xs
xsm
sm
md
lg

‘ลิซ่า’ สุดปัง คนเกาหลียกไอดอลแห่งความสำเร็จ เผย FC เกาหลีที่ไม่พอใจฝ่ายแซะลิซ่า เริ่มจัดการกันเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นักวิชาการด้านเกาหลี” เผยเกาหลีที่เหยียดลิซ่าเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ มีไม่ถึง 10% ขณะที่ชาวเกาหลีส่วนใหญ่ชื่นชมลิซ่า โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นถึงขั้นยกให้เป็นไอดอล ชี้ “สำนักข่าว OSEN” ที่แซะลิซ่า เป็นแค่สื่อโนเนม พบปรากฏการณ์ “ร็อกสตาร์” ทำเกาหลีตีกันเอง ด้าน ดร.กิตติธัช ระบุ เหตุที่เกาหลีมีวัฒนธรรมเหยียดเชื้อชาติ เนื่องจากคับแค้นที่เคยถูกกดขี่เมื่อครั้งสงครามเกาหลี ส่วนกระแสเหยียดลิซ่าเกิดจากไม่พอใจที่ทิ้งความเป็นเคป็อป เชื่อกระแสไทยแบนเกาหลีกระทบยอดขายสินค้า-ศิลปินเคป็อป ชี้กระแสเคป็อปทั่วโลกเริ่มดาวน์ลงเพราะผ่านจุดพีกสุดมาแล้ว ขณะที่ข้อมูลจาก Korea Foundation ระบุ แฟนคลับแบบกรุ๊ปลดลง แต่ FC รายบุคคลเพิ่มขึ้น อีกทั้งเคป็อบเริ่มบุกตลาดละตินอเมริกา-ตะวันออกกลาง

ทันทีที่ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ศิลปินสาวชาวไทย ออก MV เพลงร็อกสตาร์ เพลงแรกในฐานะศิลปินเดี่ยวจากค่าย LLound ที่เธอเป็นเจ้าของ ก็เกิดปรากฏการณ์ “ลิซ่าฟรีเวอร์” ทุกอย่างที่เกี่ยวกับลิซ่าและ MV ร็อกสตาร์ล้วนถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เพลงของเธอขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งและอันดับต้นๆ ในหลายประเทศ ลิซ่ากลายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของไทยอย่างเต็มตัว แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับมีกระแสเหยียดลิซ่าจากคนเกาหลีบางส่วน และสื่อเกาหลีบางสำนักที่แซะในทำนองว่าลิซ่าออกจากวงการเคป็อบเพื่อมาดังแค่ในประเทศไทย ส่งผลให้แฟนคลับชาวไทยไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนเกิดกระแสแบนเกาหลีลุกลามไปทั่ว จนหลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็น “จุดจบ” ของความนิยมเคป็อบในไทย

ส่วนว่าข้อเท็จของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร และจะส่งผลกระทบอะไรต่อเกาหลีบ้างนั้น คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้รู้

 ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษด้านปรัชญาการเมือง
ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษด้านปรัชญาการเมือง วิเคราะห์ว่า การที่ลิซ่าถูกคนเกาหลีเหยียดนั้นเป็นเรื่องปกติของคนเกาหลีใต้ที่มักจะเหยียดคนเชื้อชาติอื่น โดยเฉพาะคนเอเชีย เนื่องจากเกาหลีมีความชาตินิยมสูง อีกทั้งผ่านความยากลำบากและถูกต่างชาติกดขี่ในช่วงสงครามเกาหลีจึงมีความอัดอั้น และต้องการสร้างอัตลักษณ์ตัวตน ที่ผ่านมาเกาหลีไม่ค่อยสร้างความสัมพันธ์กับต่างชาติ ดังนั้นเมื่อมีชาวต่างชาติเข้าไปเป็นศิลปินในประเทศเกาหลีตามโครงการของค่ายเคป็อปที่ต้องการให้มีศิลปินต่างชาติอยู่ในวงเคป็อปเพื่อขยายตลาด แต่โดยพื้นฐานของคนเกาหลีก็ยังมองว่าศิลปินเหล่านี้เป็นคนต่างชาติ จึงรู้สึกไม่ยอมรับ ซึ่งต่างจากคนไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เป็นพหุวัฒนธรรม จึงยอมรับในความแตกต่างและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม รวมถึงความแตกต่างทางเพศ หรือหากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งมีความชาตินิยมสูงเช่นกันแต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเปิดประเทศมากขึ้น มีการค้าขายกับต่างชาติ ประกอบกับสร้างซอฟต์เพาเวอร์ในช่วงยุค 90 และขายการท่องเที่ยว ญี่ปุ่นจึงไม่มีวัฒนธรรมการเหยียดคนชาติอื่นแบบเกาหลี

กรณีของลิซ่าเมื่อเข้าไปเป็นสมาชิกวงเคป็อปแล้วก็สามารถสร้างตัวตนและแสดงศักยภาพในการร้องการเต้น อีกทั้งมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้วงแบล็คพิ้งโด่งดังจึงได้รับการยอมรับจากคนเกาหลีส่วนใหญ่ แต่เมื่อลิซ่าไม่ต่อสัญญาในฐานะศิลปินเดี่ยวกับวายจี เอนเตอร์เทนเมนท์ เหลือเพียงสัญญาของวงแบล็คพิ้ง และออกมามาทำค่ายเพลงของตัวเอง จึงแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาหลี อีกทั้งมีข่าวว่าลิซ่าไม่ลงรอยกับค่ายเดิม ขณะที่เพลงร็อกสตาร์ของลิซ่าที่เพิ่งออกมาก็ไม่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมเกาหลี ทำให้คนเกาหลีบางส่วนไม่พอใจและเกิดกระแสแอนตี้ลิซ่าขึ้น

“เวลาที่คนไทยเจอต่างชาติแล้วเขาพูดภาษาไทยผิดๆ ถูกๆ เราก็จะเอ็นดู แต่ถ้าเราไปเกาหลีแล้วแสดงอะไรที่ไม่ตรงกับวัฒนธรรมของเขา เขาจะมองในเชิงเหยียด ดังนั้นลิซ่าไม่ได้โดนคนเดียว ศิลปินต่างชาติที่เข้าไปร่วมงานกับค่ายเคป็อปโดนหมด ไม่ว่าจะจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เนื่องจากเพลงร็อกสตาร์ที่ออกมาไม่มีความเป็นเกาหลีเลย เนื้อหาเพลงบางส่วนมีการจิกกัดเล็กๆ โดยเฉพาะท่อนที่ว่า..ลิซ่าสอนภาษาญี่ปุ่นให้ฉันหน่อย แล้วลิซ่าบอกว่าไฮ้ไฮ้ ซึ่งเป็นการย้อนถึงเหตุการณ์ตอนที่ลิซ่าเป็นสมาชิกวงแบล็คพิ้งใหม่ๆ แล้วมีคนเกาหลีที่ไม่ชอบลิซ่ามาเหยียดว่าลิซ่า ลลิษา เป็นใคร ไม่เห็นรู้จักเลย รู้จักแต่ลิซ่าที่เป็นศิลปินชาวญี่ปุ่น ดังนั้นจึงมีคนเกาหลีบางคนที่ไม่พอใจ มองว่าลิซ่าดังจากเกาหลี แต่พอออกไปทำค่ายเองก็ไม่สนใจเกาหลีเลย จึงออกมาโจมตีและสร้างกระแสเหยียดลิซ่า” ดร.กิตติธัช ระบุ

ขณะที่ นายเสกสรร อานันศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KATS)
ขณะที่ นายเสกสรร อานันศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Association of Thai Studies : KATS) ชี้ว่า จริงๆ แล้วคนเกาหลีที่เหยียดลิซ่านั้นมีแค่บางกลุ่ม ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ แต่คนเหล่านี้มักมาโพสต์ในโซเชียลทำให้กลายเป็นกระแสที่นำไปสู่ความขัดแย้ง เท่าที่ได้สัมผัสคนเกาหลีส่วนใหญ่ชอบและชื่นชมลิซ่า ลิซ่าเป็นไอดอลของเขา โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาลิซ่าได้รับการยกย่องจากเกาหลีอย่างมาก เวลาข้าราชการเกาหลีพูดถึงความสัมพันธ์กับไทยก็จะพูดถึงลิซ่าว่าเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ ที่สำคัญเขาพูดถึงลิซ่าในฐานะที่เป็นคนไทย ไม่ใช่ในฐานะเคป็อป

การที่ลิซ่าไม่ต่อสัญญาศิลปินเดี่ยวกับวายจีก็เป็นสิ่งที่คนเกาหลีเข้าใจและยอมรับได้ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าต้นสังกัดเดิมไม่ค่อยเป็นธรรมกับลิซ่านักเพราะมีหลายเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัด ส่วนลิซ่าเมื่อออกไปสร้างผลงานระดับสากลก็สามารถนำเอาเคป็อปไปต่อยอดโดยใส่ความเป็นไทยเข้าไปเพราะนี่คือความเป็นลิซ่าที่สามารถหลอมรวมวัฒนธรรมและสร้างแบบฉบับการเต้นและดนตรีของตัวเองขึ้นมาทำให้คนทั่วโลกชื่นชอบ

“ถ้าลองเสิร์ชคำว่า How You think about Lisa ในยูทูบ จะพบว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่ตอบว่าเขาชอบลิซ่า เขามองว่ารูปร่างและสีผิวของลิซ่าเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลีอยากเป็น ส่วนคนที่ไม่ชอบลิซ่านั้นมีน้อยมาก ไม่ถึง 10% แต่คนพวกนี้ปากแจ๋ว ชอบแสดงความเห็นตามสื่อโซเชียล และสำนักข่าว OSEN ที่เป็นต้นเหตุดรามาก็เป็นสำนักข่าวโนเนม ไม่ใช่สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือหรือได้รับความนิยมแม้แต่ในกลุ่มแฟนคลับเคป็อป ต่างจาก Dispatch ซึ่งเป็นสื่อที่คนใช้อ้างอิงเวลามีข่าวสำคัญ ดังนั้นเราไม่ควรนำความเห็นของคอลัมนิสต์หนึ่งคนจากสำนักข่าวบันเทิงเล็กๆ ที่มุ่งแสวงหากำไรมาทำลายบรรยากาศของความสัมพันธ์และความรู้สึกดีต่อกันที่มีมานาน บางที "ชาวเน็ต" ที่พูดๆ กันก็ไม่ใช่ใครที่ไหน สำนักข่าวนี่ล่ะครับตัวดี อยากได้ยอด engagement” นายเสกสรร กล่าว

อย่างไรก็ดี นายเสกสรร ชี้ว่า กระแสเหยียดลิซ่าของเกาหลีแม้จะเป็นแค่กลุ่มคนเกาหลีเล็กๆ แต่มันไปกระทบความรู้สึกของบรรดาแฟนคลับลิซ่าที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะแฟนคลับคนไทย ประกอบกับก่อนหน้านี้ไทยเกิดกระแสแบนเกาหลีจากความไม่พอใจกรณี ตม.เกาหลีที่เลือกปฏิบัติกับนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวเกาหลี ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาของทางเกาหลีซึ่งไม่มีประสิทธิภาพในการคัดกรองคนเข้าประเทศ ทำให้คนที่ตั้งใจเข้าไปเที่ยวแต่ถูก ตม.ส่งกลับได้รับความเสียหาย ขณะที่แรงงานไทยก็อาจจะเข้าไปสร้างปัญหาให้เขาเหมือนกัน เมื่อเกิดความไม่เข้าใจกันในกรณีของลิซ่าก็เลยลุกลามกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวซึ่งขยายผลไปใหญ่โต

“มีคนเกาหลีที่พูดภาษาไทยได้เขาบอกว่าเขาเสียใจนะที่มีคนเกาหลีบางคนมาโพสต์เหยียดลิซ่า เขาก็อยากอธิบายว่าคนเกาหลีเสียใจและอยากให้คนไทยกับเกาหลีเข้าใจกัน แล้วก็มีคนเกาหลีบางส่วนโพสต์ต่อว่าคนเกาหลีที่โพสต์เหยียดลิซ่าด้วย ซึ่งวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของเกาหลีคือถ้าเขาเห็นไม่ตรงกันเขาจะโต้เถียงจัดการกันเอง เราไม่ต้องทำอะไรเลยให้เขาจัดการกันเอง ไม่ต้องไปตีกับเขา เราไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่า ผมคิดว่าสิ่งที่สร้างลิซ่าขึ้นมาก็คือตัวของลิซ่าเองนี่ล่ะครับ สิ่งที่พวกเราชาวไทยทำได้ก็คงเป็นการแสดงความยินดีในฐานะเพื่อนร่วมชาติและช่วยสนับสนุนน้องในทุกผลงานต่อจากนี้ ส่วนมิวสิกวิดีโอล่าสุดที่น้องออกมาก็อาจเป็นไปได้ที่คนจะมองว่าแซะเกาหลี แต่ผมเชื่อว่าเกาหลีคงไม่มีโกรธเคือง เพราะหนึ่งในความเป็นเกาหลีก็คือความกล้าพอที่จะเปิดให้คนข้างนอกมาวิพากษ์มาท้าทาย” นายเสกสรร ระบุ


ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับการนำเสนอข่าวของสื่อโซเชียลหลายช่องของไทยที่ระบุว่า ขณะนี้ได้เกิดกระแสการตีกันเองของชาวเกาหลีจากกรณีลิซ่า เนื่องจากคนเกาหลีบางส่วนไม่พอใจที่มีคนเกาหลีบางกลุ่มโพสต์แสดงความเห็นในลักษณะเหยียดลิซ่าโดยเขามองว่าลิซ่าไม่ได้ทำอะไรผิด การที่เพลงร็อกสตาร์ของลิซ่าไม่ได้พูดถึงเกาหลีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเพลงนี้ไม่ใช่เคป็อบแต่เป็นเพลงที่ขายในตลาดระดับสากล และลิซ่าควรมีโอกาสที่จะไปเติบโต ขณะที่แฟนคลับของลิซ่าในประเทศเกาหลีก็ยังคงให้การสนับสนุนลิซ่าอยู่

นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่แฟนคลับจากหลากหลายประเทศลุกขึ้นมาปกป้องลิซ่าจากการถูกคนเกาหลีบางส่วนเหยียด ซึ่งเรื่องนี้ “ดร.กิตติธัช” มองว่า สืบเนื่องจากปัจจุบันลิซ่าเป็นศิลปินระดับสากล ก้าวข้ามความเป็นเคป็อปไปแล้ว จึงมีแฟนคลับจากทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในไทยหรือเอเชีย และเพลงของลิซ่าก็สื่อสารความเป็นสากล มีความเป็นร็อก มีผิวสีแทน ไม่ใช่สไตล์เกาหลี ซึ่งลิซ่าก็ไม่ได้ทำอะไรผิด บรรดาแฟนคลับจากประเทศต่างๆจึงมองว่าทำไมลิซ่าจะต้องทนการดูถูกเหยียดหยามจากคนเกาหลี จึงเกิดกระแสที่แฟนคลับจากทั่วโลกออกมาปกป้องลิซ่า ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือผลกระทบเชิงลบต่อประเทศเกาหลีนั่นเอง

“ที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือกระแสแบนเกาหลีของคนไทย จากที่ผ่ามาซึ่งเกาหลีสร้างซอฟต์เพาเวอร์กับชาวไทยผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง ซีรีส์เกาหลี นักร้องเคป็อป ทำให้เกิดกระแสนิยมเกาหลีของคนไทย แต่เมื่อเกิดกรณี ตม.เกาหลีเลือกปฏิบัติกับนักท่องเที่ยวไทยซ้ำๆ คนไทยจึงเริ่มไม่พอใจเกาหลี พอมาเกิดกรณีเหยียดลิซ่าอีกความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อเกาหลีจึงติดลบและมีปฏิกิริยาต่างๆ ออกมา สองกรณีนี้จะถูกจับโยงกันเสมอ ลามไปถึงกระแสเกาหลีเหยียดไทย ทำให้คนไทยรู้สึกแอนตี้เกาหลี ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความนิยมของคนไทยที่มีต่อเกาหลีทั้งในเรื่องของการสนับสนุนศิลปินนักร้องเคป็อบ ซีรีส์เกาหลี รวมถึงสินค้าต่างๆ ที่ผลิตจากเกาหลีด้วย” ดร.กิตติธัช กล่าว


ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าปัจจุบันกระแสเคป็อปเริ่มดาวน์ลงนั้น “ดร.กิตติธัช” วิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากตอนนี้กระแสเคป็อบผ่านจุดที่พีกสุดมาแล้ว แฟนคลับในต่างประเทศไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับเคป็อปเหมือนตอนที่ออกมาตีตลาดต่างประเทศใหม่ๆ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนนั้นคนจะรู้สึกแปลกใหม่กับการเต้น โคโรกราฟฟี่ (การออกแบบท่าเต้น) ที่ลงตัว การผสมผสานของสมาชิกในวงที่มีความหลากหลาย เมื่อเวลาผ่านไปคนก็เริ่มชิน ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้น จึงไม่แปลกที่กระแสเคป็อปในประเทศต่างๆ จะดาวน์ลง ซึ่งต่างจากกรณีของประเทศไทยที่กระแสเคป็อปดาวน์ลงเนื่องจากความไม่พอใจกรณีเหยียดคนไทยของเกาหลีจึงเกิดกระแสแบนเกาหลีขึ้น

ขณะที่ “นายเสกสรร” อธิบายว่าประเด็นนี้ต้องแยกเป็นส่วนๆ กรณีที่กระแสเคป็อบดาวน์ลงเพราะการแบนเกาหลีจากกรณีเหยียดลิซ่านั้นจะเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ส่วนกระแสเคป็อบในประเทศอื่นๆ นั้นโดยรวมถือว่ายังดีอยู่ แฟนคลับยังเท่าเดิม โดยข้อมูลสถิติจาก Korea Foundation ระบุว่าแฟนคลับเคป็อบที่เป็นกรุ๊ปนั้นลดลง แต่แฟนคลับรายบุคคลมีมากขึ้น

“ตอนนี้แฟนคลับที่เป็นด้อมลดลง คืออาจะมีปัญหาอะไรกันภายใน ส่วนแฟนคลับรายบุคคลที่ดูซีรีส์ ฟังเพลง โดยไม่ได้สนใจประเทศเกาหลีนั้นมีเพิ่มขึ้น และตอนนี้เคป็อปขยายตลาดไปทางละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน จึงมีฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันแฟนคลับในยุโรปก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” เสกสรร กล่าว

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น