xs
xsm
sm
md
lg

ชี้หาก “รัฐบาล” ยังคงนิ่งเฉย ไม่เกิน 5 ปี “ธุรกิจไทย” กว่า 50% จะตกเป็นของ “จีน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.อัทธ์” เผย “ทุนจีน” บุกทุบธุรกิจไทยเกือบทุกประเภท แม้แต่มหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน และบริการส่งพัสดุก็ไม่รอด หนักสุดคือสินค้า SME ที่โดนสินค้าจีนราคาถูกตีตลาด ขณะที่ “ธุรกิจเหล็ก” ของไทยแห่ปิดตัวไปแล้วไม่ต่ำกว่า 75 ราย พบ “ค่ายรถ EV” จากจีนแห่ตั้งฐานผลิตในไทย แต่ใช้ชิ้นส่วนจากจีนทั้งหมด อีกทั้งมีสัญญาณว่าจีนจะเข้ามาซื้อ-เช่าที่ดินในไทยเพื่อปลูกผลไม้ส่งไปขายที่จีน เตือน! หากรัฐบาลไทยไม่มีมาตรการป้องกัน ธุรกิจไทยกว่า 50% จะเปลี่ยนมือไปเป็นของจีนภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี



เป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งสำหรับการรุกคืบของ “ธุรกิจจีน” ที่เข้ามายึดครองตลาดของไทยในหลากหลายธุรกิจ โดยล่าสุด ได้มีการเปิดซูเปอร์มาร์เกตจีนกลางเมืองนครราชสีมา ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าอีกไม่นานไทยอาจถูกทุนจีนยึดประเทศซ้ำรอย สปป.ลาว และกัมพูชา

ส่วนว่าปัจจุบันทุนจีนได้เข้ามารุกธุรกิจอะไรในไทยบ้าง? สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร? และไทยมีโอกาสที่จะถูกจีนยึดประเทศอย่างที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงหรือไม่นั้น คงต้องฟังข้อมูลจากผู้ที่เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระบุว่า ตอนนี้ธุรกิจทุกประเภทของไทยล้วนได้รับผลกระทบจากทุนจีนที่เข้ามาตีตลาดไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้า SME อุตสาหกรรม ธุรกิจเหล็ก โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจทัวร์ สปา โรงงานผลิตรถยนต์อีวี อีคอมเมิร์ซ ธุรกิจขนส่งพัสดุ ปั๊มน้ำมัน สินค้าเกษตร โดยแต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป แม้แต่มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งก็ถูกทุนจีนเทกโอเวอร์ไปแล้ว

โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากทุนจีนมากที่สุดเห็นจะเป็น “สินค้า SME” ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคิดเป็น 90% ของ SME ไทยทั้งหมด โดยช่วงแรกเป็นการส่งสินค้าจีนที่มีราคาถูกเข้ามาขาย เช่น ร้าน 20 บาท ต่อมาเมื่อการขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยม สินค้าจีนก็เข้ามาตีตลาดออนไลน์ในไทย และเนื่องจากสินค้าจีนมีราคาถูกมากแม้จะเสียภาษีนำเข้าแล้วราคายังถูกกว่าสินค้าไทย จึงส่งผลให้ยอดขายของสินค้าไทยตกลงจนผู้ผลิตรายย่อยอยู่ไม่ได้และต้องปิดตัวไปในที่สุด อีกทั้งปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการจีนเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าในประเทศไทย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยลำบากมากยิ่งขึ้น

ต่อมาได้แก่ “อุตสาหกรรมยานยนต์” เนื่องจากเดิมไทยผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปหรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่เมื่อรถพลังงานไฟฟ้าเข้ามาตีตลาด ทำให้ทิศทางของตลาดรถยนต์ไทยเปลี่ยนไป เมื่อต้องเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจึงส่งผลให้นวัตกรรมของผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิต Tier2 (บริษัทที่ประกอบชิ้นส่วนยานยนต์) Tier 3 (บริษัทที่ผลิตวัตถุดิบเพื่อประกอบเป็นชิ้นส่วนยานยนต์) ตามไม่ทัน ขณะที่มีค่ายรถ EV จากจีนถึง 7 ราย ประกาศว่าจะเข้ามาผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตจากจีนเข้ามาแล้ว 3 ราย ได้แก่ GWM, NETA และ MG ตามด้วย BYD และ GAC Aion ซึ่งมีแผนจะเริ่มการผลิตรถยนต์ EV ในไทยในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2567 รวมถึง Changan ที่จะเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2568

อีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบคือ “อุตสาหกรรมเหล็ก” ซึ่งกำลังย่ำแย่จากการทุ่มตลาดของจีน รวมถึงการที่จีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กในประเทศไทย ผู้ผลิตเหล็กไทยต้องแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้าจากจีนซึ่งราคาถูกกว่า ขณะที่ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและแปรรูปเหล็กทำให้ต้นทุนการผลิตเหล็กของไทยสูงกว่าจีนซึ่งผลิตเหล็กตั้งแต่ต้นน้ำ ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ธุรกิจเหล็กของไทยต้องปิดตัวไปแล้วถึง 75 ราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตรายกลางและรายเล็ก

แม้แต่ “ธุรกิจปั๊มน้ำมัน” ก็ยังถูกแย่งตลาดจากทุนจีน โดยเมื่อปี 2566 รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้ทุนจีนเข้ามาซื้อปั๊ม Susco ในไทย โดย Susco ถือหุ้น 51% และ Sinopec ถือหุ้น 49% พร้อมเปิดตัวปั๊มน้ำมันแบรนด์ SINOPEC SUSCO ในไทย ซึ่งเป็นปั๊มน้ำมันภายใต้การบริหารของ SDA มีทั้งหมด 25 สถานี โดย 20 สถานีเป็นการเปลี่ยนชื่อจาก SUSCO เป็น SINOPEC SUSCO และอีก 5 สถานีเป็นสาขาเปิดใหม่ อีกทั้งมีแผนขยายเป็น 100 สถานี ภายในปี 2573

“บริษัทรถยนต์” ของจีนที่เข้ามาผลิตรถ EV ในไทย เขาเข้ามาแบบครบวงจร เขาเอาชิ้นส่วนการผลิตเข้ามาด้วย วิศวกรที่ควบคุมการผลิตก็เป็นคนจีน มีแค่แรงงานที่เป็นคนไทย แล้วไทยไม่มีนโนบายและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่รองรับการผลิตรถยนต์ EV ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยไปต่อยาก” รศ.ดร.อัทธ์ ระบุ


รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวต่อว่า หลายปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจทัวร์ รวมถึงร้านขายของฝากของไทยต่างได้รับผลกระทบจากผู้ประกอบการจีนที่เข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการจีนจะใช้วิธีเซ้งกิจการของคนไทยไปทำต่อโดยจ่ายค่าเช่าในราคาสูง แต่บุคลากร วัตุดิบ และสินค้าที่นำมาขายล้วนนำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมดเนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่า

อีกธุรกิจที่น่าสนใจคือ “ธุรกิจขนส่งพัสดุ” ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัทที่ดำเนินกิจการในไทยนั้นแม้จะมีกรรมการบริษัทส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่กลับมีผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์รวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Kerry Express Flash Express J&T Express BEST Express หรือ Ninja Van ล้วนมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ ยกตัวอย่าง บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทส่งพัสดุเอกชนในไทยที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันมีจุดบริการกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ แต่เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2567 เคอรี่ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าได้มีการขายกิจการพร้อมหุ้น 100% ให้แก่บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ S.F. Holding Co. ยักษ์ใหญ่ด้านขนส่งจากจีน

นอกจากนั้น “สินค้าเกษตร” ของไทยก็ได้รับผลกระทบจากจีนเช่นกัน โดยเฉพาะผลไม้ซึ่งเป็นที่นิยมของคนจีนอย่างทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง รวมถึงยางพาราซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรที่จีนต้องการด้วย เนื่องจากปัจจุบันจีนเข้ามาทำธุรกิจเกษตรแบบครบวงจรในประเทศไทย ซึ่งต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วซึ่งจีนจะเข้ามาซื้อผลผลิตแบบเหมาสวน แล้วส่งไปขายในประเทศจีน ซึ่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทยบ้างเล็กน้อย จากนั้นเข้ามาตั้งล้งรับซื้อผลไม้ไทยแล้วส่งไปขายที่จีนแทน ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อพ่อค้าไทยที่จำน่ายและส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศ แต่ปัจจุบันจีนมีสัญญาณว่าอยากเข้ามาซื้อสวนผลไม้หรือซื้อที่ดินในไทยเพื่อปลูกผลไม้ที่คนจีนนิยม อย่างทุเรียน ลำไย แล้วส่งไปขายที่จีน ซึ่งอาจจะทำให้อาชีพเกษตรไทยล้มหายตายจากไป เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรไทยประสบปัญญาต้นทุนการผลิตสูงและความไม่แน่นอนของธรรมชาติ บางปีก็น้ำแล้ง บางปีก็น้ำท่วม ดังนั้น หากมีต่างชาติมาซื้อหรือเช่าที่ดินทำสวนผลไม้โดยให้ค่าตอบแทนสูง คนไทยอาจจะเลิกทำอาชีพการเกษตร

“ที่ผ่านมา ล้งไทยที่ทุนน้อยก็ปิดตัวไปเยอะเพราะสู้ทุนล้งจีนไม่ได้ แต่ถ้านโยบายรัฐบาลที่จะให้ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินของไทยได้ 99 ปี ออกมาบังคับใช้สถานการณ์จะยิ่งแย่กว่านี้ เพราะจะเข้าทางจีนซึ่งต้องการเข้ามาปลูกผลไม้ในไทยเพื่อส่งออกไปจีน อีกหน่อยไทยจะต้องซื้อทุเรียนจากคนจีน สายพันธุ์ทุเรียนของไทยอาจจะสูญหายไป และแน่นอนว่านโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างมาก ไม่ใช่แค่การเกษตรแต่ยังกระทบไปยังธุรกิจทุกภาคส่วนเพราะเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามายึดพื้นที่ในการทำธุรกิจในไทย โดยตอนนี้นโยบายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการศึกษา ดังนั้น เชื่อว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันคัดค้านโยบายนี้” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยทยอยปิดกิจการ
ส่วนแนวทางในการรับมือกับทุนจีนที่เข้ามาตีตลาดไทยนั้น “รศ.ดร.อัทธ์” แนะนำว่า ถ้าเป็นผู้ผลิตสินค้ารายย่อย หรือ SME อาจจะต้องร่วมทุนกับจีนเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ หากเป็นผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ก็จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ EV ซึ่งกำลังจะเข้ามาแทนรถยนต์สันดาป ส่วนสินค้าเกษตรนั้นหากเป็นล้งที่รับซื้อผลไม้เพื่อส่งออกหรือจำหน่ายภายในประเทศ ต้องปรับตัวด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า เช่น ถ้ารับซื้อมะพร้าวอ่อนส่งขาย ก็นำเปลือกที่เหลือจากการตัดแต่งมาทำปุ๋ยขายเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนของมาตรการภาครัฐของไทยที่จะปกป้องสินค้าไทยจากทุนจีนนั้น โดยส่วนตัวมองว่ามาตรการที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือมาตรการด้านภาษีและการตรวจสอบว่ามีการทุ่มตลาดหรือเปล่านั้นยังไม่เพียงพอ ประเทศอื่นมีการเปิดเสรีการค้าเหมือนไทยแต่เขามีมาตรการที่จะดูแลผู้ประกอบการในประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องทำคือการวางมาตรการเพื่อปกป้องธุรกิจของไทย เช่น ออกระเบียบว่าช่วงไหนที่สินค้าไทยผลิตออกมาเยอะก็ต้องลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนนักลงทุนที่เข้ามาผลิตสินค้าในไทยนั้น รัฐบาลต้องตั้งเงื่อนไขว่าต้องเข้ามาสร้างห่วงโซ่การผลิตให้แก่ผู้ประกอบการไทย ต้องซื้อวัตถุดิบภายในประเทศไทย ต้องมีธุรกิจไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจของจีนหรือต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ไม่ใช่ว่าเข้ามาผลิตสินค้าในไทยแต่นำเข้าวัตถุดิบมาจากจีนทั้งหมด ส่วนธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม บริษัททัวร์ และร้านขายของฝากที่คนจีนเข้ามาลงทุนในไทยนั้นภาครัฐต้องใช้มาตรการทางภาษี การควบคุมคุณภาพ และออกข้อกำหนดให้ใช้วัตถุดิบของประเทศไทย

“เราอย่าคิดแค่มูลค่าที่เข้ามาลงทุนในไทย แต่ต้องดูถึงผลกระทระทบที่ตามมาด้วย ต้องเป็น Quality FDI หรือการลงทุนจากต่างประเทศที่มีคุณภาพ คือ มาเทรนด์คนไทยให้มีทักษะมากขึ้น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการไทย มาสร้าง Supply Chain ในไทย นอกจากนั้น ภาครัฐต้องขึ้นทะเบียนชาวต่างชาติที่มาอาศัยและทำมาหากินในประเทศไทยเพื่อที่จะเก็บข้อมูลว่าแต่ละคนเข้ามาทำงานอะไร ทำธุรกิจอะไร ถือหุ้นในธุรกิจใดในสัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อที่ป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันในแต่ละธุรกิจมากเกินไป” รศ.ดร.อัทธ์ ระบุ

รศ.ดร.อัทธ์ ชี้ว่า เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายของไทยมีความไม่โปร่งใสทำให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาตีตลาดไทยได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ของประเทศไทยจะไม่รุนแรงเท่าลาวและกัมพูชาที่ถูกจีนเข้ามายึดธุรกิจไปเกือบหมดแล้ว เนื่องจากกลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยมีความหลากหลายมากกว่า ไม่ใช่มีแค่นักธุรกิจจากประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่หากรัฐบาลไทยไม่ทำอะไรเลย เชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปีเราจะเห็นธุรกิจไทยเกินกว่า 50% เปลี่ยนมือไปเป็นของคนจีน

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น