ผอ.ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ชี้วิกฤตเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ฟื้นตัวได้ไม่เร็ว ช้ากว่า ‘ต้มยำกุ้ง-แฮมเบอร์เกอร์’ และยังไม่เห็นสถานการณ์ที่จะผงกหัวขึ้นได้ เผยสิ่งที่นายกฯ เศรษฐาตั้งเป้าขยายตัว 5% อาจแค่ฝัน แนะต้องเร่งแก้ที่โครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ใช่กระตุ้นการบริโภคระยะสั้นแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เชื่อเกาไม่ถูกที่คัน ดึงเงินในระบบที่มีจำกัดออกไปส่งผลให้เอกชนอาจเจอปัญหาดอกเบี้ยสูงขึ้น ‘รศ.ดร.ณดา’ ยอมรับกังวลหนี้ครัวเรือน-ค่าครองชีพพุ่ง จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบเร็ว ล็อตแรกกว่า 4.4 ล้านคน เข้าสู่วงจรหนี้อุบาทว์ ติงรัฐบาลคิดให้ดีให้ต่างชาติถือครองที่ดิน-คอนโดฯ สัดส่วนสูงขึ้นระวังจะเป็นสีหนุวิลล์ ทิ้งร้างให้เห็นเมื่อถึงจังหวะที่ต่างชาติไปไม่รอด!
สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้เราจะเห็นข่าวกลุ่มอุตสาหกรรมทยอยปิดกิจการ แรงงานตกงานนับแสนคน ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ มีการคาดการณ์หนี้ครัวเรือนแตะ 91.4% ต่อ GDP ภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งพบหนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อบุคคลเป็น NPL มากขึ้น ขณะที่หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบสาหัสที่สุด
โดยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไทยจะมีโอกาสฟื้นตัวและขยายตัวได้ถึง 5% ตามที่รัฐบาลเศรษฐา ประกาศไว้หรือไม่ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แค่เยียวยาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง และคนไทยจะต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตครั้งนี้อย่างไรบ้าง
รศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ รายงานเมื่อไตรมาส 1/2567 แนวโน้มปี 2567 ขยายตัว 2.2-3.2% ขยายตัวช้าและต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศในอาเซียนที่ขยายตัว 4-5% ซึ่งจากการศึกษาเชื่อว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่สดใส โดยรัฐบาลจะมองเพียงแค่ระยะสั้นไม่ได้ ต้องมองระยะยาว พบว่าการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้ามาจากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากมากว่า 20 ปี และไทยมีความสามารถในการแข่งขันมาโดยต่อเนื่อง
“เราพึ่งพาการส่งออกที่ไปผูกกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก พอเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เจอวิกฤตโควิด ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เราขยายตัวได้ยากขึ้น”
ที่สำคัญเมื่อเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ แต่ไทยกลับขยายตัวได้น้อยกว่า ก็ต้องหันมาดูปัจจัยภายในประเทศว่าเรามีปัญหาอะไร พบว่าไทยขาดการพัฒนาด้านเทคโนโลยี สินค้าที่ไทยผลิตได้จะเป็นประเภท Old Economy
“ไปดูได้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 2 ใน 3 เป็นธุรกิจ Old Economy ไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เราผลิตสินค้าที่จะมี Value Added ได้ไม่ทันคู่แข่งในตลาด เป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข”
ข้อมูลจาก World Digital Competitive Ranking ปีล่าสุด 2023 พบว่าความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในปี 2566 ไทยอยู่ในลำดับที่ 35 จากทั้งหมด 64 ประเทศที่เข้าร่วมจัดลำดับ
“ประเทศในอาเซียนมีนโยบายและยุทธศาสตร์ชัดเจนและทุ่มงบเพื่อยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีกันมาก ขณะที่เราขาดดุลเพราะพึ่งพาด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศกว่า 2 แสนกว่าล้านบาทเพื่อมาใช้ในการผลิตหรือเพื่อส่งออก”
ดังนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องเทคโนโลยี ต้องเร่งขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพราะเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม
ในเรื่องการท่องเที่ยว แม้จะสร้างรายได้ก็จริง แต่การจะเปิดประเทศมากเกินไปต้องคิดในแง่ของต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางสังคมมาประกอบด้วย ไม่ใช่มองแต่ตัวเลขด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
ขณะเดียวกัน ต้องยกระดับแรงงานให้มีทักษะด้านดิจิทัล เทคโนโลยีให้สูงขึ้น ซึ่งวันนี้ไทยต้องเผชิญต่อสังคมสูงวัย คนในวัยทำงานมีจำนวนน้อยลง จึงต้องวางแผนที่จะพัฒนาทักษะแรงงานให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้ทันโลกด้วย
สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์จะให้ความสำคัญด้านนี้มาก
“รัฐบาลต้องทุ่มเงินและเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ผ่านมาให้ความสำคัญน้อยไปจริงๆ ถ้าเรานำงานวิจัยต่างๆ มาใช้ประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาคุณค่า และพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น ไทยจะมีโอกาสลดการขาดดุลในเรื่องของเทคโนโลยีได้เช่นกัน”
รศ.ดร.ณดา บอกว่า ถ้าจะถามว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วหรือไม่ ต้องตอบว่า ไม่เร็ว หากไปเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 มันต่างกัน ซึ่งในช่วงต้มยำกุ้งและวิกฤตซับไพรม์ (Subprime) หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 ไทยสามารถขยับหัวได้เร็วกว่าช่วงโควิดและหลังโควิด และเรายังไม่เห็นสถานการณ์จะผงกหัวขึ้นได้อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปัญหาระยะสั้น
“ช่วงปี 2540 เราผงกหัวได้เร็ว เพราะยุคนั้นไทยมีความสามารถในการแข่งขันและช่วงซับไพรม์ไทยเตรียมความพร้อมรับมือในระดับหนึ่ง แต่ช่วงหลังโควิดเราไม่มีสัญญาณจะผงกหัวได้เร็วเลย”
แม้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะมีโครงการ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท เป็นการใช้มาตรการนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ถ้าสามารถนำเงินก้อนนี้ไปผูกโยงกับการพัฒนาทักษะ ส่งเสริม SME ที่เป็น Secter หลักภาคเศรษฐกิจให้มีความสามารถที่จะขยายธุรกิจ หรือต่อยอด พัฒนาธุรกิจออกไปได้จะมีแรงกระเพื่อมมากกว่าการแจกเงินเพื่อการบริโภคอย่างเดียว
“การตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 68 ขาดดุล เพื่อไปรองรับในการจัดการ Digital Wallet ดู เหมือนผิดฝาผิดตัว หรือเกาไม่ถูกที่คันไปนิดหนึ่ง ให้ไปดูตัวเลขสภาพัฒน์แถลง จะเห็นว่า ค่าการบริโภคของเราขยายตัวได้ดีอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับแบงก์ชาติ ได้ยืนยันตัวเลขออกมาจากการที่คณะกรรมการ กนง.มีมติที่จะคงดอกเบี้ย เพราะในภาคบริโภคขยายตัวขึ้นมาได้ดีอยู่แล้ว จึงควรนำไปใช้ที่มีประโยชน์มากกว่า”
ส่วนการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทเพื่อกระตุ้นการบริโภคนั้น สิ่งที่ต้องคิดตามมาคือ สินค้าที่อยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน ที่พบมากมายเป็นสินค้าที่ถูกนำเข้าจากจีน เพราะการผลิตของเขา Over Supply เมื่อเรากระตุ้นบริโภค แล้วมีสินค้าต่างประเทศเข้ามา เราจะพบความเสี่ยง แทนที่ประโยชน์จะตกแค่ในประเทศเรา กลับต้องถูกดึงออกไปจากการที่ประชาชนไปบริโภคสินค้าต่างประเทศที่เข้ามา ตรงนี้จึงเป็นข้อหนึ่งที่รัฐบาลควรตระหนัก และหากนำเงินก้อนนี้ไปใช้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์จะดีกว่าหรือไม่ หรือยังคงจะแจก 10,000 บาทแต่เขียนเงื่อนไขให้นำไปใช้อย่างอื่นได้ เช่น ไปใช้ในการอบรมเพื่อยกระดับความสามารถของตัวเองไปสู่แรงงานที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์งานอุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้มากขึ้น เป็นต้น
“วันนี้ตั้งคำถามว่า Digital Wallet จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยาย 5% อย่างที่รัฐบาลคาดหวังได้จริงๆ เหรอ ห้าแสนล้านนี้มันน้อยมากที่จะไปกระตุ้น 5% จริงๆ ต้องกระตุ้นและขับเคลื่อนทั้ง 4 เครื่องยนต์ คือ การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและส่งออกสุทธิ จึงจะขยายตัวได้นะ”
อีกทั้งการใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาทมาแจก ยังคงมีปัญหาที่ต้องคำนึงเพราะเป็นการกู้เงินจากระบบ ทำให้เกิด Crowding Out คือ การดึงเงินจากระบบจะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นไม่ว่า ดึงโดยภาครัฐ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะเป็นการดึงเงินออกจากการลงทุนของภาคเอกชน
“ตัวอย่างเช่น มีเงิน 100 เอกชนควรกู้ได้ 100 รัฐเอาไป 50 จะมีเหลือให้เอกชนกู้อีก 50 ซึ่งการมีเงินเหลือให้เอกชนกู้น้อยลง จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไม่ปรับลดลงได้ง่าย ขณะที่รัฐบาลกู้แล้ว ออกพันธบัตรมา ต้องยอมรับว่า อัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลกู้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง แต่อัตราดอกเบี้ยที่รัฐออกพันธบัตรมา จะเห็นว่าไม่ใช่น้อย เพื่อชักจูงใจให้คนมาซื้อ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยไม่มีความเสี่ยงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบไม่ลดลงได้ง่าย”
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการจะขับเคลื่อนได้ดีอยู่ที่การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐและมูลค่าการส่งออกสุทธิ ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับก่อนว่าปัญหาอยู่ที่การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนการลงทุนภาครัฐ ปี 2567 งบประมาณล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายส่วนนี้ชะลอตัวไปด้วย แต่การใช้จ่ายภาครัฐจะช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ไม่มากเพราะมีงบตรงนี้เพียง 3.5 ล้านล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่ GDP เกือบ 16-17 ล้านล้านบาทจะไปกระตุ้นการใช้จ่าย ยิ่งเป็นรายจ่ายประจำจะไปลงทุนได้อย่างมาก 20% จะใช้กระตุ้นได้ไม่มาก
“เมื่อการบริโภคเราขยายตัวได้ระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้สูงขึ้น โดยต้องได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคตเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม”
ด้านการส่งออกสุทธิอาจจะเหนื่อย แม้เศรษฐกิจโลกขยายตัวก็จริง แต่เราไปดึงส่วนแบ่งตรงนั้นได้ไม่ดีเนื่องจากสินค้าไทย อาจจะไม่ใช่สินค้าที่ต้องการของเศรษฐกิจโลก
รัฐบาลจึงต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาทักษะแรงงาน พัฒนาด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สำเร็จ
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจนิด้า บอกอีกว่าข่าวการปิดโรงงาน คนตกงาน ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉพาะตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงแตะไปที่ 91.3% ต่อGDP ซึ่งหนี้เหล่านี้อยู่ใน 2 กลุ่มที่ชัดเจนคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมรถยนต์
“สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคล ธุรกิจลีสซิ่งเริ่มเห็นสัญญานชัดว่าการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบุคคลเป็น NPL มากขึ้น ตรงนี้จะไปกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มอสังหาฯ ก็เริ่มขายไม่ได้ ลูกหนี้เก่าเริ่มมีความสามารถในการผ่อนชำระน้อยลง NPLชัดเจนมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องตามไปอีก”
ยิ่งคนเหล่านี้มีรายได้ไม่ทันก็เริ่มไปกู้ยืม เมื่อกู้ในระบบไม่ได้ก็เริ่มหันไปกู้หนี้นอกระบบ และวันไหนที่เขาไม่สามารถชำระหนี้ได้จะเกิดปัญหาทางสังคมตามมาอีก
ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อนั้นคิดว่าไม่น่ากังวล เพราะแบงก์ชาติดูแลอยู่ แต่ที่เรารู้สึกสินค้าแพงจริง เพราะค่าเชื้อเพลิง ค่าน้ำมัน ก๊าซ เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งรัฐบาลตรึงได้ระดับหนึ่ง จริงๆ ค่าเชื้อเพลิง อาจไม่ได้เพิ่มมาก แต่กลายเป็นว่าราคาอาหาร ผัก วัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นก็ดูราคาสินค้าเราแพงไปด้วย
“ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และเสถียรภาพ เพราะแบงก์ชาติดูอยู่ การจะไปลดดอกเบี้ยเร็วจะมีข้อเสียคือ อาจจะเกิดการไหลออกของเงิน และการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น พอเงินเฟ้อสูงขึ้น แบงก์ต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก กลายเป็นว่า การขึ้นลงดอกเบี้ยถ้าทำบ่อยเกินไป จะทำให้เสถียรภาพในการใช้นโยบายจะลดน้อยไปด้วย การจะไปกดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ไม่ควรออกมาพูดเพราะมันคนละเป้าหมายกัน”
อย่างไรก็ดี หากค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นไป กลุ่มที่มีรายได้ไม่ประจำ พวกแรงงานนอกระบบ จะได้รับผลกระทบสูงมาก และจะก้าวไปสู่วงจรการเป็นหนี้และอาจเข้าสู่วงจรหนี้ล้นพ้นตัว และเข้าวงจรหนี้นอกระบบ เข้าสู่วงจรหนี้อุบาทว์ ไม่สามารถหลุดพ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
“แรงงานนอกระบบมีประมาณ 21 ล้านคน ในส่วนนี้จะมีประมาณ 4.4 ล้านคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ง่าย และปรับตัวได้ลำบาก”
ส่วนในเรื่องการปิดโรงงานนั้น กระทรวงพาณิชย์แถลงว่าการปิดและขอเปิดใหม่สามารถชดเชยกันได้ ที่สำคัญรัฐบาลจะต้องรักษากลุ่มอุตสาหกรรมต่างชาติที่เข้ามาลงทุนไว้ให้ได้และต้องดึงทุนกลุ่มใหม่เข้ามาลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งการลงทุนของต่างชาติจะมองถึงการเข้าถึงแรงงานที่มีคุณภาพ เสถียรภาพทางการเมือง และจะต้องแสดงศักยภาพให้เห็นว่าประเทศไทย คือจุดหมายสำคัญในการลงทุนของต่างชาติ
รศ.ดร.ณดา บอกอีกว่า ประเด็นที่ภาคอสังหาฯ เสนอรัฐแก้กฎหมายให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้จาก 49% เป็น 75% นั้น อยากให้รัฐบาลเศรษฐา ชั่งน้ำหนัก เพราะการให้ต่างชาติถือครองทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนั้น โดยเฉพาะที่ดินแม้จะเป็นการเช่าแต่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือไม่ ส่วนสัดส่วนของการถือครองคอนโดมิเนียมว่ากันตามจริง ทุกวันนี้ต่างชาติถือครองสัดส่วนสูงมาก และก็ซื้อลงทุนอยู่แล้ว
“ในต่างประเทศอนุญาตให้ถือครองได้ และใช้เป็น facility เพราะการได้มาซื้อ asset จะทำให้เขาอยากจะมาลงทุนนานขึ้น แต่ต้องระมัดระวัง เพราะขยายตัวเร็วเกินไป เดี๋ยวจะเหมือนโครงการสีหนุวิลล์ในประเทศกัมพูชา ที่ให้ต่างชาติมาลงทุนมากๆ พอถึงจุดหนึ่ง ต่างชาติไปไม่ไหว กลายเป็นทรัพย์สินที่ต่างชาติถือครอง และรัฐบาลเอามาใช้ประโยชน์ ไม่ได้ ทิ้งร้างจนวันนี้”
โครงการสีหนุวิลล์จึงอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่รัฐบาลต้องตระหนัก โดยเฉพาะประเด็นการให้เช่าที่ดินขยายไปถึง 99 ปี ยิ่งไม่ควรกระทำ เพราะหาก การลงทุนจากต่างประเทศมีอุปสรรคทิ้งร้างไป เราจะทำอะไรไม่ได้!?
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j