xs
xsm
sm
md
lg

จับโกหก “ตะวัน” เรื่องขบวนเสด็จ ผนึก “บุ้ง” เรียกความสนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตะวัน ทะลุวัง ป่วนขบวนเสด็จ เจอกระแสตีกลับ ปลุกกระแสรักสถาบันคึก ก้าวไกลแบ่งรับแบ่งสู้ จนตะวันพลิกลิ้นไม่ได้ตั้งใจป่วน เบี่ยงเรื่องเป็นขับรถเร็ว ขอโทษสังคม แต่ทุกอย่างชัด ถูกจับส่งไปทัณฑสถานหญิงกลางที่เดียวกับบุ้ง ทะลุวัง ช่วยเพิ่มความสนใจ หลังกระแสบุ้งปลุกไม่ขึ้น ทั้งอดอาหาร ทำพินัยกรรม มอบร่าง ปฏิเสธการรักษายื้อชีวิต

การกระทำของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ สมาชิกกลุ่มทะลุวังกับเหตุการณ์เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ก่อให้เกิดกระแสที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยอมรับไม่ได้กับการกระทำดังกล่าว จนมีการนัดรวมตัวแสดงพลังของภาคประชาชนในหลายพื้นที่

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเย็นของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18.20 น. ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจถวายความปลอดภัยภารกิจ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ตลอดภารกิจมีการปล่อยรถประชาชนร่วมในเส้นทางนั้น มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ยี่ห้อเอ็มจี รุ่นนิวเอ็มจี 3 สีขาว ทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร มีชายไม่ทราบชื่อเป็นผู้ขับ และหญิงนั่งด้านข้างคนขับ ทราบชื่อภายหลังคือ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี ผู้ต้องหาคดี ม.112

มีพฤติการณ์คือบีบแตรรถยนต์ลากยาวระหว่างขบวนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน และขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวนเสด็จ

แต่เมื่อมาถึงทางลงด่วนพหลโยธิน 1 (ทางลงด่วนอนุสาวรีย์ชัย) เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นไม่ให้รถยนต์คันดังกล่าวลงไปร่วมกับขบวนเสด็จได้


Live สดชัดเจตนาตะวัน

ช่วงเวลาดังกล่าว ตะวัน Live สดผ่าน Facebook Tawan Tantawan 4 กุมภาพันธ์ 2567 ใช้คำว่าติดขบวน พร้อมทั้งมีการตั้งคำถามและโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดดังกล่าว จนกลายเป็นที่พูดถึงกันในสังคมเป็นวงกว้าง

หลัง Live ดังกล่าวผ่านไปราว 2 วัน จึงมีการหยิบยกเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาและเชื่อมโยงไปถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.อีกครั้ง ซึ่งเคยใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัว น.ส.ทานตะวัน ออกมาจากคดีมาตรา 112 เมื่อปี 2565 แต่ต้นปี 2566 ตะวันได้ขอถอนประกันด้วยตัวเอง

จนวีรกรรมของตะวัน ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันในสภาผู้แทนราษฎร 14 กุมภาพันธ์ 2567 อันเนื่องมาจากมีเหตุการณ์ต่อเนื่องในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ตะวัน และพวกไปทำกิจกรรมรูปแบบเดิมที่สอบถามความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จ ที่ลานน้ำพุ สยามพารากอน จนเกิดการปะทะกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดย นายอานนท์ กลิ่นแก้ว เข้ามาปะทะ เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

รวมพลังแสดงความไม่เห็นด้วย

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์ในขณะนี้ ในหัวข้อ การแสดงความรักไม่มีใครว่าและมีแต่คนชื่นชม ไว้ดังนี้

ในหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นเหตุการณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มทะลุวังที่ไปป่วนขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ จนทำให้ฝ่ายการเมืองที่สนับสนุนกลุ่มทะลุวังนั่งกันไม่ติด

วันต่อมามีการออกมาปะทะของกลุ่ม ศปปส. กับกลุ่มทะลุงวัง ที่ลานหน้าห้างสยามพารากอน จนสถานการณ์พลิก กลายเป็นฝ่ายสนับสนุนกลุ่มทะลุงวังกลับมาได้เปรียบจากการเปลี่ยนทิศทางข่าว

อีก 2 วันต่อมาเราได้เห็นพลังของศิลปะและการรวมตัวที่แสดงออกถึงความรักและเคารพต่อกรมสมเด็จพระเทพฯ (ซึ่งแตกต่างกับการแสดงออกก่อนหน้านี้ชัดเจน) ทำให้กระแสพลิกเป็นอีกทางได้เช่นกัน

สุดท้ายอยากให้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นตัวเปรียบเทียบและให้สังคมได้เรียนรู้ว่า ในฐานะประชาชนเราควรดำเนินการอย่างไร

เหตุการณ์ 2-3 วันที่ผ่านมามันชัดเจนมาก วันที่มีการปะทะกัน influencer ดังๆ ในสังคมหลายคนไม่กล้าแสดงออก แต่พอเปลี่ยนเป็นการขึ้นภาพเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของกลุ่มทะลุวัง

เรากลับเห็นคนดังศิลปินดาราออกมาแสดงออกกันเต็มไปหมด เรื่องนี้มันชัดอยู่แล้วว่า การแสดงออกในทางที่ถูกต้องจะได้รับการตอบรับ


ส.ส.ก้าวไกลแบ่งรับแบ่งสู้

กระแสที่เกิดขึ้นตีกลับไปที่ตัวของตะวัน และพรรคก้าวไกล ที่ถูกมองว่าให้การสนับสนุนในแนวทางเดียวกันมา ส.ส.ในพรรคแสดงออกท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ จะตำหนิการกระทำดังกล่าวก็ทำแบบไม่เต็มปากเต็มคำ

ขณะเดียวกัน ตะวันยังเคลื่อนไหวทำโพล “คุณเดือดร้อนหรือไม่กับขบวนเสด็จ” ที่สยามพารากอนจนเกิดการปะทะกับกลุ่ม คปปส. เดิมตะวัน เตรียมที่จะแถลงถึงเหตุการณ์ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ แต่มีการปะทะกันก่อน ซึ่งตะวันโพสต์ชี้แจงในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า ความจริง คือ

1.วันนั้นเราเพิ่งกลับจากงานศพ และมีธุระจะไปทำแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

2.เราไม่ได้รู้ว่าจะมีขบวนเสด็จ และไม่ได้มีความตั้งใจจะไปป่วน รวมถึงไม่ได้ขวางขบวนตามที่เป็นข่าว เพราะหากใครดูคลิปจริงๆ ก็จะรู้ว่าเราไม่ได้ขวางขบวนหรือปาดหน้าขบวนตามที่สื่อหลายช่องบอก แต่เพียงขับรถเร็วและไม่ระมัดระวังจริงๆ เพียงเพื่อจะรีบไปให้ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตามที่เราจะไปทำธุระ

3.เราทบทวนเหตุการณ์นั้น และคิดได้ว่าการขับรถเร็วและไม่ระมัดระวังแบบนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ จึงได้ขอโทษในส่วนนี้ไป และจะนำไปปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

4.เรายังคงยืนยันในสิทธิและเสรีภาพในการตั้งคำถามแบบที่เราได้ถามไปตามไลฟ์โดยที่เราเรียกตำรวจว่าพี่ และตัวเราไม่ได้พูดคำหยาบใดๆ กับตำรวจ มีเพียงการตั้งคำถามเท่านั้น

นี่คือความจริงทุกตัวอักษร จะเชื่อหรือไม่เป็นสิทธิของทุกคน ที่มีคนบอกว่าเราขวางหรือขับรถตามขบวนเสด็จไม่เป็นความจริง


โกหกรึเปล่า?

คำชี้แจงดังกล่าวเป็นการเบี่ยงจากเรื่องการกระทำที่ไม่เหมาะสมเรื่องขบวนเสด็จมาเป็นเรื่องขับรถเร็ว พร้อมขอโทษ กลายเป็นคนดีขึ้นมาทันที ถ้าใครได้ย้อนไปฟังการสนทนาระหว่างตะวัน กับตำรวจเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ ก็จะทราบดีว่าตะวันหมายถึงอะไร

ไม่เพียงเท่านั้น ตะวันยังโพสต์อีกครั้งในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า นำคลิปหลักฐานมาให้ชมค่ะ ว่ามีการปิดถนนจริงๆ เราเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องขบวนเสด็จไปแล้ว แต่กลับไม่มีผู้ใหญ่คนไหนตอบ ซ้ำยังยัดคดี ม.112 และถอนประกันจนเข้าคุก นี่คือตำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับเรา

วันนั้นเรากำลังขับรถไปทำธุระส่วนตัว เจอขบวนเสด็จพอดีและโดนปิดถนนเหมือนเดิม เราไม่ได้รอและขับออกไปเลย เพราะทุกคนรีบเหมือนกัน เราขับไปตามทางที่เราจะไปทำธุระ ไม่ได้จะเร่งเพื่อไปหาขบวน และมันมีแต่คำถามในหัวว่า “ทำไมถึงมีรถคันไหนไปได้สะดวกกว่ารถของประชาชน?” ครั้งนี้ผู้ใหญ่ทั้งหลายในเมืองพุทธนี้จะให้คำตอบเด็กอย่างเราแบบไหนคะ?

แหล่งข่าวกล่าวว่า โพสต์นี้ชัดเจนว่าตะวันทราบว่ามีขบวนเสด็จ แต่ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ กลับโพสต์ว่าเราไม่ได้รู้ว่าจะมีขบวนเสด็จ และไม่ได้มีความตั้งใจจะไปป่วน เราไม่อยากใช้คำว่าโกหก แต่ถ้าคุณตามข้อมูล 4, 7 และ 11 ก.พ.จะเห็นชัดว่า สิ่งที่ตะวันทำและโพสต์นั้นย้อนแย้งกับความเป็นจริง


สมทบ “บุ้ง” เพิ่มการติดตาม

จากนั้นตะวันถูกจับกุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกับเขียนจดหมายก่อนถูกส่งไปทัณฑสถานหญิงกลาง

นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้หนู แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไป การก้าวขาเข้าเรือนจำ เราไม่เหลืออะไร นอกจากร่างกายที่มีไว้ต่อสู้ หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลือสู้ต่อไป หนู และแฟรงค์จะอดอาหารและน้ำ ประท้วง เพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง โดยจะไม่ยื่นประกันตัว

1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2.ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก

3.ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

ตะวัน และแฟรงค์ถูกดำเนินคดีและส่งเข้าเรือนจำ ตะวันถูกส่งไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางที่เดียวกับบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ที่ถูกถอนประกันเมื่อ 26 มกราคม 2567 โดยที่บุ้งเริ่มอดอาหารตั้งแต่ 27 มกราคม 2567 เป็นต้นมา

ภายใต้วีรกรรมของตะวัน ทำให้เรื่องบ้านคุณยายของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ถูกขุดขึ้นมา หลังจากที่โพสต์ใน IG ตั้งแต่ปี 2558 เงียบไปทันที ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเพิ่มสายตาของคนให้หันไปมองบุ้ง ทะลุวัง มากขึ้น หลังจากที่เจ้าตัวอดอาหารประท้วงมามากกว่า 20 วัน แต่คนให้ความสนใจเรื่องของเธอน้อย จนเครือข่ายโพสต์ตัดพ้อว่าคนให้ความสนใจน้อย สุดท้ายก็ลบโพสต์ดังกล่าวออกไป

การได้ตะวันเพิ่มเข้าไป พร้อมกับประกาศอดอาหารเช่นเดียวกับบุ้ง ย่อมช่วยดึงดูดให้คนหันมามองการเคลื่อนไหวของบุ้ง และตะวันมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้บุ้งเคยทำเรื่องมอบมรดกให้หยก และพี่สาวหากเธอเสียชีวิต แต่กระแสก็เงียบ

จากนั้น 8 กุมภาพันธ์ 2567 ได้ทำหนังสือขอบริจาคร่างกายให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขเพื่อยื้อชีวิต

เหลือทะลุวังที่ยังเคลื่อนไหว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากที่แกนนำม็อบที่เคยเดินเคียงคู่กับพรรคก้าวไกลมาอย่างเช่น เยาวชนปลดแอก คณะราษฎร์ ราษฎร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แกนนำบางกลุ่มถูกดำเนินคดี บางส่วนหนีออกไปต่างประเทศ ยังมีกลุ่มทะลุวังที่ยังหลงเหลือและขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับการประกันตัวแต่ก็ทำผิดซ้ำจนถูกถอนประกัน

กลุ่มนี้ยังเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แม้ทะลุวังจะเป็นกลุ่มหลังๆ ที่ความใกล้ชิดกับพรรคก้าวไกลน้อยกว่ากลุ่มแรกๆ แต่บางกิจกรรมของทะลุวัง ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกขึ้นมาร่วมพิจารณาในคำวินิจฉัยเมื่อ 31 มกราคม 2567

ที่พบว่านายพิธา และพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกมาตรา 112 โดยการเข้าร่วมการชุมนุมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นนายประกันผู้ต้องหามาตรา 112

หนึ่งในนั้นคือนายพิธา และเคยแสดงความคิดเห็นทั้งให้แก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2566 จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะเทศบาลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตะวัน และแบมขึ้นปราศรัยเชิญชวนนายพิธา และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ร่วมกิจกรรม "คุณคิดว่ามาตรา 112 ควรยกเลิกหรือแก้ไข" ซึ่งนายพิธา ติดสติกเกอร์สีแดงติดลงในช่องยกเลิก มาตรา 112

แต่ด้วยแนวทางการทำงานของพรรคก้าวไกลที่อิงกับกระแสบน Social Media เป็นหลัก เรื่องใดที่กิจกรรมของทะลุวังเกิดกระแสตีกลับ ก้าวไกลมักจะถอยตัวเองออกจากกลุ่มทะลุวังในหลายครั้ง เช่น กรณีหยกปีนรั้วโรงเรียน หรือบุ้งแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวที่พรรคเพื่อไทย

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น