xs
xsm
sm
md
lg

“ทัวร์ทิพย์” ไม่มีวันตาย-ประชด "เช็กดวง" ก่อนซื้อทัวร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีกแล้ว!! ทัวร์เซี่ยงไฮ้เทลูกทัวร์ตั้งแต่ขาไป ลูกค้ายอมซื้อตั๋วใหม่ เจอโรงแรมล็อกห้องตั๋วกลับมีปัญหาน้ำหนักกระเป๋า แจ้งความเจ้าของทัวร์ยอมชดใช้แต่จ่ายไม่ครบ คนในวงการบ่นเกิดแล้วเกิดอีก หน่วยงานรัฐ-สมาคมฯ แก้ปัญหาไม่ได้ ยอมรับไม่มีวิธีดูทัวร์โกงแม้แต่เอเยนต์ก็โดนประชดต้องดูดวง หรือบนก่อนซื้อทัวร์ แย้มอ่านโปรแกรมทัวร์ให้ดีมักมีเรื่องหมกเม็ด

เงียบหายกันไปพักหนึ่งกับเรื่องราวของการวงการทัวร์ ในที่สุดก็เกิดเหตุบริษัททัวร์เทลูกทัวร์ขึ้นมาอีกราย หลังจากมีคลิปแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นผ่าน TikTok ในช่วงวันหยุดยาวของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเคสนี้เป็นลูกทัวร์ที่มีโปรแกรมเดินทางไปท่องเที่ยวที่เซี่ยงไฮ้ระหว่าง 8-12 มิถุนายน 2567

พูดง่ายๆ เหตุเกิดมาเกือบ 2 เดือนแล้ว มีการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัททัวร์ แต่จนถึงวันนี้ผู้เสียหายยังไม่ได้รับการชดใช้ความเสียหาย จึงเป็นที่มาของคลิปที่เผยแพร่กันในแวดวงท่องเที่ยวและมียอดผู้ชมกว่า 2.2 ล้านวิว

เทลูกทัวร์เซี่ยงไฮ้

หนึ่งในคนที่เข้าไปแก้ปัญหาลูกทัวร์กรุ๊ปนี้ คือ น.ส.วิไลลักษณ์ นุชพนัส หรืออ้อย มาทำหน้าที่เป็นไกด์ไทย โดยเธอยืนยันว่าไม่ใช่เจ้าของบริษัททัวร์ที่มีปัญหากับลูกทัวร์ เพียงแค่เข้ามารับงานเป็นไกด์ดูลูกทัวร์กรุ๊ปนี้

ขออนุญาตเข้ามาตอบในฐานะไกด์ไทย (หัวหน้าทัวร์ไทย) ที่พาคณะเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ในทริปนี้ พอดีว่ากรุ๊ปนี้อ้อยรับบทเป็นไกด์ (Free Lance) ที่นำคณะเดินทางไปจีนครั้งนี้

อาจมีคำถามว่าลูกค้าทำไมยังจะไปทั้งๆ ไม่มีตั๋วตั้งแต่ขาไป 8-12 มิถุนายน 2567 คำตอบคือ ลูกค้าเคยใช้บริการบริษัทนี้มาแล้ว 1 ครั้ง และที่สนามบิน เจ้าของบริษัททัวร์ไปส่งคณะเอง และบอกทางลูกค้าว่าที่ไม่มีตั๋วเพราะตนโดนโกงมาเหมือนกัน จากบริษัทที่เขาให้ออกตั๋วเครื่องบินอีกที (เท็จจริงลูกค้าไม่ทราบ )

แต่ด้วยหน้างาน เวลาที่กระชั้นชิดเครื่องใกล้ออก บวกกับ #ความไว้ใจ ที่ลูกค้ามีต่อทัวร์ซึ่งเคยใช้บริการแล้ว และทัวร์เองแจ้งว่าจะคืนเงินภายในบ่าย 2 วันนั้นเลย เพราะต้องรอหุ้นส่วนไปถอนเงินจากบัญชีบริษัท จึงขอยืมเงินลูกค้าซื้อตั๋วใหม่หน้างานก่อน

เราเองในฐานะไกด์ไทยก็เช็กทางจีนกับไกด์จีนแล้วว่า มีไกด์จีนมารับ มีรถ โรงแรมที่เซี่ยงไฮ้ชัวร์ จึงให้ลูกค้าตัดสินใจว่าจะไปต่อไหม ถ้าไปต่อเราเองก็พร้อมไปดูแลลูกค้าให้ เพราะรับงานมาแล้วไม่อยากทิ้งงานกลางคัน

ลูกค้าจึงมีการโอนเงินค่าซื้อตั๋วใหม่ทั้งหมด 10 คนแรกได้ไปก่อน ตามไฟลต์บินเดิม 2 คนหลังออกตั๋วไม่ทัน Counter check in ปิด เลยต้องออกตั๋วใหม่เดินทางตามคณะไปพร้อมกับไกด์ไทยคือเราเอง แล้วไปเจอกันกับกลุ่มแรกที่โรงแรมเลย พวกเราเลยกลายเป็นผู้ประสบภัยร่วมกัน


ล็อกห้อง-ตั๋วกลับ-น้ำหนักกระเป๋า

ที่จริงแล้วอ้อยไกด์ไทยเป็นเจ้าของบริษัททัวร์เช่นกัน (Holidaysplayful.com) จึงพอตรวจสอบข้อติดขัดบางประการในวงการทัวร์ได้

ด้วยความสงสัย จึงให้พี่ฝ่ายตั๋วของเราเองช่วยเช็กกับทางไทย เอ้า!! ตั๋วขากลับที่ลูกค้าเพิ่งซื้อเป็นรอบที่ 2 ที่สนามบินขามา โดนวอยไปแล้ว VOID หมายถึงตั๋วโดนยกเลิก เอาเงินออกไปไหนก่อน

แล้วอ้อยต้องให้ลูกค้ารีเช็กอีกครั้ง โดยให้น้องที่ไทยไปถามซ้ำที่ Counter สายการบิน ที่สนามบินเพื่อความชัวร์ สายการบินแจ้งว่า ตั๋วโค้ดที่แจ้งโดนวอยไปแล้วค่ะ วิกฤตการณ์ ไม่มีตั๋วกลับก็บังเกิดขึ้นอีกรอบ แก้ปัญหากันต่อ

เหตุการณ์จริงมันยาวมาก จนถึงการที่ โรงแรมโดนล็อกห้อง และไม่มีน้ำหนักกระเป๋าขากลับ นั่นแหละค่ะ

“ฉันผู้ช่วยลูกค้าทุกสิ่งอย่าง ทุกคนอย่าเข้าใจผิด นี่ไม่ใช่บริษัทของอ้อยนะคะ งานนี้แค่รับงานไปช่วยเค้าออกทัวร์เท่านั้น เรียกว่าเราคือผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในต่างแดน เราเป็น Freelance = Free ค่าตัว และยัง Advance ค่าใช้จ่ายหน้างานไปอีก”


ช่องโหว่เพียบ

อย่างทัวร์เซี่ยงไฮ้ที่เกิดปัญหานั้น เท่าที่ตามข้อมูลเป็นบริษัททัวร์ที่เพิ่งเปิดบริษัทเมื่อต้นปี 2567 ทุนและประสบการณ์อาจน้อย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไกด์หรือคนในที่เคยทำงานในวงการทัวร์มาก่อนแล้วผันตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้าของบริษัท

อีกทั้งด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบของกรมการท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์ Covid-19 ลดการวางเงินประกันจาก 2 แสนบาทเหลือแค่ 6 หมื่นบาท ก็เป็นทั้งโอกาสที่ดีให้คนที่ต้องการทำทัวร์จริงๆ และมีบางคนที่อาจไม่สุจริตใช้โอกาสนี้เข้ามา หรือบางบริษัทอาจประสบปัญหาหาด้านสภาพคล่องตามภาวะเศรษฐกิจ

ราคาทัวร์ 19,888 บาทต่อคน ลูกทัวร์ 12 คน ทริปนี้ก็ 238,656 บาทแล้ว กรมการท่องเที่ยวกำหนดให้วางเงินแค่ 6 หมื่น เอาส่วนนี้มาจ่ายคืนลูกทัวร์ก็ได้แค่ 3 คน แบบนี้เจ้าของที่ไหนจะอยู่ และถ้าเขาไม่มี ไม่หนี ไม่จ่ายลูกทัวร์รับกรรมกันไป

ทิ้งลูกทัวร์ไม่มีทางหมด

หนึ่งในผู้ที่อยู่วงการทัวร์มานานกล่าวว่า เราจะพูดเรื่องจริงหรือพูดเพื่อภาพลักษณ์ล่ะ เรื่องบริษัททัวร์เทลูกทัวร์ไม่มีทางหมดไปจากวงการท่องเที่ยว เมื่อเกิดเคสใหม่ก็รอให้เรื่องเงียบ ทุกอย่างก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม คนที่เกี่ยวข้องในวงการนี้แค่ภาวนาว่าอย่าเกิดขึ้นอีก มันวนกันไปแบบนี้ ขึ้นอยู่กับลูกทัวร์คนใดหรือกรุ๊ปใดจะโชคร้าย

“เรามีทั้งหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล มีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการขึ้นเป็นสมาคมฯ แต่ปัญหานี้ไม่เคยได้รับการแก้ไข มีเรื่องทีเต้นกันที สุดท้ายมันคือการสร้างความไม่มั่นใจให้ลูกค้าที่จะมาใช้บริการ ในที่สุดก็เป็นผลเสียที่ย้อนกลับเข้ามาที่ตัวผู้ประกอบการเอง”

ปัญหาที่ผ่านมาคนในวงการทัวร์ด้วยกันมักทำตลาดแบบตัวใครตัวมัน เข้าใจว่าทุกคนต้องการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการกับตนเองทั้งนั้น กลยุทธ์ด้านราคายังคงใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง โพสต์ราคาขายทัวร์ยิ่งถูกทำให้ลูกค้าตาลุก ทั้งๆ ที่มันมีรายละเอียดอยู่ด้านใน ลูกค้าบางคนดูแค่ราคา ไม่ดูรายละเอียดข้างในก็เกิดปัญหาขึ้นอีก

ถ้าเราจะมีมาตรฐานเรื่องราคาและโปรแกรมน่าจะเป็นเรื่องดี แต่จะมีช่องว่างอีกคืออ้างกันว่าเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนมีงบประมาณจำกัดมีโอกาสได้เลือก ปัญหามันจึงไม่มีทางจบ

ไม่มีวิธีดูทัวร์โกง

เมื่อสอบถามถึงคนในวงการทัวร์ต่างพูดตรงกันว่า ไม่มีวิธีดูว่าบริษัททัวร์ไหนจะโกงหรือไม่โกง หรือถ้าพูดติดตลกก็คือก่อนซื้อทัวร์คุณต้องดูดวงก่อน เพราะขนาดโฮลเซลหรือบริษัทที่ออกโปรแกรมทัวร์เองจะเบี้ยวเมื่อไหร่ ตัวแทนขายหรือเอเยนต์ก็ไม่มีทางรู้ได้เลย

เอเยนต์ในฐานะตัวแทนจำหน่ายมีรายได้จากค่าคอมมิชชัน ก็ยังเจ็บตัวได้เช่นเดียวกัน แถมเอเยนต์ต้องรับภาระเทียบเท่ากับโฮลเซลที่ออกโปรแกรมทัวร์ ทั้งๆ ที่ได้กำไรต่อลูกค้า 1 คนโฮลเซลมากกว่าเอเยนต์ แต่ด้วยระบบคือเมื่อเกิดปัญหาเอเยนต์ต้องรับผิดชอบต่อลูกค้า หลังจากนั้นจึงไปไล่ฟ้องเอากับโฮลเซลอีกที

ส่วนคำแนะนำอื่น เช่น ดูใบอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยว หรือรีวิวต่างๆ ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าคนจะโกงต่อให้มีทุกอย่างครบ เขาก็โกงได้เสมอ

“แต่ถ้าตอบกันตรงๆ มันก็พอมีวิธีป้องกันตัวเองได้แค่ระดับหนึ่ง อันดับแรกเอเยนต์ที่ขายทัวร์ถ้าเป็นรายใหญ่ๆ หรืออยู่ในวงการนี้มานาน พวกนี้ข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องสภาพคล่องของบริษัททัวร์ด้วยกันจะทราบเร็วมาก ถ้าเอเยนต์เขาป้องกันปัญหาให้ตัวเองก็จะไม่เอาโปรแกรมของรายที่มีปัญหามาขาย เท่ากับเป็นการช่วยลูกทัวร์ได้อีกทางหนึ่ง แต่ไม่มีอะไร 100%”


เจาะไส้ในโปรแกรมทัวร์

ถ้าจะบอกว่าคนที่เลือกเที่ยวกับทัวร์นั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุก็คงไม่มีใครปฏิเสธ แค่จ่ายเงินแล้วก็จบ แต่เชื่อหรือไม่ว่าการเลือกโปรแกรมการเดินทางสัก 1 เส้นทางไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนที่อาจเป็นทั้งผู้สูงอายุเองหรือให้ลูกหลานที่ช่วยดูโปรแกรมให้คนในครอบครัว อาจต้องเปรียบเทียบโปรแกรมกับเจ้าอื่นๆ เพื่อหาโปรแกรมเดินทางที่เหมาะกับบุคคลในครอบครัวมากที่สุด

เซลส์ที่ขายโปรแกรมทัวร์เขาต้องขายหลายเส้นทาง ไม่สามารถเปรียบเทียบรายละเอียดได้ของแต่ละเส้นทางที่ต่างโปรแกรมกันได้อย่างชัดเจน คนที่จะซื้อทัวร์อาจต้องนั่งศึกษาโปรแกรมเปรียบเทียบกันเป็นร้อยๆ โปรแกรมก็มี ยิ่งไม่ระบุเส้นทางที่ชัดเจนยิ่งต้องดูข้อมูลมาก

วนกลับไปที่โปรทัวร์ที่มักจะมีลูกเล่นซ่อนไว้เสมอคือ เส้นทางจีน ลงร้านกับไม่ลงร้านราคาก็ต่างกันไม่น้อย บางเส้นอาจต่างกันเกือบหมื่นบาทขึ้นอยู่กับแต่ละเส้นทาง

นอกจากนี้ ภาษาทัวร์ก็มีผลต่อการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เพจ Truth For Tour ความจริงเรื่องทัวร์ ได้สรุปความหมายของข้อความที่คนจะซื้อทัวร์ควรทราบด้วยว่า ผ่านชม นำชมและเข้าชม นั้นมีความหมายที่แตกต่างกัน ตรงนี้ต้องอ่านโปรแกรมทัวร์ให้ดีๆ ว่าที่เราอยากไปนั้นเป็นแบบใด

ผ่านชม คือ ที่สุดแห่งการชะโงก เพราะไม่มีโอกาสแม้แต่ยืนถ่ายรูป ส่วนมากคือนั่งชมบนรถบัสระหว่างขับผ่าน

นำชม ดีขึ้นมานิดหนึ่ง แต่ยังแฝงความกำกวมอยู่ เนื่องจากสื่อความหมายว่าได้หยุดชมจริง และมีผู้พาชม (ก็คือไกด์หรือหัวหน้าทัวร์) แต่อาจเป็นแค่ด้านหน้า หรือภายนอกอาคาร เพราะไม่มีคำไหนบ่งชี้ว่าได้เข้าชมด้านใน

เข้าชม เป็นคำที่ชวนอุ่นใจที่สุดใน 3 คำ เพราะมีคำว่า "เข้า" ย่อมสื่อความหมายว่าเข้าด้านใน

ทัวร์ถูก-ขายเพิ่ม

กรณีต่อมาคือราคาถูกเกิน ตรงนี้ต้องแยกว่าเป็นช่วงโปรไฟไหม้หรือไม่ หมายถึงลดราคาให้สำหรับผู้ที่พร้อมเดินทางทันที มีเวลาตัดสินใจเพียงไม่กี่วัน แบบนี้จะได้เดินทางเหมือนคนที่ซื้อโปรแกรมปกติ

อีกแบบคือเดินทางหลายวัน เช่น 6 วัน 5 คืน แถมราคาทัวร์ต่ำ 9,999-10,999 บาท ในนั้นจะเป็นทัวร์ลงร้าน มี Option เก็บยิบย่อยหลายรายการ ที่สำคัญอ่านให้ละเอียดนะว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น หมายเหตุ การเลือกซื้อออปชัน ทางบริษัทขอสงวนสิทธิหากจำนวนผู้ซื้อไม่ถึง 15 ท่าน ออปชันนั้นไม่สามารถจัดให้ลูกค้าไปเที่ยวได้ ถามว่าถ้ากรุ๊ปนั้นมีคนยอมจ่ายไม่ถึง 15 คนแปลว่าไม่ได้เดินทางไปใช่หรือไม่ แล้วช่วงเวลานั้นลูกทัวร์จะอยู่ตรงไหนและค่าอาหารอยู่ในความรับผิดชอบของใคร

“พูดตรงๆ เส้นทางที่ว่านั้นทำราคากันอยู่ที่ 18,000-20,000 บาทบวกลบ (ลงร้าน) รวมทุกอย่าง ที่ตั้งราคาต่ำหมื่นบวกไปบวกมาก็ราคาพอๆ กัน”

นี่คือปัญหาของวงการทัวร์ ซึ่งมีการเสนอเรื่องการวางเงินประกันและภาระความรับผิดชอบต่อลูกค้าระหว่างโฮลเซลกับเอเยนต์ว่า ควรมีระดับความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้า

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น