xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ “ลาว” ควรกลัวเงินหยวนมากกว่า “เงินบาท” เหตุไทยไปร่วมทุน แต่จีนลงทุนแบบยึดประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประธานหอการค้านครพนม” ยัน “แบนเงินบาท” ไม่กระทบไทย ล่าสุด การค้าชายแดนไทย-ลาว ยังคงใช้เงินบาท เพราะต้นทุนถูกกว่า ไร้ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ชี้ “เงินบาท” ที่ใช้โดยคนไทยซึ่งอยู่ในประเทศไทยไม่น่ากลัวเท่า “เงินเหยวน” ซึ่งใช้โดยคนจีนที่หากินอยู่ในลาว ติงไทยร่วมลงทุนในลาวแบบ 50:50 ขณะที่จีนเป็นเจ้าของกิจการในลาว 100% ด้าน “ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว” ระบุ “เงินกีบ” อ่อนค่า เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจลาวอ่อนแอ นำเข้ามากกว่าส่งออก ต่างชาติไม่เข้าไปลงทุน เตือน “แบนเงินบาท” ทำคนไทยไม่เที่ยวลาว พร้อมแนะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคไทยเตรียมหาตลาดใหม่แทนตลาดลาว เร่งเดินหน้าโครงการ Co-Branding ไทย-ลาวเพื่อเจาะตลาดจีน



กรณีที่ชาว สปป.ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ประกาศ แบนเงินบาทของไทย เพื่อดันให้ “เงินกีบ”แข็งค่าขึ้นนั้น กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความไม่พอใจให้แก่คนไทยจำนวนไม่น้อย ถึงขั้นที่ระบุว่าจะไม่ไปเที่ยวลาวอีกต่อไป ขณะเดียวกัน แทนที่การแบนงินบาทครั้งนี้คงช่วยให้ “เงินกีบ” แข็งค่าขึ้น แต่ในทางกลับกันกลับฉุดให้ค่าเงินกีบอ่อนตัวลงไปอีก โดยค่าเงิน ณ วันที่ 18 ก.ค.2567 อยู่ที่ 615 กีบ ต่อ 1 บาท และมีแนวโน้มที่จะตกลงเรื่อยๆ

ส่วนว่าการ “แบนเงินบาท” ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่ อย่างไร? และปัจจัยใดที่ทำให้ “เงินกีบ” อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องนั้น คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้รู้

นายธนพัต ทีฆธนานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม
นายธนพัต ทีฆธนานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม ยืนยันว่า การแบนเงินบาทของลาวนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยแต่อย่างใด เนื่องจากไทยไม่มีความจำเป็นมากนักที่ต้องซื้อสินค้าจากลาว ขณะที่ลาวมีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าจากฝั่งไทยโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากลาวไม่มีโรงงานผลิตสินค้าเอง ส่วนภาคการท่องเที่ยวนั้นลาวไม่ใช่เป้าหมายหลักที่คนไทยจะไปเที่ยว ต่างจากญี่ปุ่นและเกาหลี

ส่วนการค้าชายแดนไทย-ลาวไม่ได้รับผลกระทบจากการแบนเงินบาทเช่นกัน โดยปัจจุบันยังคงใช้เงินบาทในการซื้อขายสินค้าระหว่างไทย-ลาวเหมือนเดิม คนลาวยังรับเงินบาทอยู่ เนื่องจากการใช้เงินบาทในการซื้อขายนั้นช่วยลดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพราะปัจจุบันค่าเงินกีบมีความผันผวนสูงมาก และอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการใช้เงินบาทซื้อขายสินค้าโดยตรงโดยไม่ผ่านระบบส่งออก-นำเข้าทำให้ไม่ต้องเสียภาษี ต้นทุนสินค้าจึงถูกกว่า ซึ่งสังเกตได้ว่าจังหวัดตามแนวชายแดนของลาวซึ่งแม้เป็นจังหวัดเล็กๆ และจำนวนประชากรไม่มาก แต่สินค้าโชห่วยนั้นขายดีมาก เนื่องจากสินค้าที่พ่อค้าลาวข้ามมาซื้อจากฝั่งไทยไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ดีลเลอร์ซึ่งนำเข้าสินค้าจากไทยแล้วนำไปกระจายให้ร้านค้าต่างๆ ในลาวต้องเสียภาษีนำเข้า โดยสินค้าที่ลาวนำเข้าจากไทยมากที่สุดคือสินค้าอุปโภคบริโภค ตามด้วยยารักษาโรค

“การแบนเงินบาทไม่มีผลต่อการใช้เงินบาทในตลาดการค้าชายแดนไทย-ลาว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ค้าจะเป็นรายย่อย หรือ SME และใช้เงินบาทในการซื้อขาย โดยคนลาวจะเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านโชห่วยหรือห้างค้าปลีกในไทยเพื่อนำไปจำหน่ายหรือกินใช้เองซึ่งไม่ต้องเสียภาษี นั่งเรือข้ามมาเสียแค่ค่าผ่านแดน 60 บาท คนไทยซื้อสินค้าจากลาวก็ใช้เงินบาทเหมือนกัน หรือบางทีก็โอนเงินเข้าบัญชีกันไปมา คือคนลาวมีบัญชีธนาคารไทยเหมือนกันโดยเปิดบัญชีในนามนอมินีคนไทย เขาไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินระหว่างประเทศ นอกจากนั้น คนลาวยังข้ามมารักษาพยาบาลในไทยเยอะมาก ซึ่งเวลาจ่ายค่ารักษาที่โรงพยาบาลของไทยก็ต้องใช้เงินบาท” นายธนพัต ระบุ


ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวในลาวนั้นปัจจุบันยังรับเงินบาทอยู่ แต่อาจจะมีในเขตเวียงจันทน์ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่ไม่รับเงินบาท ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังไงก็ต้องพึ่งพาเงินบาท หรือเงินด่องของเวียดนาม ซึ่งจริงๆ การใช้เงินลักษณะนี้ถือว่าคนลาวได้เปรียบไทย เพราะคนไทยไปเที่ยวลาวใช้เงินบาทในการซื้อข้าวของ แต่เวลาทอนเงินคนลาวทอนเป็นเงินกีบซึ่งตอนไปแลกคืนจะได้น้อยมากเพราะค่าเงินกีบไม่เสถียร อย่างไรก็ดี ขณะนี้พบว่านอกจากเงินบาทแล้ว สกุลเงินที่มีอิทธิพลและถูกนำไปใช้ใน สปป.ลาวอย่างกว้างขวางคือ “เงินหยวน” ของจีน แต่คนลาวไม่ได้ประกาศแบนเงินหยวนเหมือนที่แบนเงินบาทของไทย

“ที่จริงแล้วเงินบาทไม่ได้น่ากลัวสำหรับคนลาวเท่าเงินหยวนนะ เพราะเงินบาทแค่ใช้ในการซื้อขายสินค้าระหว่างคนลาวที่อยู่ใน สปป.ลาว กับคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย หรือคนไทยที่ไปเที่ยวลาว แต่ที่น่ากลัวคือเงินหยวนที่ใช้โดยคนจีนที่อยู่ในประเทศลาว ซึ่งปัจจุบันมีคนจีนอยู่ในลาวเยอะมาก ตั้งแต่เวียงจันทน์ลงไปจนสุดประเทศเลย อย่างเมืองท่าแขกของลาวซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับนครพนมของไทยมีคนจีนอยู่ถึง 6 พันคน เพราะมีเหมืองที่คนจีนมาทำสัมปทานอยู่ โดยเขานำคนจีนเข้ามาทำงานด้วย ซึ่งคนจีนเหล่านี้ใช้แต่เงินหยวน สถานบันเทิงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็ใช้เงินหยวน เสมือนเป็นดินแดนหนึ่งของจีน การลงทุนของจีนที่เข้าไปในลาวแตกต่างจากไทย ยกตัวอย่าง เหมืองปูนที่ดำเนินการโดยบริษัทเคพีแอลซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอสซีจีของไทยกับบริษัทของลาว จะร่วมทุนแบบ 50 : 50 ขณะที่เมืองแร่โปแตสที่คนจีนเข้าไปลงทุนเป็นของคนจีน 100% โดยได้สัมปทานถึง 99 ปี คนงานก็เป็นคนจีน เวลาจ่ายเงินเดือนจ่ายก็จ่ายเป็นเงินหยวน ตอนนี้ลาวเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของจีน” นายธนพัต กล่าว

ส่วนกรณีที่ค่าเงินกีบตกลงอย่างหนักหลังจากประกาศแบนเงินบาทนั้น “ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม” มองว่า อาจเกิดจากผลทางจิตวิทยาที่คนรู้สึกไม่เชื่อมั่นในเงินกีบ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีค่าเงินกีบอ่อนลงคือกลุ่มคนชั้นกลาง คนยากจนของลาว รวมถึงผู้ที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่คนลาวบางส่วนอาจจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเก็บเงินบาทและเงินดอลลาร์ไว้อยู่แล้ว ส่วนคนที่ร่ำรวยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากคนรวยในลาวส่วนใหญ่จะทำสัมปทานกับรัฐซึ่งแต่ละโครงการมีมูลค่าสูง ผลตอบแทนจึงสูงตามไปด้วย แม้ค่าเงินกีบจะอ่อนลงแต่ด้วยจำนวนผลตอบแทนที่สูงจึงไม่ได้รับผลกระทบ

ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว
ขณะที่ ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ชี้ว่า การอ่อนค่าลงอย่างหนักของเงินกีบที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้นเกิดจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว เนื่องจากลาวจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตจากไทย เพราะลาวไม่สามารถผลิตสินค้าเองได้ ทำให้ลาวขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เมื่อมีการนำเข้าสินค้าก็ต้องใช้เงินตราต่างประเทศในการชำระค่าสินค้า ยิ่งนำเข้ามากต้องใช้เงินตราต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อความต้องการสกุลเงินใดมาก ค่าเงินของสกุลเงินนั้นจะสูง ลาวนำเข้าสินค้าจากไทยมากกว่าที่ไทยนำเข้าสินค้าจากลาว ค่าเงินบาทของไทยจึงแข็งค่ากว่าเมื่อเทียบกับเงินกีบของลาว ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกตลาด

ที่ผ่านมา สปป.ลาวมีการรณรงค์ให้ใช้เงินกีบอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการรณรงค์โดยภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้เงินกีบ อย่างไรก็ดี เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ลาวส่งเสริมการท่องเที่ยว การรณรงค์ใช้เงินกีบจึงอาจส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวลาว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย

“ชาวลาวบางคนเข้าใจว่าจะสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบเองได้ ต่างชาติเข้ามาเที่ยวแล้วคนลาวจะรับแลกเงินบาทหรือเงินดอลลาร์กับเงินกีบในอัตราเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ อัตราแลกเปลี่ยนต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ขึ้นกับอุปสงค์-อุปทานของเงินตรา รวมถึงปัจจัยเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย โดยมีธนาคารกลางของประเทศเป็นผู้กำกับดูแล การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเองเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวมากกว่า 50% ที่เข้าไปท่องเที่ยวในลาวก็คือคนไทย เมื่อมีการประกาศแบนเงินบาทคนไทยอาจจะไม่สบายใจที่จะไปเที่ยวลาว” ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าว


ดร.จตุรงค์ อธิบายต่อว่า แม้ลาวจะมีการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศแต่ยังไม่สามารถผลักดันให้ค่าเงินกีบแข็งค่าขึ้นได้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าค่อนข้างน้อย ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญอย่างกระแสไฟฟ้านั้นเป็นการซื้อขายล่วงหน้า คือมีการกำหนดราคาล่วงหน้าไว้แล้ว อีกทั้งยังเป็นการทำสัญญาโดยใช้สกุลยูเอสดอลลาร์ ส่วนการขายแร่ผ่านระบบสัมปทานก็ทำสัญญาเป็นยูเอสดอลลาร์เช่นกัน ซึ่งราคาจะถูกกำหนดโดยผู้รับสัมปทานเป็นหลัก ขณะที่สินค้าส่งออกอื่นๆ ของลาวนั้นค่อนข้างน้อย ยกตัวอย่างสินค้าที่ส่งมาไทย ได้แก่ น้ำมันประเภทบายโปรดักต์ (ผลพลอยได้ที่เหลือจากกระบวนการผลิต) น้ำตาล และปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นการลงทุนโดยบริษัทของไทยที่เข้าไปลงทุนในลาวและส่งกลับมาขายไทย นอกจากนั้น มีสินค้าอื่นบ้างเล็กๆ น้อยๆ

ส่วนธุรกิจที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวนั้นมีไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจพลังงานและเหมืองแร่ ขณะที่การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนจีนที่เข้าไปลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ก็ยังน้อยอยู่ นอกจากนั้น การที่ค่าเงินกีบผันผวนต่อเนื่องยังส่งผลให้นักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในลาวชะลอการตัดสินใจอีกด้วย

“ลาวขาดดุลการค้าไทยมาตลอด อุตสาหกรรมการส่งออกต่างๆ ยังมีข้อจำกัด แต่ในอนาคตข้างหน้าถ้าจีนเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวกันมากขึ้นเนื่องจากได้สิทธิพิเศษทางภาษีอาจจะทำให้สินค้าดังกล่าวสามารถทดแทนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยได้ ดังนั้น ไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมโดยการหาตลาดใหม่ๆ หรือเปลี่ยนคู่ค้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุน” ดร.จตุรงค์ ระบุ

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจของลาวที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงนั้น “ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว” มองว่า ลาวได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 โดยค่าเงินกีบของลาวนั้นอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 และอ่อนตัวหนักสุดในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันลาวอยู่ระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจากมาตรการต่างๆ ทำให้ลาวสามารถลดอัตราเงินเฟ้อจาก 37% ลงมาเหลือ 20 กว่า% และสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันโดยเริ่มนำเข้าน้ำมันจากจีน และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อนำเข้าน้ำมันจากเวียดนาม จากเดิมที่นำเข้าจากไทยเพียงแห่งเดียว นอกจากนั้น ลาวยังพยายามแก้ไขปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน และการให้ความคุ้มครองราคาสินค้าอีกด้วย

“ปัญหาเรื่องค่าเงินกีบอ่อนตัวนั้นเป็นเรื่องเดียวที่ลาวยังแก้ไม่ได้ ซึ่งแนวทางการแก้ไขนั้นโดยส่วนตัวมองว่าลาวจำเป็นต้องลดอัตราแลกเปลี่ยนลงให้เป็นอัตราที่เหมาะสม โดยต้องหาทองคำมาใช้เป็นทุนสำรองเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของค่าเงิน ซึ่งจะส่งผลให้เงินกีบแข็งค่าขึ้น” ดร.จตุรงค์ กล่าว


ส่วนเรื่องการหาตลาดส่งออกใหม่ของไทยเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในตลาดลาว “ดร.จตุรงค์” เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยสภาธุรกิจไทย-ลาว ได้ส่งเสริมให้ SME ไทยที่เคยค้าขายกับลาว เวียดนามและกัมพูชา สามารถทำการค้ากับจีนโดยผ่านระบบ Cross-Border e-Commerce หรือช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนไทย-จีน ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี เนื่องจากเป็นช่องทางที่รัฐบาลจีนส่งเสริมเพื่อให้สินค้าที่มีคุณภาพสามารถเข้าไปขายในจีนได้โดยสะดวกเพื่อให้คนจีนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันตกของจีนมีโอกาสได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาถูก จากเดิมที่การนำเข้าสินค้าเหล่านี้ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากทำให้สินค้าส่วนใหญ่ที่เข้าไปขายเป็นสินค้าเถื่อนซึ่งไม่มีคุณภาพ

โดยล่าสุด สภาธุรกิจไทย-ลาวได้ลงนามร่วมกับหอการค้าชายจังหวัดหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร อุบลราชธานี ศูนย์ China Intelligence Center (CIC) และสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อร่วมกันผลักดันสินค้า SME ไทยให้เข้าไปจำหน่ายในตลาดจีนผ่านระบบ Cross-Border e-Commerce ซึ่งสินค้าที่จีนต้องการได้แก่ นมผง ผลไม้อบแห้ง 

ดร.จตุรงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ที่ผ่านมาสภาธุรกิจไทย-ลาวยังได้เข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของลาว เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในการทำ Co-Branding ระหว่างผู้ประกอบการไทยและลาว โดยจะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทย-ลาวเพื่อผลิตและส่งออกไปขายยังประเทศจีน โดยใช้จุดแข็งเรื่องเทคโนโลยีในการผลิตของไทยมาผนวกกับจุดแข็งเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีของลาวที่สามารถส่งสินค้าไปขายในประเทศจีนโดยไม่ต้องเสียภาษี โดยสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของจีน ได้แก่ สินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ยาสระผมสมุนไพร ยาหม่อง เครื่องหัตกรรม เช่น กระเป๋าผ้า โดยนำผ้าพื้นเมืองของลาวมาผลิตโดยใช้เทคโนโลยีในการผลิตของไทย

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น