xs
xsm
sm
md
lg

ผู้วิเศษเพียบ “อ้างพระไตรปิฎก” ทนายพุทธฯ เบ่งบาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถึงยุคที่วงการพุทธต้องใช้ทนายเข้ามาแก้ปัญหาความเห็นต่าง กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือสกัดฝ่ายตรงข้าม วัดดังเคยใช้แนวทางนี้มาก่อน คนวงในชี้โลกเปลี่ยนไปผู้วิเศษมากขึ้น มหาเถรสมาคมต้องมีบทบาทมากกว่านี้ ควรทำหน้าที่ยุติข้อขัดแย้งเรื่องในพุทธศาสนา เผยเรื่องที่ฟ้องร้องกันไม่ใช่เรื่องธรรมะแต่เป็นการตีความเข้าข้างตัวเองแล้วฟ้องหมิ่นประมาท เชื่อ “ศาสนาไม่เสื่อมคนต่างหากที่เสื่อม”

ช่วงที่ผ่านมาคนไทยคงคุ้นชินกับเรื่องรูปเคารพบูชา มีองค์เทพต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่เว้นแม้แต่บุคคลธรรมดาก็ผุดตัวกลายเป็นผู้วิเศษขึ้นมากันกลาดเกลื่อน จนกลายเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมไทย ล่าสุด คือกรณีของเด็ก 8 ขวบที่สอนธรรมะด้วยคำบอกเล่าถึงที่มาอันน่าอัศจรรย์ ทำให้มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนเกิดการฟ้องร้องกันทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับคนที่ติดตามข่าวด้านพระพุทธศาสนาคงจะพอทราบดีว่า ความเห็นต่างกันเรื่องความเชื่อและหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาในระยะหลังนี้มักจะมีการใช้กฎหมายเข้ามายุติปัญหา จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทุกวันนี้เรื่องธรรมะในพุทธศาสนาต้องเดินควบคู่ไปกับการบังคับใช้ด้วยกฎหมายหรือไม่ ทนายความกลายเป็นผู้มีบทบาทที่เข้ามาใช้กฎหมายเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องปฏิบัติหรือยุติการกระทำ

พุทธศาสนาในเมืองไทยกำลังเดินไปสู่เส้นทางที่ห้ามคนที่เห็นต่าง ด้วยการฟ้องร้อง ดำเนินคดีกันในทางกฎหมายกันมากขึ้น ความขัดแย้งในวงการพุทธศาสนากลายเป็นตลาดที่ผู้มีความรู้ทางกฎหมายต้องเหลียวกลับมามอง

กฎหมายไม่ช่วยให้คนศรัทธา

ผู้ดูแลเพจธรรมะรายหนึ่งได้ตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า ธรรมะ คือกฎธรรมชาติ ทุกสิ่งล้วนเกิดดับเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎหมาย คือ กฎที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนจะสอดคล้องกับธรรมะหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ที่สร้างกฎหมาย บางครั้งกฎหมายอาจจะขัดแย้งกับธรรมะเลยก็ได้

ขณะที่เรื่องความศรัทธาเกิดจากความรู้สึกของคน กฎหมายคงช่วยให้คนศรัทธาในธรรมะไม่ได้ และไม่ว่าคนจะศรัทธาในธรรมะหรือไม่ ธรรมะยังคงเป็นกฎธรรมชาติที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง


ตีความเข้าข้างตัวเอง-ฟ้องผู้เห็นต่าง

นายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความที่ผ่านคดีดังของวงการพระพุทธศาสนา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สมัยนี้ทนายความด้านพระพุทธศาสนามีมากมายหลายสำนัก ทุกสำนักอ้างว่าตนปกป้องพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่ไม่เคยเห็นมหาเถรสมาคม หรือสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะออกโรงมาเป็นโจทก์ไล่ฟ้องใครที่บิดเบือนหลักธรรมหรือเห็นต่าง

เท่าที่เห็นเคยมีพระผู้น้อยไม่พอใจคำสั่งทางปกครองของพระผู้ใหญ่ ฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้องมาตลอด เพราะการปกครองคณะสงฆ์มีผลแค่เพียงสงฆ์ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ไม่เกี่ยวกับหลักธรรม

คดีศาลอาญาทุจริตเห็นมีมาตั้งแต่เงินทอนวัด พระคม ล่าสุดเกิดกรณีที่วัดจันทร์ใน แต่ยังไม่ทราบผล ทั้งหมดเกี่ยวกับการทุจริตไม่เกี่ยวกับหลักธรรม

ส่วนคดีอาญา หมิ่นประมาท เป็นเรื่องที่ผู้เสียหาย โจทก์อ้างว่าตนเสียหายเพราะถูกพาดพิงทั้งสิ้น มักจะเอาพระไตรปิฎกโดยเฉพาะในส่วนพระวินัยมาตีความเข้าข้างตนและฟ้องผู้วิจารณ์ผู้เห็นต่าง

"เอหิปัสสิโก" จงมาดูเอาเถิด พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นศาสดา ยังทรงสอนให้พิจารณาก่อนจะเชื่อ ท้าให้พิสูจน์ได้

คนเสื่อม-ศาสนาไม่เสื่อม

การตีความหลักธรรมเรื่องพระพุทธศาสนามีประชาชนนับถือเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นประโยชน์สาธารณะ เมื่อมีผู้หยิบยกขึ้น ผู้วิจารณ์ย่อมมีเสรีภาพในการติชมตามทำนองคลองธรรมได้ ที่ผ่านมา ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์แวดล้อมด้วยว่าต้องอยู่ในข่ายของประโยชน์สาธารณะ หรือมีสาเหตุพิพาทกันมา

ดังนั้น ที่เกิดความวุ่นวายสักแต่อ้างว่าปกป้องพระศาสนา ล้วนแต่ฟ้องเพราะอ้างว่า "ตัวเอง" เป็นผู้เสียหายทั้งสิ้น ฟ้องไม่ได้ถ้าไม่มีทนายแนะนำ จึงไม่แปลกที่สังคมมองว่าอยากฟ้องเพราะปิดปาก??

ผมอยากทิ้งท้ายเหมือนตอนที่เกิดกรณีหลวงปู่แสง “ศาสนาไม่เสื่อม คนต่างหากที่เสื่อม”


ฟ้องร้องกันมีมาตลอด

แหล่งข่าวด้านพระพุทธศาสนากล่าวว่า กรณีใหญ่ๆ ในวงการพุทธศาสนาที่มีการใช้กฎหมายเข้ามาเข้ามาฟ้องร้องกัน ในอดีตนั้น มีกรณีของวัดพระธรรมกายในช่วงแรกๆ แต่ระยะหลังก็เบาลง ไม่พยายามสร้างศัตรูเพิ่ม เปลี่ยนวิธีการใช้การชี้แจงแทน จากนั้นก็เงียบปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ถึงวันนี้วัดพระธรรมกายยังมีผู้ศรัทธาจำนวนไม่น้อย มีการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา และกิจกรรมบุญให้บุคคลสำคัญในวัดได้ตามปกติ

อีกรายที่มีการฟ้องผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมของทางวัด นั่นคือหลวงพี่น้ำฝน วัดไผ่ล้อม มีการฟ้องทั้งสื่อและบุคคลที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมของทางวัดในทางที่เสียหาย

รายล่าสุดมีการใช้ทนายฟ้องผู้ที่เห็นต่าง และวิจารณ์ในทางที่เสียหายเช่นเดียวกัน

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า การฟ้องร้องกันที่เกิดจากข้อขัดแย้งต่างๆ มักเป็นวัดใหญ่หรือเป็นเรื่องดังที่มีฐานผู้ศรัทธาเป็นจำนวนมากทั้งสิ้น รายเล็กๆ ถ้าถูกท้วงติงจนเป็นกระแสส่วนใหญ่จะยอมถอยเกือบทั้งนั้น เพราะโอกาสแพ้สูง แถมการสู้กันทางคดีจะต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกไม่น้อย ถ้าทุนไม่หนาพอสู้ไปก็อาจไม่คุ้ม โดยเฉพะค่าทนายความ ซึ่งมีทั้งโอกาสแพ้และชนะได้ทั้งสิ้น

บางรายฟ้องเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งหยุด ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายที่ถูกฟ้องมีกำลังสู้หรือไม่ อาจถูกมองว่าเป็นการฟ้องปิดปากได้ ถ้าฝ่ายที่ถูกฟ้องไม่มีกำลังสู้ต้องหยุดวิพากษ์วิจารณ์และขอยอมความ ในบางกรณีที่มีการฟ้องร้องกัน ผู้ฟ้องมองออกว่ามีโอกาสยกฟ้องสูง แต่ฟ้องเพราะต้องการให้อีกฝ่ายหยุด ถ้าสุดท้ายยกฟ้องก็เงียบไป ซึ่งคนที่ถูกฟ้องส่วนใหญ่แล้วมักไม่มีการฟ้องกลับในข้อหาแจ้งความเท็จ เพราะเสียเวลาและค่าใช้จ่าย นี่เป็นอีกหนึ่งช่องว่างในทางกฎหมาย

ที่ฟ้องกัน-ไม่ใช่เรื่องธรรมะ

อาจารย์ด้านพุทธศาสนาอีกรายมองถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ว่า ถ้าเป็นการถกเถียงกันในเรื่องหลักธรรมในพระไตรปิฎก ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีการฟ้องร้องกันจนเป็นคดีความ แต่ที่เป็นคดีความกันในเวลานี้คือเป็นการพาดพิงกันไปมาระหว่างฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่จะเป็นการฟ้องหมิ่นประมาท หรืออาจมีข้อหาการนำข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ปัญหาที่เกิดขึ้นจนเป็นข้อถกเถียงกันในพุทธศาสนา จนเกิดการฟ้องร้องกันนั้น เป็นเพราะไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจในการยุติปัญหาออกมาแก้ไขหรือให้ความกระจ่างในข้อถกเถียงเหล่านี้

ที่ผ่านมา เพิ่งจะมีกรณีของเด็ก 8 ขวบ ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกมาสรุปว่าบางอย่างไม่มีในพระไตรปิฎก นี่คือเป็นครั้งแรกๆ ที่สำนักพุทธฯ ออกมายุติข้อขัดแย้งหลังจากมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักพุทธฯ มักจะอ้างเสมอว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ เนื่องจากทางสำนักพุทธฯ จะดูแลเฉพาะส่วนของพระสงฆ์


มหาเถรสมาคมต้องมีบทบาท

การถกเถียงกันที่เกิดขึ้นเกิดจากการตีความว่าฝ่ายหนึ่งผิด ฝ่ายหนึ่งถูก เป็นการแสดงความเห็นที่ต่างกัน โดยที่ผู้มีอำนาจกลับลอยตัวไม่ออกมาแก้ปัญหา ปล่อยให้คนไม่มีอำนาจ 2 ฝ่ายออกมาทะเลาะกัน เป็นแบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว

ว่ากันตามตรงสำนักพุทธฯ อ้างว่าไม่มีอำนาจก็ส่วนหนึ่ง แต่ข้อยุติเรื่องทางพุทธศาสนาควรไปจบที่มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ที่ผ่านมาไม่ยอมลงมาแก้ปัญหา เรื่องหลักธรรมคำสอนที่ผิดเพี้ยนก็ปล่อยปละละเลย วัดที่เน้นปลุกเสกขายเครื่องรางของขลัง ทั้งๆ ที่ขัดกับข้อห้ามก็ทำได้ ถ้าวัดนี้ทำได้วัดอื่นก็ทำได้เช่นกัน ตกลงเราจะสอนให้ชาวพุทธยึดหลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเราจะเน้นที่เครื่องรางของขลัง ผู้วิเศษ รูปเคารพ จนกลายเป็นพุทธพาณิชย์

วันนี้โลกเปลี่ยนไป ในวงการพุทธศาสนาก็เปลี่ยนตาม ผู้ที่ทำให้เกิดการผิดเพี้ยนในหลักธรรมคำสอน หรือแอบอ้างต่างๆ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหาอย่างไร จะอ้างว่าไม่ใช่พระจัดการไม่ได้ก็ถือว่าตามโลกไม่ทัน และปล่อยให้ปัญหาคงอยู่จนอาจเกิดความขัดแย้งมากขึ้น

การหาผู้รู้ออกมายุติปัญหาย่อมเป็นเรื่องที่ทันต่อเหตุการณ์ อาจกระทำผ่านสำนักพุทธฯ แล้วส่งต่อให้มหาเถรสมาคมรับรองก็ได้

กฎหมายไม่ช่วยสร้างศรัทธา

ทุกวันนี้มีผู้ที่รู้เรื่องพุทธศาสนาจริงๆ น้อยมาก เพราะพุทธเมืองไทยส่วนใหญ่เน้นบาลี เมื่อเกิดข้อขัดแย้งในเรื่องหลักธรรมหรือการอ้างอิงพระไตรปิฎก จึงไม่มีใครกล้าออกมาบอกในทันที เราเห็นพระผู้ใหญ่ที่วิจารณ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนาอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อกลุ่มคนที่เคยถูกวิจารณ์เข้าพบท่านก็พูดอ้อมแอ้มไป และถ้าเรื่องที่เป็นข่าวในเวลานี้สามารถผ่านวิกฤตในขณะนี้ไปได้ เป็นที่น่าสนใจว่าโอกาสเรื่องที่เป็นข่าวอาจเติบโตและได้รับความศรัทธาอาจมีมากขึ้นก็เป็นไปได้

อีกประการหนึ่งโลกเราทุกวันนี้เน้นไปที่การเอาชนะซึ่งกันและกัน การให้ฝ่ายที่เห็นต่าง หยุด จึงมีการนำเอากฎหมายมาบังคับใช้ตามการตีความถูกต้องของแต่ละฝ่าย การใช้กฎหมายมาบีบบังคับค่อนข้างส่วนทางกับแนวทางของศาสนา ความศรัทธาควรเกิดจากหลักธรรมคำสอนที่แท้จริง ไม่ควรเกิดจากการใช้กฎหมาย ทั้งหมดนี้ต้องมีหน่วยงานกลางที่เข้ามาทำหน้าที่เหมือนศาลเข้ามายุติข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ท้ายที่สุดถ้าเรื่องเหล่านี้ผ่านไปขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละกรณี อย่างวัดพระธรรมกายมีกิจกรรมบุญของตนเองตามปกติ บางวัดมีพิธีกรรมต่างๆ ตามแนวทางของเจ้าอาวาส หรือบางแห่งเน้นวิปัสนาก็อาจทำต่อไปได้ ทั้งหมดอยู่ที่การควบคุมดูแลขององค์กรพุทธฯ ที่มีพระปกครองตั้งแต่ระดับตำบลไปจนถึงระดับประเทศ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น