ถึงยุคทนายความครองจอทีวี และ Social Media ไม่ว่าจะข่าวไหนก็เจอแต่ทนาย ทนายด้วยกัน ชี้โลกเปลี่ยนหลีกข้อจำกัดมรรยาททนาย ทำตลาดต้องอยู่บนหน้าสื่อช่วยสังคมก็ส่วนหนึ่ง ลูกค้าตามมาก็อีกส่วนหนึ่ง ทนายอีกกลุ่มเลือกแทงสวนยืนอีกข้าง ซึ่งโตได้เร็วกว่า กลายเป็นโมเดลที่ลงตัวรายการ Talk ทางทีวี สร้างเรตติ้ง-เพิ่มลูกค้า
ถึงวันนี้ผู้ชมรายการข่าวไม่ว่าจะรับชมทางทีวีหรือข่าวตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าหลายข่าวมักมีทนายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ จนกลายเป็นเรื่องที่ชินตาสำหรับผู้ชมไปแล้ว ยิ่งเรื่องใดเป็นความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายมักมีทนายความเข้ามามีบทบาทแทบทั้งสิ้น
ข่าวดารากู้ยืมเงินกันจนฟ้องร้อง ข่าวสมาชิกวุฒิสภา ข่าววุฒิการศึกษาปลอม ข่าวพระหรือผู้วิเศษต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีทนายเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเรียกว่าเป็นยุคทองของทนายก็ว่าได้ ยิ่งมีเรื่องเยอะ คดีเยอะ รายได้ก็เยอะตามไปด้วย
ขู่ฟ้องคนเห็นต่าง
ทนายความรายหนึ่งที่มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เราไม่มีเจตนาให้ร้ายใคร เพียงแต่อยากให้สังคมได้เห็นว่าตอนนี้เส้นทางเดินของอาชีพทนายความเป็นอย่างไร วันนี้คุณดูรายการทีวีช่องไหนก็เห็นแต่ทนาย หรือข่าวที่เกิดขึ้นก็มีทนายเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เข้าใจได้ว่าสังคมยุคนี้ทุกคนใช้สิทธิในการปกป้องตัวเอง จึงกลายเป็นบ่อเงินบ่อทางให้คนที่มีความรู้ด้านกฎหมาย
“สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ ใครวิจารณ์ฟ้องหมด วิจารณ์วุฒิการศึกษา วิจารณ์ผู้วิเศษ วิจารณ์ของวิเศษ ขู่ฟ้องไม่เลือกหน้า ใครอยากจะบิดเบือน โกหก เกินจริงมีบริการทนายขู่ฟ้องหมด พร้อมตั้งคำถามว่าไม่รู้ปกป้องความยุติธรรม หรือปกป้องลูกความเป็นหลักกันแน่”
ในมุมทางกฎหมายก็ยังมีช่องว่างอยู่
การฟ้องไม่ได้หวังผลเรื่องแพ้หรือชนะ ตั้งใจฟ้องในพื้นที่ไกลๆ หรือทั่วประเทศ เพื่อให้จำเลยไปศาลบ่อยๆ ไม่ต้องทำมาหากิน หากจำเลยไม่มีเงินจ้างทนายสู้ต้องยอมจำนน
หากต้องการฟ้องกลับ ฟ้องเท็จ ข้อกำหนดคือต้องฟ้องที่เกิดเหตุ เช่น คดีเกิดในพื้นที่ไกลๆ ไม่สะดวกเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่ายจึงมักไม่ฟ้องกลับ ดังนั้นพวกที่ฟ้องดะก็ลอยนวล
ทนายความมักอ้างว่าได้รับข้อสันนิษฐานว่า.. และกระทำในวิชาชีพ จึงมักรอดจากมรรยาทสภาวิชาชีพแทบทุกราย ทั้งที่สังคมตั้งคำถามเรื่องคุณธรรม
ทั้งหมดที่กล่าวมา การบิดเบือนข้อกฎหมาย สร้างเรื่องสร้างงาน สร้างรายได้ ทนายความได้เงิน แถลงข่าวขู่ จนทำให้สังคมมีความเชื่อและเข้าใจกฎหมายผิดๆ หากจะเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมทนายความก็คงไม่ผิด
ทะลุข้อจำกัดมรรยาททนาย
ที่จริงข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความออกกฎควบคุมไว้หลายข้อ เช่น หมวด 3 มรรยาทต่อตัวความ ข้อ 9 กระทำการใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้
ข้อ 10 ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่างหรือแก้ต่าง
1) หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้
2) อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความคนอื่น
3) อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่า
ตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใดๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นแล้วจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้
หมวด 4 เรื่องโฆษณาในข้อ 17 และที่ใช้กันมากคือข้อ 18 ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ
นักกฎหมายอาวุโสอีกรายกล่าวว่า ในอดีตคนที่จบนิติศาสตร์มักไปตามเส้นทางทนาย อัยการ หรือผู้พิพากษา หรือเป็นนิติกรตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หลายคนเข้าไปลงสนามการเมืองจนเป็นรัฐมนตรีจนถึงนายกรัฐมนตรีก็มี
คนที่ตั้งใจเป็นทนายมักจะติดขัดในเรื่องข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการโฆษณา ในหมวด 4 มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดีและอื่นๆ ข้อ 17 ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใดๆ ดังต่อไปนี้
1.อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศโฆษณาของทนายความเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความเอง หรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการใดที่เกี่ยวข้อง หรือ
2.ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงาน อันเป็นไปในทางโอ้อวดเป็นเชิงชักชวนให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่าง หรือแก้ต่างให้ เว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิหรืออื่นๆ ดังกล่าวตามสมควรโดยสุภาพ
เปลี่ยนโฉมวงการทนาย
ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ทนายใหม่ๆ เติบโตได้ช้า และการที่ต้องเดินตามรอยของทนายผู้ใหญ่นั้นย่อมขัดกับแนวทางของคนรุ่นใหม่ ประกอบกับเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก จึงทำให้มีการใช้ช่องว่างเหล่านี้กันมากขึ้น
ถ้าเอาจุดเริ่มต้นของยุคทนายความเบ่งบานที่มาถึงวันนี้ น่าจะเริ่มในยุค 5 ทนายที่ดังมาจากรายการทีวีช่องหนึ่ง ได้แก่ ทนายตั้ม ทนายรณรงค์ ทนายเจมส์ ทนายรัชพล และทนายเกิดผล ที่ช่วยเหลือและให้ความรู้ด้านกฎหมาย จากนั้นทนายแต่ละคนก็เติบโตไปตามเส้นทางของตัวเอง ส่วนใหญ่ยังอยู่บนหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง มากบ้างน้อยบางตามแนวทางของแต่ละคน
จากนั้นรายการ Talk เกี่ยวกับข่าวมักเชิญทนายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรายการด้วยเสมอ จะเรียกทนายหน้าจอก็ว่าได้ มีหน้าที่ให้ความรู้ทางกฎหมายกับเรื่องที่พูดคุยกันในรายการ
นี่จึงกลาย Model ให้ทนายความทั้งรุ่นเดิมและรุ่นใหม่โดดเข้ามาในเส้นทางนี้กันหลายราย
“ต้องยอมรับความจริงว่าทนายความที่ออกรายการทีวี ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวทนายและสำนักงาน และมีผลต่อลูกความใหม่ๆ ที่จะเข้ามาใช้บริการ ถ้าพูดตรงๆ อาจมองได้ว่าเป็นโฆษณาอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นการทะลุข้อจำกัดของมรรยาททนายความข้อ 17”
หนึ่งใน 5 ทนายดังยอมรับว่าการออก TV มีผลต่อลูกค้ารายใหม่ที่จะเข้ามา
ทำดีเกิดช้า-แทงสวนโตเร็ว
วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก เทคโนโลยีก้าวหน้า โลกออนไลน์ใครๆ ก็เข้าถึงได้ จะทำอย่างไรให้ตัวคุณ (ทนาย) มายืนอยู่ในจุดที่ผู้คนให้ความสนใจ เราจึงเห็นวิธีการที่หลากหลายของทนายความแต่ละราย
วิธีการเข้ามามีทั้งในรูปของการทำดี เช่น การให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกระทำ ในรูปของทนายอาสาไม่มีค่าใช้จ่าย พาไปร้องทุกข์ตามหน่วยงานต่างๆ ตรงนี้ถือเป็นการช่วยอุดช่องโหว่ของระบบราชการบ้านเรา เช่น เคยแจ้งความแล้วแต่เรื่องเงียบ ต้องพึ่งทีมงานเหล่านี้แล้วเรื่องคืบหน้า
เมื่อแนวทางการทำดีเริ่มมีมากขึ้น มีหลายกลุ่มทำ จึงมีทางลัดด้วยการแทงสวน หมายถึงเข้ามาช่วยฝ่ายตรงข้ามที่ถูกสังคม
มองว่าเป็นฝ่ายผิด การออกมาช่วยคู่กรณีอีกฝั่งหนึ่งตรงนี้อาจไม่ได้เงินในระยะแรก แต่ได้ภาพ คนในสังคมเริ่มรู้จักมากขึ้น แม้จะเป็นมุมมองในเชิงลบก็ตาม ยังงัยก็มีลูกความมาใช้บริการ นี่คือวิธีที่ทำให้ทนายสายนี้ขึ้นมาได้เร็วกว่าการทำดีช่วยเหลือคนอื่น
“ตอนนี้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมาก คือ การจับมือกันระหว่างทนายความกับรายการทีวี ผู้เสียหายร้องทุกข์มาที่ทนายหรือทีมช่วยเหลือ เมื่อนำมาออกกาศ รายการทีวีได้เรตติ้ง โฆษณาเข้ามากขึ้น ส่วนทนายได้ภาพบวก ลูกค้าวิ่งเข้ามาติดต่อ”
แม้ในทางปฏิบัติจะมีหน่วยงานควบคุมทนายความอย่างสภาทนายความ ซึ่งอาจเรียกทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาททนายความ มาอบรม-คาดโทษ หรืออาจหนักจนถึงพักใบอนุญาตทนายความถือว่าเป็นโทษหนักสำหรับทนายความ
แม้ที่ผ่านมาแม้ทนายความบางท่านจะถูกพักใบอนุญาตบ้าง แต่อาจไม่กระทบมากนักเนื่องจากทนายดังๆ จะมีทีมทนายน้องๆ ในสำนักงานรับงานต่อได้ ไม่ต่างไปจากการเป็นหัวหน้าทีมแม้จะถูกพักใบอนุญาต ก็ออกงานได้เพื่อสร้างงานให้ลูกทีม
ทนายความต้องมีต้อง 2 ฝ่ายคือฝ่ายโจทก์และจำเลย ซึ่งทนายที่เลือกแทงสวนในทางปฏิบัติถือเป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าทนายที่จะเลือกรับลูกความต้องสอบถามลูกความมาระดับหนึ่ง และประเมินได้ว่าลูกความของตนเป็นฝ่ายผิดหรือถูก ถ้าผิดก็แนะนำให้ลูกความยอมรับ แต่มีในบางกรณีที่ดูแล้วลูกความผิดแต่ยังเดินหน้าสู้ก็มี
บริการได้ทั้งเป็นข่าวถึงออกรายการ
อาชีพนี้มันเป็นธุรกิจ เพียงแต่มีข้อจำกัดในเรื่องจริยธรรมเข้ามาควบคุมมากกว่าอาชีพทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่าจะหาลูกค้าเข้ามาด้วยวิธีใด
บางค่ายเน้นไปที่สร้างภาพลักษณ์ช่วยเหลือคนเดือดร้อน บางค่ายเน้นรับงานเฉพาะคดีที่มีความชำนาญ เช่น คดีฟ้องหย่า ผัว-เมีย บางค่ายเน้นคดีเกี่ยวกับพระ ทนายบางท่านพยามผันตัวเองไปเส้นทางอื่นก็มี เช่น ลงรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา บางรายเป็นผู้ประกาศข่าว แต่ยังมีทีมทนายในสังกัดอยู่
หรือการ Live ของทนายแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ก็มีผล ด้านหนึ่งถูกระบุว่าเป็นการให้ความรู้ทางกฎหมาย แต่อีกด้านเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ทนายท่านนั้นด้วยเช่นกัน
มันคือวิธีการทำตลาดของทนายความในยุคนี้ ขึ้นอยู่กับท่านใดจะใช้วิธีการแบบใด แนวทางที่มาในรูปของงานอาสาอาจไม่มีค่าใช้จ่าย แต่มักจะเป็นเฉพาะบางกรณีเท่านั้น ไม่ใช่ทุกกรณี เช่น ทีมงานทนายอาจช่วยเหลือเฉพาะในกรณีพอไปร้องทุกข์ให้ ส่วนตัวคดีอาจต้องมีค่าใช้จ่ายตามมา ตรงนี้ต้องแยกกัน
ทนายที่ยึดหน้าจอทีวีได้นาน ยิ่งมีโอกาสในการเรียกลูกความได้มากขึ้น และจะกลายเป็นแต้มต่อในการหาลูกค้า เพราะสามารถให้บริการลูกค้าได้ทั้งแบบเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว เนื่องจากทนายเก๋าๆ เหล่านี้จะมีนักข่าวคอยตามคดีต่างๆ ที่มีการร้องเรียนเข้ามา แค่พาผู้เสียหายไปร้องเรียนก็เป็นข่าวแล้ว หรืออาจขยับไปถึงขั้นออกรายการทีวีดังๆ ตามช่องต่างๆ ก็สามารถทำได้ ส่วนจะถือเป็นอีกบริการหนึ่งหรือไม่ขึ้นอยู่กับลูกความจะมอง แต่ทนายเล็กๆ แบบนี้ทำไม่ได้แน่นอน
ตอนนี้ทนายจึงมีหลายกลุ่ม มีทั้งแบบที่เป็นแขกประจำในรายการกับแบบว่าจ้างทำเป็นสัญญาก็มี บางกลุ่มถึงกับมีรายการทีวีเป็นของตัวเองก็มี
วันนี้ไม่ได้เน้นกันที่แพ้หรือชนะ แต่เน้นที่ใครมีคดีอยู่ในมือมากกว่ากัน เพราะหมายถึงรายได้ของตัวทนายและสำนักงาน ถ้าชนะเป็นจุดขาย ถ้าแพ้ก็เงียบ นอกจากนี้ ทนายความยังสามารถขอถอนตัวจากลูกความได้ ถ้าความเห็นไม่ตรงกัน ที่อาจเป็นผลเสียต่อรูปคดี เช่นลูกความปกปิดความจริง
แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสภาทนายความควรเข้ามาดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยที่ผลิตนักกฎหมายออกมา อาจารย์ผู้สอนควรมีส่วนในการท้วงติงสิ่งที่ลูกศิษย์ที่เป็นนักกฎหมายเหล่านี้ ถ้ากระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ไม่เช่นนั้นคดีความจะเพิ่มขึ้นจนรกศาล
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j