xs
xsm
sm
md
lg

ตีแผ่กลวิธีปั่นกระแสลัทธิประหลาด แนะภาครัฐทำงานเชิงรุก-เร่งดำเนินคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แพรรี่ ไพวัลย์” ระบุลัทธิประหลาดเฟื่องฟู เพราะผู้คนรักสบาย ส่วนเจ้าลัทธิใช้สื่อโซเชียลสร้างศรัทธาเรียกสาวก ขณะที่สื่อหลัก-ดารา-อินฟลูเอนเซอร์เน้นคอนเทนต์สายมู เพราะเรตติ้งดี มีสปอนเซอร์ ด้าน “ดร.กฤษณพงค์” ชี้มีการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาผูกโยงกับความเชื่อที่เจ้าลัทธิสร้างขึ้นเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ ประกอบกับใช้จิตวิทยาหว่านล้อมไม่ต่างจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ “เชิงรุก” สำนักพุทธฯ ต้องมีทีมมอนิเตอร์ เร่งตรวจสอบ และดำเนินคดีอย่างจริงจัง



นับเป็นประเด็นที่สร้างความหวั่นวิตกให้สังคมอย่างมาก เนื่องจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้มีลัทธิประหลาดเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ลัทธิเชื่อมจิต” ที่อ้างว่าสามารถนำพาให้ลูกศิษย์ลูกหาเข้าถึงนิพพานได้อย่างง่ายดายด้วยการเชื่อมจิต “ลัทธิคลื่นพลังบุญ” ที่บอกว่าสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยโดยไม่ต้องจ่ายยา แต่รักษาด้วยคลื่นพลังบุญ หรือ “ลัทธิถวายตัว” ที่ให้ลูกศิษย์สาวมีสัมพันธ์กับพระที่เป็นอาจารย์โดยอ้างว่าจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ซึ่งหลายคนสงสัยว่าทำไมผู้คนจึงพากันหลงเชื่อลัทธิดังกล่าวทั้งที่ไม่มีอะไรสมเหตุสมผลเลย? และเราจะสามารถดำเนินกับผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากการสร้างลัทธิเหล่านี้ได้หรือไม่ อย่างไร?

“แพรรี่” ไพรวัลย์ วรรณบุตร เน็ตไอดอลที่โด่งดังมาจากการสอนธรรมะ
“แพรรี่” ไพรวัลย์ วรรณบุตร เน็ตไอดอลที่โด่งดังมาจากการสอนธรรมะ วิเคราะห์ว่า เหตุที่ปัจจุบันมีลัทธิแปลกๆ เกิดขึ้นมากมายนั้นเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่ “ความเชื่อ” สามารถขายได้ ยิ่งในยุคที่ศรัทธาคลอนแคลน ขาดผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะนำพาผู้คนให้ยึดถือในหลักธรรมหรือแนวทางที่ถูกต้อง เมื่อมีปัญหาด้านเศรษฐกิจหรือปัญหาชีวิตผู้คนจึงต้องการทางลัดในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะทำให้บรรลุในทางธรรมหรือสมหวังในทางโลก โดยไม่ต้องเหนื่อยยากในการศึกษาธรรมะ หรือทุ่มเททำงาน เช่น แค่เชื่อมจิตก็บรรลุธรรม แค่อธิษฐานก็สำเร็จ มั่งคั่งร่ำรวย จึงเกิดลัทธิแปลกๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการดังกล่าว เช่น จ่ายเงินค่าคอร์สแล้วพาไปนิพพานได้ กราบไหว้บูชาโน่นนี่แล้วสำเร็จ หรือที่เรียกกันว่า “สายมู”

ปัจจุบันผู้นำทางศาสนาที่จะเป็นแกนหลักให้ผู้คนนั้นเหลือน้อย เวลาที่มีประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาก็ไม่เห็นใครนอกจากพระพยอม กัลยาโณ สายธรรมะที่เน้นการปฏิบัติแม้จะมีแต่ก็เหลือไม่มาก และส่วนใหญ่ท่านไม่ออกมามีแอ็กชันต่อสังคม ส่วนใหญ่มักปลีกวิเวก ไม่ออกสื่อ เน้นการสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาที่เข้าไปพบเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีลูกศิษย์ลูกหาบางกลุ่มที่นำคำสอนของท่านมาเผยแพร่ในสื่อโซเชียล อย่างสายพุทธวจนะ แต่ก็มีน้อย จึงไม่เป็นที่แพร่หลาย สู้กระแสของลัทธิต่างๆ ที่ใช้สื่อโซเชียลเป็นช่องทางในการโปรโมตไม่ได้

“อาจารย์โต้ง” หรือ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้าน “อาจารย์โต้ง” หรือ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า ปัจจุบันมีคนบางกลุ่มที่พยามสร้างลัทธิและโน้มน้าวคนให้เชื่อในสิ่งที่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่มีการอ้างอิงคำสอนของพระพุทธเจ้าบางส่วนเข้ามาประกอบความเชื่อของลัทธิที่ตนเองสร้างขึ้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ขณะที่โดยธรรมชาติของมนุษย์มักจะมีความกลัวและความอยากมีอยากได้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว นอกจากนั้น คนไทยยังมีความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้เจ้าที่เจ้าทางเป็นทุนเดิม ดังนั้น เจ้าลัทธิต่างๆ ก็จะยึดโยงความเชื่อเหล่านี้มาสนับสนุนเพื่อเรียกศรัทธาให้ลัทธิที่ตนสร้างขึ้นมา โดยอ้างว่าถ้าอยากสมปรารถนา ร่ำรวยขึ้น อยากให้สามีที่กำลังนอกใจกลับมา ให้มาเซ่นสรวงบูชาลัทธินี้ เขาใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาจับ

หลังจากนั้นเมื่อคนศรัทธาแล้วจะเริ่มเรียกรับผลประโยชน์ เขาจะโน้มน้าว่าถ้าอยากให้สิ่งที่ต้องการบรรลุผลเร็วขึ้นต้องบริจาคมากขึ้น อยากเข้านิพพานเร็วจะต้องร่วมบุญมากขึ้น ซึ่งขอย้ำว่าตรงนี้ขัดกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าลัทธิว่ามีวัตุประสงค์อะไร เช่น ต้องการเงินจากผู้ที่หลงเชื่อ สร้างความเชื่อเพื่อนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วยแม้ผู้หญิงจะมีครอบครัวแล้ว หรือสร้างความเชื่อเพื่อให้สาวกไปก่ออาชญากรรมหรือก่อการร้าย เช่น กรณีลอบสังหารนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

“เจ้าลัทธิพวกนี้เขาจะมีจิตวิทยาในการสื่อสาร พูดโน้มน้าวใจ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่จับความรู้สึกของคนได้ และเข้าใจพื้นฐานจิตใจว่าคนต้องการอะไร หรือกลัวอะไร และหากหน่วยงานรัฐไม่ได้เข้ามาอธิบายว่าความเชื่อของลัทธิเหล่านี้ผิดถูกอย่างไร ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาตรงไหน จำนวนคนที่เชื่อจะขยายวงมากยิ่งขึ้น มีกลุ่มคนที่เข้าลัทธิมากขึ้น ซึ่งทำให้ยากต่อการควบคุม หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปจัดการกับเจ้าลัทธิเขาจะใช้สาวกของเขาเป็นเกราะกำบัง ให้เข้าไปขัดขวางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นก่อนที่จะเชื่ออะไรต้องใช้ปัญญาในการพิจารณา” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว


ส่วนว่าทำไมลัทธิแปลกๆ เหล่านี้จึงได้รับการยอมรับนับถือจากคนไทยนั้น “แพรรี่” มองว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.คนส่วนใหญ่อยากได้อะไรแบบง่ายๆ ไม่อยากเหนื่อย ไม่อยากลำบาก ไม่มีความอดทน

2.ปัจจุบันโซเชียลเข้ามามีอิทธิพลต่อคนทุกเจเนอเรชัน แม้แต่ผู้สูงอายุที่สมัยก่อนมักจะเข้าวัดฟังธรรมต่างก็หันมาเล่นโซเชียล ขณะเดียวกัน คนที่หากินกับความเชื่อสามารถใช้โซเชียลสร้างโปรไฟล์ สร้างความศรัทธา และเข้าถึงคนทั่วไปได้อย่างง่ายดาย ขณะที่พระสายปฏิบัติส่วนใหญ่มักไม่ค่อยใช้สื่อโซเชียลในการเผยแผ่ธรรม

3.บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ ศิลปินดารา นักร้อง จำนวนไม่น้อยทำคอนเทนต์สายมู โดยนำเสนอเรื่องราวความเชื่อของตัวเองว่าประสบความสำเร็จได้เพราะการร้องขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบูชาองค์เทพ ไม่ว่าจะเป็น พญานาค เทพทันใจ พระพิฆเนศ พระแม่อุมา ประสบสบความสำเร็จได้เพราะไปไหว้อาจารย์ท่านนั้น หลวงพ่อรูปนี้ เมื่อเห็นคนที่เป็นไอดอลประสบความสำเร็จ คนทั่วไปก็อยากประสบความสำเร็จแบบนั้นบ้าง เมื่อไอดอลบอกว่าทำแบบนี้แล้วสำเร็จแน่นอนว่าคนทั่วไปก็เชื่อและทำตาม

4.สื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อหลักมักนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพราะได้เรตติ้งดีและมีโฆษณาหรือสปอนเซอร์สนับสนุน จึงมีรายการที่นำเสนอเรื่องปาฏิหาริย์ของเทพองค์นั้นเจ้าองค์นี้ มีทริปท่องเที่ยวสายมู นอกจากนั้น ก่อนวันหวยออกสื่อจะเสนอเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ในการขอหวย สัตว์พิการ ต้นไม้ประหลาด ซึ่งคนมักนำมาตีเป็นเลขเด็ด ในเมื่อแม้แต่สื่อหลักยังเสนอเรื่องราวแบบนี้จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง

“ตามหลักมาร์เก็ตติ้งอะไรที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มักจะประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า ซึ่งยุคนี้คนต้องการอะไรที่รวดเร็ว ต้องการความสำเร็จ ต้องการความร่ำรวยแบบได้มาง่ายๆ จึงมองว่าลัทธิเหล่านี้มันตอบโจทย์ อีกทั้งปัจจุบันสื่อโซเชียลเข้าถึงคนได้รวดเร็ว จะเห็นได้ว่ามีฆารวาสหลายคนตั้งตัวเป็นอาจารย์ มีกลุ่มลูกศิษย์มาเคารพศรัทธา สร้างคอนเทนต์ในติ๊กต็อก คนที่ดูพร้อมจะหลงเชื่อ เพราะการสร้างกระแสมันง่าย คอนเทนต์สายมูหรือลัทธิต่างๆที่ทำลงติ๊กต็อกกันเยอะแยะไปหมด ท่านพุทธทาสเคยพูดไว้ว่าต่อให้การอ้อนวอนร้องขอจะเป็นเรื่องไร้สาระแต่คนก็พร้อมจะทำเพราะมันเหนื่อยน้อยกว่าการลงมือทำ” แพรรี่ ระบุ


แพรรี่ กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงคือปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้ผู้คนในสังคมอ่อนแอลง คิดว่าตัวเองมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่จริงๆ แล้วไม่มีเพราะสิ่งที่ตนเองยึดถือนั้นไม่ใช่ “สรณะ” หรือที่พึ่งที่แท้จริง ไม่ใช่ที่พึ่งที่จะนำเราไปสู่ความสุขที่แท้จริง จิตใจของผู้คนจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถประสบความสำเร็จด้วยความรู้ความสามารถของตนเองแต่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ตลอดเวลา คนจะไม่เชื่อมั่นเรื่องการทำมาหากินโดยสุจริต ไม่เชื่อมั่นเรื่องการดำรงตนอยู่ในสัมมาอาชีวะ แต่นิยมการเสี่ยงโชค พอเกิดปัญหาในชีวิตแทนที่จะแก้ไขที่ต้นเหตุกลับไปบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนในสังคมต่างมีส่วนในการหล่อหลอมให้เกิดค่านิยมในการนับถือเทพต่างๆ โดยเฉพาะสื่อ ศิลปินดารา และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งมีส่วนในการชี้นำความคิดของผู้คน สื่อมักมองแค่ว่ารายการต่างๆ อยู่ได้เพราะสปอนเซอร์ การทำรายการธรรมะที่สังคมได้ปัญญาแม้จะเป็นรายการที่ดีแต่รายการอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ารายการไหนเชิญหมอดูมา มีการพูดคุยถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เทพ มักจะมีคนดูเยอะ มีการไทอินสินค้าเกี่ยวกับวัตถุมงคล สปอนเซอร์เข้า รายการมีกำไรเป็นกอบเป็นกรรม เขาก็เลือกทำรายการลักษณะนี้

“พอมีปัญหาแทนที่จะหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร มีข้อบกพร่องตรงไหน แล้วแก้ไขที่ต้นเหตุ กลับไปสะเดาะเคราะห์ ถวายนั่นถวายนี่แก้ชงแก้เคล็ด เอาจระเข้ไปปล่อยในบ่อน้ำของชาวบ้านเพื่อแก้กรรม ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร จะเห็นได้ว่าก่อนวันที่ 16 หรือก่อนวันที่ 30 สื่อดังๆ จะมาละ เดี๋ยวไปเจอสัตว์แปลก เจอเลขบนรูปปั้นพญานาค ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นมันคือความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะคนที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คน บางทีเหมือนคุณไปหลอกในคนที่เขาชื่นชอบคุณหลงเชื่อในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง” แพรรี่ กล่าว


รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ชี้ว่า ในทางกฎหมายนั้นสามารถดำเนินการกับเจ้าลัทธิเหล่านี้ได้ โดยถ้ามีการหลอกลวงให้มอบเงินหรือทรัพย์สินให้จะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ถ้าเรียกรับเงินบริจาคสามารถใช้เอาผิดในข้อหาผิดกฎหมายว่าด้วยการเรี่ยไร หรือถ้าเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนคำสอนของศาสนาผ่านทางโซเชียลต่างๆ เช่น ไลฟ์ว่าตัวเองมีพลังเชื่อมจิตเพื่อให้สาวกเข้าถึงนิพพานได้ ก็จะมีความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ส่วนว่าจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดในการดำเนินการทางกฎหมายกับบรรดาเจ้าลัทธินั้นต้องดูว่าประเด็นที่ได้รับผลกระทบมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานไหน เช่น หากมีการอ้างอิงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเพื่อเชื่อมโยงกับลัทธิที่ตนสร้างขึ้นเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ หน่วยงานที่ดูแลพุทธศาสนาต้องชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนรับรู้ รวมทั้งดูว่าสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับลัทธิเหล่านี้ได้หรือไม่ หากมีการนำเด็กมาหาประโยชน์อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องเข้ามาดูแล อีกทั้งแต่ละหน่วยงานต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการเพื่อให้ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

“ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนิ่งเฉยไม่ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องจะทำให้การเผยแพร่ชุดความเชื่อเหล่านี้แพร่กระจายออกไปสู่กลุ่มคนจำนวนมาก หากมีการเรี่ยไรเงินทองประชาชนจะตกเป็นเหยื่อ และถ้ามีคนอีกกลุ่มออกมาต่อต้านจะเกิดการปะทะกันของคนสองกลุ่ม ดังนั้นหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ในยุคที่สื่อโซเชียลเข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมต้องมีเจ้าหน้าที่คอยมอนิเตอร์เพื่อตรวจสอบว่ามีผู้นำทางความคิดลัทธิแปลกๆ ที่จะทำให้สังคมเสื่อมทรามลงหรือไม่ ถ้าพบต้องเร่งดำเนินการ” อาจารย์โต้ง ระบุ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น