“รศ.ดร.พิชาย” เผยหลายพรรคส่งคนลงชิง ส.ว. โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีบ้านใหญ่ บ้างตั้งเป้าต้องได้อย่างน้อย 20 ที่นั่ง บ้างให้ รมต.ลงไปสั่งการ พบจ้างคนลงสมัครหัวละ 2,000-15,000 บาท เพื่อล็อกคะแนนโหวต คาด ส.ว.ที่มาจากสายการเมืองจะมีสัดส่วนสูงถึง 50% ของสภาสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าไปแก้ รธน. แต่งตั้งองค์กรอิสระ ขณะที่ “ส.ว.เสรี” เชื่อ “เพื่อไทย” อาจยึดได้ทั้งสภาล่างและสภาสูง
เป็นที่ฮือฮาอย่างมากสำหรับการลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.เชียงใหม่ ของ “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” หนึ่งในเขยตระกูลชินวัตร ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่คืออีกย่างก้าวหนึ่งของพรรคเพื่อไทยที่กำลังรุกคืบเข้าชิงพื้นที่สภาสูง หลังจากที่สามารถเข้ากุมอำนาจในสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงอำนาจฝ่ายบริหารในฐานะรัฐบาลได้เรียบร้อยแล้ว ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าปฏิบัติการนี้อาจนำไปสู่การเป็น “เผด็จการรัฐสภา” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวว่าเริ่มมีการฮั้วกันของกลุ่มผู้สมัคร ส.ว.ในหลายพื้นที่ อีกทั้งมีข่าวการจ้างคนลงสมัคร ส.ว.เพื่อให้ช่วยโหวตในการเลือก ส.ว.ในระดับต่างๆ จึงเป็นสัญญาณว่าศึกการชิงอำนาจ ส.ว. ของฝ่ายการเมืองได้เริ่มขึ้นแล้ว!
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะพยายามยึดทั้งสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่าง และวุฒิสภาหรือสภาสูง เพราะหากดูจากการดำเนินการทางการเมืองในอดีตของอดีตนายกฯ ทักษิณ เชื่อว่าเขาต้องพยายามรุกคืบบุกยึดทั้งสภาล่างและสภาสูง และการส่งนายสามชาย ลงสมัคร ส.ว.ที่ จ.เชียงใหม่ อาจจะเป็นหนึ่งในแผนการดังกล่าว ซึ่งต้องรอดูว่าในจังหวัดอื่นๆ จะมีคนของพรรคเพื่อไทยไปลงสมัคร ส.ว.ด้วยหรือไม่
สอดคล้องกับ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีความเห็นว่า เป็นไปได้ที่การส่งนายสมชาย ลงสมัคร ส.ว. จะทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถยึดทั้งสภาสูงและสภาล่าง เนื่องจากนายสมชาย เคยเป็นนายกรัฐมนตรี เคยเป็นผู้นำในพรรคเพื่อไทย ในทางการเมืองน่าจะมีผู้สนับสนุนอันเนื่องมาจากความผูกพันและความเคารพนับถือกัน อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งทำให้น่าจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็น ส.ว. และอาจมีโอกาสได้เป็นประธานวุฒิสภา ถ้าคุณสมบัติไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหาอะไร
“แต่ถ้าการเมืองคุม ส.ว. หรือสภาสูงได้จะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งต้องการให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นอิสระต่อกัน ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากการเลือก ส.ว.จะมีใครได้เข้ามาบ้าง เป็นคนจากกลุ่มการเมืองหรือไม่ บางคนตอนแรกที่เข้ามาเป็น ส.ว.โดยอิสระ แต่พอได้เป็น ส.ว.แล้วกลับไปอยู่กับกลุ่มการเมืองก็มี ทั้งนี้ต้องดูพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก” นายเสรี กล่าว
ล่าสุด มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าขณะนี้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มส่งคนลงสมัคร ส.ว.เช่นกัน โดย “รศ.ดร.พิชาย” ระบุว่า เท่าที่ทราบไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น พรรคการเมืองอื่นก็ส่งคนลงสมัคร ส.ว.เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเอาไว้เป็นฐานสนับสนุนในการแก้ไขกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแต่งตั้งองค์กรอิสระซึ่งหนึ่งในภารกิจของ ส.ว. โดยบางพรรคมีการตั้งเป้าว่าต้องการมี ส.ว.ที่เป็นคนของพรรคอย่างน้อย 20 คน บางพรรคใช้รัฐมนตรีในกระทรวงที่พรรคตนเองดูแลเข้าไปสั่งการและชี้ว่า ส.ว.ในสาขาอาชีพนี้ต้องเป็นคนของพรรค โดยเฉพาะในจังหวัดที่พรรคตนเองมีอิทธิพลอยู่ ขณะที่พรรคซึ่งมีบ้านใหญ่จะส่งคนของตัวเองลง ส.ว.ในพื้นที่จังหวัดที่มีบ้านใหญ่ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังยากที่จะประเมินว่า ส.ว.ที่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองจะมีมากน้อยเพียงใด เพราะในการเลือก ส.ว.ในระดับประเทศมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ซึ่งโอกาสที่จะได้ ส.ว.ที่เป็นคนของตนเองนั้นต้องมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งคาดการณ์ยากเพราะบางทีจังหวัดใหญ่ๆ มีหลายอำเภอ พรรคการเมืองอาจจะแทรกแซงไม่ได้ เพราะมีผู้สมัครจำนวนมาก การต่อสู้จึงสูงตามไปด้วย
“ถ้าประเมินคร่าวๆ มีความเป็นไปได้ว่าสัดส่วน ส.ว.ที่เป็นคนของพรรคการเมืองต่างๆ กับ ส.ว.ที่อิสระจริงๆ น่าจะครึ่ง-ครึ่ง หรือประมาณ 50% เพราะทุกพรรคต่างส่งคนของตัวเองเข้าไป และบ้านใหญ่ของแต่ละพรรคสามารถกำกับดูแลตรงนี้ได้ ซึ่งในจังหวัดที่มีบ้านใหญ่และจังหวัดเล็กๆ ที่มีจำนวนอำเภอไม่เยอะพรรคการเมืองมีโอกาสจะส่งคนเข้าไปเป็น ส.ว.ได้ แต่หากเป็นจังหวัดที่ไม่มีบ้านใหญ่ก็ค่อนข้างยาก แม้จะเป็นจังหวัดที่มี ส.ส.ของพรรคก็ตาม ซึ่งตอนนี้ยังคาดการณ์ยากว่าพรรคไหนจะได้ ส.ว.มากที่สุด การเลือกในระดับจังหวัดอาจพอคาดการณ์ได้ว่าถ้าจังหวัดไหนมีบ้านใหญ่ ส.ว.ที่เป็นคนของพรรคนั้นน่าจะได้รับเลือก เช่น บุรีรัมย์ อาจจะได้ ส.ว.สายภูมิใจไทย อย่างไรก็ดี ใน จ.เชียงใหม่ และสุพรรณบุรี แม้จะมีบ้านใหญ่ แต่ยังไม่แน่ว่าคนของพรรคนั้นๆ จะได้เป็น ส.ว.เพราะยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง” รศ.ดร.พิชาย ระบุ
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตอนนี้ผู้สมัคร ส.ว.ในบางพื้นที่เริ่มมีการฮั้วกันเพื่อแลกเปลี่ยนคะแนนในการโหวตเลือกในแต่ละสาขาอาชีพ โดยมีการตั้งไลน์กลุ่มเพื่อติดต่อประสานงานกันล่วงหน้า รวมทั้งมีการจ้างคนลงสมัคร ส.ว. หัวละ 5,000 บาทเพื่อเข้าไปช่วยลงคะแนนโหวตนั้น “รศ.ดร.พิชาย” ยืนยันว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจริง โดยอัตราการว่าจ้างนั้นมีตั้งแต่หัวละ 2,000-15,000 บาท อย่างไรก็ดี คนที่รับจ้างอาจจะมีไม่มากนักเนื่องจากการลงสมัคร ส.ว.มีขั้นตอนที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนและต้องใช้เวลาการดำเนินการ ต่างจากการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่แค่ไปหย่อนบัตรลงคะแนนเท่านั้น ดังนั้นคนที่รับจ้างลงสมัครอาจมองว่าไม่คุ้ม
สำหรับระเบียบการเลือก ส.ว.ที่หลายฝ่ายมองว่ามีช่องโหว่ที่อาจจะเกิดการฮั้วกันได้นั้น “รศ.ดร.พิชาย” เห็นว่า ในการเลือก ส.ว.นั้นสามารถฮั้วกันได้อยู่แล้ว แต่ต้องมีการจัดการกันเป็นขบวนการที่ค่อนข้างใหญ่ ยกตัวอย่าง การเลือกในระดับจังหวัด ถ้าในจังหวัดนั้นมีผู้มีอิทธิพลอยู่ 2 คน ต่างก็ส่งคนของตัวเองไปสมัคร ส.ว.ใน 10 กลุ่มอาชีพ จากนั้นทั้งสองกลุ่มจึงมาฮั้วกันว่าจะให้คนของตัวเองลงคะแนนให้ใครบ้าง แต่ต้องระมัดระวังเนื่องจากเป็นขบวนการใหญ่อาจถูกจับผิดได้ง่าย
ด้าน “นายเสรี” มองว่า จะเป็นการใช้ช่องโหว่ของระเบียบเพื่อฮั้วกันหรือไม่นั้น ต้องดูว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดระเบียบหรือไม่ การลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นมีค่าตอบแทนหรือเปล่า ถ้ามีการให้ค่าตอบแทนหรือมีผลประโยชน์ก็ผิดกฎหมาย ถ้าจับได้จะถูกเพิกถอนจากการเป็น ส.ว.และมีโทษตามกฎหมายด้วย
ส่วนว่าเพราะเหตุใดบรรดาพรรคการเมืองจึงต้องการส่งคนของตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว.นั้น “รศ.ดร.พิชาย” อธิบายว่า เนื่องจากตำแหน่ง ส.ว.มีบทบาทสำคัญในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นอำนาจที่สำคัญของ ส.ว.ชุดนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการในองค์กรอิสระซึ่งมีบทบาทในการให้คุณให้โทษทางการเมือง รวมถึงการเข้าชื่อถอดถอนต่างๆ เช่น กรณีการเข้าชื่อกันของ 40 ส.ว.ซึ่งยื่นเรื่องผ่านประธานวุฒิสภาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายพิชิต ชื่นบาน เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) กรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ซึ่งขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ในประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้น หาก ส.ว.อยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมืองอาจจะมีการล็อบบี้กันให้ถอนชื่อในการยื่นเรื่องต่างๆ
อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ส.ว.ในทุกยุคทุกสมัยส่วนใหญ่มักโอนเอียงเข้าข้างหรือสนับสนุนผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสมัยนายกฯ ทักษิณ หรือสมัย พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นพรรคการเมืองอาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงในช่วงระหว่างการเลือก ส.ว. แต่อาจรอไล่ซื้อหลังจากเข้ามาเป็น ส.ว.แล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่า หรือเมื่อหากมีเหตุที่ต้องใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ก็ค่อยเข้าไปหว่านล้อมให้มาช่วยสนับสนุน หรือแม้แต่องค์กรอิสระ ที่ผ่านมาใครมีอำนาจมักได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอิสะเช่นกัน
“ที่ต่างจากการเลือก ส.ว.ในอดีตคือครั้งนี้จะไม่กลายเป็นสภาผัวเมียเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายมีข้อกำหนดว่าหากมีสมาชิกในบ้านเป็น ส.ส.จะไม่สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ แต่ถ้าเป็นแค่เครือญาติก็ยังสามารถลงสมัครได้อยู่ อย่างกรณี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้เพราะลูกและภรรยาไม่ได้เป็น ส.ส.” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
ส่วนที่ตอนนี้เริ่มมีการร้องเรียนเรื่องระเบียบการเลือก ส.ว.ว่าไม่มีความเหมาะสมนั้น “นายเสรี” ระบุว่า ต้องพิจารณาว่าระเบียบที่ออกมานั้นทำให้การเลือก ส.ว.เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ ถ้าออกระเบียบแล้วไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีคนได้เปรียบเสียเปรียบ อาจจะเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตซึ่งอาจส่งผลให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เสียไป แต่ทั้งนี้กรณีที่ศาลปกครองรับเรื่องร้องเรียนจาก นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.วิเดือน งามปลั่ง ผู้สมัคร ส.ว.ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และประธาน กกต. เนื่องจากเห็นว่ามีการออกระเบียบในเลือก ส.ว.ที่ขัดต่อรัฐรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ศาลเพิกถอนระเบียบ กกต.ทั้ง 3 ฉบับที่มีปัญหานั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้การเลือก ส.ว.หยุดชะงักแต่อย่างใด กกต.ยังสามารถดำเนินการเลือก ส.ว.ต่อไปได้ แต่หากศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่าการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ไม่ถูกต้องเที่ยงธรรมก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลปกครองว่าจะสั่งให้มีการเพิกถอนระเบียบการเลือก ส.ว.ดังกล่าวหรือไม่
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ “รศ.ดร.พิชาย” ที่มองว่า การร้องเรียนดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อขอให้มีการแก้ไขระเบียบในการเลือก ส.ว.เท่านั้น เช่น ระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัว ซึ่งเชื่อว่าการร้องเรียนครั้งนี้จะไม่ผลให้การเลือก ส.ว.ต้องหยุดชะงักแต่อย่างใด
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j