xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกค่าจ้างขั้นต่ำต้อง ‘400 บาท’ ทั่วประเทศ ชี้ใครได้ประโยชน์!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกาะติดค่าแรงขั้นต่ำต้อง 400 บาททั่วประเทศ “มนัส โกศล” ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงาน ยืนยันเป็นตัวเลขของรัฐบาลถ้าได้ไม่ได้เพราะอะไรรัฐต้องตอบคำถาม ทั้งที่ค่าครองชีพ เงินเฟ้อสินค้าขึ้นไปหมดแล้ว เสนอให้รัฐลดค่า VAT เหลือแค่ 4-5% ด้าน ‘3 สถาบัน’ ยื่น 5 ข้อเสนอชี้ไม่ค้านขึ้น 400 บาท แต่ต้องดูกลไกของประเทศ ส่วนคนในกระทรวงแรงงานแจงการขึ้นค่าจ้างคาดจบที่ 400 บาททั่วประเทศ เพราะครั้งนี้ฝ่ายการเมืองสมประโยชน์สุดๆ ‘เพื่อไทย’ กู้ชื่อหลังนโยบายธงนำเกิดยากทั้งแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เคลื่อนไหวเกินเบอร์
แถมเจอข้าวเน่า 10 ปียังกินได้ ส่วนภูมิใจไทยดึงคะแนนเสียงแรงงานกู้ที่โดนเพื่อไทยหักเหลี่ยมเรื่องกัญชาเสรีได้คืน!


การเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เกิดขึ้นในทุกๆ ครั้ง สังคมอาจมองเห็นบรรยากาศของการทะเลาะเบาะแว้ง เพื่อให้อีกฝ่ายสมประโยชน์ โดยครั้งนี้ฝ่ายลูกจ้างต้องการให้ปรับเป็น 400 บาทพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งมีเครือข่าย สหภาพฯ หรือสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกจ้างเป็นหัวหอกสำคัญในการเรียกร้อง ส่วนนายจ้างจะมีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยเป็นเสาหลัก โดยมีสมาชิกทั่วประเทศทั้งตัวแทนหอการค้า สมาคมการค้า สภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่างก็ออกมาคัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

ทั้งนี้ ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างต่างมีข้อมูลที่เป็นตัวเลข สถิติต่างๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลเพื่อมาหักล้าง ส่วนตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นอย่างไรอยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน

อย่างไรก็ดี ทางสภาอุตฯ สภาหอฯ และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท เป็นการปรับในครั้งที่ 3 ของปี 2567 จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ต้องย่อมรับว่าฝ่ายการเมืองสมประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะตัวเลขสุดท้ายคาดว่าจะออกมา 400 บาททั่วประเทศ หลังจากมีมติให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดไปพิจารณา ศึกษา และสรุปตัวเลขมาว่าควรเป็นเท่าไหร่เพื่อเสนอมาที่คณะกรรมการค่าจ้างต่อไป ส่วนแรงงานได้ประโยชน์จากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นแต่ไล่ตามสินค้าที่ขึ้นก่อนแล้ว

“พรรคเพื่อไทยหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 600 บาททั่วประเทศภายในปี 2570 แต่ไม่ได้บรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล จึงถูกพรรคก้าวไกลทวงถามในสภา ถ้าจำกันได้ นายกฯ เศรษฐา ตอบทันทีว่าจะไปเจรจากัน 3 ฝ่าย คือผู้ว่าจ้าง แรงงานและรัฐบาล มีเป้าหมายขั้นต่ำที่ 400 บาท จะทำโดยเร็วที่สุด ส่วนก้าวไกลหาเสียงไว้ที่ 450 บาท แต่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้หาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ”


ดังนั้น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองต้องทำให้ได้ เพื่อช่วงชิงฐานเสียงจากบรรดาผู้ใช้แรงงาน ประกอบกับพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลมีแนวโน้มว่านโยบายธงนำที่ใช้ในการหาเสียงดูเหมือนว่าจะขับเคลื่อนได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แถมยังมาโดนโจมตีเรื่องของการปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 เรื่องการเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อย่างต่อเนื่อง หรือเรื่องข้าว 10 ปี ยังกินได้ รวมทั้งการแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่สังคมคาดหวังไม่ได้เป็นไปตามเป้า จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างผลงานที่จับต้องได้อย่างรวดเร็วเพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งเสียมวลชนไปในที่สุด

สำหรับพรรคภูมิใจไทย แม้ไม่ได้หาเสียงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในฐานะเป็นเจ้ากระทรวงแรงงานต้องสร้างคะแนนเสียงจากภาคแรงงาน เพื่อมาชดเชยจากการโดนพรรคเพื่อไทยทุบเรื่องของกัญชาเสรีนำกลับไปเข้าในบัญชียาเสพติด ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทย ต้องผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศให้ได้เช่นกัน

“พรรคก้าวไกลไม่ต้องพูดถึงเรื่องค่าแรง 400 เท่ากันทั่วประเทศ เขาสนับสนุนอยู่แล้ว เพราะเป็นพรรคที่เน้นเรื่องของความเท่าเทียมกัน และเป็นพรรคที่สู้เพื่อคนระดับล่างที่ไม่ต้องการให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบางกลุ่ม”

ส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่เกิดขึ้นจึงเป็นการปรับตามนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองโดยใช้การเมืองเป็นธงนำ ไม่ใช่เป็นการปรับจากความเป็นเหตุเป็นผล ในเรื่องของภาพรวมทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของประเทศ

“GDP ของประเทศไม่ใช่โต 4-5% แต่อยู่ที่ 2.2% กว่าๆ เพราะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม ส่งออกมีแนวโน้มเติบโตเพียง 0.5-1.5% ตามทิศทางตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยังมีเรื่องเงินเฟ้อ เวลานี้คงหวังเรื่องท่องเที่ยว และการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น”


แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงาน บอกอีกว่า ทาง 3 สมาคมได้ส่งเอกสารที่เป็นข้อเสนอและความเห็นต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งระบุว่าไม่ได้คัดค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่ไม่เห็นด้วยที่จะขึ้น 400 บาททั่วประเทศ พร้อมเสนอ 5 แนวทางไปให้รัฐบาล กระทรวงแรงงานและคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา เพื่อหาแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป

“ฟังดูภาคเอกชนเป็นห่วง ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาแบบรอบคอบ เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไม่ใช่เฉพาะแรงงานไทยได้นะ แรงงานต่างด้าวต้องได้ทุกคนเช่นกัน ซึ่งการปรับค่าแรงไม่ใช่เดิมพันด้วยคะแนนเสียง แต่มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ ถ้าขึ้นค่าแรงจนผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้จะยิ่งซ้ำเติม ต้องปิดกิจการ แรงงานต้องตกงานตามมา ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกัน”

งานแถลงข่าวคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ




ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย บอกว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนั้นที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เป็นผู้พิจารณาว่าแต่ละจังหวัดจะมีการขึ้นค่าจ้างในอัตราเท่าไหร่ เพราะเหตุใด และให้กำหนดวันที่จะบังคับใช้จะเป็น 1 ตุลาคม 2567 หรือ 1 มกราคม 2568 โดยให้ส่งเรื่องทั้งหมดเข้ามายังบอร์ดค่าจ้างภายในเดือนกรกฎาคมนี้

จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างหรือบอร์ดค่าจ้างจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทอย่างไร โดยต้องมีปัจจัยต่างๆ สนับสนุน ซึ่งเวลานี้ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก และเงินเฟ้อติดลบไปอีก จึงส่งผลให้สินค้าต่างๆ ขึ้นราคาไปหมดแล้ว ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งรัฐบาลต้องดูและแก้ไขทั้งภาคแรงงานและภาคประชาชนไปพร้อมๆ กัน

“ตอนนี้เราอยากให้รัฐลดค่า VAT จาก 7% เหลือเพียง 4 หรือ 5% ไปสักระยะหนึ่งก่อน จะกี่เดือนให้รัฐกำหนดมาเลยจะช่วยภาคประชาชนได้เยอะมาก”

นายมนัส บอกว่า ตัวเลขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทนั้น จริงๆ ไม่ใช่ตัวเลขที่ฝ่ายลูกจ้างขอไป แต่เป็นตัวเลขของรัฐบาล ซึ่งในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงาน ได้เสนอขอไปเป็นค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าและขอให้มีโครงสร้างขององค์กรที่จะมีการปรับทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ไม่เช่นนั้นต้องมาเรียกร้องกันทุกปี ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะถ้ามีโครงสร้าง มีการส่งเสริมให้แรงงานมี Upskill และ Reskill ซึ่งเป็นเหตุผลที่ในแต่ละอาชีพจะสามารถใช้ในการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างได้ด้วย

“เราขอให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า จัดทำโครงสร้างค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการ เพื่อให้การปรับค่าจ้างมีความชัดเจนที่มีหลักการพิจารณาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ บริบทต่างๆ เพื่อให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เราขอไปแต่ไม่เคยได้ เลยต้องมาเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างกันทุกปี ส่วนรัฐบาลต้องการสร้างผลงานหาเสียงไว้ที่ 600 ทั่วประเทศ”

 นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย


นายมนัส ย้ำว่า ปัจจุบันถ้าจะกำหนดค่าจ้างแรกเข้าโดยใช้ขั้นต่ำที่ 400 บาท ตามตัวเลขของรัฐบาลเพื่อไทยที่เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี ส่วนปีต่อๆ ไปจะขึ้นเท่าไหร่ต้องมาดูเงินเฟ้อ ค่าครองชีพเป็นหลักในการพิจารณา พร้อมจัดประเภทกิจการส่งเสริมให้แรงงานพัฒนาทักษะ มีโครงสร้างประจำปี ให้การปรับค่าแรงลื่นไหลตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเป็นระบบ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่ามาเรียกร้องขึ้นค่าแรงกันทุกปี วงเวียนแบบนี้ไม่จบสิ้น

ขณะเดียวกัน หากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ไม่สามารถได้ 400 บาททั่วประเทศนั้น รัฐบาลและคณะกรรมการค่าจ้างต้องตอบคำถามและอธิบายเหตุผลว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ได้หรือไม่ได้อย่างไร และทำไมจังหวัดนี้ได้ จังหวัดนี้ไม่ได้ เมื่อเขาต้องซื้อสินค้าราคาเท่ากันไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด

“ผมเป็นผู้นำแรงงานก็จริง แต่ผมต้องฟังหลายฝ่ายเหมือนกัน ย้ำนะเมื่อผมเป็นผู้นำแรงงานต้องช่วยแรงงานเต็มที่” ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ระบุ



ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น