xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อยิ่งยุบก้าวไกล พรรคส้มยิ่งโต! หวั่น “ทักษิณ” กลับมาเหิม หากไร้คู่แข่งคานอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.เจษฎ์” เชื่อยุบก้าวไกลทำคะแนนนิยมพุ่ง ส่งให้พรรคยิ่งเติบโต แม้ 44 ส.ส.ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ก็หาตัวตายตัวแทนได้ หวั่นหากพรรคส้มล่มสลาย อาจเปิดทางให้ “เพื่อไทย” ยิ่งเหิม “ทักษิณ” กลับมาปู้ยี่ปู้ยำประเทศ ชี้ ก.ก.ยังสามารถเสนอแก้มาตรา 112 ได้ หากไม่ทำสิ่งที่ศาลห้าม เปรียบ ม.112 เหมือน “ไฟแดง” ที่ตั้งอยู่เฉยๆ ถ้าไม่ขับรถฝ่าก็ไม่ถูกจับ พร้อมทั้งเตือนก้าวไกล แนวคิด “ทำลายเพื่อสร้างใหม่” จะพาประเทศไทยย่อยยับ



หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งวินิจฉัยว่านโยบายหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง พร้อมทั้งมีคำสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว แน่นอนว่าอาฟเตอร์ช็อกที่ตามมาคือการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล รวมถึงมีผู้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ยื่นร่างแก้ไขมาตรา 112 รวม 44 คน ฐานผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งมีโทษถึงขั้นถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับตาว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อความเป็นไปของพรรคก้าวไกลอย่างไร? รวมถึงจะส่งผลบวกหรือลบต่อการเมืองไทยด้วย?

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดกับพรรคก้าวไกล ว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกรณีหาเสียงเรื่องนโยบายแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกลว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง พร้อมทั้งสั่งหยุดการกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นคุณกับพรรคก้าวไกลอย่างมาก เนื่องจากศาลได้แยกการกระทำออกเป็นสองช่วง คือสิ่งที่ก้าวไกลทำไปแล้วและอาจจะทำในอนาคต โดยบอกว่าให้พรรคก้าวไกลหยุดสิ่งที่ได้ทำมาและหยุดการกระทำในอนาคตด้วย ซึ่งสิ่งที่ได้กระทำมาคือการหาเสียงเกี่ยวกับมาตรา 112 การขึ้นเวทีพูดเรื่อง ม.112 ส่วนการกระทำในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่าก้าวไกลจะทำหรือเปล่า ถ้าทำก็มีความผิด

ซึ่งตรงนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญ หรือคีย์เวิร์ด แปลว่าถ้าในอนาคตนับจากวันนี้ไปหากพรรคก้าวไกลไม่ทำเหมือนเดิมอีก การที่จะถูกยุบพรรคน่าจะยาก แต่ถ้ายังฝืนทำอีกคือพูดถึงมาตรา 112 ด้วยท่าทีอาฆาตมาดร้าย นำมวลชนมากกดดัน วิพากษ์วิจารณ์สถาบันในทางเสียหาย เสนอแก้ไขมาตรา 112 ด้วยเงื่อนไขแบบเดิม จะนำไปสู่การยุบพรรคได้

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตาคือ หากพรรคก้าวไกลตัดสินใจเดินหน้าเรื่องมาตรา 112 ในลักษณะเดิม เพราะต้องการให้พรรคถูกยุบ จะได้บอกกับมวลชนว่าก้าวไกลถูกทำร้าย คะแนนนิยมจะได้เพิ่มขึ้น มีคนมาสนับสนุนพรรคมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะอันตรายด้วยกันทุกฝ่าย แต่ถ้าก้าวไกลปรับเปลี่ยนวิธีการ เช่น จัดเสวนาในประเด็นผลกระทบจากการนำมาตรา 112 ไปใช้ทำร้ายทำลายกัน เพื่อหาแนวทางร่วมกันทุกฝ่ายว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี เป็นการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ดูว่ากฎหมายมีปัญหาหรือเปล่า หรือว่ามีคนไปให้ร้ายจาบจ้วงสถาบันกันมากเลยเกิดปัญหาขึ้น อาจเป็นวิธีที่นำไปสู่การแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของรัฐสภา

“ไม่แน่นะพรรคก้าวไกลอาจอยากไปแนวนั้นก็ได้ ดึงดันจะขับเคลื่อนเรื่อง ม.112 ต่อ เพื่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม เมื่อพรรคถูกยุบก็จะเหมือนเป็นสปริงบอร์ดดันให้ก้าวไกลพุ่งขึ้นไป คะแนนนิยมอาจจะเพิ่มขึ้น แล้วคิดว่าฉันไม่สน ฉันจะสู้แบบนี้ แต่ถ้าเดินในลักษณะนี้จะไม่เป็นผลดีต่อสังคมโดยรวม เพราะถึงแม้ก้าวไกลจะได้คะแนนท่วมท้นแต่จะมีคนไม่พอใจ ความขัดแย้งจะขยายวงเพิ่มขึ้นและอาจนำไปสู่ความรุนแรง สุดท้ายจะมีการเอารถถังออกมาสงบศึก มีแต่ความสูญเสีย เหมือนที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ตรัสกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อปี 2535 ว่าพวกเธอสู้กันไปแบบนี้ไม่ว่าใครแพ้ ใครชนะ แต่ท้ายที่สุดผู้ที่แพ้ก็คือประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้าก้าวไกลจะสู้แบบไม่สนใจอะไร ฉันจะลุยลูกเดียว ท้ายที่สุดบ้านเมืองจะวุ่นวาย ประเทศไทยย่อยยับ” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว


ส่วนกรณีที่หลายคนมองว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องล้มล้างการปกครองจะส่งผลให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถเสนอแก้ไขมาตรา 112 ได้อีกนั้น “รศ.ดร.เจษฎ์” ระบุว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าพรรคก้าวไกลยังสามารถเสนอแก้ไข ม.112 ได้ เนื่องจากศาลชี้ว่า...ไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ...ศาลไม่ได้บอกนะว่าแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ แต่ศาลบอกว่าที่พรรคก้าวไกลทำมันไม่ชัดเจนว่าตกลงจะแก้ไขหรือจะยกเลิก หรือจะทำอะไร และวิธีการแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลในช่วงที่ผ่านมาคือเอามวลชนมาชุมนุมเคลื่อนไหว ไปขึ้นเวทีปราศรัยในลักษณะที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ซึ่งไม่ถูกต้อง

อีกทั้งข้อเสนอในการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลในหลายประเด็นนำไปสู่ปัญหา เช่น จะให้เอามาตรา 112 ออกจากหมวดความมั่นคง เวลามีคดีหมิ่นสถาบันให้สถาบันตั้งตัวแทนลงมาเป็นผู้ฟ้องประชาชนที่ทำผิด ม.112 เอง ให้พระมหากษัตริย์ค้าความกับประชาชนโดยตรง ซึ่งเท่ากับดึงพระมหากษัตริย์ลงมาชนกับประชาชน แบบนี้ไม่ได้ มันเป็นลักษณะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นองคาพยพใหญ่ของประเทศ รวมถึงกระทบต่อสถาบันชาติเพราะจะนำไปสู่ความวุ่นวาย ปลุกปั่นให้ประชาชนลุกขึ้นมาทะเลาะกันเอง และขัดแย้งกับสถาบันกษัตริย์

“ดังนั้น ถ้าก้าวไกลอยากจะแก้มาตรา 112 ก็ต้องปรับข้อเสนอใหม่ให้เหมาะสม และไปดูรายละเอียดว่าศาลท่านห้ามอะไรบ้าง เช่น ถ้าจะดึงมาตรา 112 ออกจากหมวดความมั่นคง อันนี้ทำไม่ได้ จะให้พระมหากษัตริย์ตั้งตัวแทนมาฟ้องร้องเองก็ไม่สามารถทำได้ จะเสนอบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษอย่างนั้นอย่างนี้ ศาลบอกว่าทำไม่ได้ เพราะมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ ไม่เหมือนกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ

ส่วนว่าพรรคก้าวไกลยังสามารถใช้เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรือธงของพรรค เป็นนโยบายหาเสียงได้หรือไม่นั้น “รศ.ดร.เจษฎ์” ชี้ว่า สามารถทำได้แต่พรรคก้าวไกลต้องคิดให้ละเอียดถี่ถ้วน ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อประโยชน์ด้านต่างๆ ดังนี้ 1.เพื่อรักษาพระราชสถานะ 2.เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย 3.เพื่อแก้ไขสภาวการณ์ที่กฎหมายถูกนำมาใช้แบบผิดๆ 4.ทำให้ไม่มีการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองและไม่ดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง 5.ทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจว่า มาตรา 112 คืออะไร 6.ทำให้เกิดความสมานฉันท์ในหมู่ชน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน และช่วยกันนำพาชาติไปสู่การวัฒนาสถาพรสมดังปณิธานของรัฐธรรมนูญ

แต่ทั้งนี้ ถ้าระหว่างหาเสียงเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 มีมวลชนพูดจาจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน พรรคก้าวไกลอาจจะมีความผิดได้ เพราะถ้าก้าวไกลคุมมวลชนไม่ได้ก็ไม่ควรทำ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านพูดละเอียด โดยพูดถึงพรรคก้าวไกลและผู้สนับสนุน ซึ่งหมายถึงทั้งมวลชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่เกื้อกูลกัน


อย่างไรก็ดี รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า สิ่งที่ก้าวไกลต้องทบทวนคือ ควรหรือไม่ที่จะแก้มาตรา 112 และแท้จริงแล้วปัญหาเรื่องนี้เกิดจากอะไร ปัญหามาตรา 112 เกิดจากตัวบทกฎหมาย หรือเกิดจากคนตั้งใจละเมิดมาตรา 112 การวิพากษ์วิจารณ์กับจาบจ้วงล่วงเกิน ให้ร้ายใส่ความ มันคนละเรื่องกัน มาตรา 112 เขาห้ามการหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายสถาบัน ไม่ได้บอกว่าห้ามวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไปดูคนที่โดนคดี ม.112 ทั้งหมดล้วนแต่มีการกระทำที่จาบจ้วงล่วงเกิน หมิ่นประมาท ใส่ร้ายใส่ความ ด่าทอ อาฆาตมาดร้ายสถาบันทั้งนั้น เรียกพระองค์ท่านด้วยถ้อยคำหยาบคาย แบบนี้แค่คนธรรมดายังโดนข้อหาหมิ่นประมาทเลย

“มาตรา 112 ก็เหมือนไฟแดงที่ตั้งอยู่กลางถนน ตั้งอยู่เฉยๆ ถ้าไม่มีคนไปยุ่ง ไม่ขับฝ่าไฟแดงก็ไม่ถูกจับ ถ้ามีคนฝ่าไฟแดงเยอะ ก็มีคนถูกจับเยอะ เราจะบอกว่ายกเลิกไฟแดงเถอะเพราะฉันไม่ชอบไฟแดง การใช้ไฟแดงมันทำให้ฉันสูญเสียเสรีภาพ ฉันจะต้องมีเสรีภาพในการใช้รถใช้ถนนอย่างไรก็ได้ อยากจะขับปาดหน้า อยากจะฝ่าสัญญาณไฟยังไงก็ได้ ถามว่าการใช้สิทธิเสรีภาพแบบนี้ควรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายหรือเปล่า ถามว่าเป็นความผิดของไฟแดง หรือเป็นความผิดของคนที่ขับฝ่าไฟแดง ไปขึ้นเวทีแล้วบอกว่าพระมหากษัตริย์เอาเงินไปใช้สิ้นเปลืองแบบนี้ภาษีราษฎรทั้งนั้นนะ อย่างนี้คือใส่ร้ายใส่ความ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์ ไปคิดดูว่ากฎหมายมีปัญหา หรือคนที่ทำผิดกฎหมายมีปัญหา” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

อีกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจคือ กรณีที่มีผู้ร้องยุบพรรคก้าวไกล และยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดนายพิธา และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 รวม 44 คน ฐานผิดจริยธรรมร้ายแรง จะส่งผลต่อความเป็นไปของพรรคก้าวไกลอย่างไรบ้างนั้น “รศ.ดร.เจษฎ์” อธิบายว่า หากถูกตัดสินยุบพรรค หัวหน้าพรรคคือนายพิธา และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะที่ก้าวไกลถูกร้องเรื่องล้มล้างการปกครอง อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่นำไปสู่การร้องยุบพรรค จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี นอกจากนั้น หากมีผู้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิด นายพิธา และ ส.ส.พรรคก้าวไกล รวม 44 คน ที่ยื่นร่างแก้ไขมาตรา 112 กรณีผิดจริยธรรมร้ายแรง อาจส่งผลให้ทั้ง 44 คนถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าคำตัดสินดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคก้าวไกลมากนัก เนื่องจากก้าวไกลหรือพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่แทนก้าวไกลยังสามารถหาตัวเล่นใหม่ได้เรื่อยๆ เพราะแม้แต่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไป อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าหากถูกตัดสิทธิทางการเมืองจะไม่มีใครมาแทนได้ ยังมีนายพิธา ขึ้นมาแทน หรือแกนนำพรรคอนาคตใหม่อย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช ซึ่งถูกตัดสิทธิไป ก็มี นายรังสิมันต์ โรม กับ “ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล มาแทน ก็เหมือนกรณีของพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบ ส.ส.ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไป 100 กว่าคน ก็เปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชน สร้างสมาชิกพรรคขึ้นมาใหม่ ต่อมาพลังประชาชนถูกยุบอีก ส.ส.โดนตัดสิทธิไปอีก 100 กว่าคน ก็สร้างพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแทน

“การยุบพรรคถ้าไม่เกิดผลอะไรก็อย่าไปยุบเลย แค่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการปรามถือว่าเพียงพอแล้ว ก้าวไกลจะขับเคลื่อนการเมืองอะไรก็ทำไป แต่อย่าทำสิ่งที่ศาลห้าม” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ


รศ.ดร.เจษฎ์ ยังมีมุมมองที่น่าสนใจว่า ยุทธศาสตร์การเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องพิจารณาให้ดี การที่ก้าวไกลถูกยุบอาจไม่ใช่โชคร้ายของก้าวไกล แต่อาจเป็นโชคร้ายของสังคมไทยก็ได้ เพราะหากก้าวไกลวางแผนอยู่แล้วว่าให้เป็นแบบนั้น เพื่อที่จะนำผลพวงที่เกิดขึ้นไปขยายความกับมวลชนว่าก้าวไกลถูกทำร้าย ซึ่งสามารถเรียกคะแนนสงสาร ทำให้พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ได้คะแนนนิยมมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อสังคมคือความขัดแย้งที่ขยายวงเพิ่มขึ้น หรือในกรณีที่พรรคก้าวไกลถูกยุบแล้วพรรคส้มซบเซาไปเลย หรือมีการนำกรณีคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไปยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย และพรรคภูมิใจไทยถูกตัดสินยุบพรรค จะเหลือพรรคที่มีเพาเวอร์แค่พรรคเดียวคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการถ่วงดุลอำนาจตามมา

“ถ้ามองในแง่ยุทธศาสตร์การเมือง โชคร้ายที่สุดของก้าวไกลอาจจะส่งผลให้พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจเป็นผลร้ายต่อประเทศไทยในอนาคต ขณะเดียวกัน ถ้าพรรคก้าวไกลล้มหายตายจากไปแล้วพรรคเพื่อไทยยิ่งใหญ่ขึ้นโดยไม่มีคู่แข่ง ไม่มีใครคานอำนาจ ก็อาจไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติเช่นกัน ถ้าพรรคเพื่อไทยออกฤทธิ์ออกเดชเหมือนทุกวันนี้ คุณทักษิณ (ชินวัตร) ยังกระทำหยามหยาบต่อประชาชนคนไทยอย่างที่หลายคนว่ากัน ประเทศไทยพังแน่ คุณทักษิณ จะลุกขึ้นมาปู้ยี่ปู้ยำประเทศอีกแบบที่หลายคนพูดกัน” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

รศ.ดร.เจษฎ์ ยังได้เตือนว่า สิ่งที่ก้าวไกลต้องระวังก็คือ ‘สนิมเกิดจากเนื้อใน’ ให้ระวังสิ่งที่พรรคทำ โดยเฉพาะเรื่องวิธีคิด เพราะวิธีคิดแบบที่เรียกว่า destruction คือ ‘ทำลายแล้วค่อยเริ่มใหม่’ นั้นอันตรายมาก ต่างจาก reductionism ซึ่งเป็นการค่อยๆ ลดบางสิ่งบางอย่างเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เปรียบเทียบเหมือนมีต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นโรคจากแมลง ถ้าคิดแบบ reductionism ก็จะใช้วิธีตัดแต่งกิ่ง ริดใบที่เป็นโรคออกไป ตัดแต่งให้ต้นมีขนาดเล็กลงเพื่อให้ดูแลง่าย แต่ถ้าคิดแบบ destruction ก็คือถอนต้นเดิมทิ้ง ปลูกต้นใหม่เลย แต่วิธีนี้ใช้กับบ้านเมืองไม่ได้ เพราะบ้านเมืองต้องมีราก จะเห็นว่าหลายประเทศที่เปลี่ยนแปลงแบบ destruction ย่อยยับหมด สุดท้ายไม่เหลืออะไร ประชาชนอดอยากแร้นแค้น

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น