xs
xsm
sm
md
lg

“บุ้ง” จากไป ก้าวไกลเดินเครื่องนิรโทษฯ ช่วย ส.ส.พ้นมลทิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่เกินคาด รุมโหนการจากไปของ “บุ้ง” ทั้งแนวร่วมเดียวกันและคนก้าวไกล เลือกตีความสร้างความได้เปรียบ ย้อนดูข้อมูลที่ทะลุวังเคยโพสต์ เคยได้ประกัน ทำผิดเงื่อนไขจนถูกถอนประกัน บุ้งประกาศไม่ขอประกันตัว ที่ผ่านมาพบก้าวไกลเลือกร่วมกิจกรรมทะลุวังบางงานเท่านั้น ดูกระแสสังคมเป็นหลักทิ้ง “บุ้ง-หยก” กรณีปีนรั้วเตรียมพัฒน์ฯ จนต้องเรียน กศน. แถมดันนิรโทษกรรม รวม ม.112 ที่ ส.ส.ก้าวไกลติดคดีหลายคน

การเสียชีวิตของบุ้ง น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองเสียชีวิตลงเมื่อ 14 พฤษภาคม 2567 โดยนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แจ้งญาติเพื่อไปแจ้งสาเหตุการเสียชีวิต เกิดจาก 3 สาเหตุ 1.มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน 2.ภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ 3.หัวใจโต พร้อมระบุว่าเอกสารการรักษาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระบุว่า ตอนที่รับตัวบุ้ง มาในช่วงเช้า 14 พ.ค.67 บุ้งไม่มีสัญญาณชีพแล้ว

ในที่สุดการเสียชีวิตของบุ้ง ก็ถูกฝ่ายที่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยกัน รวมทั้งนักการเมืองจากพรรคก้าวไกล หยิบยกขึ้นมาสร้างกระแสทางการเมืองเพื่อปลุกกระแสนิรโทษกรรม

และยังเป็นการปลุกกระแสเรื่องมาตรา 112 ให้กลับมาอยู่บนความสนใจของผู้คนอีกครั้ง หลังจากที่เรื่องนี้เงียบหายไปหลังจากมีการตีความของศาลรัฐธรรมนูญกับกรณีของพรรคก้าวไกล เมื่อ 31 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา


ก้าวไกลเลือกร่วมกิจกรรม

“เชื่อว่าหลายๆ คนคาดอยู่แล้วว่า จะมีการปลุกเรื่องของบุ้งขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมืองอีกครั้ง ตอนนี้ฝ่ายที่เรียกร้องเรื่องการแก้ไข ม.112 ต่างออกมาใช้จังหวะนี้ปลุกกระแส” นักสังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าว

ถือเป็นเรื่องปกติในช่วงนี้ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับแนวทางในการเคลื่อนไหวของบุ้งก็ต้องรีบออกมาสร้างกระแสด้วยการเลือกที่จะให้ข้อมูลเพียงบางส่วน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กลุ่มหรือฝ่ายของตนเอง

ต้องยอมรับความจริงว่าทะลุวังเป็นกลุ่มท้ายๆ ของม็อบที่ออกมาเคลื่อนไหวตามแนวทางที่สอดรับพรรคก้าวไกล คนที่ตามการเมืองมาคงทราบว่ากลุ่มแรกๆ ที่เคลื่อนไหวคือ กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มราษฎร กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีแกนนำที่รู้จักอย่าง พริษฐ์ ชิวารักษ์ รุ้ง ปนัสยา อานนท์ นำภา ไมค์ ระยอง และอีกหลายคน ดังนั้นคนในอนาคตใหม่หรือก้าวไกล จึงคุ้นเคยกับแกนนำชุดแรกๆ มากกว่า

เมื่อแกนนำชุดแรกๆ ถูกดำเนินคดีจึงไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ การขับเคลื่อนของมวลชนที่คู่ขนานกับพรรคก้าวไกลจึงลดบทบาทลงไป แต่ยังมีกลุ่มทะลุวังที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ ดังนั้น คนในพรรคก้าวไกลจึงเข้าร่วมกิจกรรมกับทะลุวังในบางครั้ง รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือในทางคดี

อย่างเช่น 17 พฤษภาคม 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเดินทางมายื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 7 น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน อดีตแกนนำกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

หรือเมื่อ 24 มี.ค.2566 จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะเทศบาลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดย น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ น.ส.อรวรรณ ภู่พงศ์ ขึ้นปราศรัยเชิญชวนผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) รวมถึงว่าที่ผู้สมัครผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคก้าวไกล) ร่วมกิจกรรม "คุณคิดว่ามาตรา 112 ควรยกเลิกหรือแก้ไข" ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 นำสติกเกอร์สีแดงติดลงในช่องยกเลิกมาตรา 112


กระแสไม่ดีชิ่ง

ถ้าสังเกตให้ดีพรรคก้าวไกลจะเป็นผู้กำหนดว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมกับทะลุวังหรือไม่ ถ้ากิจกรรมใดสอดรับกับแนวทางของพรรคที่กำลังขับเคลื่อนก็เข้าร่วม และหลายครั้งก็เลือกที่จะไม่เข้าร่วม

ที่ชัดเจนคือการเคลื่อนไหวของหยก ธนลภย์ ผลัญชัย และบุ้ง เนติพร ที่ปีนรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2566 จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นอย่างมาก ช่วงแรกมีว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) น.ส.เบญจา แสงจันทร์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เข้ามาร่วมแก้ปัญหาให้น้องหยก แต่เมื่อกระแสสังคมเริ่มตีกลับไม่เห็นด้วยกับการกระทำของหยกและบุ้ง ส่งผลให้คนในก้าวไกลเริ่มถอย รังสิมันต์ โรม ออกมาปฏิเสธไม่ได้อยู่เบื้องหลัง จากนั้นเรื่องของหยกก็ถูกลอยแพ ปล่อยให้เป็นการต่อสู้ระหว่างหยกและบุ้ง (ในฐานะผู้ปกครอง) กับทางโรงเรียน สุดท้ายคือหยกไม่ได้เรียนต่อ ม.4 ที่เตรียมพัฒน์ฯ ขณะนี้หยกต้องเรียน กศน.

“ที่จริงบุ้ง และหยก รวมถึงทะลุวังบางคนไม่ได้ชื่นชอบพรรคก้าวไกลมากนัก เพราะทราบดีว่าก้าวไกลจะเลือกเข้ามาในบางเรื่องที่ทะลุวังทำ เฉพาะที่เกิดประโยชน์กับการขับเคลื่อนของทางพรรคเท่านั้น และบางครั้งทะลุวังเองก็ปะทะกับด้อมส้มอยู่หลายครั้ง”

พูดง่ายๆ ก้าวไกลเขาดูกระแสที่ทะลุวังเคลื่อนไหว ถ้าจุดติดสังคมเห็นด้วย สอดคล้องกับแนวทางของพรรคก็จะเข้ามา แต่ถ้าเป็นไปในทางลบก็ไม่เข้ามา หรือถ้าเข้ามาแล้วกระแสเป็นลบก็จะถอยออก ถ้าดูให้ดีจะพบว่าถ้าเป็นส่วนของหยก และบุ้ง ก้าวไกลจะไม่ค่อยเข้ามาเพราะส่วนใหญ่กระแสเป็นลบ เช่น บุกไปที่พรรคเพื่อไทย หรือร่วมกับม็อบพร้อมของสมบัติ บุญงามอนงค์


บุ้งประกาศไม่ประกันตัว

แต่ดูเหมือนก้าวไกลให้น้ำหนักไปที่ตะวันมากกว่า ช่วงที่บุ้ง และตะวัน ถูกควบคุมตัวในทัณฑสถานหญิงกลาง การเคลื่อนไหวของ Facebook ของทั้ง 2 มีความแตกต่างกัน

ประการต่อมาทั้งเรื่องการอดอาหารหรือเรื่องประกันตัวของบุ้ง ที่มีการปั่นกระแสกันหลังบุ้งเสียชีวิตนั้น ถือว่าเป็นการเลือกปั่น เลือกใช้ข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายของตนเอง

จากการตรวจสอบ Facebook ทะลุวัง เมื่อ 26 มกราคม 2567 มีการโพสต์ว่า ศาลมีคำสั่งถอนประกันบุ้ง ในคดีมาตรา 112 และมีคำพิพากษาจำคุกในคดีละเมิดอำนาจศาล

จากเหตุการณ์เรียกร้องให้ถอดนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ออกจากการเป็น ส.ว.หน้ากระทรวงวัฒนธรรม ศาลได้ตัดสินว่า บุ้ง-เนติพร มีการกระทำที่อาจทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียจึงมีคำสั่งให้ถอนประกันบุ้ง

ในคดีละเมิดอำนาจศาล จากเหตุวันพิพากษาในคดีของ โฟล์ค-สหรัฐ ได้มีคำสั่งว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลให้จำคุก 1 เดือน และให้ออกหมายจับ หยก-ธนลภย์ (เยาวชน)

บุ้งประกาศว่า “จะไม่ประกันตัวเพื่อพิสูจน์ความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม” พร้อมทั้งฝากจดหมายก่อนเข้าเรือนจำในฐานะลูกหลานตุลาการถึงกระบวนการยุติธรรมไทย

จากนั้นเพจทะลุวังโพสต์เมื่อ 29 มกราคม 2567 ว่า ทนายไปเยี่ยมบุ้ง ได้รับแจ้งว่าบุ้งเริ่มอดอาหารและน้ำแล้ว ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567

จุดเริ่มต้นที่บุ้ง เลือกที่จะอดอาหาร คือ รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ศาลไม่ยุติธรรม สิ่งที่บุ้งยอมแลกคืออย่างน้อยก็ให้เป็นตราประทับว่า ศาล ผู้พิพากษา และกระบวนการยุติธรรมได้ฆ่าลูกหลานของตุลาการเสียเอง

“ไม่มีใครในประเทศนี้ปลอดภัยหรอก ถ้ากระบวนการยุติธรรมยังเป็นอย่างนี้ จะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้ยังไง บุ้งรู้ว่าครอบครัวเขาเป็นห่วง บุ้งขอโทษครอบครัวที่ไม่ฟังอีกแล้ว แต่บุ้งรอไม่ได้ ทุกวินาทีในนี้ของบุ้งมันมีค่า บุ้งไม่ได้เข้ามาเล่นๆ บุ้งแลกได้ คนที่ทำให้บุ้งเข้ามาในนี้ไม่ใช่ตัวบุ้งเองแต่เป็นศาล เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ทำอย่างนี้กับบุ้ง”

ข้อเรียกร้องของบุ้ง คือ ขอให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และจะต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก

ไม่มีใครอยากให้ใครตาย

แหล่งข่าวอธิบายว่า เดิมบุ้งเคยอดอาหารประท้วงมาแล้วครั้งหนึ่ง จนได้รับการประกันตัวออกมา แต่บุ้งทำผิดเงื่อนไขของการประกันตัวจึงถูกถอนประกัน แถมมีความผิดเพิ่มเติม การถูกควบคุมตัวรอบนี้บุ้งประกาศว่า “จะไม่ประกันตัวเพื่อพิสูจน์ความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม” ต่างจากตะวันที่ขอประกันตัวแต่ศาลไม่อนุญาต

ครั้งนี้บุ้งเลือกที่จะอดอาหารอีกครั้ง คนที่ติดตาม Facebook ทะลุวังจะเห็นว่า มีการหยุดโพสต์เรื่องการอดอาหารของบุ้งเมื่อ 3 เมษายน 2567 เช่นเดียวกับ Facebook ตะวันที่หยุดโพสต์เมื่อ 5 เมษายน 2567

สอดคล้องกับการแถลงข่าวของกรมราชทัณฑ์ที่แจ้งว่า หลังจากที่บุ้งกลับมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในวันที่ 4 เมษายนได้รับประทานอาหารและน้ำ แต่ปฏิเสธเรื่องวิตามินและเกลือแร่

“ไม่มีใครอยากให้ใครตายเพราะเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง แต่ละฝ่ายเลือกพูดเฉพาะที่ตัวเองได้ประโยชน์ อย่างเรื่องตะวันไม่ได้ประกันตัว ในทางปฏิบัติมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาของทางศาลอยู่แล้ว แต่คุณจะใช้วิธีการอดอาหารมากดดันเพื่อบีบให้ศาลให้ประกันตัวนั้น อีกหน่อยผู้ต้องขังทุกคนก็ใช้วิธีการแบบนี้ คือถ้าดูเหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกันก็แจงเหตุผลอยู่แล้วว่า การอดอาหารเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ใช่การป่วย และผู้ต้องขังอยู่ในการดูแลของแพทย์”

อย่างตอนนี้มาจะเอาชนะกันว่ากินอาหาร ไม่กินอาหาร หลังจากกรมราชทัณฑ์แถลงว่าบุ้งกินอาหาร แต่ทนายความแจ้งว่าในกระเพาะของบุ้งไม่พบเศษอาหาร คือกำลังจะพุ่งเป้าไปที่การดูแลของกรมราชทัณฑ์ว่าดูแลไม่ดี หรือกำลังจะแก้ภาพลักษณ์ที่เคยประการอดอาหารไว้

วันที่น้องๆ ประกาศอดอาหารประท้วง มีใครเคยห้ามหรือไม่ แล้วพอวันที่เกิดการสูญเสียจริงๆ กลับมากล่าวหาคนอื่น มีความพยายามผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่รวมผู้กระทำผิดมาตรา 112 ด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส.ส.ของพรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่งก็มีคดีดังกล่าวติดตัว คำถามที่ตามมาคือก้าวไกลทำเพื่อใคร


ปัญหาในทะลุวังก็มี

ก่อนหน้านี้สมาชิกในทีมทะลุวังก็ออกจากกลุ่มไป 2 คน คือเมนู และพลอย พร้อมทั้งเปิดเผยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นบุ้ง ได้หยกเข้ามาดูแล ที่จริงในทะลุวังเรื่องระหว่างหยกกับบุ้ง ก็ดูเหมือนจะมีปัญหาหลังจากที่บุ้งถูกถอนประกัน เพียงแต่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลจึงไม่มีการขยายความ

อย่าลืมว่าบุ้งเคยทำพินัยกรรมเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ยกทรัพย์สมบัติให้หยกและพี่สาวของบุ้ง โดยเงินสดทุกบัญชี นาฬิกาข้อมูล ต่างหู แมว ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของหยก ทรัพย์อื่น ที่ดิน สิทธิเรียกร้องมอบให้พี่สาว ตอนนั้นเป็นข่าวฮือฮาเพราะบุ้งทำหนังสือบริจาคร่างกายหากเสียชีวิตให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ด้วย

จากนั้นหยก ธนลภย์ ผลัญชัย โพสต์ Face book เมื่อ 23 มีนาคม 2567 ว่า ยุติการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองแล้วค่า อยู่กับที่บ้านเรียบร้อย สนับสนุนวงการดนตรี + กศน.

การโพสต์ล่าสุดของหยกหลังจากที่บุ้งเสียชีวิต “Respect มากๆ ที่ตั้งตรงอยู่ในหลักการ วันนี้ในปีที่แล้วเรายังไม่ได้เจอกันข้างนอกเลย เมื่อไหร่สังคมไทยจะก้าวไป เปิดรับสีที่หลากหลายได้จริงๆ เสียที....” โดยไม่มีการกล่าวถึงชื่อบุ้งแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่บุ้งจะเสียชีวิตมีการลบโพสต์พินัยกรรมดังกล่าวออกไป

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น