ถกเถียงกันพักใหญ่สำหรับ“เชื่อมจิต” จนเกิดการฟ้องร้องกันสำหรับคนที่เชื่อและไม่เชื่อ จนสำนักพุทธฯ ออกโรงยันเชื่อมจิต “ไม่มี” ในพระไตรปิฎก ขณะที่ทนายธรรมราชร่วมกิจกรรมกับ อปพส.ของอดีตศิษย์ธรรมกาย คัดค้านแก้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก แถมบังเอิญยกตัวอย่างสื่อรายงานข่าวเท็จเป็นกรณีอ.ชูชีพ สายธรรมกายที่หนุนน้องไนซ์
ทนายความที่มาแรงที่สุดในขณะนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากทนายธรรมราช สาระปัญญา ทนายความของอาจารย์น้องไนซ์ “เชื่อมจิต” ที่โด่งดังจากการสอนธรรมะด้วยวัยเพียง 8 ขวบ ที่มาพร้อมกับข้อสงสัยต่างๆ ของคนในสังคม จนมีการตอบโต้กันไปมาระหว่างผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อ โดยเฉพาะข้อสังสัยที่ว่าเชื่อมจิตมีในพระไตรปิฎกหรือไม่
ในเรื่องนี้ทนายธรรมราช ได้โพสต์เมื่อ 23 เมษายน 2567 ว่า เรียนพุทธศาสนิกชนคนไทยทั้งประเทศ ด้วยทนายอนัตชัย ไชยเดช กล่าวหาว่า "เชื่อมจิต" พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ผมจึงขอเรียนทุกท่านด้วยเหตุและผลดังนี้ครับ
คำว่า "เชื่อมจิต" นั้นเป็นภาษาธรรม อยู่ในหมวด 3 มรรคมีองค์แปด คือ สัมมาวาจา คำพูดที่ชอบ วาจาที่ชอบ พูดแล้วคนรักกัน พูดแล้วคนปรองดองกัน พูดแล้วคนอยากจะมาทำสมาธิ พูดแล้วคนรวมตัวกันทำความดี
พูดแล้วคนมีกำลังใจในการสร้างทาน ถือศีล พูดแล้วคนรวมตัวสามัคคีกันในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เขาเรียกว่า "เชื่อมจิต" เป็นภาษาธรรม ซึ่งอยู่ในหมวดธรรมข้อที่ 3 มรรคมีองค์แปด คือสัมมาวาจานั่นเอง
แล้วอยู่ในหมวดธรรมสังฆหวัตถุ 4 ด้วย คือ ปิยะวาจาพูดแล้วคนมีกำลังใจในการสร้างทาน ถือศีล พูดแล้วคนรวมตัวสามัคคีกันในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เขาเรียกว่า "เชื่อมจิต" เป็นภาษาธรรมเช่นเดียวกัน
ดังนั้นแล้ว คำว่า "เชื่อมจิต" ที่ อ.น้องไนซ์กล่าวนั้น คือ คำสอนของพระศากยะมุนีพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย สาธุๆๆ นิรมิตเทวาจุติ ทนายธรรมราช
“เชื่อมจิต” ไม่มีในพระไตรปิฎก
17 พฤษภาคม 2567 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ออกมายุติข้อสงสัยในเรื่องเชื่อมจิตโดยนายบุญเชิด กิตติธรางกูร คณะทำงานตรวจสอบ กลั่นกรอง ข้อมูล ข่าวสารและการกระทำอันอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา กล่าวว่าในกรณีการเชื่อมจิตได้มีการตรวจสอบในพระไตรปิฎกแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎกแต่อย่างใด
การเชื่อมจิตนั้นนอกจากไม่ปรากฏแล้วยังขัดต่อหลักธรรมคุณ 6 ประการ ซึ่งธรรมของพระพุทธองค์นั้นผู้ใดปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตัวเอง ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ไม่บรรลุผู้อื่นจะบอกก็เห็นไม่ได้ อีกทั้งวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ทั้งนี้ กรณีการเชื่อมจิตนั้นเป็นเรื่องไม่จริง ซึ่งมีการการันตีจากพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่มีเรื่องดังกล่าวในพระไตรปิฎก
คำแถลงดังกล่าวจึงไม่เป็นผลบวกกับฝ่ายที่เชื่อและศรัทธาน้องไนซ์
เชื่อม อปพส.
แหล่งข่าวที่ติดตามความเคลื่อนไหวของวงการพุทธศาสนาก่อนหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจะออกมากล่าวว่า “เชื่อมจิต” ไม่มีในพระไตรปิฎก พบว่า ทนายธรรมราชได้ร่วมกิจกรรมกับองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ (อปพส.) ร่วมคัดค้านการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติอิสลาม
ทั้งนี้ เมื่อ22 กุมภาพันธ์ 2567 องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศไทย
โดยนายประพันธุ์ กิตติฤดีกุล และทนายธรรมราช ขอใช้สิทธิคัดค้านและยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ. 2489 และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การใช้กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดก พ.ศ. …ที่นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะพรรคประชาชาติ เป็นผู้เสนอ
นายธรรมราช กล่าวว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม และร่าง พ.ร.บ.การใช้กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2489 พรรคประชาชาติมีการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามโดยขอยกเลิกมาตรา 3 จากที่ใช้ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ กลายเป็นการบังคับใช้ทั่วประเทศ
ยังได้ขอให้มีเจ้าพนักงานศาลที่จบกฎหมายอิสลามเท่านั้นที่จะสามารถดำรงตำแหน่งได้ในการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และยังขอหากมีข้อพิพาทระหว่างคนที่นับถือศาสนาพุทธกับคนที่นับถือศาสนาอิสลามว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกให้บังคับใช้ตามกฎหมายอิสลาม
นายธรรมราช ระบุว่า พ.ร.บ.การใช้กฎหมายอิสลามไม่มีตัวบทกฎหมาย มีเพียงคู่มือหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกเพื่อใช้ในการตัดสินคดีอิสลาม ซึ่งคู่มือนี้มีเพียงประธานศาลฎีกาเป็นผู้รับรอง แต่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทางสภาโดยหากเกิดกรณีพ่อแม่แต่งงานใหม่แล้วมีการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามทางทายาทที่นับถือศาสนาพุทธไม่มีสิทธิได้รับมรดก
ทั้งหมดนี้เป็นกฎหมายที่กำลังยื่นเข้าสู่สภาโดยพรรคประชาชาติเราจึงมายื่นคัดค้านให้เพิกถอนการใช้กฎหมายนี้ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย ในเมื่อเราใช้กฎหมายฉบับเดียวกันทำไมต้องมีหลักกฎหมายอิสลามที่เอื้อประโยชน์เพียงแต่คนอิสลามด้วย
จากนั้น 7 พฤษภาคม 2567 กลุ่ม อปพส.พร้อมทนายธรรมราช ยื่นเรื่องต่อสภาทนายความ พร้อมโพสต์ข้อความดังนี้ สิ่งที่ไม่ชอบธรรมสิ่งที่ซ่อนเร้น สิ่งที่ขัดต่อความสงบสุขของประชาชน ต้องหมดไปจากผืนแผ่นดินนี้
วันนี้ (7 พ.ค.67) กลุ่ม อปพส.เข้ายื่นหนังสือให้สภาทนายความตรวจสอบข้อกฎหมายอันเป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์คนบางกลุ่ม ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อเป็นแนวทางในการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวต่อไป
เรื่องบังเอิญ อปพส.-ชูชีพ
นอกจากนี้ เมื่อ 29 เมษายน 2567 เป็นวันที่ทนายธรรมราช สาระปัญญา ทนายของน้องไนซ์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี เอาผิดสื่อที่เสนอข่าวเท็จทำให้สังคมแตกแยก ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล บังเอิญตรงกับกลุ่ม อปพส.ที่มายื่นเรื่องของสื่อเช่นเดียวกัน แต่ท้วงติงที่สื่อไม่ค่อยรายงานข่าวพระแถวพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของน้องไนซ์ นิรมิตเทวาจุติ เป็นที่ถกเถียงของผู้คนในสังคม ในฐานะทนายความของครอบครัวน้องไนซ์ จึงต้องปะทะกับสื่อและหน่วยงานต่างๆ ที่อาจนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อมูลของน้องไนซ์ จึงมีเรื่องที่ปะทะกันระหว่างทนายกับสื่อช่องต่างๆ เรื่อยมา
ทนายธรรมราช ได้โพสต์ Facebook เมื่อ 21 เมษายน 2567 ด้วยการยกตัวอย่างการนำเสนอข่าวเท็จของสื่อมวลชน
เพิ่งโพสต์วันนี้มีผู้เสียหายติดต่อมาแล้ว ผู้เสียหายท่านนี้ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ และการประกอบอาชีพ จากการทำข่าวเท็จของสื่อที่ไร้จรรยาบรรณ เรื่องเกิดขึ้นกว่าสิบปีแล้วแต่ความเสียหายยังอยู่ และฝังลึกลงจิตใจ
รายการผี... ดังกล่าวไปถ่ายรูปบ้านผู้เสียหายออกอากาศ จากนั้นสำนักข่าวก็หยิบยกประเด็นไปตีข่าวอีกหลายสำนัก เรื่องราวดังกล่าวเป็นเท็จ ไปร้องเรียนที่รายการผี... ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแล
หลังรายการผี...ออกอากาศ จากเดิมบ้านดังกล่าวเคยมีคนเช่าถ่ายหนังถ่ายละคร เคยประกอบอาชีพค้าขายได้ กลับกลายเป็นบ้านผีสิงในสายตาชาวบ้าน แจ้งให้รับผิดแต่ทำหูทวนลม
สังคมควรประณามสื่อที่ทำร้ายประชาชน เสนอเรื่องเท็จเพราะต้องการกระแสเท่านั้น
ยกตัวอย่าง อ.ชูชีพ
จากการตรวจสอบพบว่า ข่าวดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน (15 มี.ค.2552) บุคคลในภาพคือนายชูชีพ ภัทรกรินทร์ ออกมายืนยันว่า บ้านร้างที่เป็นข่าวเรื่องเฮี้ยนหรือมีคนตายในบ้านนั้น นายชูชีพ ที่เคยอยู่บ้านหลังดังกล่าวยืนยันว่าไม่เคยมีคนตายในบ้านนี้
อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่นายชูชีพ ภัทรกรินทร์ ปัจจุบันเป็นประธานสภาวัฒนธรรม คลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง ร่วมกิจกรรมบุญกับวัดพระธรรมกายบ่อยครั้ง และยังเคยร่วมเสวนาธรรมไขข้อสงสัยกับ Live นิรมิตเทวาจุติ เมื่อ 22 เมษายน 2567
รวมทั้งยังโพสต์อีกข้อความ เช่น “พุทธบุตรเป็นภาษาธรรม แปลว่าเป็นลูกพระพุทธเจ้า เรานับถือในพระธรรมคำสั่งสอน นับถือพระพุทธเจ้าเหมือนพ่อ”
“น้องไนซ์อ้างว่าเป็นพุทธบุตรผิดตรงไหน เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาสั่งสอนคนให้เข้าถึง เข้าถึงศีลสมาธิปัญญา”
“คำว่าเชื่อมจิตเป็นภาษาธรรม อยู่ในหมวดธรรม มรรคมีองค์ 8 ทางพ้นทุกข์ สัมมาวาจานั่นอง คำพูดที่ดีงาม พูดที่ถูกต้องพูดแล้วคนสามัคคีธรรม”
จากนั้นข้อความเหล่านี้ก็ถูกลบออกไป สอดคล้องกับข้อมูลว่า คนในธรรมกายไม่พอใจกับสิ่งที่ท่านได้ทำ เพราะอาจถูกเชื่อมโยงไปถึงวัดพระธรรมกายได้
อปพส.มาจากศิษย์ธรรมกาย
แหล่งข่าวที่ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงพระพุทธศาสนา เล่าให้ฟังว่า อปพส.เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของศิษย์วัดพระธรรมกาย มีนายอัยย์ เพชรทอง เป็นแกนนำ เดินสายให้ความรู้ทางกฎหมายกับพระสงฆ์ หลังจากมีข่าวเรื่องพระผู้ใหญ่หลายรูปติดคดีเงินทอนวัด รวมถึงพุ่งเป้าเรื่องการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา โดยให้ความสำคัญกับพระสงฆ์ทางใต้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากความไม่สงบ ซึ่งวัดพระธรรมกายมีโครงการให้ความช่วยเหลือพระในพื้นที่ชายแดนใต้อยู่ แต่ อปพส. กลับพุ่งเป้าไปในเรื่องศาสนา ทั้งเรื่องมัสยิดและฮาลาล
ทำให้สำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกายได้ออกแถลงการณ์ว่า วัดพระธรรมกายไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม อพปส.
ตามที่ปรากฏข้อมูลข่าวสารถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์การปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ (อพปส.) และมีความพยายามนำเสนอเชื่อมโยงสร้างภาพให้เห็นว่าวัดพระธรรมกายเข้าไปเป็นกลุ่มเดียวกัน มีแนวทางการเคลื่อนไหวและให้การสนับสนุนกลุ่ม อพปส.นั้น
วัดพระธรรมกายได้ออกหนังสือชี้แจงประกาศให้สาธารณชนได้ทราบอย่างชัดเจนถึงสองครั้ง คือเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2561 และ 5 สิงหาคม พ.ศ.2562 ว่าทางวัดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหว มีความสัมพันธ์หรือให้การสนับสนุนกลุ่มดังกล่าวแต่อย่างใด
วัดพระธรรมกายเป็นองค์กรศาสนา อยู่ในการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ภายใต้การกำกับดูแลของมหาเถรสมาคม โดยยึดมั่นพระธรรมวินัยและปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง มีแนวทางในการเผยแผ่ตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ คือ อนูปวาโท ไม่ว่าร้าย อนูปฆาโต ไม่ทำร้าย ปาฏิโมกเข จ สังวโร สำรวมในพระปาฏิโมกข์
อัยย์ติดคุก-มิสเตอร์ดีรับไม้ต่อ
การเคลื่อนไหวของ อปพส. มีการฟ้องร้องกันจนศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายอัยย์ เพชรทอง หลายคดี จนนายอัยย์ ได้ทำหนังสือขอขมาต่อพรรคประชาชาติ และทีมงานทุกท่าน ศาลจังหวัดยะลา บัลลังก์ 2 วันที่ 30 มิถุนายน 2566
กระผมนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการ อปพส. ขณะนี้ได้อยู่ในเรือนจำกลางสงขลาเป็นเวลาเกือบ 5 เดือน จากคดีหมิ่นประมาทนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยการตั้งคำถามว่าเกี่ยวข้องกับโจรใต้แบ่งแยกดินแดนไหม จนเป็นเหตุให้ถูกฟ้องข้อหาต่างๆ เป็นจำนวน 8 คดี
บัดนี้กระผมได้ทราบข้อมูลที่เป็นจริงแล้วว่าท่านวันนอร์ พรรคประชาชาติและทีมงานทั้งหมด ทั้งท่านทวี สอดส่อง ท่านอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับการสนับสนุนโจรใต้แบ่งแยกดินแดน เป็นการเข้าใจผิดของกระผมและเครือข่าย
ดังนั้น กระผมนายอัยย์ เพชรทอง และครอบครัวจึงได้ขอขมาลาโทษและขออโหสิกรรมต่อท่านวันนอร์ ท่านทวี สอดส่อง ท่านอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ มา ณ ที่นี้ด้วยความจริงใจและเต็มใจและรู้สึกสำนึกผิดที่ทำให้ทุกๆ ท่านเสียหาย เสียชื่อเสียง และขออโหสิมายังพรรคประชาชาติด้วยครับ
ทั้งนี้ เมื่อ 11 กรกฎาคม 2566 ที่มีการยื่นหนังสือขอโทษพรรคประชาชาติอย่างเป็นทางการนั้น มีแค่ภรรยาและลูกของนายอัยย์ และอาจารย์จาตุรงค์ เป็นหลักเท่านั้น สายที่เคยเคลื่อนไหวกันในนาม อปพส.ไม่มีใครมา
ปัจจุบันมีนายประพันธุ์ กิตติฤดีกุล เป็นเลขาธิการ แทนนายอัยย์ ที่ถูกดำเนินคดีและต้องโทษอยู่ในเรือนจำ กิจกรรมของทางกลุ่มยังคงขับเคลื่อนเรื่องของศาสนาอิสลามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายๆ เรื่องจะกระทบกระทั่งกับพรรคประชาชาติ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j