“รศ.ดร.อัทธ์” ชี้หากเมียวดีแตกจะกระทบการค้าชายแดน “ไทย-พม่า” อย่างหนัก คาดส่งออก-นำเข้าเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 1 แสนล้าน พร้อมระบุ รัฐบาลทหารพม่ากำลังเจอศึกหนัก เผชิญปัญหาเศรษฐกิจ 4 ด้าน อีกทั้งต้องสู้กับกองกำลังถึง 4 กลุ่ม โดยขณะนี้ถูกฝ่ายต่อต้านยึดพื้นที่ไปแล้ว 60-70% ของประเทศ เชื่อจะยึดได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ฟันธง “มิน อ่อง หล่าย” มี 2 ทางเลือก ไม่ลี้ภัย ก็ต้องยอมแพ้
สถานการณ์ชายแดนไทย-พม่าระส่ำหนักหลัง “เมืองเมียวดี” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลทหารพม่าถูก “กองกำลังกะเหรี่ยง KNU” ตีแตกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตามด้วยกองกำลัง KNDF และ PDF ยึดค่ายทหารพม่าในเมืองโมเบีย ซึ่งเป็นรอยต่อรัฐชานกับรัฐคาเรนนี ส่งผลให้มีผู้อพยพชาวพม่าจำนวนมากอพยพลี้ภัยเข้ามาในฝั่งไทย ขณะที่ด้านกองกำลังทหารพม่าอยู่ในภาวะแตกฉานซ่านเซ็น ด้วยก่อนหน้านี้มีทหารพม่าหนีทัพเป็นจำนวนมาก และมีทหารบางส่วนที่แปรพักตร์ไปเข้ากับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน
ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าสถานการณ์ในพม่านับจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ส่วนว่าหลังจากนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร? คงต้องไปฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งติดตามสถานการณ์การเมืองในพม่าอย่างใกล้ชิด วิเคราะห์ว่า จุดที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอนคือหากฝ่ายต่อต้านบุกยึดเมียวดีสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-พม่า 100% เนื่องจากด่านเมียวดี-แม่สอดคือด่านการค้าสำคัญของไทย-พม่า โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ไทยนำเข้าจากพม่าจะมีราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดยไทยนำเข้าอาหารทะเลจาก 2 รัฐในพม่า คือรัฐกะเหรี่ยงและเมืองมะละแหม่ง ซึ่งอยู่ในรัฐมอญ และแน่นอนว่าต้องผ่านด่านเมียวดี-แม่สอด ขณะที่สินค้าที่ไทยส่งออกไปพม่านั้น ได้แก่ อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ก่อสร้าง และน้ำมัน โดยการส่งออกผ่านเส้นทางเมียวดีไปย่างกุ้งและหงสาวดีย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
หากด่านเมียวดีถูกปิด อานิสงส์จะไปตกอยู่ที่จีนเพราะหากสั่งสินค้าจากไทยไม่ได้ ทางพม่าจะไปสั่งจากจีน หลังจากนี้สินค้าที่จะส่งออกและนำเข้าระหว่างไทย-พม่าน่าจะไปใช้เส้นทางด่านระนอง-เกาะสอง พม่า ด่านสิงขร จ.ประจวบฯ-มะริด พม่า และด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี-เมืองพะย่าโต้นซู ตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า แต่ทั้งนี้การขนส่งในเส้นทางดังกล่าวค่อนข้างลำบากเพราะเส้นทางไม่สะดวก
ส่วนผลกระทบด้านสังคมนั้นจะมีผู้อพยพชาวพม่าอพยพเข้ามาประเทศไทยผ่านด่านเมียวดี-แม่สอดมากขึ้น โดยรัฐกะเหรี่ยงมีประชากรอยู่ 1.7 ล้านคน ส่วนรัฐมอญมีประชากรอยู่ประมาณ 1.6 ล้านคน รวมแล้วก็ประมาณ 3 ล้านกว่าคน ซึ่งชาวพม่าที่จะอพยพเข้ามาไทยน่าจะหลายแสนคน ส่วนคนไทยที่ทำงานหรือทำธุรกิจอยู่ในพม่านั้นยังไม่จำเป็นต้องอพยพกลับไทยเนื่องจากส่วนใหญ่จะอยู่ที่ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในขณะนี้
“การที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บุกยึดเมืองต่างๆ ได้นั้นมีมาหลายครั้งแล้ว เช่น ที่รัฐชาน แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทย เหมือนการยึดเมียวดีครั้งนี้ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรงเนื่องจากเมืองนี้เป็นด่านการค้าชายแดนไทย-พม่า โดยการค้าระหว่างไทย-พม่านั้น 90% เป็นการค้าชายแดน ซึ่งใน 80% เป็นการค้าที่ด่านแม่สอด-เมียวดี โดยไทยส่งออกสินค้าไปพม่าโดยผ่านไปด่านเมียวดีปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี และนำเข้าสินค้าจากพม่าผ่านด่านเมียวดีปีละ 3 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าส่งออกและนำเข้าผ่านด่านเมียวดี-แม่สอด จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยึดเมืองเมียวดีตกปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว” รศ.ดร.อัทธ์ ระบุ
ส่วนสิ่งที่รัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อรับมือกับสถานการณ์สู้รบในพม่าในขณะนี้นั้น รศ.ดร.อัทธ์ มองว่ามีอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ
1.เตรียมพร้อมในเรื่องการช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้อพยพชาวพม่าซึ่งทะลักเข้ามาประเทศไทยให้มีที่พัก อาหาร และการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ
2.ท่าทีของรัฐบาลควรวางตัวเป็นกลางอย่างชัดเจน อย่าเทกไซด์เข้าข้างรัฐบาลทหารพม่าโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยได้
3.อย่าพูดว่าไทยจะเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะไม่มีทางสำเร็จ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้นั้นเลยจุดการเจรจาไปแล้ว
4.สิ่งที่รัฐบาลไทยทำได้ในขณะนี้คือการเจรจากับกลุ่มกะเหรี่ยง KNU เพื่อขอส่งสินค้าผ่านเมืองเมียวดี เนื่องจากช่วงก่อนที่กองกำลัง KNU จะบุกยึดเมียวดีสำเร็จ ไทยสามารถส่งสินค้าผ่านเมียวดีไปถึงย่างกุ้ง แต่ตอนนี้การขนส่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สินค้าที่ส่งผ่านเมียวดีจะถูกควบคุมโดยกองกำลัง KNU พอเข้าถึงย่างกุ้งสินค้าจะถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร ที่สำคัญคือรัฐบาลไทยจะทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าสินค้าจะถึงย่างกุ้ง เพราะผู้ประกอบการมีความเสี่ยงว่าอาจส่งสินค้าไปไม่ถึงคู่ค้าที่ย่างกุ้ง
สำหรับสถานการณ์การสู้รบในพม่านั้น รศ.ดร.อัทธ์ ชี้ว่า สิ่งที่น่ากังวลคือการตอบโต้กลับทางอากาศจากกองกำลังทหารพม่าซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า แต่จุดอ่อนของรัฐบาลทหารพม่าในขณะนี้คือกำลังพลซึ่งปัจจุบันลดลงไปมาก ที่สำคัญการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำงานร่วมกันของ 4 กลุ่มที่รวมตัวกันต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า ได้แก่ 1.กองกำลังชนกลุ่มน้อย 2.กลุ่ม CDM หรือกลุ่มอารยะขัดขืน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบุคลากรด้านสาธารณสุข คือ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 3.กลุ่ม PDF หรือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของประชาชนทั่วไป และ 4.ทหารที่แปรพักตร์จากรัฐบาลทหารพม่า เพราะรู้ว่ารัฐบาลทหารไม่น่าจะสู้ไหว จึงได้หันมาร่วมมือกับฝ่ายต่อต้าน อีกทั้งครอบครัวของทหารที่ล้มตายไปหันมาร่วมกับฝ่ายต่อต้านเช่นกัน เพราะเชื่อว่าในที่สุดรัฐบาลทหารจะพ่ายแพ้เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจของพม่ามีปัญหาหนักมาก
คาดว่าสถานการณ์การสู้รบน่าจะยืดเยื้อและไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลทหารพม่าเนื่องจากตอนนี้รัฐบาลทหารพม่าเสียเมืองในรัฐชานเหนือไปถึง 10 เมือง เสียเมืองในรัฐคะฉิ่นตอนเหนือ โดยถูกยึดไป 4-5 เมือง ส่วนรัฐยะไข่นั้นถูกยึดไปเกือบทั้งหมด ล่าสุดรัฐกะเหรี่ยงถูกยึดไปเกือบทั้งหมดเช่นกัน โดยรัฐที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านยึดไปได้นั้นเป็นรัฐที่มีชนกลุ่มน้อยอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้เป็นการปกครองร่วมกันระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ แต่หลังจากถูกยึดไปก็กลายเป็นบริหารโดยกองกำลังชนกลุ่มน้อยทั้งหมด
อย่างไรก็ดี เขตเมืองชั้นในที่ปกครองโดยรัฐบาลทหารพม่า อันได้แก่ 3 เมืองใหญ่ คือ ย่างกุ้ง เนปีดอ และมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจ และเป็นเขตควบคุมเศรษฐกิจและพลังงาน กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่สามารถยึดได้เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลทหารพม่าทั้งหมดอยู่ใน 3 เมืองใหญ่ดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ฝ่ายต่อต้านจะยึดครองได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ เมืองที่น่าจะถูกยึดได้ก่อนคือมัณฑะเลย์ซึ่งขณะนี้มีกองกำลังฝ่ายต่อต้านมาประชิดติดมัณฑะเลย์ แต่อาจจะไม่ง่ายเพราะมัณฑะเลย์มีกำลังทหารอยู่จำนวนมาก แต่ถ้ามัณฑะเลย์ถูกยึดได้ เนปีดอก็ไม่น่ารอด
รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยต่อ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีพม่า และประธานคณะมนตรีบริหารประเทศ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพราะการบริหารด้านเศรษฐกิจนั้นมีปัญหาทั้ง 4 ด้าน คือ 1.เกิดวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ 2.มีปัญหาด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ นักท่องเที่ยวหดหายเพราะคนไม่กล้าเข้าไปเที่ยวพม่า 3.มีปัญหาด้านการลงทุน เพราะเกิดความไม่เชื่อมั่น โดยนักลงทุนเก่าถอนตัวออก นักลงทุนรายใหม่ก็ไม่เข้าไป 4.มีปัญหาด้านการส่งออก ซึ่งคู่ค้าหลักของพม่ามีแค่ 2 ประเทศ คือ ไทยกับจีน และมีส่งออกไปอินเดียบ้างประปรายเท่านั้น
อีกทั้งรัฐบาลทหารพม่ายังถูกกดดันจากระบอบประชาธิปไตยซึ่งปัจจุบันประชาชนไม่ยอมรับเผด็จการทหารและมีความต้องการที่จะต่อสู้มากกว่าเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ขณะที่ทาง UN อเมริกา และยุโรปก็เข้ามาช่วยสนับสนุนกองกำลังฝ่ายต่อต้าน จึงยากที่พม่าจะดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบทหาร จากเดิมซึ่งตนเคยวิเคราะห์ว่าถ้า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ลงจากอำนาจ และมีนายพลท่านอื่นขึ้นมาแทน สถานการณ์ในพม่าน่าจะดีขึ้น แต่ขณะนี้คงไม่มีนายทหารคนใดกล้าขึ้นมาแทนมิน อ่อง หล่าย เนื่องจากสถานการณ์ล่อแหลมมาก ไม่มีใครกล้าเอาชีวิตตัวเองและครอบครัวมาเสี่ยง
“จากยุทธการป่าล้อมเมืองของเหล่ากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้ตอนนี้รัฐใหญ่ๆ ในพม่าซึ่งมีทั้งหมด 7 รัฐ ถูกฝ่ายต่อต้านยึดไปได้แล้ว 4 รัฐ โดยรวมจึงยึดไปได้ถึง 60-70% ของพื้นที่ทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2567 นี้ รัฐบาลทหารพม่าจะเอาไม่อยู่ เว้นแต่ว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย จะหนีไปก่อน ตอนนี้มิน อ่อง หล่าย มีทางเลือก 2 ทาง คือ หนีไปต่างประเทศ หรือประกาศยอมแพ้ให้กองกำลังฝ่ายต่อต้าน” รศ.ดร.อัทธ์ ระบุ
รศ.ดร.อัทธ์ มองว่า หากสุดท้ายแล้วรัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถต้านทานกองกำลังกลุ่มต่อต้านได้ การปกครองในพม่าจะเปลี่ยนไป โดยกลุ่มต่อต้านจะขึ้นมามีอำนาจแทน ซึ่งรูปแบบการปกครองนั้นมีหลากหลายแนวทางมาก เช่น รัฐต่างๆ รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มบริหารพิเศษเพื่อปกครองพม่า แยกการปกครองแต่ละรัฐเป็นเอกเทศ แต่ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ น่าจะรวมกลุ่มกันยากเพราะแต่ละกลุ่มอยากเป็นอิสระและมีแนวทางเป็นของตัวเอง หากรวมกันได้คงมาคุยกันว่าตัวแทนจากแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะมีบทบาทอย่างไรและได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งคงจะยึดเอาสนธิสัญญาปางหลวงเป็นตัวตั้ง
“อย่างไรก็ตาม ยังยากที่พม่าจะสงบเพราะแต่ละกลุ่มมีกองกำลังและมีความเป็นเอกเทศจึงอาจจะมีการสู้รบกันอยู่เป็นระยะ ระยะแรกความเชื่อมั่นเรื่องการค้าการลงทุนต่างๆ ยังไม่มากนัก คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะลงตัว” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j