xs
xsm
sm
md
lg

“รศ.ดร.เจษฎ์” ดึงสติสังคม กรณี “บุ้ง ทะลุวัง” ถ้าอดข้าวประท้วงแล้วได้ทุกอย่าง จะมีกฎหมายไว้ทำไม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.เจษฎ์” ชี้ “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิตเพราะใช้สิทธิ “ไม่รับการรักษา” ไม่ใช่เพราะไม่ได้ประกันตัว แจงศาลเคยให้ประกันตัวแล้ว แม้เป็นความผิดในคดี 112 แต่ถูกถอนประกันเพราะละเมิดอำนาจศาล เชื่อแพทย์รักษาเต็มที่แล้ว ระบุ “คดี 112” ไม่ใช่คดีการเมือง เพราะไม่ใช่การวิจารณ์การบริหารประเทศ แต่เป็นคดีอาญา กรณีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ จึง “นิรโทษกรรม” ไม่ได้ ต้องขอพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น ติงหากอดข้าวประท้วงแล้วได้ทุกอย่างที่ต้องการ ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย



กรณีการเสียชีวิตจากการอดอาหารปะท้วงของ “บุ้ง ทะลุวัง”หรือ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม แกนนำกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดี 112 และคดีละเมิดอำนาจศาล ขณะที่อยู่ในความควบคุมของกรมราชทัณฑ์ กำลังเป็นที่สนใจของสังคม เพราะนอกจากการแสดงความเสียใจต่อการจากไปของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว ในอีกมุมหนึ่งกลับมีกลุ่มการเมืองที่นำการตายของบุ้งไปแสวงประโยชน์ โดยจุดประเด็นว่าเป็นการสังเวยชีวิตให้กระบวนการยุติธรรม และสร้างวาทกรรมว่า “ไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรมีใครถูกปฏิเสธสิทธิในการได้รับประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง เพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง” ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง

เพราะหากพิจารณารายละเอียดในคดีของบุ้งจะพบว่า บุ้งถูกคุมขังในฐานะผู้ต้องหาใน “คดี 112” และ “คดีละเมิดอำนาจศาล” ซึ่งทั้งสองคดี “ไม่ใช่เรื่องความเห็นต่างทางการเมือง” บุ้งเคยได้รับการประกันตัวออกมาในระหว่างสู้คดีแต่ถูกถอนประกัน และถูกควบคุมตัวอีกครั้ง สืบเนื่องเพราะการประพฤติตัวที่ผิดต่อเงื่อนไขการประกันตัวจากการละเมิดอำนาจศาลหลังจากที่ได้รับประกันตัวออกมา

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ “พรรคก้าวไกล” ได้การนำกรณีการเสียชีวิตของบุ้งมาเป็นเหตุผลในการผลักดันให้มีการออก “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ผู้เห็นต่างทางการเมือง และผู้ที่กระทำผิดในมาตรา 112 ต้องเสียชีวิตอีก ซึ่งแปลกันตรงๆคือมีความพยายามทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า “มาตรา 112” เป็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง ทั้งที่จริงๆ แล้ว มาตรา 112 เป็นคดีที่เกี่ยวกับ “การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องของความเห็นต่างทางการเมือง

ส่วนว่าการกระทำลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศหรือไม่ อย่างไร และจะทำให้ปัญหาการเมืองลุกลามบานปลายหรือเปล่า คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้ที่เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ชี้ว่า กรณีการอดอาหารเพื่อกดดันเรียกร้องของ “บุ้ง ทะลุวัง” นั้นมีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ คือ 1.เรียกร้องให้นักโทษคดี 112 และนักโทษทางการเมือง ได้รับสิทธิการประกันตัว และ 2.ไม่ต้องการให้ผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองต้องติดคุกอีก แต่เนื่องจากการอดอาหารจนกระทั่งเจ็บป่วยและเสียชีวิตของบุ้งนั้นถูกนำไปขยายความเพื่อผลทางการเมืองบางอย่าง อีกทั้งมีกระแสเรียกร้องหาคนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตดังกล่าว เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องใช้สติแยกแยะ มองกันด้วยเหตุผล โดยพิจารณาทีละประเด็น ดังนี้คือ

1) ข้อเรียกร้องที่ต้องการให้นักโทษคดี 112 และนักโทษทางการเมืองได้รับสิทธิการประกันตัวนั้น จริงๆ แล้วปัจจุบันผู้ต้องหาหรือนักโทษทุกคนได้รับสิทธินี้อยู่แล้ว ในกรณีของบุ้งก็ได้รับการประกันตัวไปแล้วหลายครั้ง แต่ทั้งนี้การที่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือที่เรียกกันว่าให้ประกันตัวหรือไม่นั้นต้องพิจารณาว่าผู้ที่ต้องคดีเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ได้รับการประกันตัวไปแล้วจะหนีหรือเปล่า 2.จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ และ 3.ได้รับการประกันตัวแล้วจะไปกระทำผิดเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนบรรดาพฤติการณ์ทั้งหลายที่ศาลจะพิจารณาคือการกระทำของผู้ที่ขอประกันตัว รวมถึงภูมิหลัง ประวัติความเป็นมา และพฤติกรรมหลังจากที่เคยได้รับการประกันตัวในครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น กรณีของบุ้งจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังกล่าว

2) ในกรณีที่ผู้ต้องขังเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ผู้ป่วยมีสิทธิในการปฏิเสธที่จะรับการรักษา แต่หากผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตจะมีอันตรายถึงชีวิต แพทย์สามารถเข้าทำการรักษาได้แม้จะขัดกับการแสดงเจตจำนงของผู้ป่วยก็ตาม ดังนั้นกรณีของบุ้งนั้นเบื้องต้นแพทย์ได้ปฏิบัติตามสิทธิของผู้ป่วยซึ่งปฏิเสธการรักษา แต่เมื่อเห็นว่าผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตแพทย์เข้าทำการรักษาโดยเร่งด่วนและช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว ส่วนว่าผลจะออกมาเป็นไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะแพทย์ทำเต็มที่แล้ว

3) ประเด็นที่ว่าคดีของบุ้ง และผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองรายอื่นๆ ถือเป็น “คดีการเมือง” หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาแต่ละกรณีไปว่าเป็นคดีการเมือง หรือเป็นการกระทำผิดกฎหมายในคดีอื่นๆ โดยคดีที่ถือเป็นคดีการเมือง จะต้องเป็นกรณีที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานบ้านเมืองเท่านั้น แต่ถ้าไม่เข้าข่ายนี้ก็ไม่ใช่คดีการเมือง เช่น การดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จะถือเป็นความผิดตาม มาตรา 112 กรณีทำลายทรัพย์สินทางราชการ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 การโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จทำให้บุคคลอื่นเสียหาย ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

“ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่การกระทำทุกอย่างในการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะถือเป็นคดีการเมือง ไม่ใช่ว่าพูดอะไรกับใคร หรือทำอะไรกับใครแล้วจะถือว่าเป็นคดีการเมืองไปหมด คดีการเมืองหมายถึงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานบ้านเมืองแต่กลับต้องโทษจากการหยิบยกเรื่องการบริหารบ้านเมืองขึ้นมาเป็นประเด็น แต่หากเป็นการกระผิดในคดีอาญาอื่นๆ เช่น ขึ้นเวทีวิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐมนตรี แล้วมีการกล่าวดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องแยกเป็นสองส่วน คือในส่วนของการวิจารณ์การบริหารบ้านเมืองถือเป็นคดีการเมือง แต่การกล่าวดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ถือเป็นความผิดในคดีอาญา มาตรา 112 หรือช่วงแรกวิจารณ์ว่ารัฐมนตรีแก้ปัญหาประมงไม่ถูกจุดแต่ตบท้ายด้วยการด่าทอรัฐมนตรี ช่วงแรกจะเข้าข่ายคดีการเมืองแต่ช่วงหลังเข้าข่ายคดีหมิ่นประมาท” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ


รศ.ดร.เจษฎ์ ยังอธิบายต่อว่า กรณีของบุ้งนั้นสังคมต้องพิจารณาว่าครั้งล่าสุดบุ้งไม่ได้รับการประกันตัวเพราะอะไร เป็นเพราะที่ผ่านมาเคยได้รับการประกันตัวแล้วกระทำผิดซ้ำหรือเปล่า หรือเพราะอะไร ซึ่งหากไปดูข้อมูลจะพบว่าก่อนหน้านี้ศาลได้อนุญาตให้บุ้งประกันตัวในคดี 112 แต่ต่อมาศาลมีคำสั่งถอนประกัน เนื่องจากบุ้งละเมิดอำนาจศาล นอกจากนั้น คดีของบุ้งยังไม่เข้าข่ายการนิรโทษกรรมเนื่องจากเป็นความผิดในคดี 112 ซึ่งหากจะขอลดหย่อนผ่อนโทษต้องยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น ที่สำคัญคดี 112 ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนสาเหตุที่บุ้งเสียชีวิตเพราะบุ้งปฏิเสธไม่กินอาหาร ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วย และเมื่อมีอาการป่วยแล้วบุ้งยังปฏิเสธที่จะรับรักษา ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤตแพทย์ได้ทำการรักษาตามหลักวิชาชีพอย่างสุดความสามารถ ดังนั้นหากสังคมพิจารณาจากข้อเท็จจริงและหลักเหตุผลจะไม่เกิดกรณีดรามาว่าเป็นความผิดของศาล เป็นความผิดของผู้พิพากษา หรือเลยเถิดไปถึงการให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ทั้งที่พระองค์ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เลย

“การที่ศาลจะพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ต้องดูว่าก่อนหน้านี้เคยได้รับการประกันตัวไหม หรือได้รับการประกันตัวแล้วไปก่อเหตุซ้ำอีกหรือเปล่า ถ้าทุกคนไม่ได้อย่างใจก็อดข้าวประท้วงหรือขู่ทำร้ายตัวเอง ไม่ได้ประกันตัว อยากได้ตำแหน่ง อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในบ้านในเมืองก็อดอาหารหรือทำร้ายตัวเอง ต่อไปเด็กๆ อยากได้ของแพงๆ ก็อดอาหาร ขู่ทำร้ายตัวเอง พ่อแม่ต้องยอม นักโทษอยากได้รับการลดโทษก็อดอาหารประท้วงกันทุกเรือนจำทั่วประเทศ อย่างนี้บ้านเมืองจะอยู่กันยังไง ถ้าใช้วิธีเรียกร้องด้วยการอดอาหารโดยไม่เคารพกฎหมาย กฎหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิอีกต่อไป แล้วจะมีกฎหมายไว้ทำไม” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อประธานรัฐสภา
ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลนำการเสียชีวิตของบุ้งมาเป็นประเด็นในการเรียกร้องให้มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั้น “รศ.ดร.เจษฎ์” แสดงความเห็นว่า การจะนิรโทษกรรมในคดีใดนั้นต้องพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สภามีอำนาจดำเนินการได้หรือไม่ และเป็นเรื่องที่เห็นว่าควรลดหย่อนผ่อนปรนหลังจากพิจารณาแล้วว่าไม่ควรเอาผิดในเรื่องดังกล่าว เช่น เรื่องความผิดพลาดในการบริหารงานบ้านเมือง ประเด็นที่ผู้นั้นสำนึกผิดแล้ว หรือความผิดที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองซึ่งเห็นว่าควรลดหย่อนผ่อนโทษ ประเด็นเหล่านี้อาจจะสามารถพูดคุยกันเพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรมได้ แต่ทั้งนี้ มีประเด็นที่ไม่สามารถจะนิรโทษกรรมได้ เนื่องจากเป็นคดีที่มีโทษอาญาร้ายแรง หรือโทษอาญาที่เป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์

โดยคดีที่มีโทษอาญาร้ายแรง ได้แก่ คดีฆ่าข่มขืน คดีฉ้อโกงประชาชน คดีอาญาที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติซึ่งนานาประเทศไม่ประสงค์ให้มีการนิรโทษกรรม เช่น การค้ามนุษย์ การค้าอาวุธเถื่อน ค้ายาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชัน ยกตัวอย่าง เช่น การจับกุมผู้ชุมนุมโดยเอาผู้ชุมนุมขึ้นรถแบบแออัดยัดเยียดกันจนผู้ชุมนุมขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตาย อย่างกรณีตากใบ ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติอย่างร้ายแรง

ส่วนกรณีความผิดต่อพระมหากษัตริย์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ควรลดหย่อนผ่อนโทษ สามารถขอลดหย่อนผ่อนโทษได้แต่ต้องทำโดยการขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่ให้นักการเมืองใช้อำนาจนิรโทษกรรมกันเอง และแม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ถือโทษแต่เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองพระราชสถานะ 3 ประการ คือ 1.องค์พระมหากษัตริย์ คือพระองค์ท่านเอง 2.พระมหากษัตริย์ คือผู้ที่อยู่ในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์แห่งรัฐ และ 3.ผู้แทนของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักของบ้านเมือง หากมีการใส่ร้าย จาบจ้วงล่วงละเมิด หรืออาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ ตำรวจต้องดำเนินการจับกุม และส่งเรื่องให้อัยการส่งฟ้องต่อศาล

“จะนิรโทษกรรมเรื่องใดนั้นนักการเมืองก็ว่ากันไป แต่จะนิรโทษกรรมคดีที่มีโทษอาญาร้ายแรง และคดี 112 ไม่ได้ การขอลดโทษในคดี 112 ต้องขอพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น ถ้านักการเมืองใช้อำนาจนิรโทษกรรมเองจะถือเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ

ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เห็นว่า หากจะนิรโทษกรรมควรจะนิรโทษกรรมให้หมดทุกกลุ่ม รวมถึงผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วย เพื่อให้เกิดการปรองดองจริงๆ ส่วนที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้มีการกระทำผิดเพิ่มมากขึ้นสามารถเขียนป้องกันไว้ว่าหากมีการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมจะได้รับโทษเพิ่มขึ้น และการนิรโทษกรรมนั้นจะเว้นโทษให้เฉพาะผู้ที่กระทำผิดก่อนที่กฎหมายนิรโทษกรรมออกมาบังคับใช้เท่านั้น หากกระทำผิดหลังจากนั้นยังต้องรับโทษเหมือนเดิม

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น