xs
xsm
sm
md
lg

‘เพื่อไทย’ แจกเงินดิจิทัลแน่ ‘นักกฎหมาย-วงใน’ แจงใช้งบประมาณเสี่ยงน้อยสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘รศ.ดร.เจษฎ์’ แจง 3 แนวทางแหล่งเงินดิจิทัล ชี้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นไปได้มากสุด ติงหากออก ‘พ.ร.บ.-พ.ร.ก.กู้เงิน” ต้องเข้าเงื่อนไข วิกฤตเศรษฐกิจ จำเป็นเร่งด่วน เพื่อความมั่นคงทาง ศก.ของประเทศ และต้องดำเนินโครงการต่อเนื่อง ไม่ใช่แจกครั้งเดียวจบ ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายออกกฎหมายการเงินโดยมิชอบ และถูกร้องให้ ป.ป.ช.เอาผิดได้ ขณะที่แหล่งข่าวจากเพื่อไทย ระบุอาจแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยทยอยจ่ายจากเงินงบประมาณ 2-3 ปี เลี่ยงคนจ้องฟ้อง



หลายคนเริ่มมีความหวังอีกครั้ง หลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ว่า ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการดังกล่าวได้มีการประชุมสรุปเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งเตรียมที่จะเรียกประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ภายใน 1-2 สัปดาห์หน้านี้ โดยจะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะทั้งหมดให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาต่อไป ดังนั้นคาดว่าโครงการแจกเงินดิจิทัลซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทยน่าจะเริ่มขับเคลื่อนได้ในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่ายังเป็นปัญหา นั่นคือ “ที่มาของเงิน” ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นเงินจากส่วนไหน จะเป็นเงินที่จัดสรรจากงบประมาณรายได้ประจำปี หรือจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อกู้เงินมาใช้ในการดำเนินโครงการ และสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการผลักดันนโยบาย

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องข้อกฎหมายไว้อย่างน่าสนใจ ว่า การดำเนินการของรัฐบาลเพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลนั้นสามารถทำได้ 3 แนวทางคือ 1.ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2.ออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน และ 3.ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน

สำหรับการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลโดยใช้ “เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี” ซึ่งเป็นวิธีงบประมาณตามปกติ โดยไม่มีการกู้เงินเลยนั้นสามารถทำได้ แต่เนื่องจากเป็นโครงการซึ่งใช้วงเงินที่สูงมากจึงไม่สามารถแจกเงินทั้งก้อนภายในคราวเดียวได้ ต้องทยอยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี โดยต้องมีการกำหนดรายละเอียดในการใช้งบให้ชัดเจน ซึ่งวิธีนี้ถือว่ามีความปลอดภัยสูง แต่อาจจะล่าช้า เนื่องจากไม่สามารถใช้งบทั้งหมดได้ภายในครั้งเดียว

อย่างไรก็ดี ยังมีบางประเด็นที่อาจจะไม่ปลอดภัยคือ 1) ประเด็นที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยเตือนไว้ว่าการนำเงินดิจิทัลออกมาแจกนั้นไม่ว่าจะเอามาแจกด้วยวิธีไหนก็ล้วนมีช่องทางที่อาจจะทุจริตได้ จึงต้องระมัดระมัดระวัง 2) องค์กรตรวจสอบต่างๆ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ป.ป.ช. จะติดตามตรวจสอบถึงความจำเป็นในการนำเงินมาแจกว่าในขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เช่น เกิดโรคระบาดที่ทำให้ประชาชนทำมาหากินไม่ได้ 3) การที่พรรคการเมืองหาเสียงมาแบบหนึ่ง แต่พอบริหารประเทศแล้วทำอีกแบบหนึ่งนั้น ทำให้เกิดคำถามว่าในแง่ของสัญญาประชาคมถือว่าได้ทำตามที่สัญญากับประชาชนไว้หรือไม่

ส่วนการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลโดย “ออก พ.ร.บ.กู้เงิน” นั้น ‘รศ.ดร.เจษฎ์’ ชี้ว่า หากเลือกใช้วิธีนี้รัฐบาลจะมีปัญหาทันที เพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าการที่กระทรวงการคลังจะออก พ.ร.บ.กู้เงินที่นอกเหนือจากการบริหารหนี้สาธารณะได้ต้องเป็นกรณีที่ “มีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณประจำปีได้”

ซึ่งรัฐบาลอาจจะอ้างได้ว่าไม่สามารถตั้งงบประมาณในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลได้ทัน แต่รัฐบาลตอบได้ไหมว่าอะไรคือความจำเป็นเร่งด่วน วิกฤตของประเทศคืออะไร และหากรัฐบาลบอกว่าเกิดวิกฤต ในทางปฏิบัติต้องดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลโดยทันทีและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีคำถามตามมาว่าถ้าจำเป็นเร่งด่วนจริง ถ้าเกิดวิกฤตเศราฐกิจจริงทำไมรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการ เพื่อไทยเป็นรัฐบาลมาเกือบจะ 1 ปีแล้วเหตุใดยังไม่เริ่มโครงการเงินดิจิทัล และหากบอกว่าเป็นวิกฤตที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เหตุใดรัฐบาลจึงนำเงินออกมาแจกทีเดียว 5 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียวจะไม่เข้าเกณฑ์ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อย่างไรก็ดี หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบ รัฐบาลก็สามารถนำร่างกลับมาให้สภาผู้แทนพิจารณาลงมติได้ ถ้าสภาผู้แทนให้ความเห็นชอบก็สามารถบังคับใช้ได้ แต่ทั้งนี้เนื่องจากเป็น พ.ร.บ.การเงิน หากกฎหมายไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ตามธรรมเนียมของประเทศเสรีประชาธิปไตยที่เจริญแล้วรัฐบาลจะต้องประกาศลาออก


ขณะที่ในส่วนของการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลโดย “ออก พ.ร.ก.กู้เงิน” นั้น ‘รศ.ดร.เจษฎ์’ อธิบายว่า หากเลือกใช้วิธีนี้รัฐบาลจะต้องมีเหตุจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด อันได้แก่ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งหากรัฐบาลจะทำโครงการเงินดิจิทัลโดยออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อนำเงินมาแจกต้องอธิบายให้ได้ว่าเป็นการรักษาความปลอดภัยของประเทศอย่างไร หรือเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่เข้าเกณฑ์ทั้งสองข้อนี้

ซึ่งประเด็นที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นกรณีการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่รัฐบาลต้องอธิบายอีกว่าการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้ประชาชนแต่ละคนเพียงครั้งเดียว จะเป็นการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมั่นคงขึ้นอย่างไร? แก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร? รัฐบาลต้องพิสูจน์ประเด็นเหล่านี้ให้ได้ ที่สำคัญคณะรัฐมนตรีต้องเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเกินกว่าคำว่าเร่งด่วนโดยทั่วไป ถ้าเปรียบเป็นอุบัติเหตุ พ.ร.บ.กู้เงิน ก็เหมือนกรณีถูกรถชนขาหักแต่ยังรู้สึกตัวอยู่ ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน แต่ พ.ร.ก.กู้เงินเป็นกรณีถูกรถชนขาหัก เลือดออกมาก และไม่ได้สติ เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ถ้าไม่เอาเข้าห้องไอซียูตายแน่ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลบอกว่าต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพราะเป็นกรณีที่เร่งด่วนฉุกเฉินจริงๆ จะมีคำถามตามมาว่าทำไมที่ผ่านมารัฐบาลไม่เร่งดำเนินการ

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อว่า หากออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน คณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถดำเนินการได้เลย โดย ครม.เป็นผู้พิจารณาร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน และเมื่อ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้บังคับ โดยไม่ต้องนำเสนอร่างพระราชกำหนดดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด

“วิธีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือใช้เงินจากวงเงินงบประมาณ คือการผลักดันโครงการเงินดิจิทัลโดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเลย แต่ก็ปลอดภัยกว่าวิธีอื่นๆ แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถใช้งบประมาณทั่วไปได้ หมายความว่าจะต้องกู้ ถ้าออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน รัฐบาลต้องอธิบายให้ได้ว่าทำไมตั้งงบประมาณไม่ทัน และวิกฤตของประเทศคืออะไร ประเทศยากจนลง ค้าขายได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือประเทศเป็นหนี้เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องชี้แจงได้และเป็นภาพที่ประชาชนทั่วไปเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งต้องทำให้เห็นว่านโยบายนี้รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องอย่างไร ถ้ามันไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว การออก พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้จะเข้าข่ายการออกกฎหมายโดยมิชอบ ส่วนถ้าจะออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน โดยบอกว่าทำเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ก็แปลว่าถ้าไม่ออก พ.ร.ก.นี้ประเทศพังแน่ รัฐบาลต้องพิสูจน์ตรงนี้ให้ได้ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็แปลว่าเป็นการออก พ.ร.ก.โดยมิชอบ ประเด็นคือถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจริงประเทศพังไปนานแล้ว” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ


ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายวิตกคือหากเกิดความเสียหายจากนโยบายแจกเงินดิจิทัลใครจะเป็นผู้รับผิดชอบนั้น ‘รศ.ดร.เจษฎ์’ ชี้ว่า ต้องไปดูว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ชอบหรือไม่ ถ้าเป็นการใช้งบประมาณโดยมิชอบ ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐสภาซึ่งเป็นผู้เห็นชอบในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน หรือคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากจะดูว่าเป็นการใช้งบประมาณโดยชอบหรือไม่ ต้องไปดูว่ารายละเอียดของการดำเนินการ เช่น เหตุผลในการกู้เงินนั้นจำเป็นหรือเปล่า หากไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจที่ฉุกเฉินเร่งด่วน แต่ไปออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อให้สามารถนำเงินมาแจกให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ก็ถือว่ามีความผิด

“หากเห็นว่าเป็นการใช้งบประมาณโดยมิชอบ ประชาชนทั่วไปสามารถร้องให้ ป.ป.ช.พิจารณาเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายหรือผู้ที่ดำเนินโครงการได้ แต่ที่น่าห่วงคือหากเป็นความบกพร่องในการบริหารงาน แต่ไม่ใช่การทุจริตก็อาจจะเอาผิดยาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ ป.ป.ช. สตง. หรือ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) กระตุกเตือนรัฐบาลไว้ก่อน ให้พิจารณาให้ดีว่าโครงการเงินดิจิทัลมีความจำเป็นหรือไม่ และจะส่งผลกระทบที่ตามมาอย่างไร เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่มีความรับผิดชอบ คือประเทศอื่นเขามีความรับผิดชอบทางการเมือง ถ้าบริหารผิดพลาดก็ลาออก และไม่กล้ากลับมาสมัครรับเลือกตั้งอีก แต่นักการเมืองไทยไม่มีตรงนี้ บ้านเรามารยาททางการเมืองต่ำ จริยธรรมทางการเมืองก็ต่ำ ความรับผิดชอบทางการเมืองก็ต่ำ จึงเกิดความเสียหายกับประเทศซ้ำแล้วซ้ำอีก” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทย ระบุว่า แนวโน้มที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือการใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยเลือกแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 14-15 ล้านคน แจกเฉพาะในส่วนที่จำเป็น และใช้วิธีทยอยแจก ในช่วง 2-3 ปีงบประมาณ ซึ่งจะใช้งบประมาณรวมแค่ 1.4-1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น

“เชื่อว่าโครงการนี้ยังไงก็ต้องทำเนื่องจากเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย แต่จะทำรูปแบบไหนเท่านั้น คือถ้าเซฟสุดคือแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยใช้เงินจากกรอบวงเงินงบประมาณ และตัดจ่ายเป็นรายปี สัก 2 ปีก็จบ เป็นวิธีที่ง่ายสุด แต่ถ้าไปออกเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดกู้เงินโดนแน่ เขาเตรียมฟ้องอยู่แล้ว มีคนรอยื่น ป.ป.ช. ยื่น กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ อยู่เพียบ แค่นึกก็ปวดหัวจะแย่แล้ว” แหล่งข่าว ระบุ

ส่วนว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะเลือกแนวทางใดในการขับเคลื่อนโครงการแจกเงินดิจิทัลก็คงรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการประชุมหารือกันภายใน 1-2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้ และแนวทางดังกล่าวจะสามารถเป็นจริงได้หรือไม่ยังต้องติดตามกันต่อไป!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/

Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น