xs
xsm
sm
md
lg

จีนดิ้นหลังสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ โยกสต๊อกทุ่มตลาดไทยทุบ SMEs อ่วม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศจี้รัฐเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส จากความขัดแย้งมหาอำนาจ ‘สหรัฐฯ-จีน’ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารอบใหม่จากจีน ระบุสินค้าตัวไหนจีนได้รับผลกระทบก็จะผ่องถ่ายมายังประเทศอาเซียนและไทยเป็นเป้าหมายใหญ่สุด ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs ตายสนิท แจงกำลังซื้อภายในประเทศทำให้เศรษฐกิจไทยโตไม่ได้ต้องพึ่งเศรษฐกิจ 3 ด้านจากต่างประเทศ จึงจะทำให้ไทยไม่ตกชั้นในอาเซียนเชื่อไทยมีศักยภาพดึงดูด เร่งพัฒนา EEC ระบบขนส่งทางราง แก้ระเบียบต่างๆ พร้อมคุมธุรกิจสีเทา-ดำ อย่างยุติธรรม แนะขึ้นค่าแรงงาน 400 บาทต้องตกลงในไตรภาคี ติงอย่าทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพและเติบโตต่ำกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เติบโตประมาณ 4-5% ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.4 ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องวางแผนรับมือและเร่งออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโตเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยโตไปพร้อมๆ กับกลุ่มอาเซียน

อีกทั้งกำลังซื้อภายในประเทศไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ รัฐจึงต้องเร่งสร้างอำนาจซื้อจากต่างประเทศที่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพและเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดให้ได้มากที่สุด

โดยหลังจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปลายปีนี้ และความขัดแย้งของ 2 มหาอำนาจ สหรัฐฯและจีน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจะยิ่งซ้ำเติมธุรกิจ SMEs ให้อยู่รอดได้ยากถึงยากที่สุด!

รศ.ดร.สมภพ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ระบุว่า
เศรษฐกิจโลกจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและพึ่งพากันทั้งด้านการค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออก ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ด้านการเงินและภาคบริการ ในเรื่องของการท่องเที่ยว ล้วนมีผลกระทบต่อประเทศไทยในเชิงลบค่อนข้างมากในครึ่งปีหลัง

“จากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.นี้ สงครามการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจ สหรัฐฯ กับจีน ตึงเครียดมีการใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้ซึ่งกันและกัน สหรัฐฯ พยายามไปสร้างพันธมิตรกับยุโรป เพื่อนำไปสู่การแซงก์ชันจีน หรือพยายามออกมาตรการต่างๆ กับจีนเพิ่มมากขึ้นด้วย”





กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกมาแสดงการคัดค้านและประท้วงกรณีสหรัฐฯ ปรับขึ้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับสินค้าจีนบางส่วน
ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่มีผลต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ถูกลากเข้าไปในเรื่องของการเมือง และความมั่นคง ไม่ใช่เฉพาะการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น แต่เป็นการเมืองและความมั่นคงภายในประเทศด้วย

“การเลือกตั้งสหรัฐฯ คู่แข่งขันใช้จีนเป็นตัวสร้างคะแนนนิยม มีการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารอบใหม่จากจีน เมื่อเพิ่มภาษีเช่นนี้ทำให้การค้าระหว่างประเทศเกิดรวน ทำให้จีนค้าขายกับสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ ลดลง

รศ.ดร.สมภพ บอกว่าผลที่ตามมาจากการขึ้นภาษีครั้งนี้ของสหรัฐฯ ทำให้สินค้าจีนเหลือมากมาย และเมื่อสินค้าจีนเหลือ จีนต้องมีมาตรการผ่องถ่ายไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะไทย และสินค้าเหล่านี้จะกระทบต่อธุรกิจ SMEs ของไทยแน่นอน เนื่องจากไทยเป็นคู่ค้ากับจีนมากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกชาติ โดยเฉพาะสินค้าของ SMEs ไทยล้วนผลิตจากจีนได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีน ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจไทยนั้น ไม่ได้มีแต่ด้านลบเรื่องของสินค้าที่ทะลักเข้ามา ยังมีผลกระทบในเชิงบวกต่อภาคบริการ การท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ ที่จะได้ตามมาด้วย โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะคนเหล่านี้จะเข้ามาซื้อ มาเช่าคอนโดมิเดียม และยังมีกิจการต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการศึกษาที่เราเห็นได้ว่า นักลงทุนจีนเข้ามาซื้อสถาบันการศึกษาในไทยหลายแห่ง เพื่อดึงคนจีนออกมาเรียนในประเทศไทย และในอนาคตเมื่อจบก็ทำงานในประเทศไทยต่อไป

“รัฐบาลต้องรีบหาวิธีจัดการ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้บวกเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนที่จีนส่งสินค้าเข้ามากระทบ SMEs ไทย ต้องหามาตรการรับมือไม่เช่นนั้นจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย”

รศ.ดร.สมภพ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ประเด็นที่น่าสนใจคือ จีนและไต้หวันต้องการมาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะมีการย้ายฐานเข้ามาอย่างมาก และเมื่อเข้ามาจะทำให้เกิดการจ้างงานใช้แรงงานไทย และวัตถุดิบของไทยเพิ่มขึ้น และเข้ามาใช้ Supply Chain ในไทย ประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากแน่นอน

“ไม่ใช่แค่จีน ไต้หวันอาจจะมาด้วย ยิ่งไต้หวัน ทะเลาะกับจีน ไต้หวันก็ยิ่งต้องมา เพราะจะถอนตัวออกจากจีน และจีนส่งออกไปที่อื่นได้ยาก จีนต้องหาแหล่งลงทุนที่อื่นที่สามารถรักษาการค้าต่างประเทศของตัวเองไว้ รวมไปถึงญี่ปุ่นก็จะมา ตอนนี้รัฐบาลต้องไปดูว่าจะมีมาตรการอะไรดึงดูดให้ประเทศเหล่านี้มาลงทุนเพิ่มขึ้นอีก ต้องไปคิดหาวิธีกันมาที่จะทำให้ Supply Chain เชื่อมโยงกันได้”

รวมทั้งต้องไม่มองว่าเวียดนามคือคู่แข่ง แต่ต้องหาทางย้ายฐานการลงทุนประเทศต่างๆ เข้ามาและต้องทำให้ไทยกับเวียดนามเชื่อมโยงเป็น Supply Chain ขึ้นมาได้ด้วย ทั้งนี้เวียดนามได้ประโยชน์อย่างมากในการค้าขายกับจีน เพราะมีระบบ logistic ที่เชื่อมติดกัน

“รถไฟจีนวิ่งมาสุดแค่ลาว ของไทยทำไปแค่หนองคาย ก็ต้องไปดำเนินการปรับปรุงเชื่อมต่อเส้นทางให้ได้ เพราะระบบของไทยล่าช้ามา 10 กว่าปีแล้ว รวมถึงระบบขนส่งทางรางอื่นๆ ด้วย”

รศ.ดร.สมภพ ระบุว่า โลกกำลังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งต่างๆ จากชาติมหาอำนาจที่ทะเลาะกัน ดังนั้นอาเซียนและไทยต้องแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้เราได้ประโยชน์ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการค้า การลงทุนและภาคบริการ ซึ่งภาคบริการไทยมีจุดแข็งมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยว ฮับสุขภาพ เด่นในเรื่องการรักษาโรค และดูแลสุขภาพต่างๆ ซึ่งเรามีแต้มต่ออยู่แล้ว รวมไปถึงเรื่องการศึกษา มีโรงเรียนนานาชาติจำนวนมากไว้รองรับลูก หลานของนักลงทุนและผู้บริหารต่างๆ

“ส่วนธุรกิจสีเทาๆ ดำๆ หรือการตั้งกาสิโน ไทยต้องมีมาตรการทางกฎหมาย ควบคุมดูแลทั้งระบบยุติธรรมและเป็นรูปธรรม อย่างกาสิโน เราต้องควบคุมให้ได้เหมือนสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย เมื่อเราหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้ตั้งกาสิโนไม่ได้ ก็ต้องให้มีผลกระทบน้อยที่สุด และได้ประโยชน์สูงสุด”

อสังหาฯ ไทยเนื้อหอมต่างชาติจ้องลงทุน
ที่สำคัญคือ ถ้าเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเท่ากับประเทศในอาเซียนนั้น เราจะหวังแต่อำนาจซื้อแค่เมืองไทยไม่พอแน่นอนที่จะทำให้ demand มีพลังมากพอ ที่จะทำให้ supply ขยับเขยื้อนได้ ดังนั้นจึงต้องสร้างอำนาจซื้อจากต่างประเทศ ในสิ่งที่ไทยมีเพียงพอที่จะเป็นแม่เหล็กได้

“ไต้หวัน จากตัวเลขที่ขอบีโอไอนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีทั้งบริษัทใหญ่และบริษัทเล็ก ซึ่งไต้หวันเก่งเรื่อง SME มาก แต่เชื่อได้ว่าเขาไม่มาทำตัวเดียวกับเรา เขามาใช้ฐานผลิตที่ไทย แล้วส่งออกไปที่ต่างๆ ไทยก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว และเราหาทางดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทย แทนที่จะไปเที่ยวไต้หวันได้ด้วย”

นอกจากนี้ จีนและไต้หวันจะเข้ามาแล้ว เชื่อว่ายังมีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หรือประเทศทางฝั่งยุโรปจะมาใช้ฐานที่ไทย เพราะความขัดแย้งในยุโรปไม่มีทางที่จะยุติได้ บรรดาคนดี คนเก่งคงหาทางย้ายฐานย้ายทรัพย์สินบางส่วนไปที่อื่นต่อไป ซึ่งไทยมีโอกาสที่จะดึงกลุ่มคนเหล่านี้มาได้




รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า เวลานี้รัฐบาลต้องรีบจัดการอะไรที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะกฎระเบียบต่างๆ ต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่รีบปรับปรุงเพื่อปลดล็อกให้ได้ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้นักธุรกิจต่างชาติเขามีการแจ้งให้ทราบไว้อยู่แล้ว เขาอยู่เมืองไทย ทำธุรกิจอะไร เจอปัญหาอย่างไร หรือในพื้นที่ EEC รัฐบาลต้องเร่งเข้าไปยกระดับให้ดีขึ้น คือต่อยอดที่มีอยู่แล้วให้พร้อมมากขึ้น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เชื่อม EEC ก็ต้องไปเร่งรัด ไม่ใช่ปล่อยให้ล่าช้าอยู่แบบนี้ เพราะพื้นที่ EEC มีศักยภาพที่จะดึงดูดต่างชาติเข้ามาอยู่แล้ว

ส่วนปัญหาค่าแรงที่จะมีการปรับ 400 ทั่วประเทศนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นองค์กรไตรภาคีอยู่แล้ว ต้องไปพูดคุยกันและได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา อย่างทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นความขัดแย้ง ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

“ค่าแรงบ้านเราไม่แพง และไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเพิ่มค่าแรง เพียงต้องคุยกันว่าจะเอาอย่างไรในสถานการณ์นี้ ยอมรับกันได้หรือไม่”

รศ.ดร.สมภพ ย้ำอีกว่า จากนี้ไปเชื่อว่าโลกจะมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และเราไม่สามารถไปจัดการความขัดแย้งของโลกได้ แต่ไทยมีโอกาสที่จะไขว่คว้าและสร้างประโยชน์ที่เกิดจากความขัดแย้งให้ประเทศได้ และต้องเร่งขจัดอุปสรรคที่ขวางกั้นให้เร็วที่สุด เพราะประเทศต่างๆ ยังมองไทยมีศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนที่เติบโตให้ได้ไม่ใช่ปล่อยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบตกชั้นในอาเซียน นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลไทยต้องเร่งจัดการ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น