xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนประกันสังคมเสี่ยงเจ๊ง!? เงินหายจากระบบ 2 แสนล้าน แถมรัฐยังค้างสมทบอีก 8 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ขับเคลื่อนภาคแรงงานแจงเงินกองทุนประกันสังคมส่อเค้าเจ๊งใน 10 ปี เพราะเงินไหลออกมากกว่าไหลเข้าหากไม่รีบแก้ไขหันไปลงทุนภาค Real Sector ยืนยันกองทุนทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ระบุลงทุนในหุ้นทำเงินกองทุนวูบส่วนการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเริ่มเห็นเค้าลางความเสี่ยง อีกทั้งพบว่าเงินกองทุนที่มีที่มาจาก 3 ฝ่าย มีแค่นายจ้าง ลูกจ้างสมทบตามกำหนด ส่วนรัฐบาลยังไม่สมทบ เป็นเงินถึง 80,000 ล้านบาท แถมยังมีข่าวลือสะพัดว่า เงินกองทุน 2 แสนกว่าล้านบาทหายจากระบบกองทุนหลังรัฐประหารปี 2557 แต่ไร้คำตอบ!

ประเด็นปัญหาของคนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมมีความเป็นห่วงไม่ใช่แค่สิทธิการรักษาพยาบาลที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และมีข้อมูลออกมาอย่างต่อเนื่องว่าด้อยกว่าสิทธิบัตรทอง ทั้งที่พวกเขาต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ขณะที่สิทธิบัตรทองไม่ต้องจ่ายเงินสมทบแต่ประการใด ซึ่งเรื่องราวยังไม่ทันจางหายไป ก็มีเรื่องที่สมาชิกต้องตื่นตระหนกอีกครั้งว่าในอนาคตเงินกองทุนจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายและพวกเขาจะได้เงินบำนาญชราภาพตามที่คาดหวังไว้ในบั้นปลายหรือไม่?

ประเด็นนี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เคยตอบกระทู้ถามของนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องปัญหาการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2597 จริงหรือไม่ และมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลาอย่างไร ว่า เขาไม่ปฏิเสธว่าถ้าไม่มีการแก้ไข หลังปี 2597 แนวโน้มบัญชีขาดดุล ขาดทุนในทุกๆ ปี แต่วันนี้เรายังมั่นใจว่า กองทุนประกันสังคมยังไม่มีความเสี่ยง พร้อมเสนอแนวทางออกว่า หลังจากปี 2568 เป็นต้นไปจะต้องนำกองทุนประกันสังคมไปหาดอกผลให้ได้ไม่น้อยกว่า 5%



รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต
ด้าน รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ขับเคลื่อนภาคแรงงานอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องเสนอวิธีการเพิ่มเงินกองทุนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากองทุนล้มละลาย มักจะเสนอให้ขยายเพดานในการเก็บเงินสมทบ รวมไปถึงขยายอายุคนเกษียณที่ต้องจ่ายเบี้ยชราภาพจาก 55 ปีเป็น 60 ปี หรือ 65 ปี เพื่อทำให้กองทุนโตขึ้นนั้นเป็นเพียงมาตรการหนึ่งเท่านั้น แท้จริงแล้วรัฐบาลต้องหันมาดูบริบทสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้แรงงานเมื่อเกษียณ กองทุนต้องจ่ายเบี้ยชราภาพให้คนกลุ่มนี้

“คนเกิดน้อย ระบบการหมุนเวียนในเงินกองทุนก็น้อยตามไปด้วย คนหนุ่มสาวจะใช้เงินจากกองทุนน้อย แต่คนแก่ยิ่งมาก รักษาพยาบาล เบี้ยชราภาพก็ยิ่งจ่ายออกไปมาก คือเงินไหลออก มันมากกว่าเงินไหลเข้า”

อีกทั้งมีข่าวแพร่สะพัดว่าช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 มีรายจ่ายเกิดขึ้น และทำให้เงินกองทุนหายไปจากระบบ 2 แสนล้านบาท แต่ไม่มีใครพูดถึง และไม่มีคำตอบจนถึงทุกวันนี้

“เราทำเรื่องแรงงานมาตลอด ปีนั้นเงินกองทุนประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท มีข่าวลือสะพัดว่าเงินกองทุน 2 แสนล้านบาทมันหายจากระบบหลังรัฐประหาร แต่หายไปไหน ไม่มีใครรู้ ไม่มีร่องรอย จึงพูดกันได้แค่ว่าเป็นข่าวลือ ส่วนคนที่สงสัย หรือผู้รู้ก็เงียบ”

รศ.ดร.ณรงค์ บอกอีกว่า เมื่อเงินไหลเข้าน้อยกว่าเงินไหลออก และเงินอีก 2 แสนล้านบาท หายไปไหนก็ไม่มีคำตอบ เงินกองทุนก็ยิ่งลดลง ขณะเดียวกัน เงินกองทุนไปจมอยู่ในตลาดหุ้น มีการใช้เงินกองทุนไปพยุงหุ้น ไปปั่นหุ้นที่เครือข่ายผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง


ในความเป็นจริง การจะทำให้กองทุนโตขึ้นได้นั้นไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการจ่ายเงินสมทบของทั้ง 3 ฝ่ายเท่านั้น คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ซึ่งวันนี้ถ้าเข้าไปศึกษากันดีๆ จะรู้ว่า รัฐบาลยังไม่ได้จ่ายสบทบเข้ากองทุน รวมๆ แล้วประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท และรัฐบาลเองยังมีภาระจากการออกพันธบัตรรัฐบาลที่กำลังจะครบวาระต้องจ่ายคืนอีกเช่นกัน

สำหรับการหารายได้จากการไปลงทุนของกองทุนจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แนวทาง ประกอบด้วย

1.การลงทุนในตราสารหนี้ ทั้งพันธบัตร หุ้น ซึ่งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนั้น แม้ผลตอบแทนต่ำกว่าหุ้น แต่ในอดีตยังได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ แต่วันนี้เริ่มไม่แน่ใจเพราะรัฐบาลมีหนี้ทั้งกู้โดยตรง และหนี้พันธบัตรที่ออกมาจำนวนมาก

“ตอนนี้สิ่งที่ต้องตามดูคือพันธบัตรรัฐบาลที่ออกมาแล้ว กองทุน หรือคุณซื้อไว้จะไถ่ถอนได้มั้ยเมื่อครบกำหนด ต้องดูว่ารัฐบาลจะเอาเงินจากที่ไหน ต้องใช้วิธีออกพันธบัตรใหม่ เพื่อเอาเงินมาจ่ายพันธบัตรที่ครบอายุก็เหมือนที่สหรัฐฯ ทำอยู่ ผมว่าการไปลงทุนพวกนี้มันเริ่มมีความเสี่ยง ทั้งที่ในอดีตบอกว่าไม่เสี่ยง แต่มันกำลังจะเสี่ยงเพราะรัฐขาดเงิน และเมื่อใดที่รัฐมีปัญหาด้านการเงิน ความเสี่ยงก็จะตามมา”

ดังนั้น คนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ไม่ว่ามาตรา 33, 39 ต้องรู้ว่าเงินสมทบที่เข้ากองทุนสม่ำเสมอ คือในส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง แต่รัฐบาลยังค้างจ่ายประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท

2.การนำเงินกองทุน ไปสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด คือต้องไปลงใน Real Sector ไปซื้อที่ดินพร้อมอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ที่สร้างมูลค่าได้ด้วยตัวของสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มในทุกๆ ปี และนำสินทรัพย์นั้นไปให้เช่า ทั้งตัวอาคาร หรือจัดพื้นที่เป็นตลาด หรือแผงค้าให้แรงงานเช่าก็จะดีกว่า

“ผมศึกษาแล้ว พ.ร.บ.ประกันสังคมทุกฉบับ ไม่มีห้าม หรือไม่ให้ไปลงทุนในสินทรัพย์ ที่ดินและอาคาร แต่รัฐหรือผู้เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการ จะไปลงทุนแต่ตลาดหุ้น ใช้เงินเป็นแสนๆ ล้าน ถ้าตัดมาลงทุน Real Sector สัก 5-6 พันล้าน ผลตอนแทนจะยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพย์สินได้มากกว่า”

งานเสวนา กองทุนประกันสังคม เงินของใคร บริหารจัดการอย่างไร ผู้ประกันตนได้ประโยชน์ จัดโดย…สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เมื่อ 18 กรกฎาคม 2563
นอกจากนี้ ควรไปลงทุนจัดตั้งธนาคารแรงงาน เป็นสวัสดิการให้คนงานกู้ซื้อบ้าน หรือปล่อยกู้อื่นๆ ให้แรงงาน ดอกเบี้ยร้อยละ 10 แรงงานน่าจะผ่อนได้ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งธนาคารหรือมีสาขา เป็น Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขาแต่เป็นธนาคารที่ให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกอย่างเหมือนแบงก์พาณิชย์ที่เราคุ้นเคยกัน แต่เราเน้นลูกค้าไปที่แรงงานที่มีอยู่ประมาณ 24 ล้านคน ที่ผ่านมาแรงงานเหล่านี้ก็ต้องไปกู้ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ถ้ารัฐยอมให้ตั้งธนาคารแรงงาน คนเหล่านี้หันมากู้ธนาคารของพวกเขา กำไรที่เกิดขึ้นก็กลับเข้ากองทุนต่อไป

“รายได้จากดอกเบี้ยจะอยู่กับพวกเขา ไปเพิ่มรายได้ให้กองทุน แต่ถ้ารัฐไม่ยอมตั้งอาจเป็นเพราะลูกค้ากว่า 24 ล้านคนจะหายไปจากธนาคารของรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ใช่หรือไม่”




คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ย้ำว่า ถ้ารัฐไม่รีบดำเนินการแก้ไข เชื่อว่ากองทุนประกันสังคมอีกไม่เกิน 10 ปีมีโอกาสล้มละลายได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าแรงงานเมื่อครบอายุได้เบี้ยชราภาพแล้วก็อยากจะได้เงินดังกล่าวไปไว้ใช้จ่าย

ส่วนคนที่ยังส่งมาตรา 39 และยังไม่ได้รับเบี้ยชราภาพ เพราะต้องการใช้สิทธิรักษาพยาบาลอยู่นั้นต้องคิดทบทวนว่าจะยังคงส่งต่อในขณะที่สิทธิบัตรทองที่ถูกวิจารณ์ว่าดีกว่าสิทธิประกันสังคมนั้น จะตัดสินใจออกจากมาตรา 39 เพื่อมารับเบี้ยชราภาพหรือไม่ ถ้าคนกลุ่มนี้ออกมารับเบี้ยชราภาพ ยิ่งจะทำให้กองทุนประกันสังคมมีภาระต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ใช้แรงงานประกอบด้วย ผู้ประกันตนมาตรา 33 ประมาณ 12 ล้านคน มาตรา 39 ประมาณ 1 ล้านคน และมาตรา 40 ประมาณ 11 ล้านคน รวมประมาณ 24 ล้านคน ขณะที่ ณ สิ้นปี 2566 กองทุนประกันสังคมมีเงินทุนจำนวน 2.4 ล้านล้านบาท!!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น