xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 4 จุดอ่อนเลือกตั้ง ส.ว.ฮั้วได้-โนเนมหมดสิทธิ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.สมชัย” อดีต กกต. ระบุระเบียบการเลือกตั้ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ช่องโหว่เพียบ เอื้อให้ผู้สมัครเลือกสาขาอาชีพและพื้นที่ที่ลงสมัครเพื่อโอกาสในการเลือกตั้ง มากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน โอกาสน้อยมากที่คนไม่มีชื่อเสียงจะได้รับเลือก อีกทั้งยังอาจเกิดการ “ฮั้วเลือกตั้ง” ในระดับอำเภอ-จังหวัด ส่วนกรณี “คณะก้าวหน้า” หาคนลงสมัคร ส.ว.ผิดระเบียบหรือไม่นั้นยังไม่ชัด แต่ “ขัดเจตนารมณ์ รธน.” ชัดเจน



เริ่มขยับกันแล้วสำหรับการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ แทน ส.ว.ชุดเดิมซึ่งกำลังจะหมดวาระในวันที่ 11 พ.ค.2567 นี้ โดยเฉพาะคณะก้าวหน้า ที่นำโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานมูลนิธิคณะก้าวหน้า ซึ่งกำลังออกเดินสายรณรงค์แคมเปญ “ส.ว. ประชาชน” เพื่อรณรงค์ให้ผู้ที่มีใจรักประชาธิปไตยเข้ามาลงสมัคร ส.ว. ซึ่งบางฝ่ายมองว่านี่คือการสร้างเครือข่าย ส.ว.ของคณะก้าวหน้าที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ทางด้าน “นายพริษฐ์ วัชรสินธุ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ท้วงติงถึงความล่าช้าในการออกระเบียบเรื่องการคัดเลือก ส.ว.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ขณะที่หลายคนยังคงงวยงงกับระเบียบการเลือกตั้ง ส.ว.ที่กำหนดขึ้นใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งให้ผู้ที่อยู่ในสาขาอาชีพต่างๆ เลือกกันเองนั้นดูจะสลับซับซ้อน ถึงขั้นที่แม้แต่ “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.ยังออกปากบ่น

ส่วนว่าระเบียบและข้อกำหนดในการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้จะมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร? คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้ที่คร่ำหวอดในการจัดการเลือกตั้ง

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้ว่า ระเบียบในการลงสมัคร ส.ว.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 นั้นมีจุดอ่อนอยู่หลายประการ คือ

1) อาจทำให้ผู้สมัคร ส.ว.เลือกสาขาอาชีพที่สมัครจากปัจจัยเรื่องโอกาสในการได้รับเลือกตั้งมากกว่าต้องการจะเป็นตัวแทนของสาขาอาชีพนั้นๆ เนื่องจากระเบียบในการเลือกตั้ง ส.ว. กำหนดให้เป็นการเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครในแต่ละสาขาอาชีพ โดยกระบวนการเริ่มตั้งแต่ผู้สมัครระบุว่าตนอยู่ในสาขาอาชีพอะไร และเลือกพื้นที่ที่ตัวเองจะไปลงสมัคร ซึ่งมุมหนึ่งเป็นการเปิดกว้างสำหรับผู้สมัคร แต่อีกมุมหนึ่งเป็นความหละหลวม โดยเฉพาะข้อกำหนดในการเลือกอาชีพและพื้นที่ที่ลงสมัคร

เนื่องจากแต่ละคนสามารถเลือกกลุ่มอาชีพที่ลงสมัครได้จากหลายอาชีพ เพราะข้อกำหนดในการเลือกกลุ่มอาชีพระบุแค่ว่าต้องมีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงมีความเป็นไปได้ว่าคนคนหนึ่งอาจจะทำงานหลากหลายอาชีพ เช่น เป็นชาวสวนด้วย และทำงานภาคประชาสังคมด้วย การเลือกกลุ่มอาชีพจึงเปิดกว้างให้คนสามารถเลือกกลุ่มอาชีพที่มีการแข่งขันน้อยที่สุด มากกว่าจะเลือกอาชีพที่ตนมีความถนัดที่สุด และการรับรองการประกอบอาชีพใช้แค่คนเพียงคนเดียวเป็นผู้รับรอง ไม่ต้องมีหน่วยราชการมาให้การรับรองแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าหละหลวมมาก

2) อาจทำให้ผู้สมัคร ส.ว.เลือกพื้นที่ที่ลงสมัครจากปัจจัยเรื่องโอกาสในการได้รับเลือกตั้ง มากกว่าต้องการจะเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากข้อกำหนดเกี่ยวกับพื้นที่ในการลงสมัคร ส.ว.นั้นสามารถเลือกได้จากหลายหลักเกณฑ์ เช่น เกิดที่อำเภอนั้น เรียนที่อำเภอนั้น 2 ปี เคยทำงานที่อำเภอนั้น 2 ปี เคยอยู่ที่อำเภอนั้น 2 ปี ดังนั้นผู้สมัครจึงอาจเลือกลงสมัครในพื้นที่ซึ่งมีการแข่งขันน้อยที่สุด ไม่ใช่พื้นที่ที่ตนเองคุ้นเคยที่สุด ซึ่งคาดว่าผู้สมัครจะเลือกลงสมัครในจังหวัดที่มีจำนวนอำเภอน้อยๆ เนื่องจากขั้นตอนในการคัดเลือก ส.ว. กำหนดให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มในแต่ละอำเภอเข้าสู่การแข่งขันในระดับจังหวัด ดังนั้นถ้าจังหวัดไหนมีจำนวนอำเภอน้อย คู่แข่งขันในจังหวัดจะน้อยลงด้วย เช่น จ.สมุทรสาคร มีจำนวนอำเภอน้อยที่สุดในประเทศไทยคือมีแค่ 3 อำเภอ ขณะที่กรุงเทพฯ มีจำนวนเขต (เที่ยบเท่าอำเภอ) ถึง 50 เขต ผู้สมัครใน จ.สมุทรสาคร จึงมีคู่แข่งน้อยกว่าผู้สมัครในกรุงเทพฯ

3) ข้อมูลในการแนะนำตัวของผู้สมัคร ส.ว.นั้นน้อยเกินไป เนื่องจากข้อกำหนดในการแนะนำตัวทั้งการเลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกันและเลือกข้ามกลุ่มนั้นกำหนดให้ใช้เอกสารในการแนะนำตัวตามแบบฟอร์ม ส.ว.3 ซึ่งมีความยาวแค่ 1 หน้ากระดาษ A4 ข้อมูลในการตัดสินใจจึงน้อยมาก เช่น การศึกษาไม่เกิน 3 บรรทัด ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงานไม่เกิน 5 บรรทัด เมื่อข้อมูลน้อยอาจส่งผลให้ผู้สมัครที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่เป็นที่รู้จักไม่ได้รับเลือก ยกเว้นว่าจะมีการฮั้วกันซึ่งตามกฎหมายทำไม่ได้แต่เชื่อว่าอาจจะมีคนทำ


4) อาจมีปัญหาเรื่องการฮั้วกันในการลงคะแนน โดยเฉพาะการเลือก ส.ว.ในระดับอำเภอ ซึ่งอาจจะมีการเตรียมคนมาลงสมัครเพื่อให้โหวตเลือกกันเอง เช่น ในแต่ละกลุ่มอาชีพมีคนลงสมัครตามธรรมชาติ 10 คน อาจจะเตรียมคนมาลงสมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพสัก 8 คน ก็ชนะแล้ว เพราะผู้สมัครคนอื่นเลือกกันแบบกระจัดกระจาย แต่กลุ่มที่เตรียมกันมาจะเลือกกันเองภายในกลุ่ม หากผู้ที่ผ่านรอบแรก คือผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 1-5 ของแต่ละกลุ่ม เป็นพวกเดียวกัน เมื่อเข้าสู่รอบสองซึ่งเป็นการเลือกข้ามกลุ่ม โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มได้เข้าสู่การคัดเลือกระดับจังหวัด กลุ่มคนที่ฮั้วกันมีโอกาสได้เข้ามาอีก เพราะเลือก 3 ใน 5 ยังไงก็ชนะ

และถ้าทำลักษณะนี้ในจังหวัดที่มีจำนวนอำเภอน้อยๆ เมื่อไปเลือกในระดับจังหวัดมีโอกาสชนะอีก เพราะการคัดเลือกรอบแรกในระดับจังหวัด ระบุว่าผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 1-5 ของแต่ละกลุ่มจะเข้าสู่การคัดเลือกรอบสอง ส่วนรอบสองซึ่งเป็นการเลือกผู้สมัครข้ามกลุ่มระบุว่า ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจะเข้าสู่การคัดเลือกระดับประเทศ ขณะที่ในระดับประเทศอาจจะฮั้วยากหน่อย แต่ถ้าหากมีเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนคะแนนกัน เช่น กลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มการเมือง ก็อาจจะฮั้วกันได้

“จุดอ่อนของข้อกำหนดทำให้ผู้สมัครในจังหวัดขนาดเล็กได้เปรียบผู้สมัครในจังหวัดใหญ่ ส่วนปัญหาเรื่องการฮั้วในการลงคะแนนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีจำนวนอำเภอน้อยๆ ส่วนการคัดเลือกในระดับประเทศหากเป็นพรรคขนาดใหญ่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะแม้ว่ากฎหมายจะห้ามไม่ให้พรรคการเมืองส่งสมัคร ส.ว. หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือก ส.ว.แต่เขาจะอยูเบื้องหลังหรือเปล่าเราไม่รู้ ซึ่งการฮั้วระดับประเทศอาจทำได้ 2 แนวทาง คือ 1.กลุ่มผู้มีอิทธิพลในระดับจังหวัดประสานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนคะแนนกัน และ 2.กลุ่มการเมืองระดับประเทศที่อยู่เบื้องหลังผู้สมัคร ส.ว.อาจจะมีอิทธิพลในการผลักดันหรือขอให้ผู้สมัครคนอื่นเลือกคนของฝ่ายตัวเองเข้าไป” รศ.สมชาย ระบุ

กรณีที่มีกลุ่มการเมือง เช่น คณะก้าวหน้า เคลื่อนไหวในการหาคนลงสมัคร ส.ว.จะผิดระเบียบการเลือกตั้ง ส.ว.หรือไม่นั้น รศ.สมชาย กล่าวว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เนื่องจาก กกต.ยังไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดในระเบียบการเลือกตั้ง ส.ว.ว่าสามารถส่งผู้สมัคร ส.ว.ในนามกลุ่มได้หรือเปล่า ดังนั้น จึงต้องรอดูระเบียบที่ชัดเจนอีกที เพราะตอนนี้ กกต.ยังไม่มีรายละเอียดออกมาว่าการสมัคร ส.ว.จะทำอย่างไร การแนะนำตัวจะทำอย่างไรได้บ้าง สิ่งที่ทำได้ และทำไม่ได้มีอะไรบ้าง แต่หากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมอาจจะเป็นจะเป็นการกระทำที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

“โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วต้องการให้ผู้สมัคร ส.ว.แต่ละคนเป็นอิสระจากการเมือง และไม่ถูกครอบงำโดยพรรคการเมือง ซึ่งโดยหลักการแล้วถ้าสมัคร ส.ว.แบบเป็นกลุ่มจะเกิดความไม่เป็นอิสระในระดับหนึ่ง มาตรา 113 ระบุว่า สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนภายใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ คำว่าฝักใฝ่ แม้จะไม่ได้อยู่ใต้อาณัติแต่ไปนิยมชมชอบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งก็ไม่ได้แล้ว จึงต้องดูจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้น” รศ.สมชัย กล่าว

“ธธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานมูลนิธิคณะก้าวหน้า เดินสายชักชวนให้ประชาชนลงสมัคร ส.ว.
รศ.สมชัย ยังได้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการเลือก ส.ว.ในแต่ละยุคสมัย ว่า ก่อนหน้านี้ ส.ว.จะมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งเพิ่งจะมีการเลือกตั้ง ส.ว.ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง โดยมีการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกในปี 2543 ซึ่งวิธีการสมัครรับเลือกตั้งเป็นรูปแบบเดียวกับการเลือก ส.ส. คือมีการหาเสียง ติดป้ายโฆษณาแนะนำตัวเพื่อให้ประชาชนไปลงคะแนนเลือก โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีจำนวน ส.ว.ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร แต่ ณ เวลานั้นเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการเลือกตั้งทำให้ ส.ว.ไม่ปลอดจากการเมือง เพราะผู้สมัคร ส.ว.ต้องอาศัยอิทธิพลของเครือข่ายนักการเมืองเพื่อให้ได้คะแนนจากประชาชน เกิดข้อครหาว่าเป็นสภาผัวเมีย คือ สามีเป็น ส.ส. และส่งภรรยาลงสมัคร ส.ว. อย่างไรก็ดีในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร นั้นยังถือว่า ส.ว.ปลอดจากการเมือง เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประชาชน ต่อมาการเลือกตั้ง ส.ว.ในปี 2549 ยังเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 อยู่

หลังจากนั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 มีการเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวมเป็น 76 คน และส่วนที่สองมาจากการสรรหา เช่น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 74 คน รวมเป็น 150 คน ซึ่งใช้ในการเลือกตั้ง ส.ว. ในปี 2551 และ 2557 ทั้งนี้ ส.ว.ที่มาจากกการเลือกตั้งซึ่งเป็นตัวแทนจากแต่ละจังหวัดนั้นอิทธิพลจากฝ่ายการเมืองอาจจะเข้ามาครอบงำได้ในกรณีที่เป็นจังหวัดขนาดเล็ก ขณะที่ ส.ว.ที่มาจากการสรรหานั้นต้องยอมรับว่ามีระบบเส้นสายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจสามารถเข้ามาเป็น ส.ว.ได้ ซึ่ง ส.ว.ในยุคของรัฐบาล คสช.บางส่วนมาจากกระบวนการสรรหาดังกล่าว และ ส.ว.ที่กำลังจะหมดวาระในเดือน พ.ค.2567 นี้ หลายคนมาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งการที่ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเท่ากับว่าไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง เวลา ส.ว.เข้าไปทำงานในสภาจึงเกิดภาวะปลาสองน้ำ คือ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีแนวความคิดแบบหนึ่ง ส่วน ส.ว.ที่มาจากการสรรหาจะมีแนวความคิดอีกแบบหนึ่ง การทำงานจึงไม่เข้าขากัน

ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2560 ได้กำหนดรูปแบบการเลือกตั้ง ส.ว.ใหม่ เป็นการเลือกกันเองของกลุ่มสาขาอาชีพ 20 กลุ่ม แต่ว่า 5 ปีแรก กลายเป็นว่า ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช.เสียส่วนใหญ่ โดย ส.ว. 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ถึง 194 คือ เช่น มาโดยตำแหน่ง เช่น ผบ.เหล่าทัพ 6 คน อีกทั้ง ส.ว.ที่เหลืออีกประมาณ 50 คน แม้จะมาจากการคัดเลือกของกลุ่มอาชีพต่างๆ แต่ท้ายที่สุดต้องผ่านการคัดกรองจาก คสช.อีกที จึงกลายเป็นว่า ส.ว.เป็นคนของ คสช.ทั้งหมด

ส่วนการเลือก ส.ว.ที่จะมีขึ้นในปี 2567 นั้นจะเป็นการคัดเลือกกันเองของกลุ่มสาขาอาชีพ 20 กลุ่ม ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนว่าผลจะออกเป็นอย่างไรต้องรอดูกันต่อไป

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น