“อดีต รมว.คลัง” ชี้รัฐบาลเศรษฐาปลด “ผู้ว่าฯ ธปท.” ไม่ได้ เหตุ “ดร.เศรษฐพุฒิ” ไม่มีความผิด หากแก้กฎหมายลดอำนาจผู้ว่าฯแบงก์ชาติ อาจเกิดกระแสต้านรุนแรง เชื่อ เพื่อไทยยอมถอย ส่ง “พิชัย” รมว.คลังคนใหม่เป็นกาวใจ เตือน! ไทยอย่าซ้ำรอยตุรกี ที่ฝ่ายการเมืองแทรกแซงธนาคารกลาง สั่งปลดผู้ว่าฯ 5 คนรวด บงการนโยบายดอกเบี้ย พาเศรษฐกิจชาติล่มสลาย
กล่าวได้ว่านาทีนี้กระแส “Saveผู้ว่าแบงก์ชาติ” นั้นดังกระหึ่มไปทุกแพลตฟอร์มของโซเชียล เพราะทันทีที่ฝ่ายการเมืองดาหน้าออกมาโจมตีการทำงานของ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ถึงขั้นที่ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศบนเวทีเสวนาของพรรคว่า “แบงก์ชาติคืออุปสรรคในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ” จนมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่ามีความพยายามจะเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ
กระแสก็ตีกลับมายังพรรคเพื่อไทย โดยทั้งบรรดานักวิชาการด้านเศรษฐกิจ นักการเมือง สื่ออาวุโส รวมถึงประชาชนทั่วไปต่างออกมาตำหนิท่าทีของรัฐบาลที่พยายามแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ ทั้งที่อาจจะไม่มีความรู้ด้านนโยบายการเงินดีพอ พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าหากมีการปลดผู้ว่าฯ แบงก์จริงเรื่องนี้อาจกลายเป็นชนวนที่ดึงประชาชนลงถนนก็เป็นได้! ส่งผลให้รัฐบาลต้องยอมถอย โดยนายกฯ เศรษฐา รีบออกมาปฏิเสธว่าตนไม่เคยพูดว่าจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ อีกทั้งไม่ได้คิดจะแก้กฎหมายเพื่อลดทอนอำนาจผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย
ส่วนว่าในทางปฏิบัติแล้วรัฐบาลจะสามารถปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้หรือไม่ และหากทำได้จะส่งผลต่อโครงสร้างในการบริหารนโยบายการเงินการคลังของประเทศหรือไม่ อย่างไร? คงต้องฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบายถึงหลักในการวางโครงสร้างในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของประเทศ ว่า ประเทศต่างๆ นั้นมักจะวางโครงสร้างการบริหารให้เกิดการถ่วงดุลระหว่างรัฐบาลที่ต้องการเหยียบคันเร่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ กับแบงก์ชาติที่ต้องการให้ระบบการเงินของประเทศมีเสถียรภาพ จึงต้องมีการถ่วงดุลระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง
ตามหลักสากลแล้วแบงก์ชาติไม่ใช่เป็นรัฐอิสระ แต่ต้องมีอิสระในการกำหนดนโยบาย โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าการดำเนินงานของแบงก์ชาตินั้นให้เป็นไปตามนโยบายโดยรวมของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลกำหนดกรอบภาพรวมเศรษฐกิจ เช่น ใช้นโยบายเงินเฟ้อ ก็ต้องปล่อยให้แบงก์ชาติทำงานโดยอิสระ สามารถตัดสินใจในการบริหารเพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจอยู่ภายใต้กรอบนั้นๆ ซึ่งแบงก์ชาติไม่ได้กำหนดนโยบายจากความคิดของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเพียงคนเดียว แต่ทำภายใต้รูปแบบของคณะกรรมการ ดังนั้น แม้รัฐบาลจะไม่พอใจการบริหารงานของแบงก์ชาติแล้วสั่งปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเพียงคนเดียวก็ไม่มีผลอะไร เพราะผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเป็นเพียง 1 เสียงในคณะกรรมการนโยบายการเงินซึ่งมีทั้งหมด 7 คน และเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแบงก์ชาติ คือนอกจากผู้ว่าแบงก์ชาติแล้ว ยังมีรองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติอีก 2 คน และปัจจุบันมีอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ 1 คน จึงมีเสียงมากกว่าคณะกรรมการที่มาจากคนนอก
“ดังนั้นแม้จะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติก็ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการบริหารงานนโยบายการเงินของแบงก์ชาติได้ เช่น รัฐบาลต้องการให้แบงก์ชาติประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยคนที่มีความเห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยคือคณะกรรมการที่มาจากคนนอก ในขณะที่ในส่วนของแบงก์ชาติซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรปรับลด นโยบายดอกเบี้ยก็ต้องเป็นไปตามมติของเสียงส่วนใหญ่” นายธีระชัย ระบุ
ส่วนกรณีความพยายามในการปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาตินั้น นายธีระชัย ชี้ว่า ในอดีต ก่อนปี 2551 เคยมีการปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถสั่งปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้เลยหากมีความขัดแย้งกัน แต่ภายหลังจากปี 2551 ทำไม่ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 กำหนดว่าการจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยมาตรา 28/19 ระบุว่า การจะปลดผู้ว่าฯ ธปท.ให้พ้นจากตำแหน่งทำได้สองกรณี คือ ใน (4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก โดยคําแนะนําของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ และใน (5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก โดยคําแนะนําของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคําแนะนําของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง
อย่างไรก็ดี ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ดึงดันที่จะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เพราะรัฐบาลน่าจะฉลาดพอที่จะไม่สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่กระแสต่อต้านรัฐบาล ที่สำคัญตอนนี้รัฐบาลได้ รมว.คลังคนใหม่ คือ นายพิชัย ชุณหวชิร ซึ่งพูดภาษาเดียวกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเพราะเคยเป็นอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้นคงสามารถทำความเข้าใจกันได้ ไม่น่ามีปัญหา
“การจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติต้องมีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนนั้นๆ ทุจริตต่อหน้าที่อย่างไร หรือไร้สมรรถภาพไร้ความสามารถในการทำงานอย่างไร ถ้าจะบอกว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบกพร่องต่อหน้าที่เพราะไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลก็ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ธปท.ที่จะพิจารณา ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าผู้ว่าฯ ไม่ได้บกพร่องต่อหน้าที่เขาก็ไม่เสนอรัฐมนตรี หรือถ้ารัฐมนตรีจะเสนอปลดเองต้องเป็นกรณีที่มีการทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งหากทุจริตจริงนอกจากปลดจากตำแหน่งแล้วต้องดำเนินคดีกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติด้วยนะ ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลคุณเศรษฐา จะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เพราะดูแล้วพฤติกรรมของคุณเศรษฐพุฒิไม่เข้าข่ายทั้งสองกรณี ไม่มีทางปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ยกเว้นว่าจะแก้กฎหมาย คือ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2551 ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจในหมู่นักลงทุนต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนที่ไหลเข้าไหลออกประเทศ กระทบค่าเงินบาท และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการจัดอันดับเครดิตหนี้ของประเทศด้วย” นายธีระชัย กล่าว
ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย นั้น “อดีต รมว.คลัง” ระบุว่า ถ้ารัฐบาลมีเสียงพอที่จะเสนอแก้กฎหมายก็สามารถเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เนื่องจาก พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกฎหมายหลักด้านการเงินของประเทศจึงมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง หากผ่านสภาผู้แทนแต่ไม่ผ่านวุฒิสภาก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ และแม้ว่าสภาผู้แทนจะสามารถนำกฎหมายดังกล่าวกลับมาลงมติให้ความเห็นชอบได้ก็อาจจะเกิดกระแสต่อต้านจากสังคม ซึ่งจะมีปัญหาตามมาอีก
นายธีระชัย ยังได้ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางซึ่งกำกับดูด้านการเงินของประเทศ ว่า อย่างกรณีของตุรกีซึ่งประธานาธิบดีมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายเงินมากๆ แต่เข้าใจนโยบายการเงินผิด เข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์ผิด โดยเข้าใจว่ายิ่งขึ้นดอกเบี้ยยิ่งส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ ทั้งที่ในความเป็นจริงถ้าไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นพอผู้ว่าการธนาคารกลางของตุรกีจะประกาศขึ้นดอกเบี้ย ประธานาธิบดีตุรกีก็สั่งปลดผู้ว่าฯ ทันที ผู้ว่าการธนาคารกลางมาใหม่กี่คน ประธานาธิบดีก็สั่งปลดหมด โดยตุรกีมีการเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลางไปแล้วถึง 5 คน ในรอบระยะเวลา 5 ปี
“การที่ประธานาธิบดีเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งทะลุ 100% เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงและเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมาอย่างหนัก และแม้ภายหลังประธานาธิบดีตุรกีจะกลับลำโดยให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก แต่ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ โดยปัจจุบันตุรกีเงินเฟ้อถึง 70% ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจแบบตุรกี” อดีต รมว.คลัง ระบุ
นายธีระชัย ยังได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ว่า น่าจะเกิดจากมุมมองที่แตกต่างกัน โดยแบงก์ชาติมองเรื่องของเสถียรภาพและความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลมองเรื่องความเติบโตทางเศรษฐกิจ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมีหน้าที่บริหารนโยบายการเงินเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดี ส่วนทางด้านรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงพยายามใช้จ่ายและทำนโยบายการคลังในลักษณะที่กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่จะมีปัญหาว่าหากนโยบายนั้นๆ ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะแล้วไม่ได้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นและไม่ยั่งยืนก็จะทำให้เกิดปัญหาได้
ดังนั้น จึงต้องหาจุดที่สมดุลและเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อหาจุดสมดุลนั้นไม่ค่อยเกิดผลเท่าที่ควร เพราะแทนที่จะพูดคุยหารือกันด้วยเหตุผลและหลักวิชาการ กลายเป็นว่าในช่วงที่นายกฯ เศรษฐานั่งควบ รมว.คลัง กลับกดดันแบงก์ชาติผ่านสื่อ โดยอ้างสิทธิที่มาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ตอนนี้ในเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนตัว รมว.คลังแล้ว มีความหวังว่าการหาจุดสมดุลระหว่างสองฝ่ายจะทำได้มากขึ้น
“อย่างกรณีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยต้องการผลักดันเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ในทางปฏิบัติแม้แบงก์ชาติจะไม่เห็นด้วย รัฐบาลก็สามารถทำได้แต่ต้องระมัดระวังปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย และต้องยอมรับว่านโยบายดิจิทัลวอตเล็ตเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาล เนื่องจากแบงก์ชาติมองว่าการใช้เงินในโครงการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะเป็นการกู้เงินมาแจกเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย ซึ่งทำให้ตัวเลขจีดีพีปรับตัวสูงขึ้นแค่แป๊บเดียว เหมือนไฟไหม้ฟาง แต่ไม่ได้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน” นายธีระชัย กล่าว
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j