xs
xsm
sm
md
lg

ม.112 ฉายภาพก้าวไกลเชื่อมทะลุวัง “บุ้ง” อดอาหารแค่ Content

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญชัดก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ยกเลิกมาตรา 112 ยกตัวอย่างพิธา ร่วมงานทะลุวังก่อนเลือกตั้ง ติดสติกเกอร์สีแดงติดลงในช่องยกเลิกมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ศาลถอนประกันบุ้ง ทะลุวัง เจ้าตัวประกาศอดอาหารประท้วง คนทำม็อบชี้แค่สร้าง Content ต่อรอง เผยบุ้งเคยทำแบบนี้มาแล้วปี 65 มีผลต่อเงินในบัญชี

เรื่องราวทางการเมืองเข้มข้นตั้งแต่เดือนแรกของปี 2567 และมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ความร้อนแรงไปถึงขั้นยุบพรรคได้ ทุกสายตาโฟกัสไปที่พรรคก้าวไกล พรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 แต่ต้องกลับเป็นฝ่ายค้าน ที่ถูกร้องเรียนในหลากหลายเรื่อง

24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่สำนักงาน กกต. ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) เนื่องจากในวันที่ 4 เม.ย.66 ซึ่งเป็นวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต.แม้นายพิธา จะเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น

แต่ในวันดังกล่าว บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ หลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้บอกเลิกสัญญาและยึดคลื่นความถี่คืน นับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.2550

ถอนประกันบุ้ง ทะลุวัง

26 มกราคม 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่งกรณีตำรวจ สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องขอศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันตัว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง จำเลยในคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565

หลังพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องโดยอ้างเหตุที่ทั้งสองเข้าร่วมชุมนุม และพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ถอดเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ส.ว. ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ และขณะเดียวกัน ศาลยังนัดฟังคำวินิจฉัยคดีละเมิดอำนาจศาล ของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม กรณีกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล

ผลคือศาลมีคำสั่งถอนประกันและให้จำคุกเพิ่มอีก 1 เดือน คดีละเมิดอำนาจศาล และถูกส่งตัวไปทัณฑสถานหญิงกลาง


ก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง วินิจฉัยว่า การกระทําของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

และมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล และนายพิธา เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 74

ม.112 ก้าวไกล-ทะลุวัง

ถือว่าเป็น 3 เรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายของเดือนมกราคม 2567 ทั้งนี้ 2 เรื่องหลังที่มีความเกี่ยวพันกัน เพราะเรื่องของบุ้ง ทะลุวัง กับคำวินิฉัยต่อพรรคก้าวไกลเมื่อ 31 มกราคม เป็นเรื่องมาตรา 112 เหมือนกัน เพียงแต่ต่างเงื่อนไขกันไป

โดยเฉพาะเรื่องของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผู้ร้องต่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลเรื่องการใช้มาตรา 112 ในการหาเสียง

"การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น"

ส่งผลให้มีผู้ร้องต่อ กกต.เพื่อขอให้มีการยุบพรรคก้าวไกล กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคก้าวไกลต้องหาทางรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางของพรรคก้าวไกลสอดรับกับมวลชนที่สนับสนุนอยู่ภายนอกที่เคลื่อนไหวในเรื่องมาตรา 112 เช่นเดียวกัน เมื่อมวลชนด้านนอกถูกจับกุม ถูกดำเนินคดี ส.ส.ของพรรคก้าวไกลมักให้ความช่วยเหลือด้วยการเป็นนายประกันให้ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวถึงข้อมูลนี้ไว้เช่นกัน

“นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมเป็นนายประกันเกี่ยวกับการเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 ได้แก่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายชัยธวัช ตุลาธน นายรังสิมันต์ โรม น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา นายทองแดง เบ็ญจะปัก นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล นายธีรัจชัย พันธุมาศ ในขณะที่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคผู้ถูกร้องที่ 2”

อีกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งในอดีตและปัจจุบัน และสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายรายได้แก่ นายปิยรัฐ จงเทพ จำนวน 2 คดี น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว จำนวน 2 คดี น.ส.รักชนก ศรีนอก เป็นต้น

ก้าวไกลสัมพันธ์ทะลุวัง

สำหรับคนที่ติดตามเรื่องการเมืองย่อมพอจะเห็นถึงสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคก้าวไกลกับบรรดามวลชนที่สนับสนุนแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 หนึ่งในนั้นคือกลุ่มทะลุวัง ที่แม้จะไม่แนบแน่นเท่ากับแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มแรกๆ อย่างกลุ่มเยาวชนปลดแอก ราษฎร และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่แกนนำของพรรคยังให้ความช่วยเหลือกลุ่มทะลุวังเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อ 17 พฤษภาคม 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเดินทางมายื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 7 น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน อดีตแกนนำกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ไม่เพียงเท่านั้นภายใต้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังระบุเหตุการณ์ที่พรรคก้าวไกลเคยร่วมกิจกรรมกับกลุ่มทะลุวังไว้ดังนี้
พฤติการณ์ที่แสดงออกหรือเข้าร่วมการชุมนุมที่มีการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นหลักประกันผู้ต้องหาหรือจำเลย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเอง ย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2566 จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะเทศบาลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดย น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ น.ส.อรวรรณ ภู่พงศ์ ขึ้นปราศรัยเชิญชวนผู้ถูกร้องที่ 1 รวมถึงว่าที่ผู้สมัครผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกิจกรรม "คุณคิดว่ามาตรา 112 ควรยกเลิกหรือแก้ไข" ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 นำสติกเกอร์สีแดงติดลงในช่องยกเลิกมาตรา 112


บุ้งอดข้าวประท้วง (อีกรอบ)

บุ้ง ถูกถอนประกันถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อ 26 มกราคม 2567 จากนั้นเริ่มเริ่มอดอาหารและน้ำประท้วงตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 ม.ค.2567 เวลา 18.00 น. พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก พร้อมกล่าวว่า ถ้ากูตายขอให้เอาศพไปแขวนไว้หน้าศาล

หนึ่งในอยู่ในแวดวงการชุมนุมกล่าวว่า เหมือนเป็นสูตรสำเร็จของผู้ชุมนุมในยุคนี้ แกนนำแต่ละกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องเรื่องมาตรา 112 เมื่อถูกส่งตัวเข้าเรือนจำจะใช้วิธีการอดอาหาร บางกรณีมีการตั้งเงื่อนไขแลกเปลี่ยน เป็นมาตั้งแต่ยุคเพนกวิน-รุ้งปนัสยา เรื่อยมา ทะลุวังก็เคยใช้สูตรนี้มาก่อน ทั้งแบม ตะวัน หรือแม้แต่บุ้ง และใบปอก็เคยอดอาหารมาแล้วเมื่อ 2 มิถุนายน 2565

เราไม่ได้ดูถูกความตั้งใจของคนประท้วง แต่ที่ผ่านมามีการใช้สูตรสำเร็จแทบทุกครั้ง อดอาหารไปได้ระยะหนึ่ง ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งยอมทำตามเงื่อนไข เช่น ได้ประกันตัวก็เลิกอดอาหาร แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่ยินยอม บรรดาเพื่อนๆ ของคนที่ประท้วงเห็นว่าอาการเพื่อนเริ่มแย่ ก็จะช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้กลับมากินอาหาร

มันคือ Content

มันก็คือ Content รูปแบบหนึ่งเพื่อดึงจุดสนใจของคนในสังคมให้หันมาดูข้อเรียกร้องของพวกเขา เท่าที่เราเห็นหนักๆ คือมีการส่งตัวเข้าโรงพยาบาล จากนั้นก็ได้รับการประกันตัว กลับมากินอาหาร ทุกอย่างทำกันเป็นระบบ ใช้ Social Media ปลุกกระแสและรายงานไปเรื่อยๆ ให้เห็นถึงความเจ็บปวด ยากลำบาก ใช้เครือข่ายผลัดกันโยนไปมาเพื่อเพิ่มจำนวนผู้รับรู้

มีทีมทนายความคอยยื่นเรื่องขอประกัน มีเงินกองทุนประกันตัวสู้คดี มี ส.ส.ก้าวไกลพร้อมใช้ตำแหน่งประกัน แต่ระยะหลังไม่มี มีสื่อทั้งสื่อหลักและสื่อรองพร้อมขยายการรับรู้ มีมวลชนภายนอกพร้อมองค์กรสิทธิฯ บางกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ สร้างกิจกรรมกดดัน และเรียกร้องให้ทำหรือไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

แต่ละกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มักจะแจ้งเลขที่บัญชีเพื่อให้คนที่เห็นด้วยโอนเงินเข้าไปสนับสนุน ดังนั้น การมีกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ ย่อมมีผลต่อการรับบริจาค รวมทั้งยังสามารถนำเอาไปใช้ในการขอทุนจากต่างประเทศได้อีกด้วย

อย่าลืมว่าตอนนี้มวลชนที่สนับสนุนแนวทางของพรรคก้าวไกล เหลือที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ไม่มากนักเนื่องจากแกนนำหลายคนมีข้อห้ามเคลื่อนไหว อาจเหลือเพียงกลุ่มทะลุวังที่ยังมีวีรกรรมที่ให้ต้องพูดถึงอยู่เรื่อยมา

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น