของตนเองมานั่งเป็นรัฐมนตรีแทน

“การสืบทอดอำนาจการเมืองให้แก่คนในครอบครัวนั้นเป็นวิธีคิดที่โบราณมาก การออกกฎหมายที่มีข้อกำหนดทางจริยธรรมก็ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้พรรคการเมืองไม่กล้าส่งคนที่ไม่มีจริยธรรมมาเป็นรัฐมนตรี และเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามา แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อไม่สามารถตั้งคนที่ประวัติมีปัญหาเป็นรัฐมนตรีได้ แทนที่จะตั้งคนในพรรคที่มีความรู้ความสามารถและไม่มีปัญหาด้านจริยธรรมมาเป็นรัฐมนตรี กลับให้นักการเมืองส่งเครือญาติที่ไม่มีปัญหาด้านจริยธรรมเนื่องจากไม่เคยผ่านสนามการเมืองมาเป็นรัฐมนตรีแทน โดยไม่ได้พิจารณาเรื่องความรู้ความสามารถ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว กลายเป็นว่าตำแหน่งทางการเมืองถูกจับจองโดยตระกูลการเมืองที่อยู่ภายในพรรค” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น