‘ม.ล.กรกสิวัฒน์’ จี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดข้อมูลสัมปทานโครงการพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ชี้ 2 บ.พลังงานต่างชาติ และ 1 บ.พลังงานไทย ได้สัมปทานไปหมดแล้ว ตั้งแต่ปี 2514-2515 ดังนั้น แม้ขุดก๊าซ-น้ำมันขึ้นมาใช้คนไทยก็ไม่ได้ใช้พลังงานราคาถูก เหตุอำนาจในการกำหนดราคาเป็นของเอกชน เตือน หากให้ ‘กัมพูชา’ มีสิทธิในทรัพยากรพลังงานบริเวณเกาะกูด ก็เท่ากับให้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเกาะกูดไปด้วย เพราะกฎหมายสากลระบุว่า จะมีสิทธิในทรัพยากรก็ต่อเมื่อเป็นเจ้าของดินแดน แนะรัฐบาลไทยเจรจาเขมร แบ่งเขตแดนทางทะเลใหม่ ให้เอกชนรายเดิมยกเลิกสัมปทาน แลกโครงการเดินหน้าหลังประมูลรอบใหม่ เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์มากขึ้น
ประเด็นการเจรจาความร่วมมือในการนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นมาใช้ได้ถูกพูดถึงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ สมเด็จฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เดินทางมาเยี่ยม นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าความร่วมมือดังกล่าวอาจส่งผลให้ไทยเสียดินแดนเกาะกูด
เพราะหากย้อนไปในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ที่มีนายทักษิณ เป็นนายกฯ ไทยได้มีการทำ MOU 2544 กับกัมพูชาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ที่อ้างว่าทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชา โดยใน MOU ระบุว่าทั้งการแบ่งเขตแดน และแบ่งผลประโยชน์จะทำไปพร้อมๆ กัน ขณะที่มีกระแสวิจารณ์ว่าการทำ MOU อาจเป็นการเปิดช่องให้กัมพูชาอ้างกรรมสิทธิ์ในเกาะกูดของไทยไม่ต่างจากกรณีเขาพระวิหาร แต่การตกลงผลประโยชน์ครั้งนั้นยังไม่ทันจะสำเร็จ ในปี 2549 รัฐบาลทักษิณก็ถูกรัฐประหารไปเสียก่อน จากนั้นทั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคของนายทักษิณ และรัฐบาลจากการรัฐประหาร ต่างก็พยายามจะเจรจากับกัมพูชาในเรื่องดังกล่าวมาตลอด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ดังนั้น เมื่อทักษิณกลับมาเรืองอำนาจหลังจากที่เขากลับมารับโทษในยุคที่พรรคของตนเองเป็นรัฐบาล และได้รับการอภัยโทษ กระทั่งได้สิทธิพักโทษ กลับไปนั่งๆ นอนๆ อยู่บ้าน การพบกันระหว่างฮุน เซน กันทักษิณ แบบข้ามหัว นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จึงถูกมองว่าอาจจะมีการเจราตกลงผลประโยชน์เรื่องพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหรือไม่? เพราะที่ผ่านมาทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยพยายามขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาตลอด โดยชี้ว่าหากมีการนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้จะทำให้คนไทยได้ใช้ก๊าซ น้ำมัน รวมถึงไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง
ส่วนว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร คนไทยจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือในโครงการพลังงานบนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาจริงหรือไม่? และความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลให้ไทยเสียพื้นที่เกาะกูดไปอย่างที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงกันหรือเปล่า? คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้รู้ที่ติดตามเรื่องพลังงานมาตลอด
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ชี้ว่า ประเทศไทยคงได้ประโยชน์จากโครงการความร่วมมือดังกล่าวน้อยมาก เนื่องจากแหล่งพลังงานบริเวณที่อ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นรัฐบาลไทยได้ให้สัมปทานกับบริษัทพลังงานต่างๆ ไปหมดแล้วตั้งแต่ปี 2514-2515 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทพลังงานต่างชาติ ได้แก่ Chevron (เชฟรอน) BG (ต่อมา Shell ซื้อกิจการไป) รวมถึง PTT และที่สำคัญยังเป็นสัญญาสัมปทานแบบ Thailand 1 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ประโยชน์น้อยมาก หากขุดขึ้นมารัฐบาลได้แค่ค่าภาคหลวงและภาษีที่จ่ายให้รัฐ ซึ่งอัตราที่กำหนดไว้นั้นต่ำมาก
ต่างจากสัญญาสัมปทานของกัมพูชาซึ่งเน้นประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เช่น ของกัมพูชานั้นเมื่อให้สัมปทานไปแล้วหากเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้เป็นระยะเวลานาน สัญญาจะหมดอายุไปเอง แต่ของไทยสัญญาสัมปทานของบริษัทพลังงานต่างชาติในจุดที่อ้างกันว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้น ปัจจุบันยังอยู่ครบ และเป็นที่สังเกตว่าการลงทุนด้านพลังงานในอาเซียนนั้นไม่มีประเทศไหนใช้ ‘ระบบสัมปทาน’ เลย เพราะคำว่าสัมปทานนั้นรัฐต้อง ‘สละความเป็นเจ้าของ’ เขาเลยเลือกใช้ระบบอื่น เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต อย่างการลงทุนในธุรกิจพลังงานของเขมรในปัจจุบันใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ไม่ใช่ระบบสัมปทาน
“ต้องถามกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่าพื้นที่ดังกล่าวได้ให้สัมปทานไปหมดแล้วใช่ไหม และเป็นสัญญาสัมปทาน Thailand 1 ด้วยใช่หรือเปล่า ถ้าใช่ แหล่งพลังงานตรงนี้ไม่ใช่ของรัฐบาลไทยแล้ว เมื่อให้สัมปทานไปแล้วเราไม่ใช่เจ้าของทรัพยากร จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่รัฐบาลไทยจะต้องไปเจรจาความร่วมมือกับกัมพูชาเพื่อนำพลังงานขึ้นมาใช้เพราะคนไทยไม่ได้ประโยชน์ การที่บอกว่าจะเป็นผลงานของรัฐบาลเพราะหากสามารถนำพลังงานในพื้นที่ซึ่งอ้างกันว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาขึ้นมาใช้จะช่วยให้คนไทยได้ใช้พลังงานราคาถูก จะทำให้ค่าไฟถูกลง มันไม่ใช่ ราคาพลังงานจะถูกลงได้ยังไงในเมื่อมันเป็นของเอกชน บริษัทพลังงานเป็นคนกำหนดราคา ไม่ใช่รัฐบาล เท่าที่ทราบบริเวณนั้นปริมาณน้ำมันจะมีมากกกว่าก๊าซธรรมชาติ เมื่อขุดน้ำมันขึ้นมาได้เขาอาจขายให้บริษัทในเครือในราคาที่ไม่แพง เพื่อที่จะได้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำ จากนั้นบริษัทในเครือก็นำน้ำมันไปขายต่อในราคาตลาดโลก ถ้าเราจะซื้อก็ต้องซื้อในราคาตลาดโลก จึงไม่เข้าใจว่าจะดีใจอะไรกัน?” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
ส่วนที่หลายฝ่ายข้องใจว่าหากไทยไม่ได้ประโยชน์ เหตุใดจึงมีความพยายามผลักดันเรื่องนี้นั้น ‘ม.ล.กรกสิวัฒน์’ กล่าวว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสข่าวเล่าลือกันว่าเคยมีอีเมลการพูดคุยระหว่างกลุ่มทุนน้ำมันเกี่ยวกับเรื่องนี้หลุดออกมาว่าถ้าขุดเฉพาะในแถบทะเลกัมพูชามันไม่คุ้มเพราะทรัพยากรพลังงานมีน้อย ไม่ควรขุด ต้องขุดในจุดที่ใกล้ไทยถึงจะคุ้ม ต้องขุดในพื้นที่ที่อ้างว่าทับซ้อน จึงอาจเป็นที่มาของความพยายามของกัมพูชาในการผลักดันให้มีการเจรจาความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชาในการนำทรัพยากรพลังงานที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ เพราะไม่เช่นนั้นโครงการพลังงานในฝั่งกัมพูชาจะไม่คุ้มค่าเลยเพราะปิโตรเลียมอยู่ฝั่งไทย และเชื่อว่าการขีดเส้นแบ่งทางทะเลแบบนี้ทางกัมพูชาน่าจะมีข้อมูลเรื่องปริมาณปิโตรเลียมอยู่แล้ว เพราะจากแผนที่ใต้ดินเห็นภาพชัดเจนว่าปิโตรเลียมอยู่ในฝั่งไทยทั้งหมด
ขณะที่ประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ‘ม.ล.กรกสิวัฒน์’ ชี้ว่า ถ้าขีดเส้นแบ่งเขตทางทะเลต้องขีดเส้นแบบไทยซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายสากล คือขีดเส้นแบ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง แต่การแบ่งเขตแดนที่กัมพูชาทำนั้นกินพื้นที่มาทางเกาะกูดซึ่งไม่ถูกต้อง การไปยอมรับโดยจัดทำ MOU44 ในสมัยรัฐบาลของอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น เป็นหลักการที่ผิดหลักกฎหมายสากล เพราะการจะแบ่งสรรทรัพยากรระหว่างประเทศนั้นแต่ละประเทศต้องมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นแหล่งทรัพยากรเสียก่อนจึงจะมีสิทธิในตัวทรัพยากร
“การที่จะให้กัมพูชามาแบ่งทรัพยากรพลังงานที่อยู่บริเวณเกาะกูดก็แปลว่ารัฐบาลได้ให้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเกาะกูดแก่กัมพูชาด้วยใช่หรือเปล่า คุณต้องเข้าใจหลักกฎหมายทรัพยากรก่อน คนที่บอกว่าแบ่งแค่ทรัพยากร ไม่ได้แบ่งดินแดน คุณเข้าใจหลักกฎหมายหรือเปล่า? หลักกฎหมายสากลระบุว่าคุณต้องเป็นเจ้าของดินแดนคุณถึงมีสิทธิในทรัพยากร ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของดินแดน คุณก็ไม่มีสิทธิในทรัพยากร แต่บางคนบอกว่าจะเอาแค่เรื่องทรัพยากร เรื่องดินแดนไม่ต้องพูดถึง แต่ถ้าแบ่งทรัพยากรในพื้นที่ซึ่งอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนให้กัมพูชา ต่อไปกัมพูชาจะต่อสู้เรียกร้องตามหลักกฎหมายสากลว่าไทยได้ให้สิทธิในทรัพยากรพลังงานบริเวณเกาะกูดแก่เขาแล้วก็แปลว่าไทยยอมรับว่ากัมพูชาเป็นเจ้าของดินแดนเกาะกูดด้วย ดังนั้นเมื่อไหร่ที่รัฐบาลไทยให้สิทธิในทรัพยากรพลังงานแก่กัมพูชานั่นหมายถึงสิทธิในดินแดนด้วยหรือไม่ คนไทยจะยอมหรือ?” ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า การผลักดันเรื่องนี้ไม่ได้มีประชาชนอยู่ในสมการ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชน จะขุดทรัพยากรพลังงานในพื้นที่ซึ่งอ้างว่าทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นมาหรือไม่ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นต้องตั้งคำถามว่าพรรคการเมืองขับเคลื่อนด้วยอะไร ผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ของประชาชน หรือผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ถ้าขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ในเมื่อเห็นว่าให้สัมปทานไปนานมากแล้ว แต่ดำเนินการไม่ได้เพราะการขีดเส้นแบ่งดินแดนทางทะเลของกัมพูชาไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล รัฐบาลไทยต้องต่อสู้ตามหลักกฎหมายสากล ให้กัมพูชาขีดเส้นแบ่งดินแดนใหม่ ให้ทับซ้อนน้อยที่สุด
ขณะเดียวกัน ในเมื่อให้สัมปทานไปนานแล้วแต่เอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐสามารถต่อรองโดยให้เอกชนรายเดิมยกเลิกประมูลไปก่อน แล้วเปิดประมูลใหม่เพื่อให้สามารถกำหนดรายละเอียดในข้อตกลงใหม่เพื่อให้รัฐได้ผลตอบแทนมากขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่าจะให้สิทธิแก่ผู้ที่ได้สัมปทานรายเดิมก่อน แต่ถ้าเอกชนรายเดิมไม่ยอมยกเลิกประมูล รัฐก็ปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่ต้องทำอะไร จะไปเร่งเจรจาความร่วมมือให้สุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนทำไม
“ถามว่าให้ขีดเส้นแบ่งดินแดนทางทะเลใหม่ให้เป็นไปตามหลักสากล ทางกัมพูชาเอาไหม เชื่อว่ากัมพูชาไม่เอาอยู่แล้ว เพราะขีดตามหลักสากลเขาไม่ได้บ่อน้ำมัน เขาอยากจะขีดเข้ามาทางเกาะกูด แต่หากขีดเข้ามาหาเกาะกูดคนไทยไม่ควรยอมรับเพราะมันไม่ถูกกฎหมาย ต้องถามดังๆ ว่าเรื่องนี้มีนักการเมืองที่ได้ผลประโยชน์จากกลุ่มทุนหรือเปล่า แล้วที่จะแบ่งแหล่งพลังงานกับเขมรเนี่ยมีใครเคยพูดไหมว่าให้สัมปทานกับเอกชนไปหมดแล้ว เคยพูดไหมว่าสัญญาสัมปทานเป็นแบบ Thailand 1 ซึ่งรัฐได้ประโยชน์น้อยมาก รัฐสละสิทธิในทรัพยากรให้เขาไปโดยเราได้แค่เศษเงินคือภาษี การอ้างว่าเป็นผลประโยชน์ของชาติโดยให้รัฐคุยกับรัฐมันอาจจะง่ายกว่า ทั้งที่คนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการผลักดันเรื่องนี้จริงๆ แล้วคือเจ้าของสัมปทาน ไม่ใช่ประชาชนคนไทย” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j