“พล.ท.นันเดช” ฟันธงการแก้ระเบียบกระทรวงกลาโหมของเพื่อไทย-ก้าวไกล ไม่สามารถ “หยุดรัฐประหาร” ได้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารไม่ได้อยู่ที่อำนาจของกองทัพ แต่อยู่ที่พฤติกรรมของรัฐบาลที่สร้างความไม่พอใจจนเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาขับไล่ ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชัน การออกกฎหมายช่วยเหลือพวกพ้อง ชี้วิธีป้องกันรัฐประหารที่ดีที่สุดคือ การบริหารงานด้วยความโปร่งใส ติงการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายทหาร
เป็นที่สนใจของสังคมไม่น้อยทีเดียวสำหรับกรณีที่ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานสภากลาโหม ได้เสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งว่ากันว่าเป็นการแก้ระเบียบกระทรวงกลาโหมเพื่อ “สกัดการรัฐประหาร” ขณะที่ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมต่อสภาแล้วเช่นกัน ซึ่งร่างของพรรคก้าวไกลนั้นมีการตัดอำนาจของสภากลาโหมในหลายประเด็นด้วยกัน
หลายฝ่ายจึงอยากรู้ว่า ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจของกองทัพอย่างไร และจะสามารถ “สกัดการรัฐประหาร” ได้จริงหรือไม่?
หากพิจารณาจากตัวบทกฎหมายที่ฝ่ายการเมืองเสนอแก้ไขจะพบว่าในส่วนของ “พรรคเพื่อไทย” นั้นมีประเด็นหลักๆ คือ การกำหนดเงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยให้กระทรวงกลาโหมกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งนายพลในแต่ละระดับไว้ 3 ประการ ที่สำคัญได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันทีเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใดที่ใช้กำลังทหารเพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ รวมถึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องสมาชิกสภากลาโหมในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จากเดิมที่ให้เป็นไปตามมติของสภากลาโหม และเพิ่มจำนวนจาก 3 คนเป็น 5 คน (ดูกราฟิกประกอบ)
ส่วนร่างแก้ไขของ “พรรคก้าวไกล” จะเน้นในเรื่องของการตัดอำนาจฝ่ายทหาร และ “ตัดอำนาจสภากลาโหม” เช่น การแต่งตั้งทหารชั้นนายพล ซึ่งเลือกโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้น แล้วเสนอต่อ รมว.กลาโหม ต่างจากร่างเดิมที่ให้เสนอต่อคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของกองทัพ เช่น รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้กระทรวงกลาโหมกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพ โดยในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในขณะที่ร่างเดิมระบุว่า การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพให้มีคณะกรรมการที่กระทรวงกลาโหมแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบ ในกรณีที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้ รมว.กลาโหม “โดยการเสนอความเห็นชอบ” ของสภากลาโหม มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหาร กำหนดหน้าที่ของหน่วยงาน และมีอำนาจกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งต่างจากร่างเดิมที่ใช้คำว่า “โดยความเห็นชอบ” ของสภากลาโหม ซึ่งหมายความว่าร่างของพรรคก้าวไกลนั้น “สภากลาโหม” มีสิทธิแค่เสนอความเห็นชอบ แต่ไม่มีอำนาจให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด (ดูกราฟิกประกอบ)
อย่างไรก็ดี ความเป็นไปได้ในการ “สกัดการรัฐประหาร” ด้วยการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบกระทรวงกลาโหมดังกล่าวนั้น ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงอย่าง “พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์” อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการจะเกิดรัฐประหารหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มาจากรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทหาร เพราะหากรัฐบาลบริหารงานด้วยความโปร่งใส ไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ หรือเกิดการปะทะกันจนลุกลามบานปลาย ทหารก็ไม่มีเหตุผลและไม่มีความชอบธรรมที่จะทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล
ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่าการแก้กฎหมาย หรือวางฐานอำนาจเพื่อป้องกันการรัฐประหารรัฐบาลในอดีตก็เคยทำ แต่ไม่ได้ผล โดยจะเห็นได้ว่าก่อนที่จะมีกฎหมายกลาโหม สมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีการแต่งตั้งนายทหารซึ่งเป็นคนใกล้ชิดและนักเรียนนายร้อยซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน เข้าไปเป็นผู้บัญชาการหน่วยกำลังต่างๆ แม้แต่ตัว ผบ.ทบ. ทักษิณก็เคยแต่งตั้ง แต่ในที่สุดก็ป้องกันการรัฐประหารไม่ได้เพราะการรัฐประหารนั้นไม่ได้เกิดจากทหาร แต่เกิดจากเงื่อนไขทางการเมือง หรือสิ่งที่รัฐบาลทำให้ประชาชนไม่พอใจ เช่น การคอร์รัปชัน การออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง
“อย่ามองว่าทหารเป็นศัตรูของฝ่ายการเมือง เพราะจริงๆ แล้วบทบาทของทหารคือเครื่องมือด้านความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องใช้ทหารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่หลายเรื่องที่รัฐบาลใช้แล้วทหารไม่ทำเพราะไม่ถูกกฎหมาย อย่างเช่น กรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นสั่งให้ทหารออกมาปราบ แต่ทหารกลับส่งชุดพยาบาลออกมาช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บ รัฐบาลก็ไม่พอใจว่าทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เพราะคำขวัญของทหารคือ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน’ ดังนั้น อะไรที่รัฐบาลสั่งการแล้วส่งผลกระทบต่อประชาชน ทหารก็จะไม่ทำ” พล.ท.นันทเดช กล่าว
พล.ท.นันทเดช ชี้ว่า วิธีการป้องกันการรัฐประหารที่ดีที่สุดคือรัฐบาลต้องบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่ประชาชนได้ให้อำนาจไว้ ทหารไม่มีเงื่อนไขที่จะรัฐประหารยึดอำนาจ ที่รัฐบาลเพื่อไทยเสนอแก้ระเบียบกระทรวงกลาโหม โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้มีคำสั่งให้พักราชการทหารโดยทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าทหารผู้ใดใช้กำลังเพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลนั้น ทำไม่ได้หรอก เพราะทันทีที่มีการรัฐประหารอำนาจอธิปัตย์ก็เปลี่ยนมือไปเป็นของคณะรัฐประหารแล้ว ดังนั้น หลังการรัฐประหารรัฐบาลจึงไม่มีอำนาจสั่งการอะไร
“ผมเห็นด้วยนะที่จะสั่งพักราชการ ถ้านายทหารที่จะทำรัฐประหารแล้วโง่ให้เขาจับได้ก็สมควรโดน ซึ่งจริงๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เนื่องจากการที่ทหารจะลุกขึ้นมาทำการรัฐประหารนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ขณะที่การยึดอำนาจไม่ต้องเตรียมการอะไรเลยเพราะทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์มันมีอยู่แล้ว การออกแถลงการณ์ในการรัฐประหารมันก็มีแบบฟอร์มเดิมอยู่ แค่เปลี่ยนหัวอย่างเดียว ใช้เวลาคืนเดียวก็รัฐประหารได้แล้ว แต่ถ้ารัฐบาลไม่มีการคอร์รัปชันขนานใหญ่หรือทำอะไรที่ประชาชนรับไม่ได้จริงๆ ก็ไม่มีใครกล้าทำรัฐประหาร” พล.ท.นันทเดช ระบุ
ส่วนการแก้ไขรายละเอียดของสมาชิกสภากลาโหม ซึ่งพรรคการเมืองบางพรรคเสนอให้พลเรือนเข้าไปร่วมในสภากลาโหมนั้น พล.ท.นันทเดช มองว่า จะทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน เนื่องจากหน้าที่หนึ่งของสภากลาโหมคือการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหาร ซึ่งพลเรือนอาจจะไม่มีความรู้ความไม่เข้าใจการทำงานของทหาร ซึ่งทหารจะมีสายการบังคับบัญชา โดยเฉพาะกองกำลัง เช่น ผบ.พล ต่างๆ ผู้บังคับกองพัน อีกทั้งทหารยังเป็นหน่วยงานที่ครอบครองอาวุธร้ายแรง จึงต้องมีความนิ่ง และอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บังคับบัญชา
ในการพิจารณาแต่งตั้งต่างๆ จะวางระบบไว้ว่าให้ดูตั้งแต่ผู้บังคับกองร้อยว่าใครมีขีดความสามารถที่จะบังคับบัญชาทหารได้ ก็จะเลื่อนให้เป็นรองผู้พัน แล้วเลื่อนเป็นผู้พัน จากนั้นเลื่อนเป็นผู้การกรม แล้วขึ้นมาเป็น ผบ.พล ซึ่งในระหว่างเส้นทางผู้ใหญ่จะคอยดูว่าคุณเป็นที่ยอมรับของนายทหารระดับล่างหรือเปล่า แล้วต้องใช้เวลาอีก 10 ปีกว่าจะขึ้นมาเป็น ผบ.เหล่าทัพ ฉะนั้นสภากลาโหมมีหน้าที่กลั่นกรองการพิจารณาแต่งตั้งนายทหาร แต่ถ้าให้นักการเมืองเข้ามาร่วมพิจารณาอาจมีนายทหารที่มีความสนิทสนมกับนักการเมือง แต่ไม่มีผลงาน ไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่าทหารในสายการบังคับบัญชา ขึ้นมากินตำแหน่ง ผบ.พล ผบ.เหล่าทัพ หรือเกิดการซื้อขายตำแหน่งได้ หากขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญโดยที่ไม่มีความรู้และไม่เป็นที่ยอมรับจะส่งผลให้กองทัพล้าหลัง ไม่พัฒนา ดังนั้นการพิจารณาแต่งตั้งควรเป็นเรื่องกิจการภายในของกองทัพ
พล.ท.นันทเดช กล่าวต่อว่า การเสนอแก้ระเบียบกระทรวงกลาโหมดังกล่าวนั้นอาจเป็นความพยายามที่จะกดดันทหาร แต่ไม่ถูกกาลเทศะเนื่องจากตอนนี้เศรษฐกิจโลกมีปัญหา นานาประเทศกำลังเผชิญเรื่องความมั่นคง และเกิดการสู้รบในประเทศต่างๆมากมาย รัฐบาลกับทหารต้องทำงานร่วมกัน และความมั่นคงทางทหารเป็นเรื่องสำคัญ จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงจุดประเด็นเรื่องการแก้ระเบียบกระทรวงกลาโหมซึ่งอาจนำไปสู่ความบาดหมางระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ
"แน่นอนอยู่แล้วว่าการแก้ระเบียบกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลจะนำไปสู่ความบาดหมางกับกองทัพ ขณะที่ปัจจุบันทหารกับรัฐบาลก็ร่วมงานกันดีอยู่แล้ว จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดความคับข้องใจระหว่างกันทำไม ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลเพื่อไทยจะไม่มีการแก้ระเบียบกระทรวงกลาโหม เพียงแต่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้พรรคการเมืองบางพรรคที่เพื่อไทยเคยไปรับปากไว้ว่าจะร่วมแก้กฎหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพรู้สึกว่าเพื่อไทยได้พยายามทำแล้ว จึงยื่นเสนอร่างกฎหมายทิ้งไว้ เพราะตอนนี้รัฐบาลต้องอาศัยความร่วมมือจากทหารในเรื่องของการป้องกันภัยสงครามที่อยู่รอบด้าน อีกทั้งประเทศใดที่มีกองทัพที่เข้มแข็งย่อมมีอำนาจต่อรองทางการค้าและการลงทุน เมื่อไหร่ที่ทหารไม่เข้มแข็ง บ้านเมืองไม่สงบ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศก็ไม่กล้ามาลงทุน ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่น่าจะขยับทำอะไรที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับกองทัพ” พล.ท.นันทเดช กล่าว
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j