ผู้ประกอบการโอดไม่มีเจ้าภาพเข้ามาแก้ปัญหาทัวร์ทิพย์-ลอยแพลูกทัวร์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แค่รอให้เรื่องเงียบ เผยเคยหารือแนวทางแก้ปัญหาผ่านสมาคมเพื่อส่งต่อให้ภาคการเมืองหาทางควบคุม แต่นิ่งสนิท พร้อมแฉพัฒนาการโกง ส่วนวิธีดูทัวร์ไหนโกง-ไม่โกง คำตอบคือ “ไม่มี” ขนาดคนในยังโดนไปด้วย คนวงนอกยิ่งไม่มีทางรู้ ชี้ช่องโหว่เพียบวอนเจ้ากระทรวงฯ เร่งจัดการ
ช่วงเทศกาลทั้งปีใหม่และสงกรานต์วันหยุดยาว เชื่อว่าหลายคนวางแผนท่องเที่ยวไว้ ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัลกับตัวเอง ครอบครัวหรือลูกๆ ในช่วงปิดเทอม รวมไปถึงการมอบการเดินทางท่องเที่ยวเป็นรางวัลให้พนักงาน หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ลดระดับความรุนแรงลงเป็นเพียงโรคทั่วไป ความต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศจึงมีมากขึ้น
แม้ว่าคนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะวางแผนเดินทางด้วยตัวเอง แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะใช้บริการผ่านบริษัททัวร์ เพราะไม่ต้องการยุ่งยากเรื่องจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมและวางแผนเดินทางไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ
ช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาขึ้นกับผู้ใช้บริการผ่านบริษัททัวร์อยู่หลายกรณี ทั้งทัวร์ไม่ตรงปก ไปประเทศปลายทางแล้วต้องจ่ายเงินเพิ่ม จนถึงไม่สามารถเดินทางได้ตั้งแต่ที่ประเทศไทย เป็นข่าวที่เกิดขึ้นเรื่อยมา
เกิดแล้วเกิดอีก
เจ้าของบริษัททัวร์รายหนึ่งกล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาซ้ำซาก ไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง เมื่อเกิดขึ้นแล้วเพียงแค่รอให้เรื่องเงียบ ถ้าโชคดีก็ยืดเวลาออกไปนานหน่อยกว่าจะเกิดเรื่องใหม่อีกครั้ง ปัญหานี้จึงวนกลับมาได้ทุกเวลา เพียงแค่เปลี่ยนตัวละครทั้งฝั่งทัวร์และลูกทัวร์เท่านั้น
ที่จริงเรามีหน่วยงานที่ดูแลจากรัฐ เช่น กรมการท่องเที่ยว สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมีการรวมตัวกันของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวขึ้นเป็นสมาคม มีทั้งประเภท In Bound และ Out Bound แต่ปัญหาทัวร์ล่ม โกงทัวร์ยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
“มีเรื่องทีก็ร้องกันที แจ้งความกันที เจ้าของทัวร์หนีไปได้บ้าง หรือถูกจับก่อนหลบหนีบ้าง แต่สุดท้ายแล้วส่วนใหญ่ลูกทัวร์มักไม่ได้เงินคืน วนกันอยู่แบบนี้ ถามว่าวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้จะทำอย่างไร เชื่อว่าคนในวงการทัวร์รู้กันดีว่าปัญหานี้จะแก้ไขอย่างไร เพียงแต่ไม่มีใครที่จะผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
โกงแล้วโกงต่อ
การโกงลูกทัวร์มีนานแล้ว ปัญหานี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่มีใครกล้าเข้ามาแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องระดับรัฐมนตรีที่ต้องเข้ามาดูแล เนื่องจากต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบในการควบคุมผู้ประกอบการ
ถ้าเอาตามหลักการแล้วสมาคมที่รวมตัวกันของผู้ประกอบการจะต้องรวบรวมปัญหาและเสนอวิธีการแก้ไขยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค (ลูกทัวร์) แต่ไม่ว่าจะเกิดการโกงกี่ครั้งทุกอย่างก็เหมือนเดิม แจ้งความร้องทุกข์แล้วก็จบ กระบวนการทางคดีต้องใช้เวลาอีกนาน โอกาสได้เงินคืนมีความเป็นไปได้น้อย
ทั้งนี้ ทัวร์ที่พาคนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศ (Out Bound) ส่วนใหญ่แล้วย่อมถูกมองว่าเป็นการเอาเงินตราของไทยไปใช้ในต่างประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่มองว่าฟุ่มเฟือย ลำดับความสำคัญจึงเป็นรองทัวร์แบบ In Bound ที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา เพราะถือว่านำรายได้เข้าประเทศ
วิธีดูทัวร์ไม่โกง “ไม่มี”
ถามว่ามีวิธีดูบริษัททัวร์อย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกหลอก แม้จะมีหลายหน่วยงานให้คำแนะนำอย่างเช่น ตรวจสอบเลขที่ใบอนุญาตประเภทนำเที่ยวจากเว็บไซต์ Tourism.go.th รายการนำเที่ยวต้องมีรายละเอียดชัดเจน ราคาเหมาะสม เลขที่บัญชีโอนเงินตรงกับชื่อบริษัทหรือผู้มีอำนาจในบริษัท ตรวจสอบข้อมูลบริษัทก่อน เคยถูกร้องเรียนหรือไม่
คำตอบจริงๆ คือไม่มีวิธีดูกว่าบริษัทไหนจะโกงหรือไม่โกง ทุกบริษัทที่จะขายโปรแกรมทัวร์ได้ส่วนใหญ่จะต้องขอใบอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยวเกือบทั้งนั้น แต่ไม่ได้รับประกันว่าเขาจะไม่โกง บริษัททัวร์ที่โกงก็มีใบอนุญาตทั้งนั้น
รายละเอียดในการนำเที่ยวส่วนใหญ่มีด้วยกันทั้งนั้น ใช้โปรแกรมที่ออกโดยบริษัททัวร์ต้นทางแล้วมาเปลี่ยนหัวของบริษัทและช่องทางในการติดต่อของบริษัทที่เป็นตัวแทนขาย ส่วนเรื่องราคาเหมาะสมก็ดูยาก เพราะบางโปรแกรมเน้นกินหรูพัก 5 ดาว
ราคาจะต่างกับเจ้าอื่นๆ ส่วนราคาที่เหมาะสม จะมีแค่บริษัททัวร์เท่านั้นที่รู้ ผู้บริโภคทั่วไปไม่มีทางทราบได้เลย
เรื่องการโอนเงินชำระค่าทัวร์ โอนเข้าบัญชีบริษัทถือเป็นแค่วิธีการป้องกันระดับหนึ่งเท่านั้น ในทางปฏิบัติมีทั้งโอนเข้าชื่อบริษัททัวร์ หรือโอนเข้าบัญชีส่วนตัวก็มี ปัญหาคือถ้าเขาตั้งใจโกง โอนบัญชีไหนก็โกงได้ทุกบัญชี
หรือการตรวจสอบประวัติของบริษัททัวร์ผ่านตามช่องทางต่างๆ แค่ปิดบริษัทแล้วเปิดใหม่ หรือซื้อบริษัทที่แทบจะไม่มีลูกค้า ใช้นอมินีมาถือหุ้นหรือนั่งเป็นกรรมการแทน จะตรวจสอบอย่างไรก็ไม่เจอ
ดังนั้น คำแนะนำเหล่านี้อาจมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะถูกโกงหรือไม่ถูกโกง เพราะตอนนี้มีทัวร์ราคาถูกอย่างทัวร์ไฟไหม้ก็เดินทางได้ และได้รับบริการเหมือนลูกทัวร์ที่ซื้อราคาปกติ หรือทัวร์ข้ามปีบางรายยังไม่มีปัญหาเรื่องโกงลูกค้า แต่ทัวร์พรีเมียมบางรายกับเชิดเงินลูกค้าหนีก็มี
ดูไม่ออกใครจะโกง
แหล่งข่าวที่อยู่ในวงการทัวร์กล่าวว่า ในวงการทัวร์ด้วยกัน บางครั้งไม่มีทางรู้ได้เลยว่าทัวร์เจ้าไหนมีโอกาสที่จะโกงหรือไม่ ถ้าดูออกง่ายคงไม่มีใครถูกหลอก โดยเฉพาะบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นแค่ตัวแทนขาย (เอเยนต์) ที่ต้องแบกรับภาระเสมือนเป็นผู้ออกโปรแกรมทัวร์ (โฮลเซล)
สัญญาณว่าทัวร์เจ้าไหนมีปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ คนวงนอกไม่มีทางทราบได้เลย คนวงในอาจจะพอรู้บ้างจากผู้ให้บริการปลายทาง (Land) ถ้ามีปัญหาเรื่องการติดค้างนี่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดี แต่ไม่แน่เสมอไป เพราะบางรายหมุนเงินจากที่อื่นมาแก้ปัญหาได้ทัน ทัวร์ที่เป็นเอเยนต์ควรหลีกเลี่ยงในการทำธุรกิจร่วมกับเขาเพราะมีความเสี่ยง
เมื่อเอเยนต์ไม่เอาโปรแกรมของบริษัทที่มีความเสี่ยงมาขาย ก็เท่ากับเป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้บริษัทของตัวเองและช่วยลูกค้าได้ระดับหนึ่ง
บริษัททัวร์ที่โกงส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน หมุนเงินไม่ทัน อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้เงินผิดประเภท เล่นการพนัน หรือมีธุรกิจอื่นนอกจากทัวร์แล้วหมุนเงินระหว่างกัน ทัวร์ถือเป็นธุรกิจเงินสด คนที่จะไปเที่ยวพร้อมจ่ายเป็นเงินสดทันทีในโปรแกรมที่เขาหมายตา จึงมีนักธุรกิจบางรายที่เดิมมีกิจการอื่น หันมาเปิดบริษัททัวร์เพื่อดึงเอาเงินสดไปหมุนก่อน อย่างเช่นบริษัทที่มีปัญหาล่าสุด
พัฒนาการโกง-โกง Land
การหลอกมีทั้งตัวบริษัททัวร์เป็นผู้หลอก และเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์อื่นหลอกเหยื่อผ่านโปรแกรมทัวร์อีกต่อหนึ่ง ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะบริษัททัวร์ที่ตั้งใจโกง
รูปแบบการโกงทัวร์มีพัฒนาการมากขึ้น จากเดิมการทิ้งลูกทัวร์จะทราบก็ต่อเมื่อลูกทัวร์เดินทางมาถึงสนามบินในวันเดินทาง ตอนนั้นถึงจะทราบว่าผู้จัดโปรแกรมหลอก เพราะไม่มีตั๋วเครื่องบิน แบบนี้จะกลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะมีคนที่ผิดหวังในการเดินทางมาก อารมณ์เดือดจะมากตามไปด้วย และจะดึงให้สื่อไปทำข่าวมาก อาจจะร้อนไปถึงระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องลงไปแก้ไขสถานการณ์ การบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น
ดังนั้น การโกงในระยะหลังจึงพยายามไม่ทำให้เกิดภาพลักษณะนั้น จะเริ่มมีการปล่อยข่าวเรื่องปัญหาในการเดินทางราวๆ 5-6 ชั่วโมงก่อนถึงกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวกันของผู้เสียหายจำนวนมากที่สนามบิน หลังจากไม่สามารถเดินทางได้จึงเป็นเรื่องการแจ้งความดำเนินคดีระหว่างผู้เสียหายกับเจ้าของทัวร์เท่านั้น
อีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นบ้างแล้ว คือ การโกงผ่านผู้ให้บริการท่องเที่ยวปลายทาง หรือ Land แบบนี้มีตั๋วเครื่องบินให้ได้เดินทาง แต่เจ้าของทัวร์เบี้ยวไม่จ่ายเงินให้ Land ปลายทาง ปล่อยให้เป็นการแก้ปัญหาระหว่างลูกทัวร์กับ Land ไม่เช่นนั้นจะไม่ให้บริการทั้งเรื่องที่พัก อาหารและรถสำหรับเดินทาง ถ้าเป็นกรุ๊ปของพนักงาน เจ้าของบริษัทมักจะออกให้ก่อนแล้วค่อยกลับมาแจ้งความ แต่ถ้าเป็นทัวร์ปกติที่มาจากหลายๆ ครอบครัวต้องเฉลี่ยกันจ่ายเพิ่ม แบบนี้คือมัดมือชกที่กรณีฟ้องร้องล่าสุดก็ทำที่เส้นทางญี่ปุ่นและจีน
มหากาพย์เอเยนต์ทัวร์กับโฮลเซล
อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขนั่นคือกฎระเบียบที่บังคับใช้ระหว่างโฮลเซลกับเอเยนต์ ทุกวันนี้ใช้กฎระเบียบเดียวกัน ทั้งๆ ที่ภาระและความรับผิดชอบแตกต่างกัน เคยมีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันว่าระดับความรับผิดชอบไม่ควรเท่ากัน แต่ไม่มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เอเยนต์รับเอาโปรแกรมทัวร์ของโฮลเซลมาขาย แลกกับค่าคอมมิชชันต่อโปรแกรมต่อคน อยู่ที่ประมาณ 1 พันบาทต่อโปรแกรม/คน แต่เวลาเกิดปัญหาขึ้นต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าเต็มจำนวน โฮลเซลขายโปรแกรมกำไรต่อโปรแกรม/คน มากกว่า 1,500-3,000 บาท (แล้วแต่เส้นทาง) ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากโฮลเซลทั้งสิ้น
เอเยนต์บางรายรับขายโปรแกรมให้โฮลเซลหลายราย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะต้องรับผิดชอบแทนลูกค้า อาจต้องสำรองเงินคืนลูกทัวร์ไปก่อน แล้วค่อยไปไล่ฟ้องกับโฮลเซลทีหลัง
เอเยนต์คือด่านหน้าที่ต้องรับกับลูกค้า ถ้าเกิดปัญหากับการให้บริการทัวร์เอเยนต์โดนก่อน รายที่พอมีทุนก็สำรองเงินคืนลูกค้าไปแล้วไปฟ้องดำเนินคดีกับโฮลเซล เอเยนต์บางรายทุนน้อยอาจต้องให้ลูกทัวร์ฟ้อง แล้วค่อยไปฟ้องต่อกับโฮลเซลอีกที
เดิมการขอเปิดบริษัททัวร์ต้องวางเงินประกันไว้ 2 แสนบาท ช่วงโควิดได้ลดเงินประกันเหลือแค่ 6 หมื่นบาท ถามว่าเงินประกัน 6 หมื่นบาทแก้ปัญหาลูกทัวร์ได้กี่ราย ที่จริงเอเยนต์กับโฮลเซลต้องวางเงินเป็นหลักประกันไม่เท่ากัน โฮลเซลควรถูกกำหนดให้วางเงินประกันสูงกว่าเอเยนต์
ออกบูทเตรียมบิน (หนี)
ที่จริงในวงการทัวร์จะแบ่งการทำธุรกิจเป็น 2 ประเภท 1 โฮลเซล เป็นผู้ออกโปรแกรมและกระจายให้ตัวแทนเป็นผู้จำหน่าย ประเภทที่ 2 เอเยนต์เป็นแค่ตัวแทนรับโปรแกรมจากโฮลเซลมาจำหน่ายอีกต่อหนึ่ง มีรายได้จากค่าคอมมิชชันที่โฮลเซลจ่ายให้ราว 1,000 บาท บวกลบ (แล้วแต่เส้นทาง)
ส่วนใหญ่โฮลเซลหรือรายใหญ่ ส่วนใหญ่จะไม่ลงมาทำตลาดกับลูกค้ารายย่อย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอเยนต์ แต่ระยะหลังโฮลเซลเริ่มที่จะลงมาทำตลาดขายโปรแกรมให้ลูกค้ารายย่อยเองก็มี ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือโฮลเซลที่เตรียมโกยเงินแล้วหนี จะใช้ช่องทางงานท่องเที่ยวที่จัดตามที่ต่างๆ ออกบูทร่วมกับผู้ประกอบการทั่วไปที่สุจริต เพื่อขายให้ได้มากที่สุดแล้วบิน
คำถามที่ตามมา คือ ทำไมยังปล่อยให้บริษัทที่มีปัญหาเข้ามาขายโปรแกรมทัวร์ได้ ตรงนี้ต้องกลับไปดูที่กฎหมายของไทย เพราะความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น หน่วยงานรัฐทำอะไรไม่ได้ เขามีใบอนุญาต ไม่มีประวัติเสีย แม้เกิดความเสียหายขึ้นแล้วการเปิดเผยชื่อบริษัทที่โกงทนายยังไม่กล้าเปิดชื่อเพราะกลัวถูกฟ้องกลับ นี่คือช่องโหว่
ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นแบบนี้ต่อไป ลูกค้าจะไม่กล้าซื้อทัวร์แบบนี้อีกแล้ว ส่วนจะมีรูปแบบใดในอนาคตมาทดแทนหรือไม่ ต้องขึ้นกับผู้ประกอบการที่ต้องร่วมมือกันหาทางสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค (ลูกทัวร์)
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j