‘ผอ.นิด้าโพล’ ฟันธง หาก ‘ก้าวไกล’ ถูกยุบ ส.ส.บางส่วนจะไหลไปพรรคอื่น ส่งผลให้พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่มีขนาดเล็กลง ซ้ำร้ายถ้า 44 ส.ส.ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต พรรคส้มระส่ำแน่ เพราะการปั้นแกนนำแถวหน้าขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่าย เผย 4 ประเด็นปัญหาทำคะแนนเสียงพรรคส้มหดหาย ชี้ ‘ก้าวไกล’ เกิดได้เพราะกระแส ดังนั้น จะรักษาความนิยมไว้ได้ต้องไม่หยุด ‘ปั่นกระแส’ และต้องหาแกนนำที่ ‘มีแสง’ พอจะสร้างกระแสเพื่อช่วยดึงคะแนนให้ ส.ส.ทั้งพรรคได้
ทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา "ยุบพรรคก้าวไกล" จากกรณีที่พรรคก้าวไกลใช้เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง ซึ่งอาจส่งผลให้อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลยุคที่ ‘นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นหัวหน้าพรรค รวมถึงกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ก็เกิดกระแสวิจารณ์ไปต่างๆ นานา เพราะนอกจากเรื่องการยุบพรรคแล้ว ยังมีประเด็นซึ่งมีผู้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิด นายพิธา และ ส.ส.ก้าวไกล รวม 44 คน ที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งอาจส่งผลให้ ส.ส.ทั้ง 44 คน ถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต ทำให้หลายฝ่ายวิตกถึงอนาคตของพรรคก้าวไกลว่าจะถึงขั้น ‘สูญพันธุ์’ หรือไม่? รวมถึงพรรคสำรองที่จะตั้งขึ้นมาใหม่จะมีโอกาสเติบโตหรือเปล่า?
ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" (NIDA Poll) ซึ่งติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด วิเคราะห์ว่า เชื่อว่ามีความเป็นไปได้เกิน 50% ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งในกรณีที่ศาลตัดสินยุบพรรคก้าวไกลคิดว่าก้าวไกลคงเตรียมตั้งพรรคสำรองไว้รอแล้ว แต่ผลกระทบคือจะมีกรรมการบริหารพรรค จำนวน 10 กว่าคน ต้องถูกสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
ส่วนกรณีที่มีผู้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิด นายพิธา และ 43 ส.ส.ก้าวไกล ที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงนั้น เชื่อว่า ป.ป.ช.คงไม่ถึงขั้นตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต เนื่องจากเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายตามระบบนิติบัญญัติ เพราะอย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าห้ามนำเรื่อง ม.112 ไปเป็นแคมเปญที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ศาลไม่ได้บอกว่าแก้ไขกฎหมายไม่ได้ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติ ดังนั้น 44 ส.ส.อาจจะรอด แต่ถ้าใน 44 คนนี้มีกรรมการบริหารพรรคร่วมอยู่ด้วย อาจมีบางคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากกรณีถูกยุบพรรค
“เชื่อว่าน้ำหนักที่จะยุบพรรคมีมากกว่าไม่ยุบ ส่วนน้ำหนักในกรณี 44 ส.ส.เชื่อว่าน่าจะรอดมากกว่าไม่รอด คือถ้าถูกยุบพรรค พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่แทนก้าวไกลจะเล็กลงแน่นอน เพราะจะมี ส.ส.บางส่วนไหลไปพรรคอื่น และถ้า 44 สส.ถูกตัดสิทธิ พรรคก็จะเล็กลงไปอีก ซึ่งถ้าก้าวไกลถูกยุบต้องหาหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค รวมถึงแกนนำพรรคคนใหม่ ซึ่งได้ยินว่ามีการวางตัวไว้แล้ว ถ้าไม่เป็นคุณไอติม-พริษฐ์ (วัชรสินธุ) ก็น่าจะเป็นคุณไหม-ศิริกัญญา (ตันสกุล) แต่ถ้า 44 ส.ส.ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต คุณไหมก็โดนด้วย น่าจะเหลือแค่คุณไอติมที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ที่สำคัญคือต้องหาแกนนำพรรคใหม่ทั้งหมดเพราะแกนนำพรรคระดับท็อปๆ นั้นล้วนอยู่ในกลุ่ม 44 ส.ส. ประเด็นปัญหาคือแกนนำที่มาใหม่จะท็อปฟอร์มเท่าคนเก่าหรือไม่?” ผศ.ดร.สุวิชา กล่าว
ส่วนว่าคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ‘ผศ.ดร.สุวิชา’ ระบุว่า ตอนนี้ทางนิด้าโพลอยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ข้อสังเกตคือพรรคก้าวไกลจะแตกต่างจากพรรคอื่นตรงที่พรรคการเมืองอื่นผลสำรวจเป็นอย่างไรคะแนนนิยมจริงก็จะใกล้เคียงกัน แต่พรรคก้าวไกลนั้นคะแนนนิยมจริงจะน้อยกว่าผลการสำรวจเล็กน้อย ประมาณ 4-5% ซึ่งต้องรอดูว่าผลโพลของพรรคก้าวไกลจะออกมาเป็นอย่างไร
แต่ประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือ กรณีที่ ‘ตะวัน ทะลุวัง’ ป่วนขบวนเสด็จนั้นส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่ม conservative (อนุรักษนิยม) ซึ่งน่าจะเลิกสนับสนุนพรรคก้าวไกลเพราะมองว่าที่ผ่านมาก้าวไกลมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทะลุวัง รองลงมาคือคนที่ไม่พอใจการกระทำของเยาวชนทะลุวัง ซึ่งบางส่วนอาจจะถอนการสนับสนุนออกมา
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตาคือ หากมีการยุบก้าวไกลแล้วพรรคส้มที่เกิดใหม่จะใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงนั้น ‘ผศ.ดร.สุวิชา’ วิเคราะห์ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในแต่ละช่วงเวลา มีคนชอบพูดว่าถ้าก้าวไกลถูกยุบพรรคจะโตขึ้นเหมือนกับตอนที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่จริงๆ แล้วเราต้องดูบริบทของแต่ละเหตุการณ์ กรณีของพรรคอนาคตใหม่นั้นเติบโตมาได้เพราะตอนนั้นพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คะแนนจึงเทมาที่พรรคอนาคตใหม่ ส่งผลให้อนาคตใหม่ได้ไป 80 กว่าเสียง ต่อมามีการยุบพรรคอนาคตใหม่ เกิดเป็นพรรคก้าวไกลซึ่งมีสมาชิกน้อยลง จากนั้นเมื่อมีเลือกตั้งปี 2566 คะแนนจากการหาเสียงในช่วงแรกพรรคเพื่อไทยนำมาตลอด แต่ในช่วงเดือน เม.ย.2566 เมื่อพรรคก้าวไกลชูคอนเซ็ปต์ “มีเรา ไม่มีลุง” คะแนนก็เทมาที่ก้าวไกล เนื่องจากประชาชนบางส่วนเลือกก้าวไกลเพราะเบื่อพรรคลุง แต่ถ้าถามว่ายุบพรรคก้าวไกลมีผลต่อการเติบโตของพรรคส้มที่จะเกิดใหม่หรือไม่ ต้องบอกว่าต้องรอดูสถานการณ์เท่านั้น
“ในเมื่อการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่มีลุงแล้ว คนที่เลือกก้าวไกลเพราะเบื่อลุงจะเอายังไง เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เลือกก้าวไกลเฉพาะ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วน ส.ส.เขต เขาจะเลือกพรรคที่ชอบ ถ้าเราดูคะแนนปาร์ตี้ลิสต์กับคะแนนเขตจะพบว่าการเลือกตั้งปี 66 พรรคก้าวไกลชนะได้เพราะคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แล้วถามว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคส้มที่จะเกิดขึ้นใหม่เติบโตได้จากอะไร ได้คำตอบว่าเติบโตจากคนรุ่นใหม่หรือนิวโหวตเตอร์ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้นิวโหวตเตอร์ก็ไม่ได้เลือกก้าวไกลทุกคน คือคนอายุ 18 ซึ่งเริ่มมีสิทธิเลือกตั้งไปจนถึงอายุ 35 โดยเฉลี่ยเลือกก้าวไกล 60% แต่พออายุเพิ่มขึ้นความคิดเขาจะเปลี่ยน มีความ conservative มากขึ้น ดังนั้น อย่าคิดว่าคนที่เลือกก้าวไกลจะอยู่กับก้าวไกลหรือพรรคส้มตลอดไป เพราะพออายุเพิ่มขึ้น พอประสบการณ์มากขึ้น ความคิดจะเปลี่ยน ดังนั้นต้องเทียบสัดส่วนระหว่างคะแนนที่ไหลเข้ากับคะแนนที่ไหลออกจากก้าวไกล ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าไหลออกน้อยกว่าไหลเข้า” ผศ.ดร.สุวิชา ระบุ
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สุวิชา ชี้ว่า ประเด็นที่จะทำให้ก้าวไกลมีปัญหาในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้นมี 4 ประเด็นด้วยกัน คือ
1.ในอนาคตข้างหน้าจำนวนเด็กเกิดใหม่จะน้อยลง ส่งผลให้คะแนนจากคนรุ่นใหม่มีน้อยลงด้วย
2.คนรุ่นใหม่ไม่ได้เลือกก้าวไกลทุกคน
3.เชื่อว่าก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีพรรคการเมืองใหม่ คนรุ่นใหม่ที่มีแนวทางเดียวกับพรรคก้าวไกลเกิดขึ้น แต่จะไม่สุดโต่งเหมือนก้าวไกล และที่สำคัญไม่แตะเรื่อง ม.112 ซึ่งพรรคใหม่นี้จะมาแย่งชิงคะแนนของก้าวไกล และต้องยอมรับว่าจริงๆ แล้วในพรรคก้าวไกลก็มี ส.ส.ที่ไม่ได้อยากแตะเรื่อง ม.112 อยู่ไม่น้อย บางส่วนเข้าสังกัดพรรคก้าวไกลเพราะชอบนโยบายอื่นๆ ขณะที่บางส่วนจำเป็นต้องสังกัดพรรคก้าวไกลเพราะอยากได้คะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ และมองว่าพรรคกำลังมีกระแส
4.คนที่เลือกก้าวไกลเพราะไม่เอาลุง และคนที่ผิดหวังจากนโยบายของพรรคก้าวไกล คนสองกลุ่มนี้อาจจะเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่น ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะมีประมาณ 10%
“การเมืองไทยขึ้นอยู่กับกระแส ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า 5-10 ปีได้ ต้องประเมิน 5 วัน 7 วันก่อนการเลือกตั้ง การเลือกครั้งที่ผ่านมาเชื่อว่าก้าวไกลพีกสุดแล้ว จากผลโพลเมื่อเดือน ธ.ค.2566 คาดการณ์ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าก้าวไกลหรือพรรคส้มที่ตั้งขึ้นใหม่จะได้คะแนนไม่เกิน 200 ที่นั่ง คืออาจจะชนะเพื่อไทย แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้จะได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งของสภา แต่ถ้าเสียงปริ่มๆ 250-255 ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะอะไรก็พลิกได้ตลอด โอกาสที่ก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลนั้นยากมาก ก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลได้มีทางเดียวคือต้องแลนด์สไลด์มหาศาล และได้ไม่ต่ำกว่า 280 ที่นั่ง เพราะไม่มีพรรคไหนจับกับก้าวไกล แต่โอกาสที่พรรคส้มจะสูญพันธุ์ก็ไม่มีเช่นกัน พรรคส้มยังอยู่ไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งคุณธนาธร พ้นจากการถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้วก็ไม่แน่ว่าคุณธนาธร จะมีเสน่ห์เหมือนเดิมหรือเปล่า เพราะตั้งแต่คุณพิธามาเป็นหัวหน้าพรรค เด็กรุ่นใหม่ก็ลืมคุณธนาธรไปเลย ถ้าคุณพิธา ถูกตัดสิทธิแล้วคุณธนาธรกลับมาแต่เกิดมีคนรุ่นใหม่ที่หน้าตาดี พูดจาดี ปราศรัยเก่ง ตั้งพรรคการเมืองแบบก้าวไกลขึ้นมาเป็นคู่แข่ง เด็กก็อาจจะเทคะแนนไปพรรคใหม่ก็ได้” ผศ.ดร.สุวิชา กล่าว
ผศ.ดร.สุวิชา ยังได้วิเคราะห์เส้นทางการเมืองของพรรคก้าวไกลไว้อย่างน่าสนใจ ว่า จะเห็นได้ว่าแต่ละพรรคมีวิธีหาเสียงที่แตกต่างกัน โดยการเติบโตของพรรคก้าวไกลในช่วงที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นได้เพราะการปั่นกระแส ดังนั้น พรรคก้าวไกลหรือพรรคส้มที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้นจะขับเคลื่อนต่อไปได้ต้องอาศัย ‘การปั่นกระแส’ อย่างต่อเนื่อง ถ้าหยุดปั่นกระแสเมื่อไหร่จบทันที หรือหากคนในพรรคไม่มี ‘แสง’ ให้ปั่นกระแสก็จบทันทีเหมือนกัน
จะเห็นได้ว่าตอนที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ นายธนาธรถูกตัดสิทธิทางการเมือง และมีการตั้งพรรคก้าวไกลขึ้นมาแทนนั้น จากผลโพลคะแนนนิยมของนายพิธาซึ่งเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอยู่ที่ 7% เท่านั้น โดยต้องใช้เวลาถึง 1 ปี คะแนนนิยมจึงขึ้นมาเป็น 11% และขึ้นมาเรื่อยๆ จนเดือน ธ.ค.2566 คะแนนนิยมของนายพิธาขึ้นมาอยู่ที่ 38-39% ดังนั้น หากพรรคก้าวไกลถูกยุบและนายพิธาถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ก็ยังไม่รู้ว่าคนที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคซึ่งตั้งขึ้นใหม่แทนก้าวไกลจะมีคะแนนนิยมมากน้อยแค่ไหน คะแนนจะพุ่งพรวดขึ้นมาเลย หรือจะค่อยๆ มีกระแสเพิ่มขึ้นทีละน้อยเหมือนนายพิธา
“ถ้า 44 ส.ส.ของพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ส.ส.ที่เหลือส่วนหนึ่งจะไหลไปอยู่พรรคอื่น และมีบางส่วนที่ยังอยู่กับพรรคส้มที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าพรรคส้มที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นจะมีใครขึ้นมาทดแทนแกนนำแถวหน้าที่ถูกตัดสิทธิไป คนเหล่านี้มีบทบาทเป็นอย่างไร สามารถปั่นกระแสหรือมีแสงในตัวให้ปั่นหรือไม่ ซึ่งส่งผลให้พรรคส้มอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงว่าหากไม่สามารถปั่นกระแสได้พรรคอาจจะไม่โตเหมือนเดิม คือต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นได้เพราะกระแสล้วนๆ ส.ส.ก้าวไกลที่ได้รับเลือกมาเพราะกระแส ดังนั้น ต้องปั่นกระแสอยู่เรื่อยๆ และจะปั่นกระแสได้ต้องมีแกนนำหรือหัวหน้าพรรคที่มีแสงพอที่จะปั่นกระแสเพื่อช่วยฉุดคะแนนนิยมของทั้งพรรคขึ้นมาได้ ถ้าคุณไอติม หรือคุณไหมยังอยู่ก็พอปั่นกระแสได้ ถ้าไม่อยู่จะหาใครมาแทน เมื่อพรรคก้าวไกลเกิดได้เพราะกระแส หยุดปั่นเมื่อไหร่ หรือปั่นไม่ขึ้นเมื่อไหร่ก็จบ หรือถ้ามีพรรคใหม่ที่ปั่นกระแสได้ดีกว่าก้าวไกล ก็จบเหมือนกัน” ผศ.ดร.สุวิชา กล่าว
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j