“รศ.ดร.เจษฎ์” เชื่อ “พรรคส้ม” เดินเกม “3 แพร่ง” ส.ส.ผลักดันแก้กฎหมาย คนที่ถูกตัดสิทธิเดินเกมปั่นหัวมวลชนนอกสภา ชักศึกเข้าบ้าน ดึงต่างชาติร่วมกดดัน พร้อมสร้างฐานคะแนน หวังเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า เชื่อ 44 ส.ส.ก้าวไกลที่เสนอแก้ ม.112 ไม่ถูกสอย เพราะเป็นการขับเคลื่อนตามกลไกสภา ขณะที่ คดี 112 ของ “ทักษิณ” ไม่น่ารอด เหตุ พฤติการณ์ชัดเจน อีกทั้งผลพวงจากกรณีกรรมการสิทธิยื่น ป.ป.ช. เอาผิด รพ.ตำรวจ เรือนจำกรุงเทพที่ช่วย “ทักษิณ” รอดนอนคุก อาจส่งผลให้ “ทักกี้” ต้องกลับเข้ารับโทษในเรือนจำ คาด “เพื่อไทย” จับมือ “พรรคส้ม” ดันกฎหมายนิรโทษกรรม พ่วงคดี 112
ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศตัดสิน “ยุบพรรคก้าวไกล” เนื่องจากเข้าข่ายความผิดฐานล้มล้างการปกครอง จากกรณีที่ใช้เรื่องการแก้ไข มาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียง พร้อมทั้งมีคำสั่งตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ทั้งชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 จนถึง 31 มกราคม 2567 รวมทั้งสิ้น 11 คน เป็นเวลา 10 ปี ก็เกิดปฏิกิริยาเคลื่อนไหวทั้งจากอดีตแกนนำพรรคก้าวไกลและเครือข่ายมวลชน ขณะที่หลายฝ่ายต่างคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา บ้างว่าจะส่งผลให้พรรคก้าวไกลยิ่งใหญ่ขึ้นตามมอตโต้ “ตายสิบ เกิดแสน” แต่บ้างก็ว่าอาจทำให้ก้าวไกลระส่ำระสายเพราะจะเกิดปรากฏการณ์ “งูเห่า” เลื้อยออกจากพรรค
ส่วนว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไรนั้นคงต้องไปฟังความเห็นจากนักวิชาการที่คร่ำหวอดทางการเมือง
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ระบุว่า โดยส่วนตัวประเมินว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมืองนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารดพรรคก้าวไกล รวม 11 คนนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคส้มมากนัก เนื่องจาก
1.จำนวนคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองครั้งนั้นนอกจากจะมีจำนวนมากกว่าแล้ว ยังมีบทบาททางการเมืองมากกว่ากรรมการบริหารพรรคก้าวไกลที่เพิ่งถูกตัดสิทธิอีกด้วย
2.มีการเตรียมตัวไว้แล้วว่าหากพรรคก้าวไกลถูกยุบจะทำอย่างไร มีการจัดตั้งพรรคและเตรียมหัวหน้าพรรคคนใหม่ไว้รองรับอยู่แล้ว ต่างจากครั้งที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบซึ่งการเตรียมตัวเพื่อรับมือนั้นมีน้อยมาก แต่ครั้งนั้นยังสามารถปลุกปั้นคนขึ้นมาใหม่เป็นพรรคก้าวไกลได้
3.พรรคส้มเปลี่ยนวิธีสู้ โดยยอมรับการถูกยุบพรรคและอาศัยประเด็นการยุบพรรคในการขับเคลื่อนเพื่อเรียกมวลชน ส่วนขั้นตอนทางการเมืองหลักจากพรรคก้าวไกลถูกยุบนั้น สำหรับ ส.ส.ที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองก็สามารถย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ที่ก้าวไกลตั้งไว้รองรับ หรืออาจจะย้ายไปสังกัดพรรคอื่นก็สามารถทำได้ ส่วนเก้าอี้ของ 11 ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ถ้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ปล่อยให้จำนวน ส.ส.ในสภาส่วนนี้หายไป ไม่ต้องทำอะไร เพราะเมื่อพรรคถูกยุบสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคจะหายไปด้วย แต่หากเป็น ส.ส.ในระบบเขต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้เข้ามาเป็น ส.ส.แทนคนที่ถูกตัดสิทธิ
“รศ.ดร.เจษฎ์” ชี้ว่า ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ หลังจากถูกยุบพรรคก้าวไกล บรรดาแกนนำต่างส่งสัญญาณ “ท้าชน” กับสถาบันอย่างชัดเจน เช่น นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า “สภาผู้แทนราษฎรเป็นสถาบันเดียวที่มาจากการแต่งตั้งโดยประชาชน” เพื่อกระทบไปถึงเบื้องบน อีกทั้งก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีที่ 3/2567 ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าวนั้น นายชัยธวัชก็ได้แถลงว่า “ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำให้กษัตริย์ขัดแย้งกับประชาชน”
หรือคำกล่าวของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่กล่าวหลังคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญว่า “นี่คือการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในประเทศนี้ ซึ่งคิดว่าเขามีอำนาจสูงสุดในประเทศ แต่เขาไม่รู้ตัวว่า ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดคือประชาชน แม้ศาลจะวินิจฉัยไม่ให้พรรคก้าวไกลไปต่อ แต่สิ่งที่เรากำลังรอฟังคือคำวินิจฉัยจากประชาชนว่าเขาตัดสินใจอย่างไร โดยเฉพาะคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และมีความฝันแบบเดียวกับพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล”
“ในเชิงสัญลักษณ์ก้าวไกลอาจรู้สึกว่าถูกทำร้ายหรือถูกทำลาย แต่ในแง่ของการต่อสู้เขาคิดว่าได้ผลบวกจากการถูกยุบพรรคเพราะเขาเตรียมวิธีต่อสู้แบบใหม่ไว้แล้ว ยิ่งยุบยิ่งดี แกนนำพรรคส้มต่างย้ำว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แปลว่าเขาเล่นไม่เลิก ดังนั้นชัดเจนว่าพรรคส้มจะยังคงสานต่ออุดมการณ์เดิมและเดินหน้าแก้ มาตรา 112 เดินหน้าปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนวิธีการเท่านั้น” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
รศ.ดร.เจษฎ์ วิเคราะห์ว่า รูปแบบในการเดินเกมของพรรคส้มหลังจากนี้นั้น จะมี 3 ส่วนหลักๆ คือ
1.ให้คนที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า นายพิธา ซึ่งอาจจะไปร่วมในคณะก้าวหน้า หรือ 44 ส ส.ก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อแก้ไข ม.112 ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าอาจจะถูก ป.ป.ช.ตัดสิทธิทางการเมือง เป็นผู้ขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปลุกระดมมวลชน หรือรณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และผลักดันให้ประชาชนเข้ามาร่วมเรียกร้องเรื่องการนิรโทษกรรมคนที่มีความผิดในคดี ม.112 ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพรรค หากไม่ได้เป็นไปในลักษณะหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายสถาบัน อย่างมากก็แค่เป็นความผิดตาม มาตรา 49 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” ผลที่ตามมาแค่อาจมีผู้ร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการดังกล่าว
2.ให้ ส.ส.ขับเคลื่อนในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายในสภา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขมาตรา 112 หรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมือง โดยพ่วงความผิดในคดี 112 เข้าไปด้วย
3.พยามดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซงและกดดันกระบวนการยุติธรรมของไทย อย่างที่เห็นจากกรณีที่นายพิธา เข้าพบอุปทูต 18 ประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตประชาธิปไตยในประเทศไทยและกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล และการที่สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการก้าวถอยหลังของประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นการก้าวล่วงกิจการภายในของไทยเหมือนที่เคยทำในยุคล่าอาณานิคม ซึ่งขั้นตอนต่อไปองค์กรต่างชาติเหล่านี้อาจจะไปปลุกปั่นในเวทีระดับโลก ปลุกปั่นในสภายุโรป เช่น ไปยุยงว่าอย่ารับประเทศไทยเข้าเป็นกรรมการในองค์การสิทธิมนุษยชน เพราะต่างชาติล้วนอยากจะเข้ามามีอิทธิพลและฉกฉวยทรัพยากรของไทยกันทั้งนั้น
“แน่นอนว่าพรรคก้าวไกลตั้งเป้าที่จะกวาดที่นั่งเพื่อเป็นพรรคอันดับหนึ่งและได้จัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนว่ามวลชนจะมีพลังมากน้อยแค่ไหนนั้นตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่หากจะมีการเรียกระดมพลโดยใช้ประเด็น ม.112 ณ เวลานี้ก็เชื่อว่าจะมีคนแค่หลักพันซึ่งไม่มากพอที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ 44 ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ และเอาผิดจริยธรรมจากกรณีที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข ม.112 ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าอาจถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตนั้น “รศ.ดร.เจษฎ์” มองว่า ไม่น่าจะถึงขั้นนั้น เนื่องจากสิ่งที่ 44 ส.ส.ก้าวไกลทำนั้นเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายโดยผ่านกลไกสภา ซึ่งเป็นกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ แม้ว่าเมื่อเสนอไปแล้วรองประธานสภาจะพิจารณาแล้วชี้ว่าไม่สามารถเสนอดำเนินการได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 แต่ถือว่าเป็นไปตามกลไกสภา ดังนั้นส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีความผิด
อย่างไรก็ดี ถ้าเรื่องส่งไปถึงศาล แล้วศาลเห็นว่ามีความผิดแต่ยังไม่เป็นไปในทางลบมากนักอาจจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองแค่บางคน คือคนที่อภิปรายในลักษณะล่อแหลม แต่ถ้าผลออกมาเป็นลบอย่างมากคือถูกตัดทางการเมืองทั้ง 44 คน ซึ่งต้องดูว่า ป.ป.ช.ยื่นเรื่องไปที่ศาลไหน ถ้าไปที่ศาลฎีกาอาจจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เหมือนกรณีของ “ช่อ-พรรณิการ์” แต่หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าศาลเชื่อว่าผิดจริง อันดับแรกจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากนั้นจะพิจารณาว่าทำผิดจริงหรือไม่ ถ้าผิดจริงจะถูกเพิกถอนสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งหากพิจารณาจากเกณฑ์ในปัจจุบันคาดว่าน่าจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปีเท่านั้น
“ถ้า 44 ส.ส.ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต จำนวน ส.ส.ที่ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ที่ก้าวไกลตั้งไว้รองรับการยุบพรรคจะหายไปเลยถึง 44 คน หากเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ปล่อยให้จำนวน ส.ส.ในสภาหายไปเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรเพราะเมื่อพรรคถูกยุบ สัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นจะหายไปด้วย ไม่ได้ติดไปกับพรรคใหม่ แต่หากใครเป็น ส.ส.ระบบเขต กกต.จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น ซึ่งไม่แน่ว่าผู้สมัครของพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่จะได้รับเลือกตั้งหรือเปล่า จึงสุ่มเสี่ยงว่าพรรคที่ตั้งขึ้นมาแทนก้าวไกลอาจจะไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่งในสภา และอาจถึงขั้นตกไปเป็นพรรคขนาดกลางก็ได้” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าในเมื่อพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรคจากความผิดในคดี ม.112 “นายทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งมีคดี ม.112 ค้างอยู่ไม่น่ารอดนั้น “รศ.ดร.เจษฎ์” ระบุว่า ตนเชื่อแบบนั้นเช่นกัน เพราะนอกจากคดี ม.112 ที่นายทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ในลักษณะกล่าวหาสถาบันเมื่อหลายปีก่อนแล้ว หากพิจารณาจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทักษิณมีพฤติกรรมที่หมิ่นสถาบันอย่างชัดเจน และกระทำมาหลายครั้งหลายหนแล้ว เช่น ไปนั่งในที่เสมอพระมหากษัตริย์ จะให้ในหลวงทรงมากระซิบข้างหู และปัจจุบันนายทักษิณได้ขัดพระบรมราชโองการ คือได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยลดโทษจำคุกจาก 8 ปี เหลือแค่ 1 แต่ก็ยังไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว ล่าสุดได้รับการพักโทษแต่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาในการรับโทษนายทักษิณ จะขอเดินทางไปต่างประเทศอีก รวมทั้งยังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่เย้ยฟ้าท้าดิน และเชื่อว่าหลังจากที่ก้าวไกลถูกตัดสินยุบพรรคจากคดี ม.112 พรรคเพื่อไทยจะหันมาจับมือกับก้าวไกลเพื่อผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่พ่วงคดี ม.112 ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างมาก
“คุณทักษิณน่าจะโดนคดี ม.112 มากกว่าก้าวไกลอีก เพราะทักษิณชัดเจนมากและไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว ถ้าคนมองว่าพรรคก้าวไกลจะล้มเจ้า คุณทักษิณก็คืออยากเป็นเจ้า แม้จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษให้ คุณทักษิณยังไม่ยอมติดคุกเลย และแน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยต้องพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยคุณทักษิณ ซึ่งจะรวมหมดทั้งคดี 112 และคดีทุจริต ซึ่งถ้าคุณทักษิณได้นิรโทษกรรม ถามว่า 4 หมื่นกว่าล้านบาทที่รัฐยึดไปต้องคืนคุณทักษิณด้วยไหม มีคนบอกว่าคนอย่างคุณทักษิณเนี่ยพระมหากรุณาธิคุณเพียงใดก็ไม่พอ ยิ่งเมตตายิ่งเหิมเกริม ยิ่งกรุณายิ่งท้าทาย ดังนั้นคนแบบนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ เมื่อเร็วๆ นี้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ยื่นเรื่องถึง ป.ป.ช.ให้เอาผิดผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจ และเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่ช่วยเหลือให้คุณทักษิณไม่ต้องนอนคุก ซึ่งไม่แน่ว่าอาจส่งผลให้คุณทักษิณต้องกลับมารับโทษในเรือนจำ และอาจเกิดกรณีหนีออกประเทศขึ้นอีกก็ได้” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j